Skip to main content
sharethis

โดยเป็นการปล่อยก่อนประธานาธิบดี "เต็ง เส่ง" จะไปเยือนสหประชาชาติ ขณะเดียวกันการปล่อยตัวรอบนี้มีการปล่อยตัวนักโทษชาวต่างชาติกว่า 300 คน ในจำนวนนี้รวมคนไทย 80 กว่าคนที่ลักลอบเข้าพม่าอย่างผิดกฎหมายเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาด้วย

บีบีซี รายงานว่า ทางการพม่าได้อภัยโทษและปล่อยตัวนักโทษมากกว่า 500 คน รวมทั้งนักโทษการเมืองที่ยังถูกจองจำ และนักโทษชาวต่างชาติจำนวนหนึ่ง ทั้งนี้ทางการไม่ได้เปิดเผยรายชื่อผู้ได้รับการปล่อยตัว โดยพรรคฝ่ายค้านระบุว่ามีนักโทษการเมืองอย่างน้อย 58 รายได้รับการปล่อยตัว

โดยความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้น 1 สัปดาห์ก่อนที่ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง มีกำหนดไปเยือนสหประชาชาติ ที่นิวยอร์ก โดยในรอบ 1 ปีมานี้ รัฐบาลได้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองมากกว่า 600 คน โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปในพม่า

ในจำนวนผู้ที่ได้รับการปล่อยตัว ยังมีสมาชิกฝ่ายค้านคนสำคัญๆ ด้วย โดยหน่าย หน่าย สมาชิกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยพม่า หรือ เอ็นแอลดี กล่าวว่า "เรามองโลกในแง่ดีว่า ผู้คนเหล่านี้คือนักโทษการเมืองที่ยังเหลืออยู่"

อย่างไรก็ตาม องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนได้เตือนว่า จำนวนนักโทษการเมืองที่แท้จริงในพม่ายังไม่เป็นที่แน่ชัด

"ในขณะที่การอภัยโทษให้กับนักโทษคนอื่นๆ เป็นเรื่องน่ายินดีในหลักการ แต่เช่นเดียวกับคนอื่นๆ เราเองก็รอคอยที่จะได้เห็นรายชื่อว่ามีนักโทษการเมืองเท่าไหร่ที่รวมอยู่ในรายชื่อผู้ที่ได้รับการปล่อยตัว และเรื่องนี้หมายความว่าอย่างไร มีความสำคัญอย่างไร" ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชีย ของฮิวแมนไรท์ วอชท์ (HRW) ระบุในแถลงการณ์

"ปัญหาก็คือ ไม่มีความโปร่งใสจากรัฐบาลพม่าว่าใครเป็นนักโทษการเมือง พวกเขาถูกจองจำไว้ที่ไหน และยังเหลือนักโทษการเมืองอีกกี่คน" โรเบิร์ตสันกล่าว

ทั้งนี้ มีตัวเลขประมาณการของนักโทษการเมืองในพม่าแตกต่างกันไป แต่กลุ่มสิทธิมนุษยชนเชื่อว่าหลังการปล่อยตัวเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ยังคงมีนักโทษการเมืองอีกราว 300 คน

แถลงการณ์ของรัฐบาลกล่าวว่า การอภัยโทษก็เพื่อที่จะ "ประกันเสถียรภาพของรัฐ และสันติภาพถาวร บนพื้นฐานของการเคารพในหลักมนุษยธรรม และเพื่อให้มิตรภาพ ความปรารถนาดีในความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน" ทั้งนี้ในการปล่อยตัวนักโทษยังรวมไปถึง "นักโทษชาวต่าวชาติ จากเรือนจำทั่วประเทศ"

ทั้งนี้สมาชิกพรรคเอ็นแอลดี อย่างเนย์ วิน ก็เป็นหนึ่งในผู้ได้รับการปล่อยตัวออกมาจากเรือนจำอินเส่ง ในนครย่างกุ้งด้วย "ชีวิตของพวกเราถูกทำลาย แม้ว่าพวกเราจะยังมีชีวิตอยู่" เขากล่าวกับเอเอฟพี โดยเนย์ วิน ถูกลงโทษจำคุก 7 ปี ในปี 2551 ในข้อกล่าวหาว่าคอรัปชั่น ในจำนวนนี้มีชาวต่างชาติอีก 2 ราย คือชาวอินเดียและชาวจีนก็ได้รับการปล่อยตัวเช่นกัน

ล่าสุดในวันนี้ (18 ก.ย.) สถานีโทรทัศน์เสียงประชาธิปไตยแห่งพม่า สรุปตัวเลขนักโทษการเมืองที่ได้รับการปล่อยตัวรอบนี้ โดยอ้างข้อมูลจากสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองในพม่า (AAPPB) ซึ่งมีสำนักงานในประเทศไทย ซึ่งระบุว่ามีนักโทษการเมืองทั้งสิ้น 88 คนได้รับการปล่อยตัว 

อย่างไรก็ตามในจำนวนนักโทษที่ได้รับการปล่อยตัวกว่า 300 คน ในจำนวนนี้เป็นชาวต่างชาติซึ่งมีสัญชาติจีน อินเดีย บังกลาเทศ ไทย และลาว โดยในจำนวนนี้มีนักโทษสัญชาติไทยอย่างน้อย 83 ราย ซึ่งถูกจับเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา หลังข้ามแดนอย่างผิดกฎหมายเข้าไปในพม่า

 

อาจารย์สอนประวัติศาสตร์ได้รับการปล่อยตัวด้วย

ทั้งนี้ สถานีโทรทัศน์เสียงประชาธิปไตยพม่า (ดีวีบี) รายงานด้วยว่า ชเว ตู่ อายุ 68 ปี อาจารย์สอนประวัติศาสตร์จากเมืองมัณฑะเลย์ หนึ่งในนักโทษการเมืองก็ได้รับการปล่อยตัวด้วย หลังติดคุกที่เรือนจำเมืองตองจี รัฐฉานถึง 14 ปี "หลังจากอยู่ในเรือนจำหลายปี จิตใจของผมย่ำแย่ คงจะใช้ความพยายามอย่างยิ่งในการเยียวยา" เขากล่าว

อดีตครูสอนประวัติศาสตร์ผู้นี้ เป็นนักกิจกรรมทางการเมืองที่แข็งขันนับตั้งแต่ขบวนการประท้วงของนักศึกษาเริ่มขึ้นในปี 1962 และเขาเองเข้าร่วมการประท้วงเดือนสิงหาคมปี 1988 ด้วย ชเว ตู่ ถูกจับรอบแรกในปี 1993 และได้รับการปล่อยตัวในปี 1995 อย่างไรก็ตามเขาถูกควบคุมตัวอีกครั้งโดยเจ้าหน้าที่ข่าวกรองของกองทัพเมื่อ 30 พ.ค. ปี 1998 เนื่องจากพยายามจะจัดการชุมนุม "9999" ซึ่งการจัดการชุมนุมในครั้งนั้นล้มเหลว ทั้งนี้ ชเว ตู่ ถูกตัดสินจำคุก 42 ปี แต่ได้รับการปล่อยตัวในช่วงเย็นวันจันทร์ที่ผ่านมา

โดยการปล่อยตัวนักโทษรวมไปถึงนักโทษการเมืองระลอกใหญ่ของพม่า เกิดขึ้นในช่วงที่ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ซึ่งกำลังต้องการแรงสนับสนุนการปฏิรูปจากระดับนานาชาติ กำลังเริ่มต้นการเยือนประเทศจีน ก่อนมุ่งสู่การประชุมสหประชาชาติ ในขณะที่ออง ซาน ซูจีก็กำลังจะเริ่มต้นเยือนสหรัฐอเมริกา นับเป็นการเยือนเป็นครั้งแรกในรอบยี่สิบปี โดยกำหนดการเยือน 18 วันของออง ซาน ซูจี จะมีการไปรับรางวัลเหรียญทองของสภาคองเกรสด้วย ซึ่งเป็นเกียรติยศของพลเรือนระดับสูงสุดของอเมริกา

 

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก

Burma releases 500 prisoners in amnesty, BBC, 17 September 2012

More than 80 political prisoners freed in amnesty, DVB, Published: 18 September 2012

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net