Skip to main content
sharethis
เมื่อวันที่ 26 เม.ย.54 คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) เปิดรับฟังข้อเท็จจริงเป็นครั้งสุดท้าย กรณีการเผาศาลากลางในต่างจังหวัด โดยเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาเป็นกรณี ตัวอย่าง 2 จังหวัด คือ อุบลราชธานี และมุกดาหาร

นายประยุทธ ชุ่มนาเสียว ประธานเครือข่ายวัฒนธรรมชุมชนภาคอีสาน ให้ภาพขบวนการเสื้อแดงในจังหวัดอุบลฯ ซึ่งมีหลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มมีความอิสระ ไม่ขึ้นกับการนำของ นปช.ส่วนกลาง แต่มียุทธศาตร์ที่สอดคล้องกันคือเรื่องความไม่เป็นธรรม, 2 มาตรฐาน, ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และประชาธิปไตย เหตุการณ์เผาศาลากลางในวันที่ 19 พ.ค.53 มีความซับซ้อนและมีเงื่อนไขพอสมควร มีคนที่อยากย้ายศาลากลางเยอะ แต่คนที่ต้องรับผิดคือประชาชน ก่อนไฟไหม้ศาลา กลาง มีเสียงปืน มีคนเห็นแสงไฟแวบจากศาลากลาง  และมีข่าวว่าผู้หญิงตาย ถูกนำส่งโรงพยาบาล นี่เป็นจุดที่ทำให้มวลชนไม่พอใจ โกรธแค้น บุกเข้าศาลากลางอีก แต่ไฟซึ่งมีคนเห็นว่าเกิดจากชั้น 2 นั้น เกิดจากใครยังเป็นปริศนา

คำพอง เทพาคำ ผอ.กองสวัสดิการสังคม เทศบาลเมืองวารินชำราบ ยืนยันว่าวิทยุชุมชน ซึ่ง เป็นสื่อสำคัญในกลุ่มคนเสื้อแดงไม่ได้มีเนื้อหายั่วยุปลุกระดมให้เผาศาลา กลาง เพียงแต่เชิญชวนให้ไปแสดงพลังที่ศาลากลางเพื่อกดดันส่วนกลาง ซึ่งกำลังมีการล้อมปราบกันอยู่ เนื่องจากศาลากลางเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจรัฐ การเผายางก็เป็นเพียงสัญลักษณ์ ทางการเมืองเท่านั้นนอกจากนี้ การบุกเข้ายึดศาลากลางเพื่อกดดันในเรื่องนโยบายเกิดขึ้นหลายครั้งแล้ว โดยประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่ได้รับความเดือดร้อน แต่ทุกครั้งมีการควบคุมจากเจ้าหน้าที่อย่างเข้ม งวด แต่ในครั้งนี้ เป็นคำถามว่าทำไมเจ้าหน้าที่จึงรีบถอนกำลังออก
ด้าน พ.ต.ท.ไอศูรย์ สิงหนาท รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลฯ กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่ได้รับมอบหมายให้เจรจากับกลุ่มคนเสื้อแดงหลายครั้ง ยืนยันว่า กลุ่มคนเสื้อแดงเป็นคนที่มีเหตุผล ในช่วงเหตุการณ์เผาศาลากลาง ตนได้รับมอบหมายให้คุมกำลังมาที่กรุงเทพฯ ก่อนหน้านั้นถูกเรียกตัวกลับเพื่อ ให้ไปเจรจากับกลุ่มคนเสื้อแดง แต่แล้วเมื่ออุบลฯ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ผู้บังคับบัญชาก็เปลี่ยนใจ บอกไม่มีการเจรจา ใช้กฎหมายอย่างเดียว และจากข้อมูลที่ได้รับจากตำรวจและทหาร พบว่า จุดที่ทำให้เหตุการณ์บานปลาย คือ คนที่เข้าไปในศาลากลางถูกยิง และมีข่าวลือว่ามีคนตาย มวลชนจึงโกรธแค้น และบุกเข้าไปอีก จนเกิดเหตุไฟไหม้ขึ้น ทั้งนี้ หน่วยที่ใช้ปืนในวันนั้นคือ มณฑลทหารบกที่ 22 (มทบ.22)
ฝ่าย ผู้เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เหตุการณ์เผาศาลากลางอุบลฯ มีข้อสังเกต และสิ่งที่เป็นปัญหาหลายอย่าง เช่น เมื่อมีการตัดสัญญาณจากเวทีที่กรุงเทพฯ ปริมาณมวลชนที่ชุมนุมจะเพิ่มขึ้นในทันที,  เสียงปืนที่เกิดขึ้น นอกจากยิงออกมาจากศาลากลางแล้ว ยังยิงมาจากภายนอกศาลากลาง ผู้ที่ถูกยิงบาดเจ็บเป็นนักข่าว, เทศบาลนครฯ อุบลฯ ซึ่งมีรถดับเพลิงประมาณ 20 คัน ได้รับคำสั่งให้ออกปฏิบัติงานเพียงคันเดียว ในสภาพที่ไม่มีน้ำ รถตำรวจ รถตู้ ที่ถูกเผาในวันนั้นก็ล้วนเป็นรถเก่า, มีการข่มขู่คุกคามแม้กระทั่งเด็กที่ เป็นลูกของผู้ต้องสงสัย เพื่อให้พ่อเข้ามอบตัว ตลอดจนมีกรณีการจับผิดตัว คนที่ถูกจับกุมไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุมเลย ซึ่งในชั้นสอบสวนเจ้าหน้าที่ดีเอสไอก็ระบุว่าจับผิดตัว แต่ก็ไม่มีการปล่อย ตัว ปัจจุบันก็ยังถูกคุมขังอยู่ ไม่ได้รับการประกัน
ส่วนกรณีเผาศาลากลางจังหวัดมุกดาหาร นายธนะชัย เพชรสงฆ์ ผู้บังคับหมวดกองร้อยอาสาสมัครรักษาดินแดนจังหวัดมุกดาหาร เป็นผู้มาให้ข้อมูล โดยนำเสนอข้อมูลของหน่วยงานความมั่นคง   ตั้งแต่ก่อนการชุมนุม ซึ่งมีคนเสื้อแดงอยู่หลายกลุ่ม มีวิทยุชุมชนเป็นสื่อกลาง วันเกิดเหตุ มีการปราศรัยปลุกระดมโดยการอ้างเหตุการณ์ที่ราชประสงค์ และเหตุการณ์เผาศาลากลางที่จังหวัดอื่น  รวมทั้งอ้างว่ามีคนมุกดาหารตาย 2 คน โดยเชื่อว่ามีขบวนการเกี่ยวเนื่องกันกับจังหวัดอุบลฯ เนื่องจากใช้สถานการณ์คล้ายคลึงกัน จากนั้นมีคนจ้างสามล้อรับจ้างให้ขนยางรถ ยนต์เข้าไปกองหน้าอาคารศาลากลางหลังเก่า และจุดไฟ ตำรวจพยายามเข้าไปดับ แต่ดับไม่อยู่ มีการพุ่งเข้าทำร้ายตำรวจ จากนั้นตำรวจถอนกำลังออกเพราะควันไฟ มีคนโยนยาง ขึ้นไปเผาชั้น 2 แต่เจ้าหน้าที่เข้าไปไม่ได้ เพราะคนร้ายมีค้อนปอนด์ เหล็กแหลม ไม้ยาว ไม่ใช่เจ้าหน้าที่เข้าไปเผาเพราะต้องการงบประมาณ รถดับเพลิงถูกสั่งมาเตรียม พร้อมอยู่ด้านนอกศาลากลาง แต่ไม่ให้เข้าข้างใน เนื่องจากถ้าเข้าไปจะถูกปล่อยน้ำ ปล่อยลมยาง
นาย ธนะชัยยังเปิดเผยอีกว่า ตามข่าวที่ได้รับมาคนเสื้อแดงมีการฝึกอาวุธในประเทศเพื่อนบ้าน ทุกครั้งที่มีการชุมนุมใหญ่ จะมียาบ้าลักลอบข้ามแดนร่วมขบวนทุกครั้ง กลุ่มผู้ค้าของเถื่อนและล็อตเตอรี่เกินราคาก็สนับสนุนด้วยเงินบริจาคครั้งละ 2 พัน 5 พัน  นอกจากนี้ การชุมนุมแต่ละครั้งก็เป็นการตรึงกำลังเจ้าหน้าที่ไม่ให้ไปจับกุมปราบปรามการกระทำผิด
ด้าน นายอานนท์ นำภา ทนายความจากสำนักราษฎรประสงค์ ซึ่งรับเป็นทนายให้กับจำเลยในคดีนี้ ให้ข้อมูลแย้งว่าข้อมูลที่นายธนะชัย กล่าวมาทั้งหมดไม่ปรากฏอยู่ในสำนวนคดีที่สืบมา ซึ่งเป็นปากคำของประจักษ์พยานในเหตุการณ์เกือบ 80% ข้อเท็จจริงก็คือ การขนยางเข้าไปในศาลากลางเพื่อเป็นการกดดันรัฐให้หยุดฆ่า ประชาชน เมื่อยางไปกองอยู่หน้ามุขศาลากลาง ตำรวจซึ่งตรึงกำลังอยู่ตรงนั้นก็ไม่ได้ขนยางหนี ต่อมา ผู้ชุมนุมเผายางก็ไม่มีตำรวจแม้แต่นายเดียวดับไฟ การเผาในชั้น 2 ก็ไม่มี เพราะรองผู้ว่าฯ ซึ่งเบิกความว่าอยู่ในศาลากลางตลอดก็ไม่ได้กล่าวถึง อาวุธปืน ระเบิดไม่มีการยึดได้ในที่เกิดเหตุ ผู้ชุมนุมซึ่งถูกตีจนหัวแตกหลายคนและถูกจับกุมในวันนั้น ปัจจุบันนี้ หลายคนอัยการสั่งไม่ฟ้อง  เรื่องการลักลอบขนยาบ้าเมื่อมีการชุมนุมก็เป็นการให้ร้ายคนเสื้อแดงเกินไป ถ้าเป็นไปได้อยากให้เอาหลักฐานมาแสดง
มี ความเห็นเพิ่มเติมจากผู้เข้าร่วมซึ่งสะท้อนว่า การให้ข้อมูลของนายธนะชัยแสดงถึงความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่รัฐในด้านการข่าว และทัศนคติต่อคนเสื้อแดง ซึ่งส่งผลให้การตัดสินใจแก้ปัญหาผิดพลาด ก่อนเกิดเหตุเผาศาลากลาง ผู้ชุมนุมได้ขอพบผู้ว่าฯ แต่ผู้ว่าฯ ปฏิเสธที่จะมาพบ กลับส่งรองผู้ว่าฯ มาต่อว่าว่าผู้ชุมนุมทำผิดกฎหมาย จะต้องจับกุม ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เหตุการณ์ในวันนั้นบานปลายจนแกนนำไม่สามารถควบ คุมได้
นาย สมชาย หอมลออ ประธานในการรับฟังข้อเท็จจริงครั้งสุดท้ายนี้ กล่าวสรุปว่า มีข้อเท็จจริงที่ต่างกัน ซึ่ง คอป.จะต้องตรวจสอบต่อไป และค้นหาสาเหตุของความรุนแรงเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก แต่กรณีสำคัญ คือ การที่ประชาชนเป็นผู้เสียหายโดยการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ทุกกรณีพนักงานสอบสวนและอัยการจะสรุปว่าไม่รู้ว่าใครทำ ซึ่งการที่ไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐคนใดเลยถูกดำเนินคดีเป็นปัญหามากต่อความเชื่อ มั่นในกระบวนการยุติธรรมในประเทศ เป็นปัญหาคาใจ คับแค้นใจของประชาชน ซึ่งจะปะทุขึ้นมาเมื่อมีโอกาส

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net