Skip to main content
sharethis

 

หนังสือเล่มนี้ไม่เหมาะสำหรับคนปัญญาอ่อนอ่าน. เพราะคนปัญญาอ่อนเอาไปอ่านแล้ว, ก็อ่านไม่รู้เรื่อง, ซึ่งนั่นมิใช่เป็นปัญหาเดือดร้อนแต่ประการใดสำหรับข้าพเจ้า, แต่การที่คนปัญญาอ่อนเอาไปอ่าน, แล้วตีความหมายออกมาผิด ๆ ถูก ๆ อย่างคนปัญญาอ่อน, จนถึงกับทำให้คนปัญญาอ่อนจับเอาถ้อยคำบางคำ, บางคำพูด, บางประโยค, ไปเป็นหลักฐานฟ้องกับตำรวจผู้ใจดีว่า, ถ้อยคำเหล่านั้น, คำพูดเหล่านั้น, ประโยคเหล่านั้น, ที่ข้าพเจ้าเขียนไว้นี้, เป็นข้อเขียนที่ผิดกฎหมายมาตรานั้นมาตรานี้, จนทำให้ตำรวจผู้ใจดีดังกล่าว, ต้องเสียเวลาการทำงานอันมีค่าของเขา ในการรักษาความสะอาดและความสงบของบ้านเมือง, มาเอาเรื่องที่ไม่เป็นเรื่องของข้าพเจ้า

 

คำนำ ๑.jpg

 

ข้าพเจ้าขอบอกท่านทั้งหลายด้วยความเชื่อ และด้วยความนับถืออันสถาพรว่า, คนปัญญาอ่อนจะพาไปสู่ความมืดแห่งความโง่เขลา, และแห่งความทุกข์ชั่วกาลนาน

 

คำนำ ๒ new.jpg

 

ข้างต้นเป็นบางส่วนของคำนำ “เรื่องยาวขนาดสั้น” บิดาของท่าน บิดาของข้าพเจ้า เขียนโดยบัณฑิต อานียา พิมพ์เมื่อ มกราคม 2524 (ราคา 20 บาท) หนา 178 หน้า

 

cover.jpg

บิดาของท่าน บิดาของข้าพเจ้า เป็นเรื่องของบิดาคนหนึ่งกระทำต่อเมียหลวงและบุตรของเมียหลวง กับเมียใหม่และบุตรของเมียใหม่ แตกต่างกันราวฟ้ากับเหว

เรื่องเปิดมาด้วยฉากพิธีกรรมไหว้บรรพบุรุษแบบชาวจีนที่สุสาน ซึ่งบิดาที่เสียชีวิตไปแล้ว กลับมานั่งสนทนาวิสาสะกับภรรยาและลูก ๆ อย่างอิ่มอาบและเป็นสุข จากนั้นก็แยกย้ายกลับไปยังภพของตน เมื่อภรรยาและลูก ๆ กลุ่มแรกกลับไปแล้ว ต่อมาลูกชายของภรรยาหลวงผู้ทุกข์ตรมก็มาถึง ปลุกผีบิดาขึ้นมารับฟังความโกรธแค้นชิงชังต่อสิ่งที่บิดาได้เคยกระทำไว้กับตนและแม่ของตน

ตั้งแต่ต้นเรื่องจนถึงกลางเรื่องดำเนินไปด้วยท่วงทำนองเหนือจริงอย่างน่าสนใจ เสียดายว่านับจากครึ่งหลังลงไปกระบวนเรื่องกลับเบี่ยงไปสู่ท่วงทำนองขนบแบบนิทาน และเต็มไปด้วยการเทศนาสั่งสอน  “เรื่องยาวขนาดสั้น” เรื่องนี้จึง “หลุด” จากกลวิธีเล่าเรื่องอันสดใหม่ ไปสู่ความเป็น “นิทาน” เทศนา

ประเด็นของเรื่องคือ “การให้อภัย” ของบุตรชายต่อ “บิดาคนเดียวกัน” ซึ่งปฏิบัติต่อบุตรและภรรยาสองครอบครัวแตกต่างกันอย่างชั่วราย ซึ่งเมื่ออ่านเรื่องจบแล้วก็ไม่ควรจะคิดอะไรมาก ทว่าอ่านคำนำของผู้เขียนแล้วก็คิดไปเองได้ต่าง ๆ นานา โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากบริบทเวลาของการเขียนและตีพิมพ์

บัณฑิต อานียา เป็นนักเขียนนอกกระแสอย่างแท้จริง จะเรียกนักเขียนข้างถนน หรือนักเขียนเถื่อนก็ว่า มีผลงานจำนวนไม่น้อย ปัจจุบันกำลังรอคำพิพากษาศาลฎีกาที่กำลังมาถึงในวันพุทธนี้ ว่าจะต้องเข้าไปนอนตารางอีกครั้งในวัยเจ็ดสิบกว่าปี ด้วยกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือไม่

ในอดีต นอกจากบัณฑิต อานียาแล้ว นักเขียนหลายคนที่วงวรรณกรรมปัจจุบันมักนำมายกย่องก็เคยถูกพิพากษาจำคุกด้วยคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ผู้ที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้ก็คือ สุวัฒน์ วรดิลก หรือ รพีพร  ซึ่งศาลประทับรับคำฟ้องในปี 2501 และสิ้นสุดคดีด้วยคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำคุก 5 ปี ในปี 2503 คดีนี้เรียกกันในสมัยนั้นว่า “คดีตั้งชื่อให้สุนัข”

สุวัฒน์ วรดิลก เป็นผู้ก่อตั้งสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย (สมาคมเดียวกับสมาคมนักเขียนในปัจจุบัน!)[1] ได้รับรางวัลศิลปินแห่งชาติในปี 2534 ได้รับรางวัลศรีบูรพาในปี 2548  นอกจากนี้ยังมีการมอบรางวัลรพีพรซึ่ง (เขา) ว่าเป็นรางวัลสำคัญของวงวรรณกรรม[2]  “สุวัฒน์ วรดิลก” จึงถือเป็น “กำพืด” ของวงวรรณกรรม หรืออย่างน้อยก็ของสมาคมนักเขียนที่ยังกล่าวอ้างเขาอยู่ เชื่อว่าหากแม้นเขายังมีชีวิตอยู่ ย่อมไม่เห็นด้วยกับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จึงน่าสนใจว่า ผ่านมา 53 ปี จาก “คดีตั้งชื่อให้สุนัข” ของสุวัฒน์ วรดิลก มาจนถึง “คดีคำแนะนำเกี่ยวกับรูปบุคคลเหนือตาชั่ง” ของบัณฑิต อานียา “กำพืด” นี้จะถูกลืมเลือนเสมือนไม่เคยดำรงอยู่หรือไม่

 

 

 


[1] “สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย มีจุดกำเนิดในปี 2511 จากการที่ นายเลียว ศรีเสวก เจ้าของนามปากกา "อรวรรณ" นักประพันธ์เอก ป่วยหนัก เหล่านักเขียนโดยการนำของนายสุวัฒน์ วรดิลก ได้รวมตัวกันจัดงานชุมนุมน้ำใจในวันที่ 5 พฤษภาคม 2511 เพื่อหาเงินช่วย "อรวรรณ" หลังจากการจัดงานครั้งนั้น นักเขียนทั้งหลายได้รวมตัวกันก่อตั้งชมรมนักเขียน 5 พฤษภา และถือเอาวันที่ 5 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันฉัตรมงคล และเป็นวันมงคล เป็นวันของนักเขียน เพื่อร่วมชุมนุมกันเป็นประจำทุกปีมาจนปัจจุบัน 
    “ชมรมนักเขียน 5พฤษภามีนายสุวัฒน์ วรดิลก เป็นประธานใน 2 ปีแรก (2511-2512) นายอุทธรณ์ พลกุล เป็นประธานในปีต่อมา และในปี 2514 ชมรมนักเขียน 5 พฤษภา ก็ได้ก่อตั้งเป็นสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2514 โดยการนำของผู้ก่อตั้งสามคนคือ นางสุภาว์ เทวกุล ณ อยุธยา, นายเสนีย์ บุษปะเกศ และนายถาวร สุวรรณ และผู้ที่ได้รับเลือกให้เป็นนายกสมาคมฯคนแรกคือ นายอุทธรณ์ พลกุล”  (ดู ประวัติสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย http://www.thaiwriterassociation.org/about.php)

 

[2] ดูเว็บไซต์สมาคมนักกลอน  http://www.thaipoet.net/index.php?lay=boardshow&ac=webboard_show&No=282950

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net