Skip to main content
sharethis

แถลงการณ์ของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด กล่าวถึงกรณีทหารจำนวนกว่า 100 นายสับเปลี่ยนกันเข้าไปประจำการในหมู่บ้านช่วงเกือบ 1 เดือนที่ผ่านมา ว่าแม้จะช่วยรักษาความปลอดภัยให้ชาวบ้านได้ แต่ยังสร้างความกังวลกับบทบาทคนกลางในการไกล่เกลี่ยปัญหา

จังหวัดเลย – เมื่อเวลา 8.00 น. ของวันจันทร์ที่ 7 กรกฎาคม 2557 ประชาชนประมาณ 300 คน จาก 6 หมู่บ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัททุ่งคำ จำกัด ซึ่งรวมตัวกันในนาม กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ได้เดินทางไปยังวัดศรีสะอาด บ้านห้วยผุก ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย เพื่ออ่านแถลงการณ์ข้อเสนอแนวทางการแก้ปัญหาเหมืองแร่ทองคำดังกล่าว

วานนี้ (7 ก.ค. 2557) มีการเรียกประชุมประชาคมหมู่บ้าน โดยคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งประสานงานแต่งตั้งโดยทหาร และมีนายภานุ แย้มศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลยเป็นประธาน อย่างไรก็ตาม นางวรรณิสา สุทธิ ตัวแทนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดซึ่งขึ้นอ่านแถลงการณ์อธิบายว่า “ชาวบ้านมีความกังวลต่อที่มาและกระบวนการทำงานของคณะกรรมการแก้ปัญหาเรื่องเหมืองทองคำจังหวัดเลยทั้ง 4 ชุด ซึ่งประสานงานแต่งตั้งขึ้นโดยทหารในช่วงที่ผ่านมา เพราะแม้จะเกิดจากความหวังดี แต่เนื่องจากคณะกรรมการเหล่านี้มีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ทหาร และตำรวจในพื้นที่ แต่ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริงตั้งแต่เริ่มต้น” นอกจากนี้ นางวรรณิสายังระบุว่า “การเรียกประชุมประชาคมในวันนี้ ไม่มีความชัดเจน ไม่มีหลักประกันว่าเวลาตัดสินใจเขาจะเคารพความเห็นของชุมชนอย่างไร ชาวบ้านจึงเกรงว่าเวทีนี้ จะเป็นแค่เครื่องมือของหน่วยงานรัฐและเอกชนที่ไม่เคยรับฟังเสียงของผู้เดือดร้อนอย่างจริงจังเหมือนที่ผ่านมา และการเข้าร่วมของชาวบ้านจะถูกใช้เป็นเพียงตรายางให้รัฐช่วยเหลือบริษัทเอกชนให้ดำเนินการทำเหมืองต่อไปได้ จึงมีมติร่วมกันในการประกาศไม่เข้าร่วมการประชุมประชาคมหมู่บ้านในครั้งนี้”

หลังจากที่ตัวแทนได้อ่านแถลงการณ์จบ และยื่นต่อนายภานุ แย้มศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการชุดที่จัดเวทีประชาคมดังกล่าว ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดก็พากันไปหย่อนกระดาษซึ่งมีข้อความระบุข้อเสนอ 6 ข้อของชาวบ้านต่อการแก้ปัญหากรณีเหมืองทองคำ ลงในกล่องรับฟังความเห็นของที่ประชุม แล้วทยอยเดินทางกลับโดยไม่ได้เซ็นชื่อเข้าร่วมประชุมประชาคมแต่อย่างใด

ทั้งนี้ แถลงการณ์ของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด กล่าวถึงการที่ทหารจำนวนกว่า 100 นายสับเปลี่ยนกันเข้าไปประจำการในหมู่บ้านในช่วงระยะเวลาเกือบ 1 เดือนเต็มที่ผ่านมา ว่าแม้จะช่วยรักษาความปลอดภัยให้ชาวบ้านได้ แต่ยังสร้างความกังวลจากการที่ทหารพยายามทำตัวเป็นคนกลางในการเจรจาไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง หรือการแก้ปัญหาที่ดำรงมายาวนานแล้วและมีความซับซ้อนอย่างยิ่ง ซึ่งไม่สามารถแก้ได้ด้วยกระบวนการที่เร่งรีบและขาดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของผู้มีส่วนได้เสียโดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่จำนวนมาก และระบุว่า กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดเชื่อว่า “การแก้ไขปัญหาเพื่อนำความสุขที่แท้จริงกลับคืนสู่ประชาชน 6 หมู่บ้าน จะต้องอยู่บนพื้นฐานของการเคารพสิทธิชุมชนในการจัดการและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตที่ธรรมชาติมอบให้อย่างยั่งยืน และจะต้องดำเนินไปภายใต้กระบวนการที่ยุติธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ และเคารพสิทธิและความคิดเห็นในการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียอย่างแท้จริง”

กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดยังได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎร 6 หมู่บ้านว่า “จะต้องเริ่มต้นที่การขจัดต้นตอของปัญหา นั่นคือเหมืองแร่ทองคำและโรงประกอบโลหะกรรมของบริษัททุ่งคำจำกัด ซึ่งดำเนินการมากว่า 10 ปี และประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงระบุมีข้อมูลว่าส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ การปิดเหมืองเพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ระบบนิเวศ วิถีชีวิต และการเยียวยาประชาชน เป็นเรื่องระยะยาวที่จำเป็นต้องประกอบด้วยผู้มีส่วนได้เสียและผู้เชียวชาญหลายภาคส่วนมาเกี่ยวข้อง” โดยระบุว่าข้อเสนอเหล่านี้ ทางกลุ่มฯ ได้ทำการจัดส่งด้วยไปรษณีย์ด้วยหนังสือลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2557 เรียนไปยัง ประธานคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, แม่ทัพภาคที่ 2 พล.ท. ชาญชัย ภู่ทอง (ค่ายสุรนารี) และ ผู้บังคับบัญชาทหารบกจังหวัดเลย พล.ต. วรทัต สุพัฒนนานนท์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นายวัลลภ พวงไพวัน หนึ่งในสมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ผ่านมาตลอด 10 ปีนับแต่เหมืองทองเริ่มดำเนินการ มีผู้ได้รับผลกระทยจากมลพิษ สุขภาพ ความขัดแย้ง ความรุนแรง แต่ไม่มีหน่วยงานไหนแสดงความจริงใจในการแก้ปัญหาให้กับประชาชน "และแย่ไปกว่านั้น กลายเป็นว่าเจ้าหน้าที่รัฐปกป้องผลประโยชน์ของนายทุน ที่ชัดเจนมากคือการเอากำลังตำรวจกว่า 600 นายไปกีดกันไม่ให้ชาวบ้านเข้าร่วมเวทีรับฟังความเห็นเพื่อขอขยายเหมืองของบริษัทเมื่อเดือนกันยายน 2556 อีกทั้งเมื่อเดือนเมษายน 2557 ที่ผ่านมา ยังมีคนที่อ้างตัวเป็นทหารยศพลโทเข้ามาข่มขู่ชาวบ้านถึงในหมู่บ้านเพื่อจะขนแร่ออกจากเหมือง จนกระทั่งเกิดความรุนแรงในคืนวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 ที่เหมืองใช้กองกำลังติดอาวุธ ประมาณ 300 คน เข้ามาขนแร่อย่างป่าเถื่อน จับชาวบ้านเป็นตัวประกัน ปิดล้อมหมู่บ้าน ขู่ฆ่า ทำร้ายร่างกาย ถึงคนพวกนั้นจะสวมไอ้โม่งปิดหน้า แต่ชาวบ้านในที่เกิดเหตุก็ได้ยินว่ามีตำรวจและทหารนอกรีตเข้ามาเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ด้วย”

นายวัลลภ ยังระบุว่า “ความรุนแรงเยี่ยงสงครามที่เกิดกับชาวบ้านตลอดทั้งคืนเป็นเวลา 6 ชั่วโมงนั้น ไม่เห็นเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะเข้ามาช่วยเหลือชาวบ้านเลย ขณะนี้ผ่านไปเกือบ 2 เดือนแล้วก็ยังไม่สามารถจับตัวผู้บงการมาเอาผิดลงโทษได้ ทำให้ชาวบ้านที่ยังมีบาดแผลในใจจากเหตุการณ์ดังกล่าว ยากที่จะทำใจให้ไว้ใจเจ้าหน้าที่รัฐได้”
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net