Skip to main content
sharethis

เปิดรากเหง้าภาษามลายู จาก 2 อดีตนักหนังสือพิมพ์อักษรยาวี Fajar ถ่ายทอดบทเรียน ทำไมคนชายแดนใต้ไม่อ่าน แนะแนวทางกระตุ้นคนพื้นที่ สร้างสื่อด้วยภาษาของตัวเอง ชี้เหลือที่เดียวในอาเซียน เผยตัวอย่างมลายูอักษรสันสกฤต

 

 
ใกล้ที่จะเข้าสู่ความเป็นประชาคมอาเซียนในอีกไม่ถึง 3 ปี ภาษามลายูซึ่งมีผู้ใช้มากที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียนจึงเนื้อหอมตามไปด้วย ทว่าในชายแดนใต้ของไทย กระแสการรื้อฟื้นภาษามลายู ทั้งจากหน่วยราชการและภาคประชาชน โดยเฉพาะการเขียนด้วยอักษรยาวี มีมาซักพักใหญ่ๆ แล้ว
 
แต่จะมีใครซักกี่คนที่ทราบว่า ภาษามลายูมีที่มาอย่างไร ทำไมต้องยืมใช้อักษรจากภาษาอื่นถึง 3 ภาษา อานิสงค์องค์ความรู้จากสองวิทยากรในค่ายอบรมข่าวนักเรียนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อช่วงเดือนเมษายน 2555 ที่ผ่าน มีคำตอบเรื่องนี้
 
คนแรก คือ นายอุสมัน โต๊ะตาหยง ผู้บริหารโรงเรียนบากงวิทยา อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี อดีตนักข่าวและผู้ช่วยบรรณาธิการหนังสือพิมพ์  Fajar หนังสือพิมพ์ภาษามลายูอักษรยาวีในอดีต คนที่สองคือ นายดอรอแม หะยีหะสา อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกัน ปัจจุบันเป็นนักจัดรายการวิทยุภาษามลายูของสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี
 
อุสมัน โต๊ะตาหยง “อักษรยาวีเหลือที่เดียวในอาเซียน”
 
มีการพูดถึงกันว่า คนมาลายูมีมานานกว่า 2,500 ปี ก่อนคริสตศักราช (ค.ศ.) แล้ว เป็นกลุ่มคนที่ชอบเดินทางไปมาตามชายฝั่งทะเล จากนั้นประมาณ 1,500 ปีก่อน ค.ศ. พวกเขาเข้าไปอยู่ตามถ้ำและมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หลังจากนั้นเริ่มมีอำนาจปกครองตัวเอง โดยศตวรรษที่ 1 ค.ศ.เริ่มเป็นรัฐที่เข้มแข็งและยิ่งใหญ่ ชื่ออาณาจักรลังกาสุกะ
ในช่วงเริ่มต้นของอาณาจักรลังกาสุกะ มีภาษามาลายูแล้ว เป็นภาษาพูด ยังไม่มีภาษาเขียนเป็นของตัวเอง ซึ่งนักประวัติศาสตร์เองก็ไม่ได้ระบุว่า อาณาจักรลังกาสุกะมีภาษาเขียน
 
ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 7 อาณาจักรศรีวิชัยรุ่งเรืองขึ้น โดยราชสำนักของอาณาจักรศรีวิขัยใช้อักษรสันสกฤตมาใช้เขียนภาษามลายู และใช้ในราชสำนักเท่านั้น
จากนั้นศตวรรษที่ 9 ศาสนาอิสลามเริ่มเข้ามาเผยแพร่ โดยชาวบ้านเป็นผู้เข้ารับศาสนาอิสลามก่อน หลังจากนั้นศตวรรษ 10 - 11 บรรดาคนในราชวงศ์หรือพวกกษัตริย์จึงเริ่มเข้ารับศาสนาอิสลาม และเริ่มใช้อักษรอาหรับเป็นตัวเขียนภาษามาลายู ทำให้ขณะนั้น ภาษามลายูมี 2 ภาษาเขียน คือสันสกฤตกับอาหรับ ยกตัวอย่างการเขียนภาษามลายูตัวอักษรสันสกฤต มีปรากฏบนศิลาจารึกโบราณ (หิน)
 
สำหรับการใช้ตัวอักษรอาหรับมาเขียนภาษามลายูนั้น ได้มีการคิดค้นอักษรบางตัวเพิ่มเติม เพื่อให้ครบตามการออกเสียงในภาษามลายู แล้วเรียกว่า อักษรยาวี
เมื่อมีการใช้ตัวอักษรยาวีในการเขียนภาษามลายูแล้ว ปรากฏว่ามีการเผยแพร่จนเป็นที่นิยม โดยมีใช้ทั้งในราชการ ราชสำนัก ตำราเรียนทางศาสนา
 
จนถึงศตวรรษที่ 18 ดินแดนมาลายูก็ตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของชาติตะวันตก และเริ่มมีการใช้อักษรโรมันคือ ตัวอักษร A B C มาใช้เขียนภาษามลายู เป็นต้นมา
 
ปัจจุบันภาษามลายูอักษรรูมี (โรมัน) มีการใช้อย่างสมบูรณ์แบบ เพราะมีใช้ทั้งในราชการ การศึกษา วรรณกรรม รวมทั้งภาษาข่าวและสื่ออิเล็กทรอนิกส์
 
 
กำเนิด(และดับสูญ) หนังสือพิมพ์มลายูอักษรยาวีในอดีต
 
ในอดีตที่ไม่นานมานี้ มีหนังสือพิมพ์ภาษมาลายูเกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้หลายฉบับ ฉบับหนึ่งผมได้ร่วมกันเปิดขึ้นมากับนายดอรอแม หะยีหะสา เป็นขนาดแท็ปลอยด์ ชื่อ Fajar แต่ปัจจุบันยกเลิกไปแล้ว
 
บทเรียนที่ได้ คือ ไม่มีการฝึกคนหรือเตรียมคนทำงาน มีการออกทุนส่วนตัวในการผลิตหนังสือพิมพ์ ไม่มีแผนการการตลาด แต่หวังรายได้จากยอดขายหนังสือพิมพ์อย่างเดียวและไม่มีโฆษณา สุดท้าย ไปไม่รอด และทุกอย่างจบลงในช่วงเกิดเหตุคลื่นสึนามิเมื่อปลายปี 2547
 
เป็นการยกเลิกที่บวกกับความหวาดระแวงของเจ้าหน้าที่รัฐ เนื่องจากเป็นช่วงที่สถานการณ์ไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความรุนแรงมาก แต่ปัจจุบันความหวาดระแวงในเรื่องนี้ไม่มีแล้ว หากจะรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ ก็คงไม่มีใครระแวง
ปัจจุบันภาษามาลายูที่ใช้อักษรยาวีมีใช้ที่เฉพาะที่ปัตตานีที่เดียว (หมายถึง ทั้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และบางส่วนของจังหวัดสงขลา) ที่มาเลเซียและอินโดนีเซียเลิกใช้อักษรยาวีไปนานแล้ว แต่ใช้อักษรรูมีแทน
 
ปัจจุบันมีคนเขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเป็นภาษามาลายูอักษรยาวีแล้ว ที่มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา เป็นวิจัยเกี่ยวกับประวัติผู้ก่อตั้งปอเนาะพ่อมิ่ง
 
ปัจจุบันคนที่เรียนจบจากประเทศอินโดนีเซียกลับมาสอนภาษามาลายูจำนวนมาก แต่กลับมีคนบอกว่าภาษามลายูอินโดนีเซียใช้ไม่ได้ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนคนที่เรียนจบจากอินโดนีเซียบอกว่า ภาษามลายูของมาเลเซียก็ใช้ไม่ได้เช่นกัน ที่จริงทั้งสองภาษานี้ไม่ได้มีปัญหาต่อกัน แต่คนที่พูดอย่างนั้น บ่งบอกถึงความอ่อนแอของการใช้ภาษามลายูของตัวเอง
 
ดอรอแม หะยีหะสา “ต้องให้คนมลายู รู้จักภาษามลายูก่อน”
 
แม้ปัจจุบันการพูดภาษามลายูของคนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ผิดเพี้ยนไปจากเดิมมากแล้ว แต่สำหรับการเขียนแล้ว ก็จำเป็นต้องเขียนให้ถูกต้อง แม้จะเข้าใจยากกว่าภาษาพูด เพราะปัจจุบันคนพูดมลายูคำภาษาไทยคำไปแล้ว
คำถามคือ ทำไมขณะนี้ คนอ่านภาษามลายูอักษรยาวีได้น้อยลง ก็เพราะคนไม่ค่อยสนใจและไม่มีใครกระตุ้นให้อ่าน
สิ่งหนึ่งที่จะกระตุ้นได้ คือการเขียนข่าว เพราะการเขียนข่าว เป็นการผสมผสานระหว่างความสามารถทางวิชาการกับการใช้เหตุและผล
 
ที่สำคัญ ข่าวสามารถดึงดูดให้คนมาสนใจอ่านได้ เพราะข่าว คือเรื่องเล่าที่มีความสดใหม่ เป็นเรื่องที่คนยังไม่รู้และมีความเร็ว
 
ที่สำคัญอีกอย่างคือ ข่าวเป็นงานเขียนที่มีคนอ่านมากที่สุด มากกว่างานเขียนชนิดอื่นๆ ด้วย แต่ก็ยังมีสื่อรูปแบบอื่นๆ ที่มีคนติดตามมากด้วยเช่นกัน เช่น การ์ตูน ซึ่งเหมาะสำหรับคนที่ไม่ชอบอ่านหนังสือ
 
ข่าวมีองค์ประกอบพื้นฐาน คือ ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ ทำไม และอย่างไร ซึ่งก็คือทฤษฎี 5W1H นั่นเอง แต่ข่าวไม่ใช่ประชาสัมพันธ์หรือการโฆษณาชวนเชื่อ
 
ทุกวันนี้ มีคนอยากเล่าเรื่องเยอะ แต่ไม่รู้วิธีการที่จะเล่าเรื่อง ผมเองก็มีเรื่องอยากจะเล่า จึงทำหนังสือพิมพ์ขึ้นมาให้คนอ่าน แต่ทำแล้วไปต่อไม่ได้ จึงมารายการวิทยุก็เป็นการเล่าเรื่องให้คนฟังได้เหมือนกัน
 
หนังสือพิมพ์ Fajar ซึ่งแปลว่า รุ่งอรุณ ประสบปัญหาหลายอย่าง ประการแรก คนมลายู (ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้) ไม่อ่านหนังสือภาษามลายู และไม่ค่อยสนับสนุนหนังสือพิมพ์ภาษามลายู
 
คนซื้อหนังสือพิมพ์หนึ่งฉบับ นำไปอ่าน 5 คน ยอดขายหนังสือพิมพ์จึงน้อย ทำให้ประสบปัญหาเรื่องการเงิน บวกกับปัญหาอื่นๆ อีกหลายอย่าง จนทำให้ต้องยุบหนังสือพิมพ์ฉบับนี้
 
คนมลายูไม่เหมือนคนจีน คนจีนทำหนังสือพิมพ์เพื่อให้คนอื่นรู้จักภาษาจีน ไม่สนว่าคนจะอ่านได้หรือไม่ และมีคนซื้อ มีผลทำให้หนังสือพิมพ์จีนแพร่หลายไปทั่วโลก
 
แต่การจะทำให้คนมลายูชอบอ่านหนังสือ คือต้องทำให้คนมลายูรู้จักภาษามลายูก่อน อาจจะโดยการผลิตหนังสือพิมพ์แจก ต้องไม่หวังผลกำไร แต่อุปสรรคใหญ่ คือ เมื่อปีที่แล้วมีผลสำรวจว่า คนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ชอบอ่านหนังสือภาษาไทยเป็นอันดับ 1 มลายูอักษรรูมี เป็นอันดับ 2 ส่วนภาษามลายูอักษรยาวี เป็นอันดับ 3
ดังนั้น สิ่งที่จะต้องทำต่อไป คือต้องมีการเตรียมตัว เช่น มีการทำข่าวภาษามลายูอักษรยาวีมากขึ้น เพื่อให้มีการผลิตและใช้สื่อภาษามลายูอักษรยาวีมากขึ้น แม้มีคนอ่านน้อยก็ตาม
 
ที่สำคัญต้องสนับสนุนคนรุ่นใหม่ให้เรียนภาษามาลายูให้มีความเชี่ยวชาญ เพราะเด็กที่จบชั้น ม.6 แล้ว ถ้าไม่เรียนต่อสายศาสนาก็จะทำให้ต้องหยุดเรียนภาษามาลายูไปด้วย เพราะฉะนั้นต้องสนับสนุนให้คนที่เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยได้เรียนภาษามาลายูต่อไปด้วย
 
นอกจากนี้ยังต้องสร้างบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนภาษามลายูด้วย เพราะขณะนี้ มีชาวต่างชาติเข้ามาเรียนภาษามลายูมากขึ้น เช่น คนญี่ปุ่น เพราะคนญี่ปุ่นเข้าใจว่า เมื่อเป็นประชาคมอาเซียน ภาษามลายูจะเป็นภาษาที่สำคัญในอาเซียน แต่คนในพื้นที่ไม่สนใจ
 
ส่วน การจะเขียนข่าวภาษามลายูอักษรยาวีให้ถูกต้องนั้น ประการแรก ต้องเตรียมบุคลากรให้พร้อมและชัดเจน เนื่องจากคนที่จะทำงานข่าวได้ ต้องเป็นคนต้องตรงต่อเวลา
 
 
ตัวอย่างภาษามลายูอักษรสันสกฤตและอักษรยาวี
 
มลายูอักษรสันสกฤต
 
 
หลักศิลาจารึกโบราณสมัยศรีวิชัยที่เขียนด้วยภาษามลายูอักษรสันสกฤต โดยมีการถอดข้อความเดิมเป็นภาษามลายูอักษรรูมี ดังนี้
Wangna pun ini sakakala, prebu ratu purane pun, diwastu diya wingaran prebu guru dewataprana di wastu diya wingaran sri baduga maharaja ratu hajj di pakwan pajajaran seri sang ratu dewata pun ya nu nyusuk na pakwan diva anak rahyang dewa niskala sa(ng) sida mokta dimguna tiga i(n) cu rahyang niskala-niskala wastu ka(n) cana sa(ng) sida mokta ka nusalarang, ya siya ni nyiyan sakakala gugunungan ngabalay nyiyan samida, nyiyanl sa(ng)h yang talaga rena mahawijaya, ya siya, o o i saka, panca pandawa e(m) ban bumi  00.”
 
ส่วนความหมายที่เป็นภาษามลายู ดังนี้
“Semoga selamat, ini tanda peringatan (untuk) Prabu Ratu almarhum Dinobatkan dia dengan nama Prabu Guru Dewataprana, dinobatkan (Iagi) dia dengan nama Sri Baduga Maharaja Ratu Aji di Pakuan Pajajaran Sri Sang Ratu Dewata. Dialah yang membuat parit (pertahanan) Pakuan.”
“Dia putera Rahiyang Dewa Niskala yang dipusarakan di Gunatiga, cucu Rahiyang Niskala Wastu Kencana yang dipusarakan ke Nusa Larang. Dialah yang membuat tanda peringatan berupa gunung-gunungan, membuat undakan untuk hutan Samida, membuat Sahiyang Telaga Rena Mahawijaya (dibuat) dalam Saka 1455.”
 
 
มลายูอักษรยาวีโบราณ
เอกสารโบราณที่เขียนด้วยภาษามลายูอักษรยาวี
 
 
หมายเหตุ : ภาพจากงานนำเสนอ เรื่อง Sejarah Tulisan Melayu ของอุสมัน โต๊ะตาหยง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net