Skip to main content
sharethis

4 ผู้ต้องหาคดีความมั่นคงชายแดนใต้ชุดแรก ขอถอนตัวจากมาตรา 21 อบรมแทนถูกขัง ยันขอสู้คดีต่อไป อ้างถูกบังคับ เกรงสังคมมองเป็นโจร เหตุเพราะศาลไม่ได้ตัดสิน เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 14 ธันวาคม 2554 ศาลจังหวัดนาทวี จังหวัดสงขลา นัดไต่สวนคำร้องตามมาตรา 21 ของพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคง) โดยนายมนัสชัย ฉิมมี พนักงานอัยการจังหวัดนาทวี เป็นผู้ยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาอนุญาตให้ผู้ต้องหา 4 คน คือนายมะซับรี กะบูติง คดีหมายเลขดำที่ รม. 1/2554 นายซุบิร์ สุหลง คดีหมายเลขดำที่ รม.2/2554 นายสะแปอิง แวและ คดีหมายเลขดำที่ รม. 3/2554 และนายอับริก สหมานกูด คดีหมายเลขดำที่รม. 4 /2554 เข้าอบรมแทนการจำขังตามมาตรา 21 ของพ.ร.บ.ความมั่นคง โดยได้ยื่นคำร้องเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2554 ทั้งนี้ ผู้ต้องหาทั้ง 4 คน จะต้องให้การยืนยันต่อศาลว่าจะเข้าอบรมแทนการจำขัง เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้อนุญาต แต่ปรากฏว่า นายกิจจา อาลีอิสเฮาะ ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม หนึ่งในทนายของผู้ต้องหาทั้ง 4 คน ได้แถลงต่อศาลด้วยเอกสารว่า ผู้ต้องหาทั้ง 4 คน จะไม่ขอเข้ารับการอบรมแทนการจำขังแล้ว โดยจะขอต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรมปกติ ศาลจึงมีคำสั่งให้เลื่อนการไต่สวนคำร้องดังกล่าวออกไป เป็นวันที่ 19 มกราคม 2555 ระหว่างไต่สวน มีนายกิตติ สุระคำแหง ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานยุติธรรม ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) พร้อมตัวแทนคณะกรรมการรับรายงานตัว คณะกรรมการสอบสวนพิเศษ คณะกรรมการช่วยเหลือด้านคดีและชดเชยค่าเสียหาย คณะกรรมการกลั่นกรองผู้เข้ารับการอบรมแทนการจำขัง ตามกระบวนการของมาตรา 21 เข้าร่วมฟังด้วย ต่อมาเวลาประมาณ 14.00 น. คณะทนายของผู้ต้องหาทั้ง 4 คน ได้แจ้งต่อศาลว่า ไม่จำเป็นต้องไต่สวนคำร้องดังกล่าวอีกแล้ว เนื่องจากผู้ต้องหาทั้ง 4 คน ได้ยืนยันแล้วว่า จะไม่เข้ากระบวนการตามมาตรา 21 แล้ว จำทำให้หัวหน้าศาลจังหวัดนาทวี เรียกทีมทนายผู้ต้องหามาหารืออีกครั้ง โดยได้ข้อสรุปว่า จะต้องไต่สวนคำร้องอีกครั้ง จึงกำหนดวันนัดพร้อมเพื่อกำหนดวันไต่สวนคำร้องดังกล่าวอีกครั้ง เป็นวันที่ 23 มกราคม 2555 นายกิตติ สุระคำแหง ได้เปิดเผยว่า ผู้ต้องหาทั้ง 4 คน ได้กลับให้คำให้การและขอถอนตัวจากการเข้ากระบวนการตามมาตรา 21 ถือเป็นสิทธิของผู้ต้องหาเอง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ผู้ต้องหาทั้ง 4 คน ให้การสารภาพแล้ว ตามเงื่อนไขของมาตรา 21 แต่เนื่องจากช่วงเวลาในการสอบสวนเพื่อเข้ากระบวนการตามมาตรา 21 ค่อนข้างนาน จึงอาจเป็นโอกาสให้มีผู้อื่นเข้ามาพูดเกลี้ยกล่อมให้ออกจากกระบวนการนี้ได้ นายกิจจา เปิดเผยว่า การไต่สวนคำร้องตามมาตรา 21 ครั้งนี้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการประกาศใช้มาตรา 21 ของพ.ร.บ.ความมั่นคง ซึ่งผู้ต้องหาทั้ง 4 คน เป็นผู้ต้องหาชุดแรกที่เข้ากระบวนการนี้ ขณะที่ผู้ต้องหารายหนึ่งระบุว่า เหตุที่เข้ากระบวนการตามมาตรา 21 เพราะถูกบังคับ และในช่วงแรกไม่เข้าใจว่ากระบวนการเป็นอย่างไร เมื่อได้รับการอธิบายจากทนายแล้ว จึงคิดว่า น่าจะต้องถอนตัวออกมา เพราะการเข้ากระบวนการนี้ได้ ต้องรับสารภาพทั้งที่ตนเองไม่ได้กระทำผิด ซึ่งจะทำให้คนในสังคมเข้าใจว่า ตนเป็นคนร้ายจริง รวมทั้งไม่มั่นใจว่า ระหว่างการอบรมจะต้องเจอกับอะไรบ้าง จึงขอสู้คดีในชั้นศาลต่อไปดีกว่า เพื่อให้ศาลตัดสินว่าไม่ได้เป็นผู้ทำผิดจริงหรือไม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net