Skip to main content
sharethis

(5 เม.ย.55) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ออกแถลงการณ์เรียกร้องต่อกระทรวงแรงงานและหน่วยงานภาครัฐทั้งหมด ให้ยกเลิกหนังสือเวียนที่ รส.0711/ว751 ที่ปฏิเสธแรงงานข้ามชาติในการเข้าถึงสิทธิประโยชน์จากกองทุนเงินทดแทนเนื่องจากการบาดเจ็บและการเจ็บป่วยจากการทำงาน เพื่อให้แรงงานข้ามชาติได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานเช่นเดียวกับที่แรงงานทั้งหมดพึงได้รับ โดยไม่คำนึงถึงปัจจัยด้านสัญชาติและสถานะการเข้าเมือง ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามที่รัฐบาลไทยได้ประกาศว่าจะยุติการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบในประเทศไทยและจะเชิดชูสิทธิของแรงงานข้ามชาติในระหว่างที่มีการรายงาน Universal Periodic Review ที่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ที่นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์

รายละเอียดแถลงการณ์ มีดังนี้...

 

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลไทยอย่างรุนแรงสำหรับการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากแรงงานข้ามชาติ แค่เพียงหนึ่งอาทิตย์หลังจากที่รัฐบาลไทยได้ให้คำมั่นสัญญาต่อหน้าคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติถึงการป้องกันสิทธิของแรงงานข้ามชาติว่าให้มีสิทธิพิเศษก่อน ชื่อเสียงของประเทศไทยในด้านการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากแรงงานข้ามชาติยังคงเป็นจุดสนใจของประชาชน

ในรายงานสมัยประชุมที่ 101 ของการประชุมด้านแรงงานระหว่างประเทศ คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญขององค์การแรงงานระหว่างประเทศด้านการอนุมัติให้เป็นไปตามอนุสัญญาและคำแนะนำ ระบุว่าการปฏิเสธอย่างต่อเนื่องของประเทศไทยถึงการที่แรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าจะเข้าถึงกองทุนเงินทดแทนเนื่องจากประสบอุบัติเหตุจากการทำงานจากสำนักงานประกันสังคมนั้น เป็นการละเมิดพันธกรณีในฐานะรัฐภาคีสมาชิกที่ลงนามในอนุสัญญาที่ 19 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ คำตัดสินขององค์การแรงงานระหว่างประเทศนับเป็นครั้งที่สองในรอบสองปีที่มาสนับสนุนการรณรงค์อย่างยาวนานโดยสหภาพและกลุ่มสิทธิมนุษยชนที่ต้องการให้ยกเลิกเพิกถอนนโยบายที่เป็นการเลือกปฏิบัตินี้

นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) กล่าววันนี้ว่า “แรงงานข้ามชาติในประเทศไทยยังคงประสบความทุกข์ร้อนจากระบบการเลือกปฏิบัติ ทั้งๆ ที่แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ร่วมทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับแรงงานไทยเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ แทนที่จะให้แรงงานข้ามชาติเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย รัฐบาลไทยกลับปฏิเสธสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของแรงงานข้ามชาติ สรส. จึงขอเรียกร้องอีกครั้งให้กระทรวงแรงงานและหน่วยงานภาครัฐทั้งหมด ยกเลิกกฎหมายและนโยบายที่เป็นการเลือกปฏิบัติเหล่านี้เสีย เพื่อให้แรงงานข้ามชาติได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานเฉกเช่นเดียวกับที่ ‘แรงงานทั้งหมด’ พึงจะได้รับ โดยไม่คำนึงถึงปัจจัยด้านสัญชาติและสถานะการเข้าเมือง”

นายสาวิทย์กล่าวต่อไปว่า “เราขอเรียกร้องโดยทันทีให้ยกเลิกหนังสือเวียนที่ รส.0711/ว751 ที่ปฏิเสธแรงงานข้ามชาติในการเข้าถึงสิทธิประโยชน์จากกองทุนเงินทดแทนเนื่องจากการบาดเจ็บและการเจ็บป่วยจากการทำงาน รัฐบาลได้ประกาศต่อหน้าสาธารณะว่าจะยุติการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบในประเทศไทยและจะเชิดชูสิทธิของแรงงานข้ามชาติในระหว่างที่มีการรายงาน Universal Periodic Review ที่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในนครเจนีวา การยกเลิกนโยบายที่ล้าสมัยและข้อจำกัดในการเลือกปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติที่ได้รับบาดเจ็บจากการทำงานควรเป็นการดำเนินการอย่างแรกๆ ที่รัฐบาลควรทำเพื่อให้เป็นไปตามที่ให้คำมั่นสัญญาไว้ แต่แทนที่รัฐบาลจะทำ หนังสือเวียนฉบับดังกล่าวนี้กลับยังคงมีผลอยู่”

กระทรวงแรงงานยังคงปฏิเสธอย่างเหนียวแน่นที่จะยกเลิกหนังสือเวียนที่ รส.0711/ว751 ทั้งๆ ที่มีการอุทธรณ์โดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศในปี 2553 และผู้รายงานพิเศษองค์การสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชนของผู้ย้ายถิ่นและลัทธิเหยียดหยามชนชาติในปี 2554 การที่ศาลไทยยังคงปฏิเสธที่จะสั่งเพิกถอนหนังสือเวียนฉบับนี้และมีกรณีศึกษาอีกสามตัวอย่างเช่นกันที่กำลังค้นหาการยกเลิกเพิกถอนหนังสือเวียนที่ รส.0711/ว751 ซึ่งยังคงค้างอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลฎีกา รายงานเมื่อเร็วๆ นี้ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศระบุเพิ่มเติมว่า “คณะกรรมการเสียใจที่รัฐบาล…ยังคงเพิกเฉยต่อความต้องการที่จะให้มีการแก้ไขหรือยกเลิกหนังสือเวียนฉบับนี้…”

ตามที่รายงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศระบุว่า “คณะกรรมการขอกระตุ้นให้รัฐบาลให้ความมั่นใจว่า…มาตรการที่ให้มีผลบังคับเพื่อเป็นการกำจัดกรณีของการปฏิเสธการรักษาพยาบาลยามฉุกเฉินเร่งด่วนและสิทธิประโยชน์อย่างอื่นที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้เป็นผู้ประกันตนที่จะต้องทนทุกข์ทรมานจากอุบัติเหตุเนื่องจากการทำงาน… รัฐบาลควรจะใช้มาตรการเร่งด่วน (สร้างมาตรการ) ในความปลอดภัยทั้งหมดให้ครอบคลุม เข้าใจได้อย่างกว้างขวางโดยจัดหาให้มีการป้องกันขั้นพื้นฐานแก่แรงงานข้ามชาติทั้งหมดในกรณีที่ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน และควรที่จะเรียกร้องให้นายจ้างใช้นโยบายการประกันภัยสำหรับแรงงานข้ามชาติที่ขึ้นทะเบียนเป็นลูกจ้างในแต่ละคนของนายจ้าง บังคับให้เป็นไปตามกฎหมายโดยมีมาตรการลงโทษที่เป็นกฎเกณฑ์อย่างเคร่งครัด”

ในเรื่องการพัฒนาที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2554 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้แผนการรับประกันภัยเอกชนรายหนึ่ง ที่ไม่สามารถบังคับให้เป็นไปตามกฎหมายได้ ที่ว่านายจ้างสามารถเลือกซื้อความคุ้มครองอุบัติเหตุเนื่องจากการทำงานให้กับแรงงานข้ามชาติได้ เช่นเดียวกับนโยบายด้านแรงงานในประเทศไทยส่วนใหญ่

การตัดสินใจครั้งนี้ได้กระทำไปโดยปราศจากการประชุมปรึกษาหารือกับสหภาพ คนงาน หรือกลุ่มสิทธิมนุษยชน และ ‘ยังคงเป็นนโยบายที่อยู่บนฐานของการเลือกปฏิบัติ’ เฉกเช่นเดียวกับที่องค์การแรงงานระหว่างประเทศได้ระบุไว้เป็นพิเศษในรายงานเมื่อเร็วๆ นี้

นับตั้งแต่มกราคม 2555 มีแรงงานข้ามชาติประมาณ 3,000 รายเท่านั้นที่ถูกครอบคลุมโดยแผนการรับประกันภัยเอกชนนี้ ยังมีแรงงานข้ามชาติมากกว่าหนึ่งล้านคนจากประเทศพม่า กัมพูชา ลาว และเวียดนามที่ยังคงไม่สามารถเข้าถึงค่าทดแทนที่ต้องได้รับการชดเชยจากอุบัติเหตุจากการทำงานได้ คนงานพร้อมกับครอบครัวของเขายังคงต้องประสบกับชะตาชีวิตของความไม่แน่นอนอยู่อย่างต่อเนื่องและกำลังทนทุกข์ทรมานถ้าพวกเขาได้รับอุบัติเหตุจากที่ทำงานต่อไป
 

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)
5 เมษายน 2555

 

 

หมายเหตุ: ประชาไท แก้ไขพาดหัวข่าวตามการท้วงติงของผู้อ่าน 5 เม.ย.55 เวลา 16.20 น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net