Skip to main content
sharethis

วันที่ 25 ส.ค.2554 กลุ่มอุษาคเนย์ที่รัก และโครงการตลาดวิชา มหาวิทยาลัยชาวบ้าน จัดเสวนาอุษาคเนย์ครั้งที่ 4 ในหัวข้อ ‘ชำแหละ ยุทธศาสตร์มหาอำนาจต่อภูมิภาคอาเซียน 2011’ ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยศ.ดร.สุรชัย ศิริไกร คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ รศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ อ.ดุลยภาค ปรีชารัชช โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ธรรมศาสตร์ ร่วมอภิปราย ศ.ดร.สุรชัย ศิริไกร คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ จีนใช้เวลาเพียง 30 ปีในการพัฒนาเศรษฐกิจจนมีขนาดผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของอเมริกา ในขณะที่อเมริกากำลังอยู่ในภาวะเสื่อมถอยทางเศรษฐกิจ ที่ผ่านมาจีนเพิ่มงบประมาณด้านการทหารและพัฒนาเทคโนโลยีอาวุธสงครามเป็นจำนวนมาก งบประมาณที่ปิดลับและเป็นจำนวนมหาศาลนี้ สร้างความกังขาให้กับหลายประเทศโดยเฉพาะอเมริกาและญี่ปุ่นว่า เป็นไปเพื่อการป้องกันตัว หรือเพื่อขยายผลประโยชน์ของตัวเองออกไป ในปี 2007 จีนสามารถยิงจรวดขึ้นไปทำลายดาวเทียมที่ไม่ใช้งานแล้วของตัวเองได้ และสามารถสร้างเครื่องบินขับไล่ J-10 ที่มีสมรรถนะเหนือกว่าเครื่องบิน F-16 ของอเมริกาได้ตั้งแต่ก่อนปี 2009 นอกจากนั้น ยังสร้างและทำการบินทดสอบเครื่องบินจารกรรม เพิ่มจำนวนเรือดำน้ำ และยอมรับว่ามีจรวดยิงเรือ (Anti-Ship Missiles) ที่มีพิสัยการยิงในระยะ 1,500 ไมล์ รวมถึงมีโครงการร่วมกับรัสเซียในการส่งนักบินอวกาศไปสำรวจดวงจันทร์และดาวอังคารอีกด้วย เหตุผลในการเพิ่มศักยภาพทางการทหารของจีน เป็นผลจากการแทรกแซงของอเมริกาในการรวมไต้หวันเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจีนมาตั้งแต่ยุคสงครามเย็น โดยนับจากที่สภาคองเกรสของอเมริกาออกกฎหมาย Taiwan Relations Act ในปี 1979 ทำให้อเมริกาสามารถขายอาวุธให้กับไต้หวันได้ และหลังสงครามเกาหลีจบลง อเมริกาได้นำกองเรือรบเข้ามาให้ความคุ้มครองกับไต้หวัน เป็นเหตุให้จีนไม่สามารถรวมไต้หวันเข้าเป็นหนึ่งเดียวกัน พฤติกรรมการทำอะไรตามอำเภอใจของอเมริกานั้น ทำให้จีนมองอเมริกาด้วยความรู้สึกหวาดกลัว นับตั้งแต่จีนรบแพ้อังกฤษในสงครามฝิ่นและพ่ายแพ้ในสงครามต่อๆ มากับต่างชาติ จากปี 1840 จนถึงปี 1947 จีนถือว่าเป็นหนึ่งร้อยปีแห่งความอัปยศ เนื่องจากความอ่อนแอในด้านการทหารและการปกครองรัฐบาลราชวงศ์ชิง ทำให้จีนยุคใหม่ต้องพัฒนาการทหารและการปกครองที่เข้มแข็ง ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอาเซียน ยังมีปัญหาการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะพาราเซลและหมู่เกาะสแปรตลีย์ ระหว่างจีนกับเวียดนาม มาเลเซีย บรูไน และฟิลิปปินส์ เนื่องจากหมู่เกาะทั้งสองเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ ซึ่งเมื่อย้อนกลับไปพบว่าจีนให้ความสำคัญกับบริเวณดังกล่าวมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 แล้ว รศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ อเมริกาใช้ยุทธศาสตร์เป็นเครื่องมือสำคัญในการครองโลก ยุทธศาสตร์ของอเมริกามีหลายชั้น มีความลึกล้ำ ซับซ้อน การจะเข้าใจยุทธศาสตร์ของอเมริกาจึงเป็นเรื่องยาก ยุทธศาสตร์ของอเมริกา ใช้การปิดกั้น ป้องกันไม่ให้มีคู่แข่งในการครองความเป็นใหญ่ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา อเมริกาใช้ยุทธศาสตร์ “Hub and Spokes” โดยอเมริกาเป็นดุมล้อ และประเทศต่างๆ เป็นซี่ล้อที่หมุนตามอเมริกา การผงาดขึ้นสู่เวทีโลกของจีนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สร้างความกังวลให้กับอเมริกาเกี่ยวกับการแย่งชิงความเป็นผู้นำโลก ในอดีตอเมริกาสนใจเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบทวิภาคี และยุทธศาสตร์ใหญ่ของอเมริกาคือ การป้องกันไม่ให้ประเทศในภูมิภาคต่างๆ รวมกลุ่มกันโดยที่ไม่มีอเมริการ่วมอยู่ด้วย การที่อาเซียนสามารถรวมกลุ่มกันได้โดยไม่มีอเมริกา เนื่องจากอเมริกาไม่ได้ให้ความสำคัญหรือให้ความสนใจกับกลุ่มประเทศอาเซียน ต่างจากจีนซึ่งพยายามเข้ามาเป็นหุ้นส่วนของอาเซียน โดยเปิดเจรจาการค้าเสรีหรือเอฟทีเอกับหลายประเทศ ในปี 2009 จีนทำข้อตกลงการลงทุนกับอาเซียน และมีนโยบายให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่อาเซียน ปัจจุบันจีนขยายบทบาทขึ้นมาเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของอาเซียนแทนที่ญี่ปุ่น การผงาดขึ้นมาของอาเซียน ซึ่งเป็นแหล่งลงทุนที่สำคัญและเป็นแกนกลางของภูมิภาค จึงเป็นเรื่องที่อเมริกาจะมองข้ามไม่ได้อีกต่อไป อเมริกาจึงปรับเปลี่ยนนโยบายต่อภูมิภาคนี้ใหม่เพื่อแข่งขันกับจีน โดยพยายามสร้างความสัมพันธ์กับอาเซียนในหลายระดับ ทั้งทวิภาคี ไตรภาคี สิ่งที่อเมริกากำลังผลักดันอย่างหนักคือ การเจรจาการค้าเสรีที่จะประกาศในที่ประชุมเอเปคที่ฮาวาย ในสมัยของรัฐบาลจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช อเมริกาปรับนโยบายต่ออาเซียนใหม่ จาก ASEAN เป็น ASEAN+1 ในปี 2009 อเมริกาเริ่มเจรจาเอฟทีเอกับสิงคโปร์ ไทย และมาเลเซีย ซึ่งก่อนหน้านั้นในปี 2005 มีเอกสารสำคัญที่สุดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างอเมริกาและอาเซียนคือ Joint Vision Statement on ASEAN-US Enhanced Partnership เมื่อมาถึงรัฐบาลโอบามา มีการดำเนินนโยบายเชิงรุกเพื่อแข่งขันกับจีน มีการเตรียมประชุมระหว่างอเมริกาและอาเซียนหลายเวที รวมถึงการยอมปรับเปลี่ยนท่าทีต่อพม่า และแสดงความต้องการที่จะส่งทูตมาประจำอาเซียนในอินโดนีเซียเป็นประเทศแรก นอกจากนั้นยังต้องการเพิ่มความเข้มข้นทางการทูตและการซ้อมรบทางทหารร่วมกับอาเซียน และผลักดันเอฟทีเอในระดับทวิภาคี เพื่อป้องการการรวมกลุ่มของประเทศในเอเชีย ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่มีพลังทางเศรษฐกิจมากที่สุดในโลก และจะเป็นการท้าทายอเมริกาเป็นอย่างมาก อเมริกาย้ำอยู่เสมอว่า การรวมกลุ่มของประเทศในภูมิภาคจะต้องมีอเมริการ่วมอยู่ด้วย และอเมริกาเป็นมหาอำนาจที่มีบ้านอยู่ที่เอเชีย ดุลยภาค ปรีชารัชช โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ธรรมศาสตร์ ในปี 2011 มีมหาอำนาจมากมายที่มีบทบาทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชาติแรกคืออเมริกา การจะทำความเข้าใจอเมริกาทางการทหาร ต้องเข้าใจเรื่องอำนาจทางทะเล ซึ่งพิสูจน์มาแล้วในบทบาทของราชนาวีอังกฤษที่คุมแดนแดนพระอาทิตย์ไม่เคยตกดิน เมื่อถึงยุคของอเมริกาก็ทำเช่นนั้น สิ่งที่น่าจับตามองคือ อำนาจที่พุ่งทะยานอย่างไม่หยุดยั้งของจีน และการอ้างสิทธิ์เหนือหมู่เกาะสแปรตลีย์และพาราเซล ทำให้จีนตัดอเมริกาออกจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ และกันไม่ให้ญี่ปุ่นเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้สะดวก ในอนาคตหากจีนอ้างสิทธิ์เหนือเกาะทั้งสองได้สำเร็จ มีกองเรือดำน้ำติดขีปนาวุธ และพัฒนากองกำลังทางทะเลได้ดีแล้ว ก็เป็นสิ่งที่น่ากลัวสำหรับอเมริกา ประเด็นแหลมคมอันหนึ่งที่น่าจับตามอง คือ สายสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจระดับกลาง เริ่มแพร่กระจายอาวุธร้ายแรงไปในบางรัฐของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งนักการทูตและนักนโยบายต่างประเทศของอเมริกามีความกังวลอยู่ สัมพันธภาพที่แนบแน่นของพม่าและเกาหลีเหนือ เกาหลีเหนือถ่ายทอดเทคโนโลยีการขุดอุโมงค์ การจัดตั้งกองกำลังขีปนาวุธ สิ่งที่อเมริกากังวล คือการติดตั้งขีปนาวุธสกั๊ดรุ่นต่างๆ ที่เกาหลีเหนือให้พม่า ซึ่งยิงได้ไกลมาก อาจพัฒนาให้ยิงไปไกลถึงดีเอโก้ กลาเซียร์ ฐานส่งกำลังของอเมริกาที่ไม่ไกลจากชายฝั่งของอินเดียและพม่ามากนัก ผมคิดว่าทางฝั่งจีน ค่อนข้างกังวลกับการขยายอำนาจของอเมริกา แต่จีนก็มีความเคลื่อนไหวที่น่าจับตามองอันสำคัญกับอาเซียนคือ ยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และภูมิรัฐศาสตร์ จีนให้ความสำคัญกับอาเซียน อย่างน้อยมีกรอบอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (GMS) จีนกำลังสร้างโลจิสติกส์เชื่อมอุษาคเนย์ภาคพื้นทวีปเกือบทั้งหมด การจะทำความเข้าใจหรือชำแหละยุทธศาสตร์ของจีนนั้น ต้องชำแหละยุทธศาสตร์ของมณฑลยูนนานและยุทธศาสตร์สิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ผู้ปกครองหรือชนชั้นนำทางเศรษฐกิจของยูนนาน ให้ความสำคัญกับการย่นระยะทางการเดินเรือ หนึ่งในทางลัดที่สำคัญคือ การออกทะเลที่เมืองย่างกุ้ง โดยการใช้ถนนสายโบราณปรับแต่งเป็นถนนลาดยางอย่างดี จากคุนหมิง เข้ารัฐฉาน มีเส้นทางทั้งทางรถ ทางรถไฟ และแม่น้ำอิรวะดี ซึ่งกว้างกว่าแม่น้ำเจ้าพระยามากในการลำเลียงสินค้ามาที่เมาะตะมะหรือมะตะบัน ทำให้จีนไม่ต้องผ่านช่องแคบมะละกา จุดการค้าชายแดนที่คึกคักที่สุดในอุษาคเนย์คือ การค้าชายแดนจีน-พม่า ที่หมู่เจกับลุ่ยลี่ทางพม่าตอนบน สิ่งสำคัญคือเป็นยุทธศาสตร์ที่แยบคายทางวัฒนธรรม ถ้าไปเชียงรุ่งจะพบวัดไทยที่มีสถาปัตยกรรมแบบไทยมากมาย และมีคนไทใหญ่และไตลื้ออาศัยอยู่ในเขตปกครองเชียงรุ่ง สิบสองปันนา แต่สิ่งสำคัญคือ ภาพมาร์เก็ตติ้งที่จะดึงนักท่องเที่ยวจากอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงให้ขึ้นมาเที่ยว ขณะนี้เริ่มมีกระแสต่อต้านจีนจากกลุ่มประเทศอาเซียน โครงการสร้างแนวรถไฟจากตอนใต้ของจีนเข้าสู่ประเทศลาว ผ่านหลวงน้ำทา หลวงพระบาง และเวียงจันทน์ ยังตกลงกันไม่ได้ และส่อเค้าว่าจะล่ม เพราะจีนขอให้คนจีนห้าพันครอบครัวเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่สองข้างทางรถไฟ ซึ่งเป็นการตัดลาวขาดสะพายแล่ง เปิดช่องโหว่ให้อิทธิพลจีนไหลเข้าไป ยังไม่นับถนนจากคุนหมิงสู่มันดาเลย์ของพม่า ซึ่งมันฑะเลย์ตอนนี้เปรียบประดุจไชน่าทาวน์ไปแล้ว ตามแนวถนนคนพม่าเริ่มต่อต้านจีนมากขึ้น เพราะรุกทั้งด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรม และการตลาด มหาอำนาจที่จะพูดถึงต่อไปคือ อินเดีย ปัจจุบันอินเดียมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศขนานใหญ่ การเข้ามาของจีนไม่ได้เข้ามาที่พม่าอย่างเดียว แต่เข้ามาที่บังคลาเทศด้วย ทำให้อินเดียหวั่นไหวมาก เพราะกองทัพจีนจะเข้ามาตรวจสอบความเคลื่อนไหวทางการทหารของอินเดียได้ ตรงนี้อินเดียให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ตั้งแต่ปี 1992 นโยบายมุ่งสู่ตะวันออก (Look East Policy) เป็นทางเลือกทางเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์การทหารของอินเดีย ส่วนหนึ่งเพื่อคัดค้านนโยบายมองลงใต้ (Look South Policy) ของจีนนั่นเอง ประเด็นที่น่าจับตามองที่สุดของอินเดีย คือ เรื่องความมั่นคงทางทะเล อินเดียวาดภาพอ่าวเบงกอลเป็นศูนย์กลาง ซึ่งโลกทัศน์ทางยุทธศาสตร์ของอินเดียที่สัมพันธ์กับอาเซียน ต้องมองในลักษณะของปีกด้านซ้ายรอบอ่าวเบงกอล จะเป็นอู่เมืองยุทธศาสตร์ชายทะเลของอินเดีย แล้วตีตลบไปบังคลาเทศและอ้อมรัฐอาระกันของพม่า และลงภาคใต้ของไทย ไปช่องแคบมะละกา ไปมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย การใช้อ่าวเบงกอลเป็นศูนย์กลาง ความมั่นคงทางทะเลหรือแสนยานุภาพทางเรือเรื่องเป็นสิ่งสำคัญ อินเดียห่างจากพม่าแค่ไม่กี่สิบกิโลเมตรจากเกาะโคโค่ของพม่า จีนได้เข้ามาสร้างรันเวย์ที่เกาะโคโค่ และมีการติดตั้งสถานีข่าวกรองทางการสื่อสารเพื่อจะเผยรัศมีหรือมณฑลการตรวจจับให้คลุมช่องแคบมะละกา และมอนิเตอร์ทดลองขีปนาวุธในอ่าวเบงกอลของอินเดีย ทำให้อินเดียต้องขยับยุทธศาสตร์ด้วยการสถาปนากองกำลังนาวีภาคตะวันออกไกล (Far Eastern Command) เพื่อจะถ่วงดุลกับจีน และควบคุมช่องแคบมะละกาด้วย เพราะรัฐทางช่องแคบมะละกา ไม่ว่ามาเลเซีย สิงคโปร์ หรืออินโดนีเซีย เริ่มให้ความสำคัญกับการซ้อมรบทางเรือกับทหารอินเดีย ทหารอินเดียที่เข้ามามากขึ้น มาในรูปของความมั่นคงแบบใหม่ คือ มาช่วยบรรเทาสาธารณภัย ซึนามิ นากีส หรือปราบปรามโจรสลัดในช่องแคบมะละกา นี่คือการขยับตัวที่น่าสนใจของอินเดีย การขยับของอินเดีย มีนัยสำคัญ หนึ่งคือ การคานอิทธิพลของจีน สอง อินเดียไม่ได้กระทำหรือดำเนินนโยบายฝ่ายเดียว ดูเหมือนว่าสหรัฐอเมริกาเริ่มเข้ามาขยับความสัมพันธ์กับอินเดียมากขึ้นด้วย เพื่อจะคัดคานอิทธิพลของจีน ในอนาคต อินเดียจะเริ่มสำคัญมากขึ้นในการรวมกลุ่ม หรือเข้ามาสัมพันธ์กับอาเซียน ที่สำคัญคือรัฐภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียที่ติดกับพม่า เป็นจุดอ่อนไหวของความมั่นคงทั้งของพม่าและอินเดีย เพราะพรมแดนพม่าและอินเดียประมาณ 1,400 กิโลเมตร นั้น บางจุดเป็นแหล่งเคลื่อนไหวของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนเพื่อเอกราช เช่น กลุ่มอาระกัน กลุ่มนากา แต่ในอนาคตอินเดียพยายามพลิกฟื้นรัฐชนบทในภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้เป็นประตูการค้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยตัดถนนผ่านพม่า ซึ่งเป็นเครือข่ายหนึ่งของถนนสายเอเชีย ในอนาคตเราจะเห็นยุทธศาสตร์พัฒนาที่มากขึ้นในรัฐหิมาลัยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น อัสสัม มณีปุระ และจะมีโลจิสติกส์โยงกับเนปาล ภูฐาน บังคลาเทศ ไทย พม่า ในกรอบของความร่วมมือพิเศษรอบอ่าวเบงกอล การขยับของอินเดียจึงเป็นยุทธศาสตร์ที่น่าสนใจในศตวรรษที่ 21

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net