Skip to main content
sharethis

ตั้นมยิ่นอู ผู้เขียนหนังสือเรื่อง "The Hidden History of Burma"เสนอบทความเกี่ยวกับการประท้วงต่อต้านรัฐประหารในพม่าครั้งล่าสุด ระบุ การเมืองในพม่าอาจจะคลายล็อกจากการกุมอำนาจของกองทัพได้ยากถึงแม้จะมีการประท้วงอย่างหนักในหลายภาคส่วน แต่สิ่งที่ดีคือเมล็ดพันธุ์คนรุ่นใหม่ในพม่ากำลังเริ่มขยายรากแตกหน่อของตัวเองไปในหลายภาคส่วน อนาคตของพม่าอาจจะอยู่ในมือของผู้คนเหล่านี้มากกว่าจะเป็นสองขั้วอำนาจอนุรักษ์นิยมเดิม

 

ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหารที่ตองจี เมืองหลวงรัฐฉาน เมื่อ 8 ก.พ. 64 (ที่มา: แฟ้มภาพ/Facebook/Khunsithu)
ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหารที่ตองจี เมืองหลวงรัฐฉาน เมื่อ 8 ก.พ. 64 (ที่มา: แฟ้มภาพ/Facebook/
Khunsithu)
 

ในบทความที่เผยแพร่ใน Financial Times เมื่อวันศุกร์ (12 ก.พ.) ตั้นมยิ่นอู  ผู้เป็นหลานของอดีตเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ "อูตั้น" ระบุว่าการรัฐประหารในพม่ามีเจตนาที่จะสับเปลี่ยนสมดุลทางอำนาจที่กองทัพต้องการช่วงชิงมาจากอองซานซูจี หลังจากที่พรรคเอ็นแอลดีชนะการเลือกตั้งครั้งล่าสุดอย่างถล่มทลาย แต่สิ่งที่พวกนายพลทั้งหลายต้องมาเจอคือพลวัติทางการเคลื่อนไหวเชิงปฏิวัติครั้งใหม่ในช่วงที่เศรษฐกิจและสังคมกำลังอ่วมหนัก ทำให้อนาคตอาจจะอยู่ในมือคนรุ่นใหม่นักปฏิวัติเหล่านี้ได้

ย้อนไปเมื่อ 11 ปีที่แล้ว เผด็จการทหารพม่าใช้รัฐธรรมนูญใหม่ในการจัดวางให้กองทัพมีอำนาจร่วมกับประธานาธิบดีและรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง และเมื่อปี 2531 กองทัพยังเคยล้มล้างรัฐบาลสังคมนิยมและก่อร่างระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ตัวเอง พวกเขาคิดว่าระบบการเมืองแบบใหม่ของพวกเขาจะทำให้กองทัพมีอำนาจและปกป้องความมั่งคั่งของเฉพาะพรรคพวกตัวเองและจะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนจำนวนมาก หลังจากนั้น นายพลสูงอายุก็ลงจากอำนาจ มีการให้เสรีทางการเมืองมากขึ้น จนกระทั่งอองซานซูจีและพรรคเอ็นแอลดีชนะการเลือกตั้งในปี 2558

ตลอด 5 ปีนับจากนั้น การครองอำนาจร่วมกันอย่างน่ากระสับกระส่ายระหว่างอองซานซูจีกับผู้นำกองทัพคนใหม่ พล.อ.อาวุโสมินอ่องหล่าย ในขณะที่กองทัพยังคงกุมอำนาจด้านความมั่นคงอาไว้อย่างเหนียวแน่น ฝ่ายอองซานซูจีก็บริหารทุกภาคส่วนอื่นๆ ของรัฐบาล รวมถึงการจัดการงบประมาณ 25 ล้านดอลลาร์ต่อปี และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในช่วงนั้นอองซานซูจีก็เริ่มมีอำนาจมากขึ้นพร้อมๆ กับที่มีความนิยมสูงขึ้น แล้วเธอก็มีเป้าหมายต้องการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะทำให้กองทัพมาอยู่ใต้อำนาจของเธอ

ผู้นำเหล่าทัพหวังว่าการเลือกตั้งในเดือน พ.ย. 2564 จะทำให้สามารถลดอำนาจของซูจีได้บ้าง และหวังกระทั่งว่าฝ่ายกองทัพอาจจะได้กลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง แต่พรรคเอ็นแอลดีกลับเอาชนะการเลือกตั้งได้อย่างท่วมท้น ฝ่ายกองทัพกล่าวอ้างว่ามีการโกงการเลือกตั้งและจะให้กองทัพเป็นผู้สืบสวนเองแต่พรรคเอ็นแอลดีก็ปฏิเสธ จากนั้นก็เกิดการรัฐประหารในพม่า ตั้นมยิ่นอู เสนอว่าการรัฐประหารนี้อาจจะไม่ถึงขั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้เสียทีเดียว แต่สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือการพยายามทำให้อองซานซูจีอ่อนกำลังลงไม่ได้นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางรากฐานใดๆ

ในบทความระบุต่อมาว่า กองทัพมีเจตนาจะย้อนเวลากลับไปยังปี 2553 และทำอะไรแบบเดิม แต่ให้อองซานซูจีถูกกีดกันออกไปมากกว่าเดิม ในตอนนี้อองซานซูจีถูกคุมขังอยู่ภายในบ้าน ผู้นำเหล่าทัพสัญญาว่าจะทำให้มีการเลือกตั้งภายในปีหน้า แต่เป็นไปได้ยากที่พรรคเอ็นแอลดีจะได้เข้าร่วมการเลือกตั้งด้วย  การไล่สั่งคุมขังผู้คนพรรคเอ็นแอลดีตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาบวกกับข้อกล่าวหาเรื่องการโกงการเลือกตั้งและอ้างว่ามีการสมคบคิดกับต่างชาติ แสดงให้เห็นว่ากองทัพพม่าจงใจจะขจัดพรรคเอ็นแอลดีอย่างเห็นได้ชัด

บทความยังประเมินว่ากองทัพอาจจะไม่ได้อยากกลับไปสู่ระบอบเผด็จการที่โหดเหี้ยมในระดับเดิมแต่ในการดำเนินแผนการเพื่อสร้างสภาพการเมืองใหม่ให้กับเผด็จการทหารนั้นก็คำนวณพลาดไปเรื่อหนึ่ง คือการที่ประชาชนคนธรรมดาทั่วไปมีความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะขจัดการครอบงำของกองทัพไปให้หมดสิ้น

 

ตำรวจพม่าที่เมืองลอยก่อ รัฐกะเรนนี เดินขบวนต้านรัฐประหาร เมื่อ 10 ก.พ. 64 (ที่มา: แฟ้มภาพ/Kantarawaddy Times)ตำรวจพม่าที่เมืองลอยก่อ รัฐกะเรนนี เดินขบวนต้านรัฐประหาร เมื่อ 10 ก.พ. 64 (ที่มา: แฟ้มภาพ/Kantarawaddy Times)
 

มีประชาชนหลายแสนคนประท้วงบนท้องถนน เรียกร้องให้กองทัพเลิกยึดครองอำนาจ มีข้าราชการและคนทำงานภาคส่วนสาธารณะหลายพันคนออกจากงานประท้วง ทำให้รัฐบาลดำเนินการต่อไปไม่ได้ และกลุ่มผู้นำขบวนการต่อต้านเหล่านี้คือกลุ่มคนรุ่นใหม่

ตั้นมยิ่นอูประเมินว่าการประท้วงนี้อาจจะไม่ถึงขั้นส่งผลให้โค่นล้มกองทัพได้ และการที่จะทำให้กองทัพประนีประนอมกับอองซานซูจีก็เป็นไปได้ยากเช่นกัน  กลุ่มผู้นำกองทัพระดับสูงก็ดุจะไม่มีการแตกแถวได้ง่ายๆ และคำว่า "ประนีประนอม" ในวัฒนธรรมการเมืองพม่าก็ดูจะกลายเป็นคำสกปรกไปแล้ว อย่างไรก็ตามการประท้วงและการปราบปรามจากฝ่ายรัฐบาลที่ดำเนินอย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ นั้นทำให้การที่กองทัพยึดกุมอำนาจในระดับเบ็ดเสร็จเป็นไปไม่ได้

เมื่อสิ่งเหล่านี้อาจจะทำให้กองทัพไม่สามารถควบคุมปกครองประเทศได้ การเมืองพม่าก็จะส่งผลกระทบต่อประเด็นอื่นๆ อย่างเช่นเรื่องการกีดกันเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติศาสนา, สงครามความขัดแย้งกับกลุ่มชาติพันธุ์, ความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มสูงขึ้น, ปัญหาที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญา และปัญหาโลกร้อน

ในบทความยังชี้ให้เห็นถึงเรื่องที่อำนาจทางเศรษฐกิจการเมืองที่แท้จริงไม่ได้อยู่ในมือทหาร แต่มาจากการโยงใยส่งเงินเข้าประเทศจากแรงงานข้ามชาติซึ่งจำนวนมากสูญเสียที่ดินทำกินในประเทศตัวเองจนต้องเดินทางมาค้าแรงงานในไทย เขายังบอกว่าโครงข่ายเศรษฐกิจนี้ทรงพลังยิ่งกว่าสถาบันใดๆ ในพม่า ในขณะเดียวกันผู้คนเหล่านี้ก็ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ทำให้สูญเสียรายได้จำนวนมาก และในยุคสมัยต่างจากการเคลื่อนไหวในยุคสมัยก่อนๆ ที่คนยังไม่มีโทรศัพท์สมาร์ทโฟนแต่ในตอนนี้ "ทุกคน" ต่างก็มีเฟสบุ๊ค

ตั้นมยิ่นอูวิเคราะห์ว่าถึงแม้พม่าอาจจะยังไม่สามารถกลับเป็นประชาธิปไตยได้ง่ายๆ หรือมีอะไรที่เปลี่ยนแปลงในทำนองปฏิวัติพลิกฝ่ามือ ความขัดแย้งระหว่างกองทับกับอองซานซูจีก็เป็นความขัดแย้งแบบสองขั้วอำนาจอนุรักษ์นิยมโดยที่ยังคาดเดาทิศทางไม่ได้ แต่ก็มีสิ่งที่ผู้เขียนบทความเห็นก็คือปัญหาการเมืองในพม่ามาจากการที่พวกคนสูงวัยครองอำนาจและมีการมุ่งเน้นอะไรแคบๆ อยู่แค่ที่การเลือกตั้งและรัฐธรรมนูญเท่านั้น

แต่การประท้วงที่เกิดขึ้นนี้มาจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความกล้าและความมั่นใจมากกว่า มีความรู้ทางเทคโนโลยีและเชื่อมต่อกับโลกภายนอกที่กว้างกว่า ตั้นมยิ่นอูบอกว่าถ้าหากพวกเขาจะประสบความสำเร็จได้ก็ต้องมีวาระที่ก้าวหน้ากับทุกชาติพันธุ์ เน้นเรื่องความเหลื่อมล้ำ การพัฒนา ไปพร้อมๆ กับสันติภาพและความยุติธรรม พวกเขาจะต้องก่อรูปสังคมใหม่ไปพร้อมๆ กับปรับโครงสร้างรัฐพม่า พวกเขาควรจะปฏิเสธมรดกอันเลวร้ายจากอดีต อนาคตอยู่ในมือพวกเขาแล้ว

เรียบเรียงจาก

Myanmar’s youth hold the country’s future in their hands, Financial Times, 12-02-2021

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net