Skip to main content
sharethis
รวมข่าวจากฝ่ายนิติบัญญัติ กรรมาธิการ อนุกรรมาธิการ กฎหมาย ร่างกฎหมาย และความเคลื่อนไหวในรัฐสภาของ ส.ส. และ ส.ว. และพรรคการเมืองต่างๆ ประจำสัปดาห์
 
รองปธ.สผ. คนที่ 1 ชี้ แถลงผลงานรัฐบาล 1 วันไม่เพียงพอ
 
23 ก.ย. 56 - รองประธาน สผ. คนที่ 1 ชี้ แถลงผลงานรัฐบาล 1 วันไม่เพียงพอ คาดเพิ่มวันพฤหัสบดีที่ 26 อีก 1 วัน หวัง ชี้แจง ตอบข้อซักถามอย่างเต็มที่ พร้อมระบุ ช่วงเดือนตุลาคม อาจมีการพิจารณาร่างแก้ไข รธน.มาตรา 190 และ ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม
 
นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ให้สัมภาษณ์ถึงกรอบการอภิปรายการประชุมเพื่อรายงานแสดงผลการดำเนินการของคณะรัฐมนตรีตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ รัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปีที่ 1 (วันที่ 23 สิงหาคม 2554 ถึงวันที่ 23 สิงหาคม 2555) ว่า ได้มอบหมายให้วิปฝ่ายค้านและวิปรัฐบาลหารือกรอบเวลาในการอภิปรายแล้ว แต่ส่วนตัวคาดว่าเวลา 1 วันอาจไม่เพียงพอ จึงอาจเพิ่มวันแถลงผลงานอีก 1 วันคือวันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายนนี้ หลังการพิจารณากระทู้ถามสด เพื่อเปิดโอกาสให้ทั้ง 2 ฝ่ายได้ชี้แจงและซักถามกันอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ไม่กังวลและเชื่อว่าบรรยากาศการประชุมจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เนื่องจากเป็นการนำเสนอผลงานของรัฐบาลตามข้อเท็จจริงและชี้จุดบกพร่อง โดยไม่มีการลงมติ
 
นายเจริญ กล่าวต่อถึงการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มาของ ส.ว.ในวาระ 3 ว่า จะลงมติในวันเสาร์ที่ 28 ก.ย.นี้  ส่วนการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 การทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศ คาดว่าจะบรรจุระเบียบวาระในช่วงต้นเดือนตุลาคม และในช่วงปลายเดือน คาดว่าการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมจะแล้วเสร็จในชั้นกรรมาธิการและส่งให้ที่ประชุมพิจารณาในวาระ 2
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, วิจิตรา น้าวัฒนไพบูลย์ ข่าว / เรียบเรียง
 
ส.ว.สรรหา ชี้ เปลี่ยนพรรคการเมืองเป็นสถาบัน อย่าเป็นสมบัติใครคนหนึ่ง ช่วยแก้ปัญหาการเมืองไทย
 
23 ก.ย. 56 - ส.ว.สรรหา ชี้ เปลี่ยนพรรคการเมืองเป็นสถาบัน อย่าเป็นสมบัติใครคนหนึ่ง ช่วยแก้ปัญหาการเมืองไทย  แนะ ดูแบบอย่างจีนตัดสินจำคุกตลอดชีวิตกับผู้นำของพรรคที่ทุจริตคอรัปชั่น
 
นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกวุฒิสภาสรรหา  กล่าวว่า ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ร้อยละ 62.4 เชื่อว่ารัฐบาลตัวจริงที่บริหารประเทศ และเจ้าของพรรคเพื่อไทยตัวจริง คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่อาศัยอยู่ต่างประเทศ ขณะที่ประชาชน ร้อยละ 80 เชื่อว่า ปัญหาของประเทศส่วนใหญ่เกิดจากนักการเมือง เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดให้นักการเมืองมีอำนาจมากที่สุด  อีกทั้งล่าสุดก็มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้พรรคการเมืองสามารถส่งคนมาลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาได้อีก  ทั้งนี้ ตนเห็นว่า ถ้าพรรคการเมืองเป็นสถาบันก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าพรรคการเมืองเป็นสมบัติส่วนตัวของคนใดคนหนึ่ง เช่นเป็นพรรคการเมืองในไทยแต่เจ้าของพรรคไปอาศัยอยู่ต่างประเทศ ก็จะทำให้มีปัญหาเรื่องบริหารราชการแผ่นดิน เพราะเจ้าของที่ไปอาศัยอยู่ต่างประเทศคนนั้น ไม่รู้ถึงปัญหาความเดือดร้อนที่แท้จริงของประชาชน  ขณะเดียวกันก็เป็นที่น่าละอายไปทั่วโลกที่ไทยมีพรรคการเมืองแบบเป็นสมบัติส่วนตัวที่เจ้าของพรรคตัวจริงไปอาศัยอยู่ประเทศอื่น แต่กลับเป็นพรรครัฐบาลที่บริหารประเทศในปัจจุบัน  ซึ่งตนขอเสนอว่าการปรับปรุงการเมืองไทยนั้น ต้องเปลี่ยนพรรคการเมืองให้เป็นสถาบัน อย่าเป็นสมบัติใครคนหนึ่ง และอยากให้ดูแบบอย่างจีนที่ตัดสินจำคุกตลอดชีวิตกับผู้นำของพรรคที่ทุจริตคอรัปชั่น
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, เรณู เขมาปัญญา / ข่าว / เรียบเรียง
 
วุฒิสภาเห็นชอบให้ นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ดำรงตำแหน่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
 
23 ก.ย. 56 - ที่ประชุมวุฒิสภามีมติเห็นชอบให้ นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำรงตำแหน่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ แทน นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ที่ลาออกจากตำแหน่ง
 
ที่ประชุมวุฒิสภามีมติเห็นชอบให้นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำรงตำแหน่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ แทน นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ที่ลาออกจากตำแหน่ง ด้วยคะแนน 82 เสียง ต่อ 41 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง และไม่ลงคะแนน 2 เสียง โดยนายทวีเกียรติ เป็นผู้ได้รับการคัดเลือกเบื้องต้นจากมติของประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านฯ  และประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งรวมเป็นคณะกรรมการสรรหา จากนั้นส่งต่อให้คณะกรรมาธิการสามัญตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรม ที่ประกอบด้วย ส.ว.จำนวน 25 คน มีนายพิเชต สุนทรพิพิธ เป็นประธาน ทำหน้าที่รวมรวมพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงที่จำเป็นจากการขอความร่วมมือไปยังสื่อมวลชน ส่วนราชการ และประชาชนให้แสดงความคิดเห็น ข้อมูล ข้อเท็จจริงของนายทวีเกียรติ มายังกรรมาธิการฯ เพื่อประกอบการพิจารณา รวมทั้งเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่าน ตู้ ปณ.45 ปณฝ.รัฐสภา และเว็บไซต์ของวุฒิสภา ซึ่งไม่ปรากฏประวัติฯ ความประพฤติของนายทวีเกียรติที่เป็นผลเสียแต่อย่างใด พร้อมกันนี้ได้เชิญ นายทวีเกียรติ เข้าแลกเปลี่ยนความเห็นกับกรรมาธิการสามัญ แล้วสรุปข้อมูลทั้งหมดที่ได้จัดทำเป็นรายงานลับเสนอให้สมาชิกวุฒิสภาพิจารณาก่อนมีมติด้วยวิธีลงคะแนนลับ
 
สำหรับ นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ อายุ 60 ปี ปัจจุบันดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด จบปริญญาเอกเกียรตินิยมทางกฎหมายอาญาจากประเทศฝรั่งเศส ดำรงตำแหน่งงานสำคัญ อาทิกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ป.ป.ง.) กรรมการพิจารณาปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญา สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และกรรมการพัฒนากฎหมาย กรมศิลปากร
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, ลักขณา  เทียกทอง / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง 
 
ปธ.ที่ปรึกษา กมธ.ด้านต่างประเทศ วุฒิสภา เตือนรัฐบาล อย่าคิดสั้นตั้งศูนย์ลี้ภัย หวั่นโรฮิงญาหลายล้านทะลักเข้าไทย
 
23 ก.ย. 56 - ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ ด้านต่างประเทศวุฒิสภา เตือนรัฐบาล อย่าคิดสั้นตั้งศูนย์ลี้ภัยอย่างเป็นทางการ หวั่นโรฮิงญาหลายล้าน ทะลักเข้าไทย พร้อมจี้นายกฯ – สมช. รับข้อเสนอหน่วยปฏิบัติไปพิจารณาและเร่งดำเนินการด่วน
 
นายพิเชต สุนทรพิพิธ ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ ด้านต่างประเทศ ในคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา กล่าวถึงปัญหาชาวโรฮิงญาในพื้นที่ จ.พังงา และจ.สงขลา ว่า จากการที่คณะกรรมาธิการฯ  ได้ลงพื้นที่  พบว่า ปัญหานี้สั่งสมมานานแล้ว ห้องกักกันที่ทางตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ที่เตรียมไว้สำหรับผู้กักกัน 40 คน แต่ต้องกักกันชาวโรฮิงญา กว่าร้อยคน จนมีการทำลายห้องกักกัน  อีกทั้งไม่สามารถจะกระจายชาวโรฮิงญาไปกักกันยังโรงพักต่าง ๆ ได้  ส่วนทางมาเลเซีย และออสเตรียเลีย ก็ประกาศชัดว่าไม่รับชาวโรฮิงญาเข้าประเทศ  ขณะที่มีชาวโรฮิงญาหลายคนอยากเดินทางกลับท้องถิ่น  แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถปล่อยตัวได้ เพราะไม่มีนโยบายที่ชัดเจนจากรัฐบาล ต้องกักกันไว้อย่างไม่มีอนาคต  อย่างไรก็ตาม  หน่วยปฏิบัติการในพื้นที่ได้มีข้อเสนอฝากไปถึงรัฐบาล โดยเฉพาะ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ว่ารัฐบาลอย่าคิดสั้นเปิดศูนย์ผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการตามที่ UNSCR  ผลักดัน เพราะนั่นเท่ากับการเปิดประตูให้โรฮิงญาล้านเศษใน จ.ยะไข่  และอีกหลายล้านคนในบังกลาเทศหลั่งไหลเข้าไทย ซึ่งจะเป็นปัญหาไม่รู้จบ   ทั้งนี้ ตนขอฝากให้นายกรัฐมนตรีรับข้อเสนอนี้ไปพิจารณาและเร่งดำเนินการโดยเร็ว   ก่อนถึงช่วงสิ้นมรสุมซึ่งเป็นช่วงที่โรฮิงญาจะทะลักเข้าไทย
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, เรณู  เขมาปัญญา / ข่าว / เรียบเรียง
 
วุฒิสภา เห็นชอบ พรก.ภาษีสุรา แล้ว
 
23 ก.ย. 56 - วุฒิสภามีมติเห็นชอบพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติภาษีสุรา พ.ศ.2493 (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2556 ด้วยเสียง 99 ต่อ 8 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง
 
ที่ประชุมวุฒิสภามีมติเห็นชอบพระราชกำหนด(พรก.)แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ.2493 (ฉบับที่7)พ.ศ. 2556 ซึ่งคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ และผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรไปเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2556 ด้วยเสียง 99 ต่อ 8 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง โดยพระราชกำหนดดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ที่ต้องการให้วิธีการจัดเก็บภาษีสุราสอดคล้องกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอาการจึงจำเป็นต้องได้รับการพิจารณาโดยด่วนเพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน ทั้งนี้ มีสาระสำคัญในการปรับปรุงโครงสร้างภาษีสุราทั้งระบบ ทั้งการเปลี่ยนฐานการคำนวณภาษีมาอยู่ที่ราคาขายส่งช่วงสุดท้าย และเสียภาษีทั้งในอัตราตามมูลค่าและตามปริมาณ พร้อมทั้งมีการปรับปรุงเพดานอัตราภาษีสุราแช่และอัตราภาษีสุรากลั่นด้วย
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, ลักขณา  เทียกทอง / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง 
 
รองปธ.รัฐสภา หวัง วรรณกรรมการเมืองยังประโยชน์ต่อประชาธิปไตยและการเมืองไทย
 
24 ก.ย. 56 - รองประธานรัฐสภา เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลพานแว่นฟ้าแห่งรัฐสภาไทย ครั้งที่ 12 ระบุ ยินดีและชื่นชมทุกผลงานที่ส่งเข้าประกวด หวัง วรรณกรรมการเมืองจะเป็นประโยชน์ต่อประชาธิปไตยและการเมืองไทยในอนาคต
 
นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานรัฐสภา มอบรางวัลพานแว่นฟ้าแห่งรัฐสภาไทย ครั้งที่ 12 ให้กับผลงานที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม ประเภทเรื่องสั้น คือ ผลงานเรื่อง “การยืนยันอีกครั้งหนึ่งของสาวแม่ฮ้างแห่งหมู่บ้านตาเอกทะไม” โดย ลูเธอร์-เทอรัว รางวัลดีเด่น คือ ผลงานเรื่อง “ถนนสู่ทุ่งหญ้า” โดย รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์ ส่วนผลงานประเภทบทกวี ที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม คือ ผลงานเรื่อง “เบี้ย” โดย อรุณรุ่ง สัตย์สวี และรางวัลดีเด่นเรื่อง “ความตายของนกฟีนิกซ์” โดย รางชางฯ รวมถึงผลงานที่ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่รอบสุดท้ายของทั้ง 2 ประเภท ประเภทละ 10 ผลงาน
 
นายนิคม กล่าวหลังมอบรางวัลว่า รางวัลพานแว่นฟ้าถือเป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตย ตนจึงรู้สึกยินดีและชื่นชมผู้ที่ส่งผลงานเข้าประกวดและผู้ที่ได้รับรางวัล เพราะถือว่าทุกคนมีส่วนร่วมในการรังสรรค์ บันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ทางการเมือง อีกทั้งยังช่วยเป็นส่วนหนึ่งที่บอกเล่าเรื่องราวของบ้านเมืองให้กับคนรุ่นหลังได้รับทราบ ทั้งนี้เชื่อว่าวรรณกรรมที่ทุกคนได้ร่วมกันรังสรรค์ไว้จะเป็นประโยชน์ต่อประชาธิปไตยและการเมืองไทย
 
สำหรับรางวัลประเภทเรื่องสั้นและบทกวี รางวัลพานแว่นฟ้าแห่งรัฐสภาไทยยอดเยี่ยมจะได้รับโล่เกียรติยศ พร้อมเข็มและเกียรติบัตรของประธานรัฐสภา และเงินรางวัล รางวัลละ 100,000 บาท รางวัลพานแว่นฟ้าแห่งรัฐสภาไทยดีเด่น ประเภทละ 1 รางวัล ได้รับโล่เกียรติยศ พร้อมเข็มและเกียรติบัตรของประธานรัฐสภา และเงินรางวัล รางวัลละ 60,000 บาท รางวัลผลงานที่ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่การตัดสินรอบสุดท้าย ประเภทละไม่เกิน 10 รางวัล จะได้รับเกียรติบัตรพร้อมเข็มของประธานรัฐสภาและเงินรางวัล รางวัลละ 20,000 บาท
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, วิจิตรา น้าวัฒนไพบูลย์ ข่าว / เรียบเรียง
 
อดีต รมต.ไอซีที แถลงปิดสำนวนข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช. ยืนยัน ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริตยึดมั่นผลประโยชน์ของชาติ
 
24 ก.ย. 56 - นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีต รมต.ไอซีที แถลงปิดสำนวนข้อกล่าวหา ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดกรณีการอนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทาน ยืนยัน ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริตรอบคอบ ยึดมั่นผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก ด้านที่ประชุมวุฒิสภานัดประชุมเพื่อลงมติถอดถอนหรือไม่วันที่ 1 ต.ค.นี้
 
วันนี้ (24 ก.ย 56) เวลาประมาณ 10.00 น. การประชุมวุฒิสภาที่มีนายนิคม ไวยรัชพาณิช ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณารับฟังคำแถลงการณ์ปิดสำนวนด้วยวาจาของนายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) (ตามข้อบังคับฯ ข้อ 122) ที่ถูกยื่นถอดถอนออกจากตำแหน่งตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญ ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดจากการอนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทาน   โครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ  (ไอพีสตาร์)  เพื่อลดสัดส่วนการถือหุ้นของ บ. ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ต้องถือใน บ.ชินแซทเทิลไลท์ จำกัด (มหาชน) จากการถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 เป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 โดยมิชอบ
 
ทั้งนี้ นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) แถลงการณ์ปิดสำนวนด้วยวาจา ว่า ตลอดการทำงานที่ผ่านมาได้ทำงานโดยยึดมั่นถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตด้วยความรอบคอบ เพื่อพัฒนากระทรวงไอซีทีให้สามารถแข่งขันกับนานาชาติได้อย่างเสรีด้วยความเที่ยงธรรม โดยยืนยันว่า ข้อกล่าวหาตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลดังกล่าวไม่มีมูล ขัดหลักนิติธรรม ตามที่ได้แถลงเปิดสำนวนไปเมื่อวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา ภายหลังที่ประชุมวุฒิสภารับฟังคำแถลงปิดสำนวนดังกล่าวได้นัดประชุมเพื่อลงมติถอดถอนนายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีต รมต.ไอซีที ออกจากตำแหน่งหรือไม่ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ เวลา 10.00 น. ซึ่งการออกเสียงลงคะแนนของวุฒิสภาจะกระทำโดยวิธีลงคะแนนลับ โดยมติที่ถอดถอนผู้ใดออกจากตำแหน่งต้องไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, อรุณี ตันศักดิ์ดา / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
รองประธานวุฒิสภา รับการยื่นรายชื่อ 52 ส.ว.ขอถอดถอนประธานวุฒิสภา
 
24 ก.ย. 56 - นพ.อนันต์ รองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 รับการยื่นรายชื่อ 52 ส.ว. ที่ขอถอดถอนประธานวุฒิสภา จากกรณีทำหน้าที่ไม่เป็นกลาง โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขณะ รองประธานฯ เปิดใจ วางตนลำบากระหว่าง ส.ว.สรรหา กับเลือกตั้ง วอนให้มีการพูดคุย
 
นพ.อนันต์ อริยะชัยพาณิชย์ รองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 รับการยื่นเรื่องจากกลุ่ม 40 ส.ว. นำโดย รศ.พรพันธุ์ บุญยรัตพันธุ์ ที่รวบรวมรายชื่อ ส.ว.จำนวน 52 คน ขอให้วุฒิสภามีมติถอดถอน นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภาออกจากตำแหน่ง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 274 โดยระบุ ถึงการทำหน้าที่ที่ต้องเป็นกลางอย่างเคร่งครัด โปร่งใส ยุติธรรม ไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย แม้ใจจะอยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพื่อธำรงศักดิ์ศรีวุฒิสภา โดยเฉพาะจากกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากทำไม่ได้ นายนิคม ควรลงจากบัลลังก์แล้วทำเพียงหน้าที่ ส.ว. รวมถึง พฤติกรรมการให้ข้อมูลข่าวสารที่ควรให้อย่างครบถ้วน นอกจากนี้ นายสมชาย แสวงการ และนายประสงค์ นุรักษ์ กล่าวยืนยันว่า ส.ว.สรรหา และ ส.ว.เลือกตั้ง สามารถทำงานร่วมกันได้ ขณะที่ ส.ว.สรรหาล้วนเข้ามาทำหน้าที่ตามกติกา และพร้อมที่จะไปตามกติกา โดยยังคงทำงานเพื่อประชาชนได้ อย่างไรก็ตาม การที่ ส.ว. ยื่นถอดถอนประธานวุฒิสภา นับเป็นครั้งแรก เนื่องจากเคยยื่นเรื่องต่อกรรมการจริยธรรมแล้ว แต่นายนิคม ยังไม่เปลี่ยนพฤติกรรม
 
ด้านรองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 กล่าวว่า จะดำเนินการตามขั้นตอนในการตรวจสอบรายชื่อและยื่นต่อ ปปช. ภายใจ 15 วัน พร้อมเปิดใจ ไม่ต้องการให้มีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นถือเป็นครั้งแรกที่รู้สึกองค์กรวุฒิสภาน่าจะมีปัญหา ขอวอนให้มีการพูดคุยระหว่างกัน ขณะที่ ส.ว.ส่วนใหญ่ที่มาจากสรรหา และ ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง ต่างทำงานร่วมกันมากว่า 5 ปี แล้ว และขณะนี้ยังไม่ทราบด้วยซ้ำว่า ส.ว.เลือกตั้งจะมีสิทธิได้ลงสมัครรับเลือกตั้งอีกหรือไม่ หรือ ส.ว.สรรหาจะต้องไปยกชุดหรือไม่ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มา ส.ว.ที่ดำเนินการไปแล้วจะผ่านหรือต้องเป็นโมฆะ จึงขอให้ทำงานร่วมกันเพื่อจรรโลงองค์กรวุฒิสภาต่อไป
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, ลักขณา  เทียกทอง / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง 
 
ส.ว.เพชรบุรี สนับสนุนให้มีกฎหมายกำหนดช้างไทยเป็นสัตว์สงวน
 
24 ก.ย. 56 - ส.ว.เพชรบุรี สนับสนุนแนวทางแก้กฎหมาย ปลดล็อคให้ช้างจากสัตว์พาหนะเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เสนอ เพื่อคุ้มครองช้าง พร้อมแนะรัฐบาลช่วยคนเลี้ยงช้างในปัจจุบันไม่ให้รับผลกระทบจากการครอบครองช้างย้อนหลัง
 
นางสาวสุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรี กล่าวสนับสนุนแนวทางของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่จะเสนอแก้ไขกฎหมายเพื่อเป็นการปลดล๊อคช้าง จากสัตว์พาหนะ ให้กลายเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พร้อมระบุเหตุผลว่า การให้ช้างเป็นสัตว์พาหนะทำให้เกิดการซื้อขาย ช้างมีราคา เกิดปัญหาช้างเร่ร่อน ขอทาน ตายเพราะถูกไฟช๊อตในเมือง เกิดเป็นภาพไม่น่าดู นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการลักลอบนำลูกช้างจากป่ามาสวมตั๋วรูปพรรณ แล้วต้องตายก่อนวัย เพราะยังมีอายุน้อยไม่แข็งแรงพอ
 
นางสาวสุมล กล่าวต่อไปว่า สำหรับกรณีผู้เลี้ยงช้างที่ออกมาคัดค้านการดำเนินการดังกล่าวนั้น ตนขอเสนอแนะให้รัฐบาลและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ช่วยพิจารณาให้การดำเนินการไม่มีผลย้อนหลังกับผู้ที่ครอบครองช้างอยู่แล้ว แต่นับจากนี้ ประชาชนจะเป็นเจ้าของช้างไม่ได้ เพราะถือเป็นสัตว์ป่า ภายใต้การคุ้มครองของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชแล้ว
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, ลักขณา  เทียกทอง / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง 
 
ฝ่ายค้าน มุ่งอภิปรายแถลงผลงานรัฐบาล 3 ประเด็น
 
24 ก.ย. 56 - ฝ่ายค้าน คาดอภิปรายแถลงผลงานรัฐบาลแล้วเสร็จภายใน 2 วัน พร้อมเผย การอภิปรายจะมุ่งชี้ให้เห็นถึงการดำเนินงานที่ล้มเหลว ทุจริต และผิดกฎหมายของรัฐบาล
 
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน)  กล่าวถึง การอภิปรายแถลงผลงานครบ 1 ปีของรัฐบาล ว่า ที่ประชุมวิปฝ่ายค้านคาดว่าการแถลงผลงานรัฐบาลน่าจะแล้วเสร็จภายใน 2 วัน คือวันที่ 24 - 25 กันยายน ส่วนกรอบเวลาการอภิปรายระหว่างฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลยังไม่มีการตกลงที่ชัดเจน เบื้องต้นฝ่ายรัฐบาลได้เวลาอภิปราย 7 ชั่วโมง ฝ่ายค้าน 10 ชั่วโมงโดยเห็นว่าการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันนี้จะเริ่มในเวลา 14.00 น. ก็ควรจะจบที่เวลา 22.00 น. แล้วประชุมต่อในวันพรุ่งนี้ (25 ก.ย. 56) ส่วนกรอบเนื้อหาการอภิปรายแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ เรื่องความล้มเหลว การทุจริต และการกระทำผิดกฎหมาย โดยการอภิปรายจะมุ่งเน้นการทำงานปีแรกของรัฐบาลเป็นหลัก แต่อาจจะมีการอภิปรายคาบเกี่ยวการทำงานของรัฐบาลปีที่ 2 และ ปีที่ 3 ด้วย เพื่อให้รัฐบาลนำไปปรับปรุงการบริหารราชการ เนื่องจากรัฐบาลแถลงผลงานล่าช้ามากทั้งที่ควรแถลงผลงานครบ 1 ปี ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2555
 
ประธานวิปฝ่ายค้าน ยังกล่าวถึง การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ว่า ฝ่ายค้านได้มีการรวบรวมข้อมูลและตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง โดยเชื่อว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจจะสามารถดำเนินการได้ภายในสมัยประชุมนี้
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, อรุณี ตันศักดิ์ดา / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
นายกรัฐมนตรี ย้ำ รัฐบาลให้ความสำคัญกับแก้ปัญหายางพาราอย่างต่อเนื่อง ยืนยันไม่เลือกปฏิบัติ
 
24 ก.ย. 56 -    นายกรัฐมนตรี ระบุ รัฐบาลติดตามสถานการณ์และให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาราคายางพาราอย่างต่อเนื่อง ยื่นยันไม่เลือกปฏิบัติและต้องการเห็นบรรยากาศความปรองดองและเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน
 
นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อรายงานแสดงผลการดำเนินการของคณะรัฐมนตรีตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปีที่ 1 ถึงกรณีการแก้ปัญหาราคายางพาราว่า รัฐบาลได้ติดตามสถานการณ์และให้ความสำคัญต่อการเจรจาอย่างต่อเนื่อง โดยได้มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและฝ่ายบริหารลงพื้นที่เจรจาและล่าสุดก็ได้มีการเจรจาร่วมกันระหว่างตัวแทนเกษตรกรและฝ่ายบริหาร อย่างไรก็ตามต้องการให้ทุกกลุ่มร่วมพุดคุยพร้อมกันเพราะจะทำให้การแก้ไขปัญหาดำเนินการไปอย่างมีระบบ ทั้งนี้ขอยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้เลือกปฏิบัติและเห็นด้วยในเรื่องของการสร้างความปรองดอง รวมทั้งการเคารพสิทธิซึ่งกันและกันของทุกฝ่าย
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, วิจิตรา น้าวัฒนไพบูลย์ ข่าว / เรียบเรียง
 
ฝ่ายค้านเผยคลิป ส.ส. กดบัตรแทนกันในการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ
 
24 ก.ย 56 - ฝ่ายค้านจะยื่นหลักฐานคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ศาลรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมในวันที่ 25 ก.ย 56  หลังพบมีการกดบัตรแทนกันในการลงมติมาตรา 9 และ 10 ระบุเป็นสิ่งยืนยันเพิ่มเติมว่ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ชอบ
 
นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฐ์  ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) แถลงข่าวกรณีฝ่ายค้านยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาของสมาชิกวุฒิสภาจะเข้าข่ายการดำเนินการในลักษณะเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่มิได้เป็นตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าเข้าข่ายก็ขอให้ศาลสั่งยกเลิกการแก้ไขและขอให้ศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ยุติการลงมติวาระ 3 ไว้ก่อน  โดยนายจุรินทร์ กล่าวว่า ฝ่ายค้านมีประเด็นที่จะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมอีก 1 ประเด็นที่สามารถชี้ได้ว่ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาไม่ชอบด้วยกฎหมาย คือ การกดบัตรแทนกันในการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 9 และ 10 ซึ่งการกดบัตรแทนกันใน 2 มาตราดังกล่าว มีคลิปที่ชี้ให้เห็นถึงการกระทำที่ผิดรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน ซึ่งวิปฝ่ายค้านได้มอบหมายให้นายพีรพันธ์ สาลีรัฐวิภาค ไปให้รายละเอียดกับศาลรัฐธรรมนูญในเช้าวันที่ 25 ก.ย 2556
 
ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวด้วยว่า การกดบัตรแทนกันทำให้เจตนารมณ์ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกละเมิด เพราะสมาชิกรัฐสภาหนึ่งคนสามารถออกเสียงได้เพียงหนึ่งเสียงเท่านั้น  และก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับการลงมติในร่างพระราชบัญญัติอย่างน้อย 4 ฉบับที่ดำเนินการในขณะองค์ประชุมไม่ครบ จนส่งผลให้ร่างพระราชบัญญัติที่มีปัญหาดังกล่าวต้องตกไป  จึงสามารถนำกรณีที่เคยเกิดขึ้นมาเทียบเคียงกับการกดบัตรแทนกันในการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งสองมาตราได้
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, มันทนา  ศรีเพ็ญประภา  ข่าว/เรียบเรียง
 
โฆษกเพื่อไทย เชื่อ คลิปเสียบบัตรแทนกันเกิดจากการตัดต่อ
 
25 ก.ย. 56 - โฆษกพรรคเพื่อไทย เชื่อ คลิป ส.ส.เสียบบัตรแทนกันเกิดจากการตัดต่อ ชี้ ควรส่งเรื่องให้คณะกรรมการจริยธรรมฯ ตรวจสอบก่อนส่งศาลรัฐธรรมนูญ ระบุ หากทำจริงถือเป็นความผิดส่วนบุคคลและพรรคมีมาตรการในการลงโทษ
 
นายพร้อมพงษ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงข่าวถึงกรณีที่ฝ่ายค้านยื่นหลักฐาน คลิปที่อ้างว่าเป็น ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย เสียบบัตรลงมติร่างแก้ไข รธน.แทนกัน เพิ่มเติมต่อศาลรัฐธรรมนูญ (รธน.) เพื่อขอให้วินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่และให้ชะลอการลงมติออกไปว่า ถือเป็นการกระทำที่หวังผลประโยชน์ทางการเมือง ขวางระบบประชาธิปไตยและเป็นความพยายามขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพราะยังไม่มีการพิสูจน์ความถูกต้องของคลิป ยังไม่มีการสอบถามพยานบุคคล ว่าคลิปดังกล่าวเป็นของจริงหรือไม่ รวมถึงบุคคลในภาพก็ยังไม่ได้มีโอกาสชี้แจงใดๆ อย่างไรก็ตามเชื่อว่า น่าจะมีการตัดต่อเพราะจากที่ได้ตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าเสียงกับภาพที่ปรากฎไม่ตรงกัน จึงเห็นว่าควรมีคนกลาง อาทิ คณะกรรมการจริยธรรมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีตัวแทนจากฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน พิสูจน์ความถูกต้องก่อนยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาต่อไป
 
โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวยืนยันว่า จะเดินหน้าลงมติวาระ 3 ต่อไป เพราะหากพิสูจน์แล้วว่าเป็นการกดบัตรแทนกันจริงก็ถือเป็นความผิดเฉพาะตัวบุคคล เพราะคะแนนลงมติเห็นชอบนั้นมากกว่าไม่เห็นชอบเป็นร้อยคะแนน และพรรคก็มีมาตรการในการลงโทษแน่นอน พร้อมกันนี้ขอท้าว่า หากมีหลักฐานที่ชัดเจนกว่านี้ควรนำออกมาให้ทราบ
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, วิจิตรา น้าวัฒนไพบูลย์ ข่าว / เรียบเรียง
 
ส.ส.ปชป. จี้รัฐ เร่งแก้ปัญหาหมิ่นสถาบัน
 
25 ก.ย. 56 - ส.ส.กทม. ปชป. เรียกร้องรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งบริหารจัดการงบ 3.5 แสนล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม พร้อมจี้ รัฐบาลและดีเอสไอ เร่งแก้ปัญหาหมิ่นสถาบันอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อแสดงความจริงใจในการแก้ไขปัญหา
 
นายแทนคุณ จิตต์อิสระ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลว่า ขณะนี้เกิดปัญหาน้ำท่วมเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ และดูเหมือนว่างบประมาณ 3.5 แสนล้านบาทยังไม่ได้ใช้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องเร่งบริหารจัดการงบดังกล่าวเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน และขอให้ทุกภาคส่วนติดตามการใช้งบประมาณและการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล ซึ่งจะหมายถึงความมั่นคงและอยู่รอดของประชาชนด้วย ส่วนคนที่อยู่ในพื้นที่ที่เคยประสบปัญหาน้ำท่วม ก็อยากให้ตั้งคำถามไปยังรัฐบาลว่าได้ทำอะไรเพื่อป้องกันปัญหาน้ำแล้วหรือไม่
 
ส.ส.แทนคุณ กล่าวถึงประเด็นหมิ่นสถาบันด้วยว่า ปัญหานี้เริ่มแพร่กระจายและเนื้อหาที่นำเสนอทวีความรุนแรงมากขึ้น รวมทั้งยังมีการเชื่อมโยงกับประเด็นการเมือง จึงอยากเรียกร้องไปยังรัฐบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กรมสอบสวนคดีพิเศษ (อีเอสไอ) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งแก้ปัญหาดังกล่าว และที่สำคัญรัฐบาลเคยบอกว่าจะแสดงความจริงใจด้วยการเร่งแก้ปัญหาเรื่องนี้ แต่ที่ผ่านมายังไม่เห็นการแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรม ตรงกันข้ามความน่ากลัวของเนื้อหาเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลจึงควรแสดงความจริงใจโดยการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, วิจิตรา น้าวัฒนไพบูลย์ ข่าว / เรียบเรียง
 
ผู้นำฝ่ายค้านฯ รับหนังสือขอคัดค้านการขอสัมปทานบัตรทำเหมืองแร่เกลือหินใต้ดิน จากกลุ่มผู้คัดค้าน
 
25 ก.ย. 56 - ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร รับหนังสือขอคัดค้านการขอสัมปทานบัตรทำเหมืองแร่เกลือหินใต้ดิน จากประธานกลุ่มผู้คัดค้านเหมืองแร่เกลือหินใต้ดินและคณะ เรียกร้องให้การทำประชาคมในวันที่ 1 ก.ย.56 ที่ผ่านมาเป็นโมฆะและยกเลิกการดำเนินการขอสัมปทานเหมืองแร่เกลือหินใต้ดิน
 
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร รับหนังสือขอคัดค้านการขอสัมปทานบัตรทำเหมืองแร่เกลือหินใต้ดิน จากนายสมาน รวมสันเทียะ ประธานกลุ่มผู้คัดค้านเหมืองแร่เกลือหินใต้ดินและคณะ ประกอบด้วย ประชาชน ต.พันดุง ต.หนองสรวง อ.ขามทะเลสอ และประชาชน ต.ค้างพลู อ.โนนไทย เนื่องจากเห็นว่าการทำประชาคมเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2556 ไม่มีความโปรงใส ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียในรัศมี 500 เมตร ถูกกักกันสิทธิ์เข้าร่วมการขอคัดค้านการขอสัมปทานบัตร โดยมีความไม่ชอบมาพากลคือ ไม่เชิญเจ้าของพื้นที่ที่มีส่วนได้เสียเข้าร่วมรับฟังการทำประชาคม มีชายชุดดำใช้รถไม่มีแผ่นป้ายทะเบียนและรถของกรมตำรวจ จอดขวางทางสาธารณะเพื่อขัดขวางไม่ให้ประชาชนที่จะมารับฟังคำชี้แจงการทำประชาคมเข้าไป ข้อมูลรายงานการไต่สวนประกอบคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ มีการบิดเบือนความจริง โดยมีผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 บ้านหนองหัวแหวน ตำบลพันดุง อ.ขามทะเลสอ จ.นครราชสีมา เซ็นให้คำรับรองถูกต้องเอกสารการไต่สวนและทางบริษัทได้นำนักวิชาการมาแนะนำข้อมูลเพียงแต่ในด้านดี โดยไม่ชี้แจงด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่จะตามมาในภายหลัง นอกจากนี้ การทำเหมืองแร่เกลือหินใต้ดินดังกล่าว ยังทำให้ประชาชนเดือดร้อน เกิดความวิตกกังวลถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเกิดความแตกแยกในชุมชนของ จึงได้เข้ายื่นหนังสือต่อผู้นำฝ่ายค้านเพื่อให้ช่วยดำเนินการช่วยเหลือประชาชน โดยให้การทำประชาคมในวันที่ 1 ก.ย.56 ที่ผ่านมาเป็นโมฆะ ช่วยตรวจสอบข้าราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดกับการทำประชาคม และให้บริษัท ซอลทเวิร์คส จำกัด ยกเลิกการดำเนินการขอทำสัมปทานเหมืองแร่เกลือหินใต้ดินตามหนังสือเลขที่ 3/2555,4/2555
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, วิจิตรา น้าวัฒนไพบูลย์ ข่าว / เรียบเรียง
 
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เริ่มแล้ว วันนี้ต้องติดตามกระทู้ถามสดรัฐบาลเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนแม่วงก์
 
26 ก.ย. 56  –  การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เริ่มแล้ว  ขณะที่ ส.ส.ฝ่ายค้าน เตรียมตั้งกระทู้ถามสดนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ถึงปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่ และปัญหาการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์
 
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันนี้ (26 ก.ย. ) ได้เริ่มขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. โดยมีนายวิสุทธิ์  ไชยณรุณ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ขณะนี้อยู่ระหว่างการเปิดโอกาสให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหารือเรื่องความเดือดร้อนของประชาชน นอกจากนี้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรยังจะพิจารณาวาระกระทู้ถามสด ซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคฝ่ายค้าน เตรียมตั้งกระทู้ถามสดนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมถึงปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่ และปัญหาการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ เนื่องจากทั้ง 2 เรื่อง ถือเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีการตั้งกระทู้ถามสดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เรื่องปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตร ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตกต่ำด้วย
 
ขณะที่ วาระกระทู้ถามทั่วไป เป็นเรื่องของงบประมาณก่อสร้างระบบสูบน้ำและระบบคลองซอย พื้นที่ตำบลหนองขาว อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี และเรื่องขอทราบความคืบหน้าของโครงการอนุรักษ์ ฟื้นฟูแหล่งน้ำหนองหานกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี รวมถึงเรื่องการสนับสนุนงบประมาณก่อสร้างหอประชุม โรงเรียนวังม่วงพิทยาคม อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, นภาทิพย์  นูโพนทอง  ผู้สื่อข่าว / เรียบเรียง
 
โฆษกเพื่อไทย ยืนยันเดินหน้าโหวตวาระ 3 แก้ รธน. 28 ก.ย.นี้
 
26 ก.ย. 56 - โฆษกพรรคเพื่อไทย ยืนยัน เดินหน้าโหวตวาระ 3 แก้ไข รธน.ประเด็นที่มา ส.ว. 28 ก.ย.นี้แน่นอน พร้อมระบุ เตรียมยื่นตรวจสอบการกระทำของ ส.ส.วิรัช ที่ออกมาข่มขู่สมาชิกที่จะลงมติวาระ 3
 
นายพร้อมพงษ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงข่าวกรณีศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาส.ว. ว่า วิปรัฐบาลจะเดินหน้าโหวตวาระ 3 ในวันที่ 28 ก.ย.นี้อย่างแน่นอน เพราะเห็นว่าเป็นการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็เคยมีคำแนะนำว่ารัฐธรรมนูญสามารถแก้ไขเป็นรายมาตราได้ และไม่ได้เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิไตยตามมาตรา 68 ส่วนกรณีที่นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาระบุทำนองข่มขู่นายกรัฐมนตรีและสมาชิกที่จะลงมติในวาระ3 ว่าจะถอดถอนหากนำร่างนี้ขึ้นทูลเกล้าฯ เห็นว่า ปชป.ไม่ได้คำนึงถึงศักดิ์ศรีเกียรติยศของฝ่ายนิติบัญญัติและอำนาจของสมาชิกรัฐสภา ซึ่งตนจะยื่นตรวจสอบการกระทำของนายวิรัช ว่าเป็นการขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภาหรือไม่
 
โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวต่อถึงกรณที่นายสาธิต ปิตุเตชะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระยอง พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาท้าทายให้ตนออกจากตำแหน่งหากตรวจสอบว่าคลิป ส.ส.กดบัตรแทนกันเป็นของจริงว่า ตนขอท้ากลับว่าถ้านายสาธิต ไม่ยื่นให้ตรวจสอบตามขั้นตอนของรัฐสภา แสดงว่าไม่บริสุทธิ์ใจ เพราะมองเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกเสียจากว่า ประชาธิปัตย์ต้องการทำให้เป็นเกมการเมือง
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, วิจิตรา น้าวัฒนไพบูลย์ ข่าว / เรียบเรียง
 
กมธ.การศึกษา สผ. ยืนยันลูกจ้างชั่วคราววุฒิปริญญาตรี งบดำเนินงาน สพฐ.จะได้รับการปรับเงินเดือน 15,000 บาท พร้อมมีผลย้อนหลังตั้งแต่ 1 ต.ค. 55
 
26 ก.ย. 56 - กมธ.การศึกษา สผ.ยืนยันลูกจ้างชั่วคราววุฒิปริญญาตรี งบดำเนินงานของ สพฐ.จะได้รับการปรับเงินเพิ่มค่าครองชีพให้ได้เงินเดือน 15,000 บาท ตามนโยบายรัฐบาล พร้อมมีผลย้อนหลังตั้งแต่ 1 ต.ค. 55
 
นายพงศกร อรรณนพพร รองประธานคณะกรรมาธิการการศึกษาคนที่ 1 สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวสถานีวิทยุกระจายเสียงรัฐสภา ภายหลังการประชุมติดตามความคืบหน้าให้กับสมาพันธ์เจ้าหน้าที่ธุรการโรงเรียนแห่งประเทศไทย ที่ร้องเรียนปัญหาเจ้าหน้าที่ธุรการโรงเรียนซึ่งเป็นลูกจ้างชั่วคราววุฒิปริญญาตรี โครงการคืนครูให้นักเรียน ยังไม่ได้รับเงินเพิ่มค่าครองชีพลูกจ้างชั่วคราววุฒิปริญญาตรีเป็นเดือนละ 15,000 บาท ตามแนวนโยบายรัฐบาล โดยนายพงศกร ระบุว่า กรรมาธิการได้ติดตามปัญหาดังกล่าวให้กับสมาพันธ์มาตั้งแต่เดือน มี.ค. 56 และเมื่อวันที่ 17 ก.ย. สมาพันธ์รวมตัวชุมนุมเรียกร้องที่ทำเนียบรัฐบาลทำให้ นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการแจ้งว่าจะนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ภายในเดือนตุลาคม นี้ อย่างไรก็ตาม กรรมาธิการได้เร่งติดตามการดำเนินการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดโดยประสานรัฐมนตรีฯ พร้อมได้รับความชัดเจนจากเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) และกรมบัญชีกลางว่าได้เตรียมกันเงินส่วนนี้ไว้แล้ว รอเพียงเข้าสู่คณะกรรมการกลั่นกรองอีกครั้งแล้วนำเข้าที่ประชุม ครม.อนุมัติ จึงขอยืนยันว่ากลุ่มลูกจ้างชั่วคราวที่ยื่นเรื่องร้องเรียนเข้ามากว่า 2 พันคน จะได้ปรับเงินเพิ่มค่าครองชีพให้ได้รับเงินเดือน 15,000 บาท อย่างแน่นอน โดยจะมีผลย้อนตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.55 ถึง 30 ก.ย.56
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, ลักขณา  เทียกทอง / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง 
 
ส.ส.อุบลราชธานี ทวงถามรัฐบาลถึงงบฯ 3.5 แสนล้าน แก้ปัญหาน้ำแบบบูรณาการ หลังหลายจังหวัดทางภาคอีสานต้องจมน้ำ
 
26 ก.ย. 56 - ส.ส.อุบลราชธานี  ทวงถามรัฐบาลถึงงบแก้ปัญหาน้ำแบบบูรณาการ  3.5 แสนล้าน หลังหลายจังหวัดทางภาคอีสานต้องจมน้ำ พร้อมชี้ พื้นนาอีสานท่วมหนึ่งครั้ง เท่ากับไม่มีข้าวกินทั้งปี เรียกร้องรัฐบาลเพิ่มค่าชดเชยเป็นกรณีพิเศษ
 
นายศุภชัย ศรีหล้า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงปัญหาอุทกภัยในหลายจังหวัดทางภาคอีสานว่า  ขณะที่หลายจังหวัดทางภาคอีสานกำลังประสบอุทกภัยอย่างหนัก โดยเฉพาะจังหวัดอุบลราชธานี ตนจึงอยากทวงถามรัฐบาลถึงเงินงบประมาณ 3.5 แสนล้าน ที่จะนำมาแก้ปัญหาน้ำแบบบูรณาการ ว่าจะนำมาแก้ไขในพื้นที่ทางภาคอีสานบ้างหรือไม่ เพราะทั้งต้นน้ำชีที่ชัยภูมิ ต้นน้ำมูลที่นครราชสีมา ไหลมากลางน้ำที่อีสานกลาง และมาบรรจบกันที่ปลายน้ำจังหวัดอุบลราชธานี   ที่ทางพื้นที่อีสานไม่ได้รับการแก้ไขเลย  แล้วจะหวังการแก้ไขอย่างไรกับปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในขณะนี้
 
ส.ส.อุบลราชธานี ยังเรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มค่าชดเชยเป็นกรณีพิเศษให้กับประชาชนชาวอีสานที่ประสบอุทกภัย เนื่องจากชาวนาภาคอีสานทำนาปีละครั้ง แต่ขณะนี้ข้าวกำลังตั้งท้องได้รับความเสียหาย ซึ่งถ้าท่วมหนึ่งครั้งเท่ากับไม่มีข้าวกินทั้ง ตนจึงขอให้รัฐบาลพิจารณาช่วยเหลือด้วย
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, เรณู เขมาปัญญา / ข่าว / เรียบเรียง
 
เวทีสัมมนาแก้ไขการกระทำละเมิดต่อพระพุทธรูป วุฒิสภา เรียกร้องพุทธศาสนิกชน ร่วมปกป้องการกระทำไม่เหมาะสมกับสัญลักษณ์ในทางพระพุทธศาสนา
 
27 ก.ย. 56 - เวทีสัมมนาการป้องกันและแก้ไขการกระทำละเมิดต่อพระพุทธรูปและสัญลักษณ์ในทางพระพุทธศาสนา ที่กรรมาธิการศาสนาฯ วุฒิสภาจัดขึ้น ระบุข้อมูล พุทศาสนิกชนเริ่มเสื่อมถอยจากปัจจัยทางสังคม วอนใช้ความกล้าร่วมออกมาปกป้องการกระทำไม่เหมาะสมกับพระพุทธรูป พร้อมดำเนินวิถีพุทธให้เข้มข้นมากขึ้น
 
เวทีสัมมนาการป้องกันและแก้ไขการกระทำละเมิดต่อพระพุทธรูปและสัญลักษณ์ในทางพระพุทธศาสนา ซึ่งจัดโดยคณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา  และมี 17องค์กรเครือข่ายชาวพุทธ หน่วยงานราชการและเอกชนเข้าร่วมเพื่อแสดงความเห็นในการปกป้องพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง   โดยพระพรหมเมธี ประธานฝ่ายสงฆ์ กล่าวสัมโมทนียกถาให้ทุกคนออกมาปกป้องรักษาพระพุทธศาสนาที่มีอายุมากว่า 2,600 ปี ด้วยหลักเมตตา อภัย และสันติ และเมื่อมีการนำสัญลักษณ์ทางศาสนาไปใช้ในทางไม่เหมาะสมจึงถือเป็นโอกาสที่ชาวพุทธจะต้องช่วยกันทำหน้าที่ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อช่วยปกป้องพระพระพุทธศาสนาที่ทุกคนเคารพนับถือ
 
ขณะที่ นายอนันต์ อริยะชัยพาณิช รองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 กล่าวว่า โลกที่เปลี่ยนแปลงไปก่อให้เกิดการแสวงหาประโยชน์โดยไม่เคารพต่อศาสนา ซึ่งอาจเกิดจากความไม่เข้าใจ รู้เท่าไม่ถึงการณ์รวมถึงการขาดความเคารพให้เกียรติ เช่น การนำพระพุทธรูปมาประดับตกแต่งในสถานบริการ ใช้เป็นสัญลักษณ์ทางการค้า รวมถึงการที่ชาวพุทธเองก็มีวิถีชาวพุทธที่ด้อยจางลงไป และความเสื่อมลงเองทางศาสนา อาทิ การกระทำของพระสงฆ์บางรูปที่ทำให้บางส่วนเสื่อมศรัทธา ดังนั้น ผู้นับถือพุทธศาสนาจะต้องเริ่มมาคิดกันใหม่ว่าทำอย่างไรศาสนาจึงจะกลับมาเข้มข้นขึ้นในจิตใจ และแน่นอนว่าคำสอนให้ปล่อยวางอัตตา แต่ไม่ใช่การปล่อยวางพระศาสดาอย่างแน่นอน
 
ด้าน อาจารย์อัจฉราวดี วงศ์สกุล ประธานองค์กรโนอิ้ง บุดด้า เปิดเผยว่า การกระทำที่ลบหลู่พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยได้นำคลิปวิดีโอมาเปิดแสดงให้เห็นภาพการกระะทำไม่เหมาะสมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจริงโดยเฉพาะในต่างประเทศ อาทิ นำภาพเศียรพระพุทธรูปใช้เป็นลายสักบริเวณต้นขา ภาพหญิงสาวนั่งเก้าอี้ที่ออกแบบเป็นพระพุทธรูปมาแสดง รวมถึงข้อมูลที่เดินทางไปดูด้วยตนเองที่บุดด้าบาร์ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งมีการนำพระพุทธรูปมาใช้ตกแต่ง และโฆษณาถึงความเป็นเมจิกคัลหรือทำให้เกิดความรู้สึกมนต์ขลัง ตนจึงต้องการกลับมาถามที่สังคมชาวพุทธ ถึงการแสดงความกตัญญูในการปกป้อง ตอบแทน ในขณะที่พุทธศาสนิกชนเริ่มอ่อนแอ ทั้งจากศีลธรรมที่บกพร่อง การท่องธรรมเพียงเพื่อปริญญา หรือการที่มองพระพุทธรูปมีไว้เพื่อขอพรแต่ไม่ได้เข้าถึงธรรม ซึ่งล้วนเป็นพฤติกรรมที่ผิด จึงขอให้ทุกคนช่วยกันทำหน้าที่ ในการแก้ไขสิ่งผิดให้กลับมาสู่สิ่งที่ถูกต้อง ขอให้ใช้ความกล้าหาญ ออกมาช่วยกันปกป้องด้วยทุกศักยภาพที่มี
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, ลักขณา  เทียกทอง / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง 
 
รัฐสภาให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มา ส.ว แล้ว
 
28 ก.ย 56 - รัฐสภาให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาของสมาชิกวุฒิสภาแล้วด้วยคะแนนเห็นชอบ 358 ไม่เห็นชอบ 2 งดออกเสียง 30 เสียงโดยฝ่ายค้านและกลุ่ม 40 สว. วอร์คเอาท์หลังประธานสั่งเดินหน้าการลงมติต่อ
 
การประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อลงมติรัฐธรรมนูญวาระ 3 เริ่มต้นขึ้นเมื่อเวลา 10.30 น. โดยนายสมศักดิ์  เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงการที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของพลเอกสมเจตน์ บุญถนอม ส.ว สรรหา และนายวิรัตน์ กัลยาศิริ  ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาของ สว. เป็นกระทำการเพื่อล้มล้างการปกครองประเทศอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่ และแจ้งความคืบหน้าการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ซึ่งจะแจ้งเป็นเอกสารถึงสมาชิกรัฐสภาต่อไป
 
ทั้งนี้ก่อนการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฐ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ได้หารือต่อที่ประชุมว่าควรชะลอการลงมติในวันนี้ไว้ก่อนเนื่องจากเห็นว่าศาล รธน. ได้มีคำสั่งให้รับคำร้องของพลเอกสมเจตน์  และนาย้วิรัตน์ ไว้แล้ว  รวมถึงรับคำร้องของนายพีรพันธ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส พรรคประชาธิปัตย์ที่ขอให้วินิจฉัยกรณีมีสมาชิกรัฐสภากดบัตรแทนกันในการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 9 และ 10 ไปแล้วเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา  อย่างไรก็ตามในขณะที่ประธานวิปฝ่ายค้านกำลังหารือกับที่ประชุมสภาในเรื่องดังกล่าว ปรากฏว่ามีการประท้วงจาก ส.ส เพื่อไทยหลายคน  ในที่สุดประธานรัฐสภาได้วินิจฉัยให้มีการลงมติทันที 
 
ด้าน รศ.ทัศนา บุญทอง สมาชิกวุฒิสภาสรรหา ได้กล่าวว่าการที่ศาลรับแล้วถือว่าอยู่ในกระบวนการ จึงขอเสนอญัตติให้เลื่อนการพิจารณาวาระ 3 ออกไปก่อน แต่ประธานรัฐสภากล่าวว่าได้ดำเนินการเข้าสู่ระเบียบวาระไปแล้ว จึงไม่สามารถให้ดำเนินการอื่นใดได้ และได้สั่งนับองค์ประชุมและดำเนินการลงมติด้วยการขานชื่อทันที ซึ่ง ส.ส พรรคประชาธิปัตย์และกลุ่ม 40 สว ได้พากันเดินออกจากห้องประชุม ทันที
 
สำหรับผลการลงลงมติปรากฏว่าที่ประชุมให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยคะแนนเห็นชอบ 358 ไม่เห็นชอบ 2 งดออกเสียง 30 เสียง ทั้งนี้ภายหลังการประธานสั่งปิดประชุม นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฐ์ ประธานวิปฝ่ายค้านได้ยื่นหนังสือต่อนายนิคม ไวยรัชพาณิชย์ ประธานวุฒิสภาในฐานะรองประธานรัฐสภาทันที  เพื่อขอให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, มันทนา  ศรีเพ็ญประภา  ข่าว/เรียบเรียง กมลา สาครมณีทรัพย์  เอื้อเฟื้อภาพ
 
กลุ่ม 40 ส.ว. ยื่นเรื่องผ่านประธานรัฐสภาขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแก้ รธน.ขัด ม. 154
 
28 ก.ย 56 - กลุ่ม 40 ส.ว. ยื่น 68 รายชื่อ ผ่านประธานรัฐสภา ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้ไข รธน.เรื่องที่มา ส.ว. ขัด ม. 154 (1) เพราะเนื้อหา และกระบวนการพิจารณาไม่ชอบด้วยกฎหมาย หลังที่ประชุมรัฐสภา ลงมติผ่านวาระ 3 พร้อมเตรียมยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีวันจันทร์นี้เพื่อให้ระงับการนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ
 
กลุ่ม 40 ส.ว.นำโดย นายไพบูลย์ นิติตะวัน นายสมชาย แสวงการ นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ได้ยื่นรายชื่อสมาชิก 68 คน ต่อนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภาในฐานะรองประธานรัฐสภา เพื่อให้นำความเห็นของสมาชิกรัฐสภาให้ดำเนินการส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มา ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154(1) เนื่องจากเนื้อหาและกระบวนการพิจารณา ไม่ชอบตามรัฐธรรมนูญหรือไม่
 
นายไพบูลย์ กล่าวว่า  ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวมีความไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งในส่วนของสาระเนื้อหาใน 4 ประเด็นและกระบวนการดำเนินการอีก 5 ประเด็น รวมเป็น 9 ประเด็น ดังนั้นจึงขอให้ประธานรัฐสภาเสนอความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยและแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบโดยเร่งด่วน ทั้งนี้ มาตรา 154 ไม่ได้ให้ดุลยพินิจกับประธานรัฐสภา    การที่สมาชิกส่งเรื่องให้กับประธานก็เพื่อตรวจสอบความถูกต้อง ประธานฯจึงมีหน้าที่ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าไม่ส่งก็อาจจะเข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และตนเชื่อว่าสุดท้ายประธานฯก็คงต้องส่งไปยังศาลฯ ประเด็นอยู่ที่นายกฯที่ได้รับทราบแล้วว่ามีการยื่นในมาตราดังกล่าว  นายกฯจึงไม่มีเหตุที่จะต้องนำร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านสภาขึ้นทูลเกล้าฯ เพราะเป็นการไม่สมควร และอาจจะเป็นการระคายเคืองเบื้องยุคลบาท โดยตนเห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลฯมีผลผูกพันแต่ละกรณี ไม่ใช่ผูกพันทุกกรณี
 
ทั้งนี้จะมีการยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อแจ้งให้ทราบในวันจันทร์ที่ 30 กันยายนนี้ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อให้ระงับการนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวขึ้นทูลเกล้า ตาม มาตรา 154 วรรค 2 พร้อมทั้งจะมีการทำหนังสือไปยังสำนักราชเลขาธิการ สำนักพระราชวัง เพื่อให้รับทราบต่อไป
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, มันทนา ศรีเพ็ญประภา  ข่าว/เรียบเรียง
 
ฝ่ายค้านยื่นหนังสือผ่านประธานรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างรัฐธรรมนูญไม่ชอบด้วยกฎหมาย
 
28 ก.ย 56 - ประธานวิปฝ่ายค้านยื่นหนังสือผ่านประธานรัฐสภาขอให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มา สว. ทันที่ที่รัฐสภามีมติผ่านวาระ 3  ระบุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่วาระ 1-3 ระบุการยื่นครั้งนี้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 154
 
นายจุรินทร์  ลักษณะวิศิษฐ์  ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวภายหลังยื่นหนังสือต่อนายนิคม ไวยรัชพานิช  ประธานวุฒิสภาในฐานะรองประธานรัฐสภา เพื่อขอให้รัฐสภาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาของ สว. ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันทั้งด้านเนื้อหาและกระบวนการตราหรือไม่  โดยการยื่นเรื่องในครั้งนี้เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ  มาตรา 154  ที่ระบุว่าในกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติฉบับใดมีความขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติก็สามารถเสนอความเห็นต่อประธานสภาเพื่อให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบโดยไม่ชักช้า
 
ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า เมื่อฝ่ายค้านได้ยื่นเรื่องต่อประธานรัฐสภาแล้ว ประธานรัฐสภาต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขฉบับนี้ และแจ้งต่อนายกรัฐมนตรีโดยเร็วที่สุด โดยประธานรัฐสภาไม่มีอำนาจในการใช้ดุลยพินิจเองว่าควรจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ อย่างไรก็ตามอยากฝากไปยัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่า หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังไม่ผ่านการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นการไม่บังควรหากจะยื่นทูลเกล้าฯ และนายกฯ เองในฐานะ สส.บัญชีรายชื่อ ยังสามารถขอเลื่อนญัตติการพิจารณาออกไปได้ แต่กลับไม่ทำ ดังนั้นขณะนี้ประธานรัฐสภาควรจะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพื่อไม่ให้เผือกร้อนตกอยู่ในมือของนายกรัฐมนตรีเอง
 
นอกจากนี้ ฝ่ายค้านจะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ที่ไม่ยอมรับญัตติที่มีสมาชิกรัฐสภาเสนอให้เลื่อนการลงมติวาระ 3 ออกไปก่อน ทั้ง ๆ ที่มีสมาชิกในห้องประชุมยกมือให้การรับรองญัตติดังกล่าวแล้ว ซึ่งพวกตนเห็นว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อระเบียบข้อบังคับการประชุม และขัดต่อรัฐธรรมนูญ   อย่างไรก็ตามเท่ากับว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ชอบในกระบวนการตั้งแต่การพิจารณาในวาระ 1 ถึงวาระ 3
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, มันทนา ศรีเพ็ญประภา ข่าว/เรียบเรียง
 
พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ยื่นใบสมัครเข้าสู่กระบวนการสรรหาเป็น กกต.
 
29 ก.ย. 56 - พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี  ปลัดกระทรวงคมนาคมเข้ายื่นใบสมัครที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เพื่อขอเข้าสู่กระบวนการสรรหาเป็น กกต. แทนชุดเดิมที่หมดวาระ ระบุ จะนำประสบการณ์งานรักษาความสงบเรียบร้อยช่วงเลือกตั้งและลงประชามติรัฐธรรมนูญ 50 มาใช้ พร้อมพัฒนาการเลือกตั้งให้มีความรวดเร็วด้วยการนำเทคโนโลยีเข้าช่วย
 
พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี  ปลัดกระทรวงคมนาคม อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) และอดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เข้ายื่นมายื่นใบสมัครและเอกสารเพื่อขอเข้ารับการสรรหาเป็นคณะคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา อาคารรัฐสภา 2 ถนนอู่ทองใน ดุสิต กทม. โดยพล.ต.อ.วิเชียร กล่าวว่า เหตุผลที่มาสมัครรับการสรรหาเป็น กกต. เนื่องจากมีความรู้ ความเชี่ยวชาญมากกว่าด้านอื่น ๆ และต้องการนำประสบการณ์ในชีวิตราชการที่มีมายาวนานที่ประสบความสำเร็จในหลายตำแหน่ง มาใช้รับใช้ประเทศชาติ ประกอบกับได้ช่วยงาน กกต.มาตั้งแต่ปี 50 ในการดูแลความสงบเรียบร้อยการลงประชามติรัฐธรรมนูญปี 50 การเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว.ปี 51 รวมถึงยังเป็นที่ปรึกษา นายประพันธ์  นัยโกวิท หนึ่งใน กกต. ด้วย หากได้รับการคัดเลือกครั้งนี้จะขอสานต่องานเดิม พร้อมกับพัฒนาด้วยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในงานเลือกตั้งให้เกิดความรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น แต่หากไม่ได้รับการคัดเลือก ก็พร้อมอุทิศตนช่วยงานของ กกต. ในฐานะที่ปรึกษาต่อไป ส่วนข้อถามที่ว่าข้าราชการประจำมักถูกมองว่ามีความเชื่อมโยงกับทางการเมืองนั้น พล.ต.อ.วิเชียร กล่าวว่า หลักสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการประจำ คือ ต้องเป็นกลางทางการเมือง ซึ่งตนมั่นใจในจุดนี้       
 
ทั้งนี้ พล.ต.อ.วิเชียร นับเป็นผู้สมัครรายที่ 16 ที่ขอเข้ารับการคัดเลือกเป็น กกต. จากสัดส่วนของคณะกรรมการสรรหาชุดที่มีนายไพโรจน์ วายุภาพ ประธานศาลฎีกา เป็นประธาน ทำหน้าที่คัดสรรและเสนอรายชื่อต่อวุฒิสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบเป็น กกต.จำนวน 3 คน จากจำนวน กกต.ที่ต้องมีทั้งสิ้น 5 คน  ส่วน กกต.อีก 2 คน จะมาจากการสรรหาของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา สำหรับผู้สนใจเข้าสู่กระบวนการสรรหาเป็น กกต.ยังสามารถยื่นใบสมัครและเอกสารได้ที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ณ อาคารรัฐสภา 2 หรืออาคารสุขปะพฤติ ได้จนถึงวันจันทร์ที่ 30 ก.ย. นี้ 
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, ลักขณา เทียกทอง ข่าว/เรียบเรียง
 
ปชป.ประนามปธ.รัฐสภาสั่งรวบรัดลงมติวาระ 3 เชื่อทำตามใบสั่ง
 
29 ก.ย. 56 - นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต ส.ส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาและคุณสมบัติ ส.ว. ในวาระสามว่า เป็นการรับใช้คนที่บงการจากต่างแดนอย่างชัดเจน แม้รัฐบาลจะมีสิทธิในการลงคะแนนเพื่ิอรับหลักการวาระ 3 แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในสภาฯคือ สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ได้พยายามตัดบทไม่ให้โอกาสนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน ( วิปฝ่ายค้าน) ให้เหตุผลที่ควรจะชะลอการลงมติไปก่อน และยังไม่เปิดโอกาสให้ ส.ว.ที่เสนอญัตติให้เลื่อนการลงมติไปก่อนด้วย
 
โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ทำให้กระบวนการของสภาไม่มีความสง่างาม เป็นการทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของตัวเอง เปิดโอกาสให้สามี ภรรยา ครอบครัวนักการเมืองมีโอกาสเป็นสมาชิกวุฒิสภา และส.ว.ปัจจุบันมีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งได้ทันที่ สะท้อนวุฒิภาวะของนักการเมืองบางจำพวก ที่แก้รัฐธรรมนูญเพื่อตัวเองไม่ใช่เพื่อประชาชน ซึ่งจะนำไปสู่การตีความของศาลรรัฐธรรมนูญ ว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะมีการขัดกันแห่งผลประโยชน์ให้ส.ว.ชุดปัจจุบันไปเป็นสมัครได้อีก
 
ที่มา: เนชั่นทันข่าว
 
รบ.วอนหยุดกดดันนายกฯ ชี้ต้องทูลเกล้าฯ ร่างแก้ไข รธน.ที่มา ส.ว.ภายใน 20 วัน
 
29 ก.ย. 56 - ร.ท. หญิง สุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอให้ทุกฝ่ายหยุดกดดันน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เรื่องการนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ   เนื่องจาก รัฐธรรมนูญได้กำหนดขั้นตอนไว้อย่างชัดเจนอยู่แล้ว ว่าการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญต้องมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง ทั้งยังได้กำหนดหน้าที่และกรอบเวลาเอาไว้ชัดเจนว่า หลังจากลงมติครบ 3 วาระแล้ว ใครมีหน้าที่ต้องทำอย่างไร ภายในเวลากี่วัน ในเมื่อขณะนี้ รัฐสภาตัดสินใจลงมติออกมาแบบนี้ นายกฯ ก็ต้องทำตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ไม่เช่นนั้น ก็จะกลายเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
 
"ขอให้ทุกฝ่ายเชื่อมั่น ว่า นายกฯ จะรับฟังความเห็นของทุกฝ่ายอย่างรอบด้าน และปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ได้แสดงจุดยืนมาตลอด ว่าระมัดระวังในการปฏิบัติตามกฎหมายในทุกเรื่อง ดังนั้น จึงขอให้ผู้ที่กำลังเคลื่อนไหวเพื่อกดดันนายกฯ โปรดกลับไปอ่านรัฐธรรมนูญให้ถี่ถ้วน ไม่ใช่ว่าดื้อดึงคัดค้านอย่างไร้เหตุผล อันที่จริง บุคคลเหล่านี้ ก็เป็นสมาชิกรัฐสภา ย่อมต้องรู้อยู่แก่ใจดีว่าเรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องที่จะมากดดันให้ นายกฯ ใช้ดุลยพินิจ อย่างโน้นอย่างนี้ ตามความต้องการของใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ เพราะเป็นเรื่องที่กฎหมายกำหนดขั้นตอนในการปฏิบัติไว้ชัดเจนอยู่แล้ว แต่เหตุที่หันมาใช้วิธีกดดัน นายกฯ คงเป็นเพราะต้องการเบี่ยงเบนประเด็น เนื่องจากไม่เคารพเสียงส่วนใหญ่ของประเทศ"
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 หมวด 15 ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 291 (7) บัญญัติไว้ว่า เมื่อการลงมติได้เป็นไปตามที่กล่าวแล้ว ให้นำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายและให้นำบทบัญญัติมาตรา 150 และมาตรา 151 มาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยกำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ที่นำขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 20 วัน
 
ที่มา: มติชนออนไลน์
 
ปชป.ซัด "ขุนค้อน" ปิดปาก "จุรินทร์-ทัศนา" ชะลอโหวตวาระ3
 
29 ก.ย. 56 - ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เมื่อเวลา 10.30 น.   วันที่ 29 กันยายน  นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษก ปชป. แถลงข่าวกรณีหลังที่ประชุมร่วมรัฐสภาลงมติผ่านร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรรมนูญ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... เกี่ยวกับที่มาส.ว. วาระที่ 3 ด้วยคะแนน 358 ต่อ 2 เสียง และงดออกเสียง 30 เสียง ว่า การที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภาในฐานะประธานในที่ประชุมรัฐสภาวินิจฉัยตัดบทไม่ให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ปชป. ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปค้าน)  หารืออธิบายว่าที่ประชุมรัฐสภาควรที่จะชะลอการลงมติวาระ 3 ออกไปก่อน นอกจากนั้นเมื่อมีการทักท้วงจากนางทัศนา บุญทอง ส.ว.สรรหา เสนอญัตติให้เลื่อนการลงมติวาระ 3 ออกไปก่อน แต่ประธานรัฐสภาไม่เปิดโอกาสและยังรวบรัดตัดตอนการลงคะแนนเพื่อรับหลักการการลงมติวาระ 3 ซึ่งตนเห็นว่ากระบวนการเช่นนี้ทำให้รัฐสภาไม่มีความสง่างามในการปฏิบัติหน้าที่
 
“ประชาชนเห็นชัดเจนว่าการโหวตวาระ 3 เกี่ยวกับที่มา ส.ว.เป็นการทำเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง เปิดโอกาสให้ญาติพี่น้องของนักการเมืองสมัครเป็นส.ว. เป็นการเปิดโอกาสให้ส.ว.เลือกตั้งชุดปัจจุบันสามารถกลับมาเลือกตั้งและมีสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งส.ว.ที่จะหมดวาระลงในต้นปี 57 ได้อีก ถือเป็นการกระทำผิดหลักการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 122 นอกจากนี้ยังมีเรื่องพฤติกรรมในการเสียบบัตรแทนกัน ซึ่งถือเป็นการทุจริตและการลงคะแนนครั้งนั้นไม่ชอบด้วยข้อบังคับและรัฐธรรมนูญ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่การตีความของศาลรัฐธรรมนูญและพิจารณาว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นไปด้วยความชอบหรือไม่”นายชวนนท์กล่าว
 
ที่มา: มติชนออนไลน์
 
 
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net