Skip to main content
sharethis

หลังข่าวการใช้กำลังเกินกว่าเหตุของตำรวจในสหรัฐฯ หลายครั้ง รวมถึงกรณีที่ทำให้คนเป็นโรคหอบหืดเสียชีวิตเพราะถูกล็อกคอ ทำให้กลุ่มปกป้องสิทธิพลเมืองพากันเรียกร้องให้มีการติดกล้องที่ตัวตำรวจเพื่อแสดงให้เห็นกิจวัตรของพวกเขาและเป็นการตรวจสอบการทำงาน แต่ก็มีการตั้งคำถามว่าการติดกล้องจะถูกนำมาใช้ละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวหรือไม่

จากกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจในรัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ถูกฝ่ายตรวจสอบระบุว่ามีความผิดฐานฆาตกรรม อิริค การ์เนอร์ ชายผิวดำอายุ 43 ปี ผู้เป็นโรคหอบหืดหลังจากที่ใช้กำลังจับกุมเขา ทำให้เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมานักรณรงค์ของนิวยอร์กได้เรียกร้องให้มีการเพิ่มมาตรการตรวจสอบปฏิบัติงานของตำรวจด้วยการติดกล้องไว้ที่ตัวเจ้าหน้าที่

เหตุการณ์ของอีริค การ์เนอร์ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 ก.ค. ที่ผ่านมา เขาถูกจับกุมฐานต้องสงสัยว่าเป็นผู้ค้าบุหรี่หนีภาษี มีประชาชนในละแวกนั้นสามารถบันทึกภาพการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจเอาไว้ได้ โดยในวิดีโอแสดงให้เห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจนิวยอร์กซิตี้ใช้กำลังจับกุมการ์เนอร์ในท่ารัดคอที่เรียกว่า 'โช้กโฮลด์' (chokehold) ในขณะที่การ์เนอร์พูดว่าเขาหายใจไม่ออก

ในเวลาต่อมาผู้ตรวจสอบการเสียชีวิตของการ์เนอร์ระบุว่าท่ารัดคอและการกดทับเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้การ์เนอร์เสียชีวิต เรื่องนี้ทำให้ประชาชนประท้วงเรื่องการใช้กำลังเกินกว่าเหตุของตำรวจ

สำนักข่าวเดอะการ์เดียน ระบุว่าในช่วงที่ผ่านมานอกจากกรณีของการ์เนอร์แล้ว ยังมีผู้ที่ถ่ายวิดีโอการใช้กำลังเกินกว่าเหตุของตำรวจในสหรัฐฯ ไว้ได้อีก 2 เหตุการณ์ ทำให้หน่วยงานตำรวจในหลายรัฐถูกกดดันจากการตรวจสอบของพลเรือนทำให้พวกเขาต้องนำเทคโนโลยีกล้องบันทึกภาพนี้มาใช้เอง โดยในตอนนี้มีเจ้าหน้าที่ในสหรัฐฯ มากกว่า 1,200 คนติดกล้องนี้ไว้ที่ตัว ทำให้บริษัทเทเซอร์ อินเตอร์เนชันแนล ซึ่งเป็นผู้ผลิตอาวุธเครื่องช็อตไฟฟ้าซึ่งเป็นหนึ่งในอาวุธของตำรวจสหรัฐฯ ได้รับผลประโยชน์จากการหันมาจับมือกับบริษัทแอ็กซอนเพื่อผลิตและจำหน่ายกล้องติดตัว

ก่อนหน้านี้กลุ่มเรียกร้องสิทธิพลเมืองได้ล่ารายชื่อเรียกร้องให้มีโครงการติดกล้องไว้กับตัวตำรวจ ซึ่งเป็นน้อยครั้งที่กลุ่มเหล่านี้ได้เรียกร้องให้มีการสอดแนมมากขึ้น โดยเจย์ สแตนลี่ย์ นักวิเคราะห์นโยบายของสหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกัน (ACLU) กล่าวว่าเรื่องนี้เป็นการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจของตำรวจมากกว่าจะเป็นการที่รัฐใช้ควบคุมบุคคล

"แน่นอนว่าควรจะมีการคุ้มครองเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัวอย่างแข็งขันมาก แต่ในขณะเดียวกันพวกเราก็พบว่ามีการใช้กำลังอย่างไม่เหมาะสมจากหน่วยพิเศษของตำรวจเกิดขึ้นบ่อยครั้ง" สแตนลีย์กล่าว "ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการติดกล้องไว้ที่ตัวตำรวจ"

มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์เคยศึกษาผลลัพธ์จากการติดกล้องไว้กับตัวตำรวจในหน่วยงานตำรวจเมืองรีอัลโต รัฐแคลิฟอร์เนีย ผลปรากฏว่าหลักการติดตั้งกล้องซึ่งเผยให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ได้ทำอะไรไปบ้างทำให้ตำรวจใช้กำลังลดลงร้อยละ 59 มีการร้องเรียนเรื่องเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ลดลงร้อยละ 88 ทำให้หน่วยตำรวจนครบาลของรัฐซานดิเอโด ลอสแองเจลิส และฟอร์ตเวิร์ธ ได้นำมาใช้เป็นโครงการนำร่อง และดูเหมือนว่าในเมืองอื่นก็กำลังพิจารณานำมาใช้

คดีความเกี่ยวกับการถ่ายภาพการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจมีมาตั้งแต่ปี 2520 แล้ว ซึ่งในตอนนั้นมีข้อตกลงทางกฎหมายให้หน่วยงานตำรวจในนิวยอร์กเพิ่มกฎหมายอนุญาตให้พลเรือนมีสิทธิบันทึกการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ และในสัปดาห์ที่แล้วทางสำนักงานตำรวจนิวยอร์กก็มีการกล่าวถึงกฎหมายนี้อีกครั้ง อีกทั้งในเดือน มิ.ย. ยังเคยมีกรณีพิพาทระหว่างตำรวจกับสมาคมช่างภาพข่าวแห่งชาติสหรัฐฯ (NPPA) จากการที่ตำรวจสั่งห้ามถ่ายภาพแล้วจับกุมช่างภาพ แต่ฝ่ายสมาคมช่างภาพข่าวฯ ก็เป็นฝ่ายชนะคดี

แม้ว่าทางบริษัทเทเซอร์ผู้ที่ได้ผลประโยชน์อย่างเต็มที่จะสนับสนุนการพึ่งพาเทคโนโลยีติดกล้องที่ตัวตำรวจโดยไม่จำเป็นต้องเขียนรายงาน แต่ทางสหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกันยังคงตั้งคำถามว่าการติดกล้องนี้จะขัดต่อหลักสิทธิความเป็นส่วนตัวไปด้วยหรือไม่ ในกรณีนี้สแตนลีย์เคยระบุไว้ในรายงานของสหภาพว่า เรื่องนี้จะทำให้ผู้คนได้รับผลประโยชน์กันทุกฝ่าย แต่ก็ต้องมีการวางขอบเขตนโยบายอย่างเข้มงวดเพื่อไม่ให้มีการใช้กล้องที่ติดกับตัวมาใช้ในเชิงการสอดแนมประชาชน

เรียบเรียงจาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net