Skip to main content
sharethis

26 พ.ค.2557 คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทบทวนคำสั่งและมาตรการเหล่านี้ ได้แก่ ยุติการจำกัดการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน การจำกัดเสรีภาพทางวิชาการและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ยกเลิกการควบคุมตัวนักศึกษา นักวิชาการ และประชาชนที่รวมตัวกันแสดงความคิดเห็นทางการเมืองโดยสันติ ยุติการข่มขู่คุกคามด้วยการเรียกนักวิชาการ นักกิจกรรม สื่อมวลชน และประชาชนที่มีความคิดเห็นต่างไปรายงานตัว พร้อมเรียกร้องให้ คสช. กำกับหน่วยงานของรัฐ มิให้ฉวยโอกาสที่การบริหารประเทศอยู่ในภาวะที่ภาคประชาสังคมมีข้อจำกัดในการตรวจสอบหน่วยงานรัฐ ทำการผลักดันโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ ย้ำมีแต่วิถีประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะนำไปสู่การคลี่คลายปัญหาความขัดแย้ง จึงเรียกร้องให้ คสช. คืนอำนาจให้ประชาชนโดยเร็ว เพื่อนำสังคมไทยกลับคืนสู่ภาวะปกติอีกครั้งหนึ่ง

 

แถลงการณ์คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)

ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ยึดอำนาจการปกครองประเทศเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ภายหลังจากความพยายามของฝ่ายต่างๆ ในการแสวงหาทางออกจากวิกฤติการเมืองอันยืดเยื้อยาวนาน ด้วยวิถีประชาธิปไตยและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายประสบความล้มเหลว คสช. ได้อ้างปัญหาความขัดแย้งที่อาจรุนแรงยิ่งขึ้นเป็นเหตุแห่งการยึดอำนาจ จากนั้นจึงได้ควบคุมการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชน   ห้ามการชุมนุมและการแสดงออกทางการเมือง  ยกเลิกรัฐธรรมนูญและวุฒิสภา การควบคุมตัวนักการเมือง นักศึกษา นักวิชาการ สื่อมวลชน และประชาชนที่อาจมีความเห็นแตกต่าง รวมทั้งการแทรกแซงอำนาจตุลาการด้วยการให้ศาลทหารมีอำนาจในการพิจารณาคดีหมิ่นสถาบัน (มาตรา 112) และคดีที่เกี่ยวกับความมั่งคงของรัฐ (มาตรา 113)

แม้คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) จะตระหนักว่า สถาบัน องค์กรและกลุ่มพลังทางการเมืองที่ร่วมในความขัดแย้ง ล้วนมีส่วนทำให้วิกฤติการเมืองเข้าสู่ภาวะตีบตัน จนสังคมไทยไม่อาจรักษาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยไว้ได้ อย่างไรก็ตาม กป.อพช.ก็มีความเห็นว่าคำสั่งและมาตรการของ คสช. หลายประการที่ขัดต่อหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน  และอาจไม่สามารถคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งแตกแยกในสังคมไทยที่ดำรงอยู่ก่อนรัฐประหาร ดังจะเห็นได้จากการประท้วง ต่อต้านรัฐประหารที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและขยายวง กป.อพช. จึงขอเรียกร้องให้ คสช. ทบทวนคำสั่งและมาตรการเหล่านี้ ได้แก่ ยุติการจำกัดการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน การจำกัดเสรีภาพทางวิชาการและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ยกเลิกการควบคุมตัวนักศึกษา นักวิชาการ และประชาชนที่รวมตัวกันแสดงความคิดเห็นทางการเมืองโดยสันติ ยุติการข่มขู่คุกคามด้วยการเรียกนักวิชาการ นักกิจกรรม สื่อมวลชน และประชาชนที่มีความคิดเห็นต่างไปรายงานตัว

กป.อพช. ขอเรียกร้องให้ คสช. กำกับหน่วยงานของรัฐ มิให้ฉวยโอกาสที่การบริหารประเทศอยู่ในภาวะที่ภาคประชาสังคมมีข้อจำกัดในการตรวจสอบหน่วยงานรัฐ ทำการผลักดันโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ เช่นโครงการภายใต้แผนบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน หรือโครงการภายใต้แผนการกู้เงิน 2 ล้านล้าน ที่อาจเป็นภาระทางการเงินแก่ประเทศและก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของประชาชน ตลอดจนการเร่งรัดการบรรลุข้อตกลงการเปิดเสรีทางการค้า (เอฟทีเอ) กับประเทศอื่นๆ ที่อาจเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มผลประโยชน์บางกลุ่มแต่ส่งผลเสียอย่างมากต่อประเทศไทยในระยะยาว

กป.อพช. เห็นว่ามีแต่วิถีประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะนำไปสู่การคลี่คลายปัญหาความขัดแย้ง จึงขอเรียกร้องให้ คสช. คืนอำนาจให้ประชาชนโดยเร็ว เพื่อนำสังคมไทยกลับคืนสู่ภาวะปกติอีกครั้งหนึ่ง

คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)
26 พฤษภาคม 2557

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net