Skip to main content
sharethis

23 ก.ย 2557 คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ร่วมกับศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพอีสาน และกลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา จัดเวทีทิศทางปฏิรูปประเทศไทย ครั้งที่ 3 ในหัวข้อ ‘กฎอัยการศึกกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม: กรณีเหมืองแร่ประเทศไทย’ ที่มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) โดยมีกลุ่มเครือข่ายภาคประชาชนอีสานและชาวบ้านมาร่วมบอกเล่าถึงผลกระทบจากกฎอัยการศึก

จากกรณีความรุนแรงในพื้นที่เหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลย และปัญหาการต่อสู้คัดค้าน พบว่าหลังจากการออกกฎอัยการศึก ตามคำสั่งของ คณะรักษาความสงบสุขแห่งชาติ (คสช.) นักสิทธิมนุษยชนที่เคลื่อนไหวและชาวบ้านในพื้นที่ จึงได้ออกแถลงข่าว

เตียง ธรรมอินทร์ ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ต.ห้วยสามพาด  อ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี  กล่าวว่า ชาวบ้านในพื้นที่เคลื่อนไหวคัดค้านเหมืองแร่โปแตชจังหวัดอุดรธานีมาเป็นเวลากว่า 14 ปี โดยมีการยื่นหนังสือคัดค้านการสร้างเหมืองมาตลอด หลัง คสช.ทำรัฐประหาร ชาวบ้านก็มีการยื่นหนังสือไปถึง ผบ.มทบ.24 จังหวัดอุดรธานี และเมื่อวันที่ 18 มิ.ย 57 เจ้าหน้าที่ทหารได้มีการเชิญตัวแทนชาวบ้าน 2 คน ไปชี้แจงข้อมูลโครงการเหมืองแร่โปแตช แต่ชาวบ้านต่อรองขอไปชี้แจง 5 คน เพื่อความปลอดภัย

เจ้าหน้าที่ได้แจ้งกับชาวบ้านว่าตอนนี้อยู่ในช่วงประกาศใช้กฎอัยการศึก ขอให้ชาวบ้านหยุดเคลื่อนไหวก่อน ซึ่งชาวบ้านก็รับฟังและคิดว่าทหารจะช่วยเหลือได้ แต่เมื่อวันที่ 19 มิ.ย 57 รายการพิเศษ คสช. ‘เดินหน้าประเทศไทย เดินหน้าคืนความสุขให้ชาวอุดรธานี’ เชิญรองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ทหาร ตำรวจ และนักธุรกิจในจังหวัดเข้าร่วมเสวนา แต่ในเนื้อหาของรายการกลับสนับสนุนให้ดำเนินโครงการเหมืองแร่โปแตช โดยอ้างว่าทรัพยากรแร่เป็นทรัพยากรของชาติ สามารถขุดนำมาใช้ได้ ชาวบ้านหลายคนจึงเริ่มมีความกระวนกระวายใจจากที่ได้รับฟัง

ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวเพิ่มเติมว่า การประกาศใช้กฎอัยกาศึก ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถรวมตัวเคลื่อนไหวได้ในช่วงนี้ และยังมีการระงับการออกอากาศวิทยุชุมชนที่ชาวบ้านใช้สื่อสารกันในเรื่องการคัดค้านโครงการเหมืองแร่โปแตช

“ชาวบ้านไม่เห็นด้วยกับการประกาศกฎอัยการศึก เพราะนายทุนและรัฐสามารถดำเนินโครงการได้อย่างสะดวก แต่ชาวบ้านดำเนินการเคลื่อนไหวอะไรไม่ได้” เตียงกล่าว และระบุว่าในตอนนี้ชาวบ้านทำได้เพียงการส่งหนังสือไปถึงนพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นที่พึ่งสุดท้ายที่ทำได้

สุวิทย์ กุหลาบวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน เล่าถึงปัญหาโครงการเหมืองแร่โปแตชภายใต้กฎอัยการศึกว่า ควรให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในพื้นที่ หลังจากที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก มีแนวโน้มการทำรายงาน EIA จะผ่านในช่วงนี้ เพราะมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องระหว่างนายทุนและรัฐ ซึ่งเป็นที่น่ากังวลเป็นอย่างมากเพราะไม่สามารถเคลื่อนไหวได้

สุวิทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า มีการเลือกปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐต่อผู้ที่สนับสนุนและผู้ที่คัดค้าน ทั้งที่ควรให้ความเป็นธรรมกันทั้งสองฝ่าย และอยากเสนอข้อเรียกร้องให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการออกความคิดเห็นตามหลักสิทธิชุมชนมาตรา 4 แห่งรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 เพราะถ้าสถานการณ์ยังเป็นเช่นในปัจจุบันอาจเป็นการสะสมปัญหาต่อไป

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา กล่าวถึงกรณีเหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลยว่า  วันที่ 15 พ.ค. 57 ก่อนที่จะมีการประกาศใช้กฎอัยการศึก เกิดเหตุการณ์คุกคามชาวบ้าน โดยมีชายฉกรรจ์ 300 คน พร้อมอาวุธครบมือทำร้ายชาวบ้าน มีการจับมัดมือไขว้หลังและรุมทำร้าย ทำให้ชาวบ้านได้รับบาดเจ็บไปหลายราย เช้าวันที่ 16 พ.ค. 57 จึงมีการปล่อยตัว ต่อมาชาวบ้านเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐหาคนกระทำผิดมาลงโทษและขอกำลังมาคุ้มครองชาวบ้าน เพราะมีการปล่อยข่าวว่าจะมีการขนแร่อีกครั้ง ในคืนวันที่ 19 พ.ค. 57 แต่ข้อเรียกร้องของชาวบ้านกลับไม่เป็นผล

เลิศศักดิ์ กล่าวต่อว่า หลังมีการรัฐประหาร ได้มีการจัดกองกำลังจากจังหวัดทหารบกเลยจำนวน 1 กองร้อย เข้าไปในชุมชม และมีการจัดตั้งคณะกรรมการทหาร 4 ชุดขึ้นมา อาทิ คณะกรรมการแก้ไขปัญหาเหมืองแร่ทองคำ คณะกรรมการน้ำ คณะกรรมการฟื้นฟูสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวล้วนแต่เป็นข้าราชการไม่มีชาวบ้านเกี่ยวข้อง

“เริ่มมีความชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่ากรรรมการ 4 ชุดนี้ไม่ได้เข้ามาทำหน้าที่อะไร แต่พยามที่จะสร้างกระบวนการขึ้นมาให้ชาวบ้านกับบริษัทคุยกันให้ได้ ภายใต้ข้อเสนอขอขนแร่รอบใหม่” เลิศศักดิ์กล่าว

ตัวแทนกลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อชาวบ้านเริ่มเห็นได้ชัดเจนแล้วว่าคณะกรรมการทั้ง 4 ชุด ไม่ได้ทำงานเพื่อตอบสนองข้อเรียกร้องของชาวบ้าน จึงมีการทำหนังสือไปถึงทหารในพื้นที่ว่า ไม่ยอมรับการทำงานของคณะกรรมการ 4 ชุด จึงเป็นสาเหตุให้ชาวบ้านถูกเรียกรายงานตัว และทหารในพื้นที่มีการออกประกาศอย่างชัดเจนว่า ‘การไม่ยอมรับกรรมการทั้ง 4 ชุด ก็เท่ากับไม่ยอมรับอำนาจรัฐประหาร’

กิจกรรมทั้งหมดที่ชาวบ้านเคยทำก่อนประกาศใช้กฎอัยการศึก เช่น การจัดประชุม การรณรงค์ ถูกห้ามหมดดำเนินการทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นในจังหวัดเลย หลังจากนั้นกรรมการทั้ง 4 ชุด เริ่มชักชวนชาวบ้านทำบันทึกข้อตกลงร่วมกัน(MOU) ระหว่างทหาร ข้าราชการ บริษัทเอกชน และชาวบ้าน แต่ชาวบ้านไม่ยอมรับกระบวนทั้งหมด เพราะไม่มีส่วนร่วมกำหนด

เลิศศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันกระบวนการยังอยู่ในขั้นตอนการเจรจาและยังมีความพยายามที่จะดึงชาวบ้านกลับไปร่วมทำบันทึกข้อตกลง แต่ชาวบ้านไม่ให้ความร่วมมือ

“ถ้าชาวบ้านยังดื้ออยู่ไม่ยอมทำบันทึกข้อตกลงร่วม ก็อาจมีเหตุการณ์ที่ต้องไม่เสียเวลาในการทำบันทึกข้อตกลง เช่น อาจจะมีการขนแร่โดยจะมีทหารเป็นคนคุ้มกันในการขนแร่รอบนี้ นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในจังหวัดเลย” เลิศศักดิ์ กล่าวถึงสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่

นิติกร ค้ำชู กลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม (ดาวดิน) กล่าวว่า หลังมีเหตุการณ์รัฐประหาร นักกิจกรรมนักเคลื่อนไหวในพื้นที่ภาคอีสานอยู่ในภาวะที่ไม่มีสิทธิและไม่มีกฎหมายรับรอง ต้องอยู่ในความหวาดกลัว  ซึ่งกลุ่มดาวดินก็โดนเรียกไปรายงานตัว มีการขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ห้ามลงพื้นที่เหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลย 1 ปี แต่ก็ได้แจ้งกลับไปยังเจ้าหน้าที่ว่าคงไม่ได้จริงๆ จึงมีการเจรจาต่อรองเหลือ 1 เดือน

ตัวแทนกลุ่มดาวดิน กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากที่สถานการณ์ในพื้นที่เริ่มผ่อนคลายลงจึงคิดว่าสามารถลงพื้นได้ แต่ระหว่างการเดินทางมีทหารโทรมาบอกว่า ถ้าไม่ฟังคำเตือน ไปถึงจะจับเลย จึงมีการปรึกษากันในกลุ่มและทุกคนเห็นตรงกันว่าจะจับก็จับ อย่างไรก็ตาม เมื่อเดินทางไปถึงในพื้นที่ชาวบ้านได้เจรจากับทหารทำให้กลุ่มดาวดินสามารถเข้าพื้นที่ได้ แต่ก่อนที่จะเข้าไป ทหารมีการถ่ายรูปและยึดบัตรประชาชนไว้

“พอเข้าไปในพื้นที่ ก็เดินตามทุกฝีก้าว สุดท้ายก็ไม่ได้ช่วยอะไรชาวบ้าน เพราะเขาเดินตามตลอด สุดท้ายก็โดนไล่กลับไป เขาบอกว่านักศึกษากลุ่มนี้ปลุกปั่นให้ชาวบ้านเกิดความแตกแยก” นิติกรเล่า

สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้ประสานงานมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) กล่าวปิดงานด้วยการอ่านใบแถลงข่าว เวทีทิศทางปฏิรูปประเทศไทย ครั้งที่ 3 กฎอัยการศึก กับการจัดทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม: กรณีเหมืองแร่ประเทศไทย ‘วัฒนธรรมการมีส่วนร่วมของประชาชนถูกคุกคามโดยกฎอัยการศึก’ ร่วมลงนามโดย คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ศูนย์ข้อมูลชุมชน มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ อีสาน (ศสส.) กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา และกลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม (ดาวดิน)

ใบแถลงข่าวระบุข้อเสนอ 2 ข้อ คือ 1.ยกเลิกกฎอัยการศึกเพื่อปิดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนกลับคืนมาโดยรัฐบาล คสช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรับรองสิทธิชุมชนตามมาตรา 4 แห่งรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 2.ต้องชะลอการพิจารณากฎหมายแร่และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิทธิเสรีภาพของประชาชนในสภานิติบัญญัติเพื่อนำไปพิจารณาในรัฐสภาหลังจากมีการเลือกตั้ง

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net