Skip to main content
sharethis

ราชบัณฑิตกำหนดวิธีการทับศัพท์ภาษาเกาหลีและภาษาเวียดนามที่ถูกต้อง มีผลบังคับใช้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา


ภาพโดย spencer341b (CC BY-ND 2.0)

สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องหลักเกณฑ์การทับศัพท์ ภาษาเกาหลี และภาษาเวียดนาม ได้มีผลบังคับใช้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา หลังประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา โดยสาระสำคัญของประกาศสำนักนายกฯ ดังกล่าว เนื่องจาก ตามที่ราชบัณฑิตยสถานเสนอ หลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาต่างๆ ซึ่งได้ประกาศให้เป็นมาตรฐานไปแล้ว 11 ภาษานั้น ยังไม่เพียงพอในการใช้งาน ราชบัณฑิตยสถานจึงกำหนดหลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาเกาหลี และภาษาเวียดนาม เพิ่มขึ้นอีก 2 ภาษา และเห็นสมควรให้ส่วนราชการถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาดังกล่าวด้วย

โดยหลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาเกาหลี มี 7 ข้อ ดังนี้

1.หลักเกณฑ์นี้ใช้สำหรับเขียนทับศัพท์ภาษาเกาหลี ด้วยอักษรโรมัน

2.เนื่องจากภาษาเกาหลีมีการถ่ายทอดเป็นอักษรโรมันหลายระบบ ในหลักเกณฑ์นี้ได้เลือกใช้อักษรโรมันจาก 2 ระบบ ได้แก่ ระบบ New System 2002 ที่ใช้เป็นทางการ และระบบ McCune-Reischauer ที่นิยมใช้มานานและยังคงมีใช้อยู่ เช่น Lee Myung-bak อี มย็อง-บัก (ชื่อประธานาธิบดี) Park (Pak) Chung-hee ปัก ชอง-ฮี (ชื่อประธานาธิบดี)

3. คำทับศัพท์ที่มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา เช่น คำในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครอง และเมืองหลวง ฯลฯ ให้ใช้ตามฉบับล่าสุด

4.คำภาษาเกาหลีที่รับมาใช้ในภาษาไทยเป็นเวลานานแล้ว และเขียนเป็นคำไทยจนเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปให้ใช้ต่อไปตามเดิม เช่น กิมจิ, เทควันโด, อารีดัง, ฮุนได, วอน (สกุลเงิน)

5.พยัญชนะควบกล้ำที่มีสระหน้าให้นำสระหน้าไปไว้ระหว่างพยัญชนะควบกล้ำนั้น เช่น gwebeom คเวบ็อม hoengdan ฮเว็งดัน

6.คำทับศัพท์ชื่อและชื่อสกุลให้เขียนติดกัน เว้นวรรค หรือมีเครื่องหมายยัติภังค์ตามต้นฉบัอักษรโรมัน เช่น An Chaehong อัน แชฮง Son Ye-jin ซน เย-จิน

7.คำวิสามานยนามเช่นชื่อทางภูมิศาสตร์ที่เขียนด้วยอักษรโรมัน แม้ว่าจะเว้นวรรคหรือมีเครื่องหมายยัติภังค์ ให้ทับศัพท์โดยเขียนติดกัน ส่วนคำที่บอกประเภทของชื่อเฉพาะไม่ต้องทับศัพท์

ตัวอย่างเช่น

7.1 -do (จังหวัด) เช่น Gangwon-do จังหวัดคังวอน

7.2 teukbyeolsi (เมืองปกครองพิเศษ, กรุง) เช่น Seoul teukbyeolsi กรุงโซล

7.3 -si หรือ si (เมือง) เช่น Gwangju-si หรือ Gwangjusi เมืองควังจู

7.4 -gun หรือ gun (อำเภอ) เช่น Seonsan-gun

7.5 -gu (เขต) เช่น Dongdaemun-gu เขตทงแดมุน

7.6 gang (แม่น้ำ) เช่น Hangang แม่น้ำฮัน

7.7 san (ภูเขา) เช่น Seoraksan ภูเขาซอรัก

7.8 -seom, -do (เกาะ) เช่น Nami-seom เกาะนามี Jeju-do เกาะเชจู

7.9 daehakgyo (มหาวิทยาลัย) เช่น Inhadaehakgyo มหาวิทยาลัยอินฮา Seouldaehakgyo มหาวิทยาลัยโซล

7.10 yeok (สถานีรถไฟ) เช่น Sadangyeok สถานีรถไฟซาดัง

7.11 sijang (ตลาด) เช่น Namdaemunsijang ตลาดนัมแดมุน

7.12 -ga (ถนน) เช่น Euljiro 1 (il) -ga ถนนอึลจีโร 1

 

 

ที่มา: สำนักข่าวอิศรา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net