Skip to main content
sharethis
กรณีโพสต์ข่าวลือรัฐประหาร - เสริมสุข สงสัยถูกเล่นงานทางการเมือง ถาม ปอท.ทำไมไม่จัดการเว็บหมิ่น ปอท.แจงยังไม่แจ้งข้อกล่าวหา ยังอยู่ขั้นรวบรวมหลักฐาน ส่วนกรณีไลน์ แค่ขอข้อมูลผู้ใช้ ไม่ได้อ่านเนื้อหาแชท เครือข่ายพลเมืองเน็ตป้องเสรีภาพแสดงความเห็น ชี้การจำกัดเสรีภาพต้องเป็นมาตรการสุดท้าย

 

(16 ส.ค.56) ศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับเครือข่ายพลเมืองเน็ต จัดเสวนาสาธารณะ เรื่อง เสรีภาพในสื่อสังคมออนไลน์กับประเด็นความมั่นคง จากกรณี ปอท.เปิดเผยว่าจะเฝ้าระวังสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งเกิดคำถามว่าความมั่นคงกับเสรีภาพในการแสดงออกของบุคคลจะหาจุดลงตัวกันอย่างไร ณ ห้อง 1001 ศูนย์ประชุมศาสตราจารย์บำรุงสุข สีหอำไพ ชั้น 10 อาคารมงกุฎสมมติวงศ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการโดย อลงกรณ์ ปริวุฒิพงศ์ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ

เสริมสุข กษิติประดิษฐ์ บรรณาธิการข่าวการเมืองและความมั่นคง สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส หนึ่งในสี่ผู้ถูกออกหมายเรียก โดยกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ระบุว่าเป็นผู้ที่โพสต์ข้อความบนสื่อสังคมออนไลน์ที่ทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนก เล่าว่า โดยปกติ ตนเองสื่อสารข้อมูลกับคนอ่านผ่านเฟซบุ๊ก โดยโพสต์ข่าวสารต่างๆ ในลักษณะขำขัน และเพิ่มเติมเกร็ดความรู้ มีผู้เป็นเพื่อนจำนวน 5,000 คน และผู้ติดตาม 7,000 กว่าคน ซึ่งมาจากหลากหลายสีเสื้อการเมือง

เสริมสุข เล่าต่อว่า หลังรัฐบาลประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคง เพื่อนในเฟซบุ๊กมักจะส่งข้อความหลังไมค์ (ส่งข้อความทางช่อง message) พูดเรื่องข่าวลือปฏิวัติกัน ซึ่งเขาก็มักจะตอบว่าอย่าคิดเอาเอง ต่อมา เมื่อวันที่ 3 ส.ค. มีคนหลังไมค์มาบอกว่ามีข่าวลือในกลุ่มคนเสื้อแดงว่าทักษิณจะทำรัฐประหารเอง ตนเองจึงคัดลอกข้อความจากในไลน์มาโพสต์ต่อ เพราะคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ โดยได้โพสต์ทำนองว่า ที่ลือกันว่า พล.อ.ประยุทธ์จะทำรัฐประหารนั้น มีอีกแนวคิดว่าทักษิณ ชินวัตร จะทำ ซึ่งก็โพสต์ในลักษณะตลกขบขัน และยังได้โพสต์แสดงความเห็นต่อมาว่า ไม่เชื่อ เพราะเป็นไปไม่ได้ ที่ทักษิณจะทำโดยที่ผู้นำเหล่าทัพไม่รู้เรื่อง รวมถึงยังโพสต์ต่อด้วยว่า ถ้า พล.อ.ประยุทธ์จะทำรัฐประหารก็คงกินยาผิด

ต่อมา วันอาทิตย์ ปอท.บอกว่าจะมีผู้ต้องหา 4 คน ก็ยังไม่คิดว่าเป็นตัวเอง เพราะเชื่อว่าตัวเองมีต้นทุนทางสังคม และเปิดเผยชื่อ-นามสกุลชัดเจน  ในวันจันทร์หลังทราบว่าโดน ยังตั้งคำถามกับตัวเองว่าขอบเขตความมั่นคงคืออะไร เพราะมาตรา 14 (2) นอกจากด้านเทคนิค ยังมีความผิดด้านเนื้อหา ซึ่งกินความกว้างมาก และมีคำถามด้วยว่า ความมั่นคงที่ว่านั้นเป็นความมั่นคงของชาติหรือรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ไม่คิดว่าการที่บอกเพื่อนผ่านเฟซบุ๊ก เป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.นี้

เสริมสุข มองว่า ถ้าคนจะตื่นตระหนกน่าจะมาจากการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงมากกว่า เพราะคนในเฟซบุ๊กเป็นคนที่ติดตามการเมืองข่าวสารบ้านเมือง ไม่น่าจะตื่นตระหนกได้ง่าย ทั้งนี้ ตนเองได้ไปให้ปากคำกับตำรวจแล้ว ซึ่งตำรวจก็บอกว่า ตนเองเป็นพยาน ดังนั้น ถ้า ปอท. ไม่มั่นใจ หรือไม่มีหลักฐาน ก็ไม่ควรทำเช่นนี้ ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าเป็นเรื่องการเมืองหรือไม่ ทำไมเลือกเล่นประเด็นนี้

เสริมสุข ระบุว่า นอกจากนี้ ที่ผ่านมา มีการวิพากษ์จาบจ้วงสถาบันกษัตริย์ ให้ข้อมูลเป็นเท็จ แต่เว็บเหล่านี้ก็ยังอยู่ ซึ่งกระทบความมั่นคงของชาติ ไม่ทราบว่า ปอท.หรือกระทรวงไอซีทีได้ดำเนินการอย่างไรให้มันไม่แพร่หลายในสังคมออนไลน์


ด้าน พ.ต.ท.สันติพัฒน์ พรหมะจุล รองผู้กำกับการกลุ่มงานสนับสนุนคดีเทคโนโลยี กองบัญชาการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) กล่าวว่า การโพสต์ลงเฟซบุ๊กหรือสื่อสังคม สิ่งที่จะทำให้คนสนใจคือตัวของผู้โพสต์ กรณีนี้คุณเสริมสุขเป็นคนดัง เมื่อโพสต์ข่าว ย่อมมีคนสนใจและเชื่อถือ ปัญหาคือ มาตรา 14(2) มีการถามว่าความมั่นคงขอบเขตอยู่ตรงไหน ซึ่งต้องยอมรับว่า พ.ร.บ.คอมฯ ออกมาใช้หลังรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 ก็จึงเห็นว่า กฎหมายจะโฟกัสไปที่ความมั่นคงของรัฐบาลและประเทศ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ติดมาถึงทุกวันนี้ จริงๆ ก็กำลังมีการแก้ไข พ.ร.บ.บางส่วนอยู่

ถามว่าการเอาข้อความมารีทวีต โพสต์ซ้ำ เป็นการเผยแพร่ข้อมูลไหม พ.ต.ท.สันติพัฒน์ กล่าวว่า มียุคหนึ่งที่อธิบดีกรมตำรวจเคยออกประกาศกรมตำรวจ ห้ามสื่อต่างชาติคนหนึ่งเข้าประเทศ โดยนำข้อความที่สื่อนั้นเขียนติดไว้ในคำสั่ง กลายเป็นว่า อธิบดีกรมฯ มีความผิดด้วย ดังนั้น เมื่อเอามาโพสต์ซ้ำ ก็มองว่าเป็นความผิด รวมถึงกรณีที่มีผู้หวังดีเอาข้อความหมิ่นสถาบันมาโพสต์ ก็เคยมีการเชิญมาให้ปากคำ แต่ไม่ได้ดำเนินคดี เพราะถือว่ามีเจตนาดีให้สังคมช่วยกันดูแล อย่างไรก็แล้วแต่ เบื้องต้นต้องเรียกมาให้ปากคำก่อน กรณีคุณเสริมสุขย้ำว่ายังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาใดๆ ทั้งสิ้น และอยู่ระหว่างรวบรวมหลักฐาน อาจจะดำเนินคดีหรือไม่ก็ได้ คุณเสริมสุขยังอยู่ในฐานะพยาน ไม่ใช่ผู้ต้องหา

พ.ต.ท.สันติพัฒน์ กล่าวว่า ขอบเขตของความมั่นคงนั้นตอบยาก โดยการทำให้เกิดความตื่นตระหนก เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาตินั้น รวมถึงความมั่นคงของเศรษฐกิจด้วย ซึ่งก็เคยมีการดำเนินคดีกับการโพสต์แล้วทำให้หุ้นตกมาแล้ว

กรณีเว็บอื่น-คนอื่นโพสต์จาบจ้วง โพสต์ข้อมูลเท็จ พ.ต.ท.สันติพัฒน์ กล่าวว่า ตำรวจดำเนินการทุกวัน แต่ละวันตรวจสอบเว็บเป็นร้อย เวลาจะปิดกั้น ตามกฎหมายให้เสนอไปที่กระทรวงไอซีที เมื่อ รมต.เห็นชอบ จึงจะเสนอไปศาล ขอคำสั่งศาลปิดกั้นได้ ซึ่งถ้าตามขั้นตอนนี้ใช้เวลานานมากเป็นเดือน ปัจจุบัน กระทรวงไอซีทีใช้วิธีประสานกับไอเอสพีต่างๆ ว่าจะส่งรายการให้บล็อคก่อนมีคำสั่งศาล ก็ทยอยบล็อคไปเรื่อย แต่บางทีก็หลุด เช่น ยูทูบ กรณีที่รันบนเดสท์ทอป ใช้ url นึง แต่พออยู่บนโทรศัพท์มือถือก็มี m เพิ่มมา แม้ว่าจะส่งบล็อคหมด แต่บางทีก็หลุด

กรณีที่ถามว่าทำไมไม่เรียกเว็บมาสเตอร์หรือคนโพสต์มา ถ้าเป็นในไทย บอกเลยว่าโดนแน่ แต่ในต่างประเทศ เคยเรียกและขอความร่วมมือ เช่น กับกูเกิล ก็เคยคุยมาหลายปีแล้ว กูเกิลบอกว่าส่วนของกูเกิลทั้งหมดอยู่ใต้กฎหมายอเมริกา ซึ่งไม่มีเรื่องการหมิ่นประมาท หมิ่นสถาบัน ทำตรงนี้ให้ไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ก็มีกรณีที่ไทยบล็อคยูทูบ ยูทูบจึงยอมที่จะบล็อคไอพีที่มาจากไทยไม่ให้เข้าดูได้

กรณีขอความร่วมมือกับไลน์นั้น เกิดจากความต้องการดูแลผู้ใช้ ให้ได้รับการคุ้มครอง กรณีถูกหลอกลวงผ่านสื่อออนไลน์ โดยได้คุยกับผู้ให้บริการไลน์ว่าเมื่อมีการกระทำผิด อยากรู้ว่าเจ้าของไอดีเป็นใคร ส่วนเรื่องเนื้อหานั้น ยกตัวอย่างว่า ผู้ใช้ไลน์ในไทย 15 ล้านคน โพสต์คนละข้อความ ก็เป็น 15 ล้านข้อความ เราคงไม่นั่งอ่าน 15 ล้านข้อความ และการจะเข้าไปดูเนื้อหาได้ ต้องได้รับความร่วมมือจากโอเปอเรเตอร์โทรศัพท์มือถือด้วย อย่างไรก็ตาม ไลน์ก็คงไม่ยอมเพราะเป็นความลับลูกค้า

ศิลป์ฟ้า ตันศราวุธ สื่ออิสระและนักกฎหมาย กล่าวว่า ตามที่คุณเสริมสุขเล่ามา มองว่าเข้าข่ายเป็นการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จ ไม่ใช่เรื่องเสรีภาพในการแสดงออก เพราะในความเป็นจริง ต้องยอมรับว่า ประเทศต่างๆ ก็มีสิ่งที่รัฐมองว่าเป็นข้อมูลที่กระทบความมั่นคงได้ แต่ละประเทศ มี taboo มีสิ่งต้องห้าม อย่ามองว่า เราเป็นประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย ทุกประเทศมีสิ่งอ่อนไหวทั้งนั้น ดังนั้น เมื่อมีกฎหมายออกมาแบบนี้ เสนอว่า เราต้องฉลาดกว่ากฎหมายและรู้ว่าจะอยู่กับมันอย่างไร จึงเสนอว่าไม่ควรคัดลอกข้อความนั้นมาตรงๆ ควรพูดแค่ว่าที่มีการเผยแพร่นั้น ไม่จริง ก็ไม่น่าจะเข้าข่ายมาตรา 14(5) แล้ว

อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวว่า ความบกพร่องของ พ.ร.บ.คอมฯ ฉบับนี้ คือ การที่เพิ่มเรื่องเนื้อหาเข้ามารวมกับเรื่องระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งมันไปด้วยกันไม่ได้  โดยเดิม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ถูกออกแบบให้ใช้กับความผิดที่เกิดขึ้นกับระบบคอมพิวเตอร์เท่านั้น แต่ตอนพอกฎหมายนี้ผ่านในช่วงหลังรัฐประหาร มีการเพิ่มเรื่องเนื้อหาเข้ามา ทำให้มาตรา 14 ถูกนำไปใช้ในกรณีหมิ่นประมาท ซึ่งมีกฎหมายอาญาอยู่แล้ว ทำให้เกิดปัญหาตามมา เพราะ พ.ร.บ.คอมฯ เป็นอาญาแผ่นดิน ยอมความไม่ได้

อาทิตย์ อ้างถึงรายงานของผู้ตรวจการพิเศษแห่งสหประชาชาติ ด้านสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก ที่เสนอว่า การแสดงออกเป็นเรื่องได้รับการปกป้อง แต่ก็อาจจำกัดเสรีภาพได้ ภายใต้เงื่อนไข 3 ข้อ คือ หนึ่ง ต้องคาดหมายได้ มีความโปร่งใส คือต้องมีกฎหมายชัดเจน คนอ่านแล้วเข้าใจได้ทันที สอง มีหลักความชอบธรรม และ สาม หลักความจำเป็นและชอบด้วยสัดส่วน โดยมาตรการจำกัดสิทธิเสรีภาพ จะใช้ได้ก็ต่อเมื่อมาตรการอื่นใช้ไม่ได้แล้ว หลายสังคมก็เคยมีการใช้ข้อมูลตอบโต้ เช่น กรณี ศอฉ. เมื่อปี 53 ที่รู้สึกว่ามีข้อมูลเท็จในอินเทอร์เน็ตรายวัน ก็เก็บคลิปมานำเสนอว่าคลิปนั้นๆ ไม่จริงอย่างไร ซึ่งหลายครั้งก็เกินจริงไปบ้าง สำหรับกรณีของเสริมสุข คิดว่าไม่เข้าสักข้อ อาจเข้าข้อ 2 แต่ก็คิดว่าสังคมไทยหลังรัฐประหาร ก็มีข่าวลือมาตลอด ถามว่าเคยมีความโกลาหลอะไรเกิดขึ้นไหม ก็ไม่ เราทนทานต่อข่าวลือมากขึ้นเรื่อยๆ 

อาทิตย์ระบุว่า ในทางหลักการ ต้องปกป้องคนอย่างเสริมสุข ขณะเดียวกันก็ตั้งคำถามกับองค์กรวิชาชีพสื่อว่า เหตุใดกรณีเมื่อสองปีก่อน รัฐมนตรีไอซีทีเคยบอกว่า คลิกไลค์ กดแชร์ หรือแสดงความเห็นในเฟซบุ๊กในประเด็นสถาบันฯ นั้นจะเข้าข่ายผิดกฎหมาย องค์กรวิชาชีพสื่อจึงไม่ออกมาปกป้องเรื่องนี้ ทั้งนี้ ถ้าเป็นเรื่องที่ประชาชนเห็นว่าต้องพูดคุยกัน และไม่เข้าข่ายหมิ่นประมาท ก็น่าจะต้องทำได้ พร้อมชี้ว่า ในทางหนึ่งมีการบอกว่าถึงจะมีการเผยแพร่ข่าวลือเรื่องรัฐประหาร คนก็มีวิจารณญาณ แสดงความเห็นไป คนอ่านไม่น่าเชื่อ จึงไม่กระทบความมั่นคง แต่กลับกัน หากมีข่าวลือเกี่ยวกับสถาบันฯ กลับกลัวว่าคนจะเชื่อ ซึ่งเขายืนยันว่า ถ้าจะปกป้องสิทธิเสรีภาพในประเด็นนี้ ต้องปฏิบัติให้เท่ากัน

พิรงรอง รามสูต รณะนันท์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นว่า จริตของโซเชียลมีเดียต่างกับสื่อแบบเดิม ที่มีกระบวนการบรรณาธิกรณ์ที่ชัดเจน หรือกรองก่อนแล้วค่อยเสนอ ขณะที่โซเชียลมีเดีย เสนอแล้วค่อยกรอง เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนที่เกี่ยวข้อง ในการช่วยกันแก้ไข

กรณีของเสริมสุข ทำให้บทบาทเบลอไป เพราะในชีวิตจริงเป็น บก.ข่าว ในโซเชียลมีเดีย คุณเสริมสุขก็เข้าใจว่าตัวเองเป็น บก.ในเฟซบุ๊ก ซึ่งแม้จะถือว่าสื่อสารกับคนที่เรารู้จัก แต่ก็มีการเผยแพร่ในสาธารณะ ทำให้แยกกันไม่ขาด และเมื่อ ปอท.เข้ามาจัดการ ก็ทำให้เกิด "จริตเสีย" และ "เสียจริต" คือแทนที่ชุมชนจะสะท้อน กลายเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายเข้ามายุ่ง ส่งผลให้บรรยากาศเสีย เพราะแง่หนึ่งมันคือการแสดงอำนาจ ทำให้คนเข้าใจว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่าจะกระทำความผิด จนหลายคนเกร็ง ซึ่งบรรยากาศความกลัวเช่นนี้ไม่ดีต่อประชาธิปไตย 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net