Skip to main content
sharethis

ส.ส.รัฐบาลรับปากแรงงาน ร่วมลงครบ 20 ชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับบูรณาการแรงงานผู้แทนแรงงานชี้ถึงเวลาปฏิรูป สปส. ระบุต้องเป็นองค์กรอิสระหลัง 20 ปีกองทุนประกันสังคม ผู้ประกันตนพบข้อจำกัดการเข้าถึงสิทธิระดม 2 หมื่นรายชื่อเสนอกฎหมาย

28 ต.ค. 53 - ที่โรงแรมบางกอกพาเลซ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยร่วมกับแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานจัดสัมมนา “สร้างการเรียนรู้เพื่อมีส่วนร่วมในการผลักดัน พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. ... (ฉบับบูรณาการแรงงาน)” เพื่อรับฟังทัศนะของฝ่ายการเมืองต่อการเป็นองค์กรอิสระของกองทุนประกันสังคม และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเนื้อหาสาระของร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมจากตัวแทนผู้ใช้แรงงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
      
น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับบูรณาการแรงงานว่า ถึงเวลาแล้วที่ผู้ใช้แรงงาน ผู้ประกันตน และเครือข่ายภาคประชาชนจะต้องหาทางออกร่วมกันในการปฏิรูปสำนักงานประกัน สังคม (สปส.) ไปสู่ความเป็นองค์กรอิสระ เพื่อการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และผู้ประกันตนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เพื่อการมีหลักประกันทางสังคมที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการร่วมเข้าชื่อเสนอกฎหมายประกันสังคม ฉบับบูรณาการแรงาน จำนวน 20,000 รายชื่อ ตั้งแต่วันที่ 1-15 พฤศจิกายน 2553 ที่สำนักงานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย หรือที่ http://voicelabour.org  เพราะ ที่ผ่านมา ตลอดระยะเวลา 20 ปีของการตั้งสำนักงานประกันสังคม การบริหารงานกองทุนประกันสังคมส่อว่าอาจจะไม่มีประสิทธิภาพ ถูกแทรกแซง ผู้ประกันตนยังพบข้อจำกัดในการเข้าถึงสิทธิด้านต่างๆ รวมถึงคุณภาพของการรักษาพยาบาล การจัดเวทีสัมมนาครั้งนี้ก็เพื่อสร้างการเรียนรู้ต่อเนื้อหาสาระของร่าง พ.ร.บ.นี้ให้แก่ผู้ใช้แรงงาน และหวังว่า ส.ส.จะร่วมกันลงชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมดังกล่าวด้วยอีกทางหนึ่ง
      
ว่าที่ ร.ต.สุเมธ ฤทธาคนี ประธาน กรรมาธิการ (กมธ.) การแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม กมธ.ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน โดยมีตัวแทนผู้ใช้แรงงานเข้าร่วมด้วย ใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมง ก็ได้หารือกันหลายเรื่อง ยืนยันว่าผู้ใช้แรงงานจะไม่ได้โดดเดี่ยว ยังมี กมธ.การแรงงานด้วย เมื่อสัมมนาแล้ว ก็ขอให้ส่งผลมาให้ กมธ.จะดำเนินการต่อในขั้นตอนของสภาผู้แทนฯ
      
ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้ อำนวยการสำนักสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะและลดปัจจัยเสี่ยงรอง สสส.กล่าวว่า ยินดีที่พรรคการเมืองสนับสนุน เรื่องประกันสังคมเป็นเรื่องที่ทำมานาน ที่ผ่านมา การมีส่วนร่วมของประชาชนมีน้อย จึงต้องคิดกันว่าจะทำอย่างไรให้มีส่วนมากขึ้น มีแรงงานเข้าไปมีส่วนร่วมบริหารกองทุน อยู่บนหลักการของประชาธิปไตยและเป็นไปได้ เป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ลดความเหลื่อมล้ำ การปรับปรุงประกันสังคมจะทำให้กลุ่มต่างๆได้รับการดูแลจากรัฐมากขึ้น ก็ขอขอบคุณ ส.ส.ทั้งหมดที่จะช่วยสนับสนุน ซึ่งขั้นตอนก็ต้องผ่านการพิจารณาของรัฐสภาต่อไป เพื่อรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน วันนี้ คงเป็นเวทีที่ภาคแรงงานทุกคนพร้อมจะเข้ามาเรียนรู้แลกเปลี่ยน ทราบว่าแผนงานคุณภาพชีวิตแรงงานคาดหวังจะให้มีการรวมพลังของแรงงานทุกภาค ส่วน รวมทั้งแรงงานข้ามชาติด้วย ซึ่งมีส่วนผลักดันการพัฒนาของประเทศไทย เพื่อให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน
      
นายนคร มาฉิม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ที่ปรึกษา กมธ.การแรงงาน สภาผู้แทนฯ กล่าวว่า รัฐบาลเห็นความสำคัญของผู้ใช้แรงงานมากที่สุดยุคหนึ่ง จึงมีกฎหมายแรงงานหลายฉบับเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้ฝากมายังวงสัมมนานี้ด้วยว่า 1.รัฐบาล ต้องการสร้างความเข้มแข็งของ สปส.ร่วมกับนายจ้างและลูกจ้าง เพราะแม้ว่าจะมีเงินมากที่สุด คือ 7 แสนกว่าล้านบาท แต่ใช่ว่าจะเพียงพอต่อการรองรับบำเหน็จบำนาญชราภาพ ที่กองทุนนี้จะเข้าไปจ่าย แนวโน้มจะเหมือนว่ารับมา 6 บาท แต่จ่าย 20 และหากเป็นองค์การอิสระโดยไม่มีการช่วยเหลือทั้งนโยบายและงบจากรัฐ พร้อมหรือไม่ที่จะรับความเสี่ยง นี่คือสิ่งที่รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานฝากมาถึงผู้ใช้แรงงาน 2.ต่อไป ทิศทางในการบริหารงานของรัฐบาลอาจจะต้องขับเคลื่อนให้ สปส.เข้าสู่ระบบรัฐสวัสดิการเต็มรูปแบบ การบริหารกองทุนต้องทำให้มีดอกผลเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายในอนาคต
      
“หลังจากได้รับร่างกฎหมายนี้ จากผู้นำแรงงาน กระบวนการของผมเริ่มแล้วคือ ปรับร่างแต่ไม่ทิ้งหลักการใหญ่ และต้องดูว่าสอดคล้องกับร่างของรัฐบาลหรือไม่ เมื่อเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เป้าคือจะทำอย่างไรมาช่วยกันคิดกันทำ เพื่อคุ้มครอง ดูแล ยกระดับมาตรฐานทุกอย่างของแรงงานให้ดีที่สุด รับปากว่า ผมและเพื่อน ส.ส.รวม 20 คน จะนำเสนอร่างของผู้ใช้แรงงานต่อสภาผู้แทนฯในสมัยนี้อย่างแน่นอน” นายนครกล่าว
      
นายสถาพร มณีรัตน์ ส.ส.ลำพูน พรรคเพื่อไทย รอง ประธาน กมธ.การแรงงาน สภาผู้แทนฯ กล่าวว่า สภาจะปิดประชุมวันที่ 28 พฤศจิกายน จะเปิดอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง ยุบสภาก็เลิกกัน พิจารณาอะไรไม่ได้ ดังนั้นวันนี้จึงต้องไปเร่งรัดกระทรวงแรงงานให้บรรจุร่างนี้ของรัฐบาลให้ เร็ว เพราะทราบว่ายังติดขัดอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ส่วนเรื่องอคติของฝ่ายการเมืองต่อองค์กรอิสระ จะเป็นอิสระอย่างไรต้องคิด เพราะองค์กรอิสระต้องอยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงแรงงาน ในที่สุดก็จะมีปัญหาเหมือนเดิมคือสภาก็จะตีตกเรื่ององค์กรอิสระ เมื่อไปถึงวุฒิสภา หากเห็นต่างก็ต้องตีกลับมาที่สภา ก็จะต้องตั้ง กมธ.ร่วมอีก

ที่มาข่าว: ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 28-10-2553
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net