บทความ FPIF: เราจะเอาจริงเรื่องยับยั้งสงคราม 'ไอซิส' ได้อย่างไร

แม้กลุ่มก่อการร้าย 'ไอซิส' จะทำให้ผู้คนรู้สึกว่าต้องตอบโต้ด้วยความรุนแรง แต่ก็มีพลเรือนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องด้วยต้องสูญเสียเพราะผลพวงจากสงครามต้านก่อการร้าย นักต่อต้านสงครามเสนอว่าอีกหนทางที่จะหยุดสงครามได้คือการสนับสนุนการเคลื่อนไหวอย่างสันติในระดับรากหญ้าของประเทศที่ถูกยึดครองโดยกลุ่มก่อการร้าย

7 ก.พ. 2558 ซาราห์ ลาซาร์ นักข่าวและนักเขียนเรื่องแนวต่อต้านสงครามซึ่งทำงานให้กับสำนักข่าวคอมมอนดรีมส์เขียนบทความบนเว็บ Foreign Policy In Focus ว่าทำอย่างไรถึงจะยับยั้งสงครามกับกลุ่มไอซิส (ISIS) ได้

ลาซาร์ระบุว่าเธอไม่ค่อยเห็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสังคมโดยเฉพาะสายต่อต้านสงครามเรียกร้องอะไรในกรณีของกลุ่มไอซิส และไม่มีการถกเถียงสาธารณะมากพอทั้งที่ฝ่ายรัฐบาลสหรัฐฯ กำลังจะมีปฏิบัติการทางทหารต่อกลุ่มก่อการร้ายนี้ ในแง่หนึ่งเป็นเรื่องเข้าใจได้ว่าเหตุใดถึงมีการเรียกร้องน้อยลง ส่วนหนึ่งเพราะความซับซ้อนของสถานการณ์ในประเทศอิรักและซีเรียเองซึ่งเป็นพื้นที่ๆ ไอซิสปฏิบัติการอยู่จนทำให้เกิดวิกฤติด้านมนุษยธรรม รวมถึงมีสภาพการช่วงชิงอำนาจหลายชั้นในตะวันออกกลางเอง อีกสาเหตุหนึ่งน่าจะมาจากการไม่สามารถเชื่อมโยงกับขบวนการต่อสู้ระดับรากหญ้าในประเทศที่เกิดความรุนแรงได้

แม้ว่าสถานการณ์จะซับซ้อนแต่ลาซาร์ระบุว่าไม่ควรจะเพิกเฉย เพราะในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมามีการก่ออาชญากรรมสงครามในหลายที่เพราะความเพิกเฉย อย่างไรก็ตามลาซาร์ก็ยังมองว่าการปฏิบัติการทางทหารต่อกลุ่มไอซิสจะไม่เป็นผลดีต่อประชาชนในอิรักและซีเรียรวมถึงต่อสังคมสหรัฐฯ เอง เพราะเมื่อพิจารณาจากนโยบาย "สงครามต่อต้านการก่อการร้าย" ตลอดช่วง 13 ปีที่ผ่านมา มีแต่ทำให้เกิดความสูญเสีย ผู้คนพลัดถิ่น ประเทศขาดเสถียรภาพ และเกิดความยากจนในหมู่ประชาชนที่ถูกใช้ที่อยู่อาศัยเป็นสนามรบ

อย่างไรก็ตามลาซาร์บอกว่าเรื่องนี้มีทางออกด้วยการสนับสนุนขบวนการเคลื่อนไหวในระดับประชาชนของอิรักและซีเรีย โดยควรส่งเสริมการจัดตั้งกลุ่มสิทธิพลเมืองทั้งด้านสิทธิแรงงาน ความเป็นธรรมทางเพศ การฟื้นฟูผู้ไดัรับผลจากสงคราม และส่งเสริมอำนาจประชาชน ซึ่งลาซาร์บอกว่ากลุ่มเหล่านี้ยังมีอยู่แม้สื่อมักจะนำเสนอเหตุการณ์ของ 2 ประเทศนี้แต่ในแง่การสูญเสีย

"ในเวลานี้เป็นเวลาสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจและสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับภาคประชาสังคมของชาวซีเรียและอิรัก" ลาซาร์ระบุในบทความ


20 มิ.ย. 2557 นักกิจกรรมรวมตัวต้านการตัดสินใจของรัฐบาลโอบามาในการทำสงครามกับอิรัก
ที่หน้าทำเนียบขาว วอชิงตันดีซี สหรัฐฯ

AttributionNoncommercialNo Derivative Works Some rights reserved by Stephen D. Melkisethian

"ปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐฯ นำมาซึ่งความโกลาหล"
ในบทความมีการอ้างถึงข้อความของนักวิชาการและนักกิจกรรมชื่อวิเจย์ ปราสาด ที่วิจารณ์การทิ้งระเบิดโดยกองทัพสหรัฐฯ ว่าการแทรกแซงทางการทหารของสหรัฐฯ ในประเทศอย่างลิเบียและอัฟกานิสถานนำมาซึ่งความโกลาหล

ลาซาร์ระบุว่านโยบาย "สงครามต่อต้านการก่อการร้าย" ของสหรัฐฯ ไม่ได้ส่งผลดี แต่กลับมีสถิติการก่อการร้ายเพิ่มมากขึ้นจากปี 2543 มีอยู่ราว 1,500 เหตุการณ์ เป็น 10,000 เหตุการณ์ในปี 2556 จากข้อมูลของสถาบันเพื่อเศรษฐกิจและสันติภาพ การก่อสงครามในอัฟกานิสถานก็ไม่ได้ทำให้ "ภารกิจสำเร็จลุล่วง" ดังที่รัฐบาลบารัค โอบามา กล่าวอ้าง แต่ประชาชนผู้ไม่ได้ร่วมสู้รบกลับเป็นฝ่ายสูญเสียจำนวนมาก ในขณะที่กลุ่มก่อการร้ายอย่างตอลีบันมีความเข้มแข็งมากขึ้น อีกทั้งฝ่ายผู้นำอัฟกานิสถานยังลงนามในรูปแบบที่ต้องพึ่งพาทางการทหารและทางการเมืองในระยะยาว

สมาคมสตรีเพื่อการปฏิวัติในอัฟกานิสถานเป็นหนึ่งในกลุ่มที่วิจารณ์การปฏิบัติการทหารของสหรัฐฯ โดยระบุว่า ทางการสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรสูญเสียเงินกว่าหมื่นล้านดอลลาร์ไปกับการทำให้ประเทศอัฟกานิสถานกลายเป็นศูนย์กลางของการสอดแนมและเต็มไปด้วยกลุ่มอาชญากรผู้มีอิทธิพล ทำให้ผู้คนอดอยาก ยากจน อยู่อย่างไม่ปลอดภัย ในขณะที่มีการแบ่งแยกทางเผ่าพันธุ์ ภาษา และนิกายศาสนา

นอกจากนี้การแทรกแซงอิรักด้วยการทหารยังเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้กลุ่มอัลกออิดะฮ์ในอิรักจัดตั้งจนกลายเป็นกลุ่มไอซิสได้ กลุ่มไอซิสยังไม่เกิดขึ้นในช่วงก่อนหน้าการบุกอิรักของกองทัพสหรัฐฯ แต่หลังจากนั้นพวกเขาสามารถรวมกลุ่มชาวนิกายซุนนีที่ได้รับผลกระทบจากความโหดร้ายของกลุ่มผู้นำนิกายชีอะฮ์ที่ขึ้นมามีอำนาจช่วงหลังจากการแทรกแซงของกองทัพสหรัฐฯ

ในซีเรียซึ่งเกิดการต่อต้านประธานาธิบดีบาชาร์ อัลอัสซาด ก็มีกลุ่มนักรบที่ได้รับการสนับสนุนจากซาอุดิอาระเบีย ที่นักข่าวอย่างแพทริค คอร์กเบิร์น ระบุว่าเป็นกลุ่มที่มีอุดมการณ์ใกล้เคียงกับอัลกออิดะฮ์แต่ก็แสร้งทำเป็นกลุ่มแนวกลางๆ กลุ่มติดอาวุธกลุ่มนี้ทำให้ไอซิสมีอำนาจแล้วบุกเข้าไปในอิรักหลังจากที่เคยถูกขับไล่ออกมาในปี 2550

ทางสหประชาชาติเคยเตือนว่าวิกฤติในซีเรียและอิรักจะทำให้เกิดปัญหาวิกฤตการณ์ใหม่ๆ ตามมา ทั้งจากคนพลัดถิ่นจากทั้งสองประเทศที่มีอยู่อย่างน้อย 13.6 ล้านคน และมีพลเรือนผู้เสียชีวิตอีกหลายหมื่นนับตั้งแต่เกิดวิกฤติซีเรียรวมถึงประชากรที่เป็นเด็กมากกว่า 3,500 คน จากตัวเลขเมื่อปีที่แล้ว

ลาซาร์แสดงความเป็นห่วงจากที่ผู้นำสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์ว่าการจัดการกับกลุ่มไอซิสต้องใช้เวลา และจากการที่สหรัฐฯ และอังกฤษส่งทหาร 1,000 นายเข้าไปช่วยฝึกกลุ่มนักรบในซีเรียที่ถูกมองว่าเป็นกลุ่มสายกลาง อีกทั้งยังมีการส่งกองกำลังทหาร 3,000 นายเข้าไปในอิรักซึ่งเป็นไปได้ว่าจะมีการส่งเข้าไปเพิ่มมากกว่านี้ ในขณะเดียวกันเหตุการณ์ที่ผู้ก่อการร้ายโจมตีสำนักงานนิตยสาร 'ชาร์ลี เอบโด' ก็ทำให้เกิดกระแสความเกลียดชังอย่างไม่มีเหตุผลต่ออิสลามเพิ่มขึ้น ทำให้มีกระแสเรียกร้องสงครามทั้งในประเทศและนอกประเทศ

เมื่อการใช้กำลังทหารไม่ทำให้เกิดสันติภาพจริงๆ ได้
ในขณะที่สหรัฐฯ มองว่าไอซิสเป็นภัยต่อประชาชนในประเทศตน แต่ผู้คนในตะวันออกกลางล้วนตกเป็นเหยื่อของไอซิสเช่นกันทั้งชาวมุสลิม ชาวคริสต์ ชาวอาหรับ ชาวเคิร์ด และชาวยาดิซ ผู้หญิงที่พื้นที่ๆ ถูกยึดครองโดยไอซิสก็กลายเป็นเหยื่อจากที่องค์กรเพื่อเสรีภาพสตรีในอิรักระบุในแถลงการณ์ว่ากลุ่มไอซิสนำวิธีการแบบชนเผ่าในยุคสมัยก่อนมาใช้ที่จะเอาตัวผู้หญิงเป็น "ของที่ปล้นได้จากสงคราม" ส่วนกลุ่มกบฏชาวเคิร์ดที่สู้รบกับไอซิสกลับไม่มีการยอมรับให้เข้าร่วมประชุมด้วยกับตัวแทนจากนานาชาติ 21 ประเทศในที่ประชุมหารือต่อต้านไอซิส

ลาซาร์ระบุอีกว่าแม้กองทัพสหรัฐฯ จะมีแสนยานุภาพมากที่สุดในโลกในแง่การใช้กำลังแต่ก็ไม่แน่ว่าจะประสบความสำเร็จเสมอไปถ้าหากละเลยความซับซ้อนของการเมืองในพื้นที่เช่นที่เคยผิดพลาดมาแล้วในกรณีสงครามเวียดนาม สงครามอิรัก และสงครามอัฟกานิสถาน

ไม่เพียงกลุ่มไอซิสเท่านั้น กลุ่มติดอาวุธที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ กลุ่มอื่นที่อ้างว่าเป็น "กลุ่มสายกลาง" ในซีเรีย รวมถึงกลุ่มติดอาวุธในอิรักและกองทัพอิรักก็ก่ออาชญากรรมสงครามที่โหดร้ายเช่นกัน เช่นจากรายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์เมื่อเดือน ก.ค. 2557 ระบุว่ารัฐบาลอิรักสั่งทิ้งระเบิดในย่านที่มีประชาชนอาศัยอยู่จำนวนมาก ในเดือน ต.ค. 2557 องค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล เปิดเผยรายงานว่ากลุ่มติดอาวุธนิกายชีอะฮ์ซึ่งส่วนมากได้รับการสนับสนุนจากทางการอิรักก่ออาชญากรรมเลวร้ายทั้งการลักพาตัว สังหาร และอุ้มหายพลเรือนนิกายซุนนี ทำให้มีการวิเคราะห์ว่าสภาพการณ์ในอิรักกำลังเกิดสงครามระหว่างนิกาย

การแทรกแซงทงการทหารโดยสหรัฐฯ จะยิ่งทำให้อาชญากรรมสงครามที่ก่อโดยกลุ่มต่างๆ เหล่านี้เลวร้ายลงกว่าเดิม ทั้งการทารุณกรรม การใช้อาวุธเคมี การทิ้งระเบิดพลเรือน รวมถึงการจับผู้หญิงเป็นทาสโดยกลุ่มไอซิส นอกจากนี้ลาซาร์ยังวิเคราะห์ท่าทีของสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรว่าแม้การปฏิบัติการของพวกเขาจะทำให้เกิดกลุ่มไอซิสไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม แต่พวกเขาก็ดูเหมือนจะไม่สนใจนัก และยังคงเดินหน้าสนับสนุนกลุ่มกบฏที่อ้างตัวว่าเป็นสายกลางอื่นๆ แต่ก็รั้งรอที่จะให้ความช่วยเหลือกองกำลังชาวเคิร์ด

ไม่มีใครรู้ว่าการต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้ายจะกินเวลาเท่าใด แบบไหนถึงจะเรียกว่า "ชนะ" และจะต้องมีผู้ที่ไม่ได้ร่วมรบอีกกี่คนต้องสูญเสียเพราะสงคราม ในเมื่อช่วงเดือน ธ.ค. 2557 ปฏิบัติการทิ้งระเบิดของสหรัฐฯ เพื่อถล่มคุกของไอซิสส่งผลให้มีพลเรือนเสียชีวิตอย่างน้อย 50 คน แต่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ก็ไม่ยอมรับว่ามีพลเรือนเสียชีวิตด้วย เพียงแค่บอกว่า "มีหลายคนที่เสียชีวิต" ในช่วงปฏิบัติการ

ทางเลือกอื่นนอกจากสงครามโดยสหรัฐฯ
เกิดคำถามว่ามีทางเลือกอื่นหรือไม่นอกเหนือจากการใช้กำลัง ราอิด จาร์ราร์ จากคณะกรรมาธิการบริการกลุ่มเพื่อนอเมริกัน (American Friends Service Committee) ซึ่งเป็นองค์กรด้านสันติภาพกล่าวว่า ขั้นตอนแรกที่ต้องทำคือการยับยั้งไม่ให้สหรัฐฯ สร้างความเสียหายไปมากกว่านี้ เพราะคงไม่มีใครอยากเข้าร่วมเจรจาด้วยกับคนที่ทิ้งระเบิดใส่บ้านเรือนพวกเขา

แต่ไม่เพียงแค่หยุดการทิ้งระเบิดและหยุดส่งทหารไปปฏิบัติการเท่านั้น ลาซาร์ระบุว่ากองทัพสหรัฐฯ ต้องถอนทัพและหยุดให้การสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธที่สู้รบในนาม "สงครามต่อต้านการก่อการร้าย" ที่ล้มเหลวของพวกเขา รวมถึงให้พันธมิตรของพวกเขาอย่างซาอุฯ และตุรกี ที่ให้การสนับสนุนไอซิสทั้งทางตรงและทางอ้อมหยุดการกระทำของพวกเขาด้วย

มีบทความในจาโคบิน (Jacobin) นิตยสารหัวเอียงซ้ายสัญชาติอเมริกัน ระบุว่ารัฐบาลตะวันตกควรเริ่มจากการหารือกับตุรกีก่อนโดยให้ตุรกียกเลิกการทำสงครามตัวแทนรวมถึงยกเลิกการปราบปรามผู้ประท้วงทางการเมือง นอกจากนี้ทางตะวันตกเองก็ควรนำกองกำลังของตนที่ประจำการอยู่ในตุรกีออก และให้มีการคว่ำบาตรถ้าหากตุรกียังคงสนับสนุนกลุ่มไอซิส

ทางด้านฟิลลิส เบนนิส ผู้ช่วยวิจัยอาวุโสจากสถาบันเพื่อการศึกษานโยบายกล่าวว่า สหรัฐฯ ควรกดดันพันธมิตรอื่นๆ นอกจากตุรกีด้วย เบนนิสเสนอว่าสหรัฐฯ ควรกดดันให้ซาอุฯ เลิกติดอาวุธและให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ไอซิสหรือกลุ่มหัวรุนแรงอื่นๆ อีกทั้งยังต้องห้ามกาตาร์ ซาอุฯ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ไม่ให้การสนับสนุนนักรบกลุ่มใดก็ตามที่อ้างว่าต่อสู้กับผู้นำอัสซาดในซีเรีย

ลาซาร์ระบุว่า นอกจากนี้ภายในสหรัฐฯ เองก็ควรจะมีการเรียกร้องเพื่อไม่ให้มีการอนุญาตให้ใช้กำลังทหารแทรกแซงผ่านการลงมติในสภาสหรัฐฯ เอง

สร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันระหว่างประชาสังคมสหรัฐฯ-ตะวันออกกลาง
ปัจจัยที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือกลุ่มประชาสังคมในอิรักและซีเรียในระดับรากหญ้าที่เล่าถึงสิ่งที่ตรงกันข้ามกับสื่อตะวันตกจำนวนมากที่เน้นภาพของเหยื่อและความสูญเสีย แต่สำหรับประชาชนเหล่านี้แล้วประเทศของพวกเขาไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่สู้รบ มันยังเป็นพื้นที่ของการต่อต้านขัดขืนและพื้นที่เชิงมนุษยธรรม

ลาซาร์ระบุว่าในอิรักมีกลุ่มขบวนการเคลื่อนไหวแบบไม่ใช้ความรุนแรงเพื่อต่อต้านการกดขี่และเหยียดชาวซุนนีโดยรัฐบาลอิรัก แต่กองทัพอิรักก็ใช้กำลังปราบปรามการชุมนุมของพวกเขา เช่นกรณีสังหารหมู่ เม.ย. 2556 ทำให้มีคนอย่างน้อย 50 คนเสียชีวิตและอีกมากกว่า 100 คนได้รับบาดเจ็บ

แต่แม้ว่าจะมีเหตุรุนแรง กลุ่มประชาสังคมในอิรักก็ยังคงอยู่และจัดประชุมในเดือน ก.ย. 2556 ในชื่อว่า "ประเทศอิรักใหม่จะเป็นไปได้ถ้ามีสันติ สิทธิมนุษยชน และความเป็นธรรมในสังคม"

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มประชาสังคมอื่นๆ เช่น กลุ่มสนับสนุนสิทธิสตรีที่มีการช่วยเหลือแก่ผู้หญิงและครอบครัวของเธอในกรณีฉุกเฉินที่หนีจากภัยของไอซิส ในขณะเดียวกันก็ช่วยเรียกร้องให้สหรัฐฯ ถอนทัพ หยุดยั้งการกดขี่ของรัฐบาลอิรัก และชดเชยให้กับผู้สูญเสียในสงครามที่สหรัฐฯ ก่อขึ้น

ในอิรักยังมีกลุ่มสหพันธ์สภาแรงงานและสหภาพแรงงานในอิรักที่คอยจัดตั้งคนงานต่อต้านกฎหมายกดขี่แรงงานที่มีมาตั้งแต่สมัยซัดดัม ฮุสเซน อดีตผู้นำอิรัก นอกจากนี้ยังมีการต่อสู้กับอุตสาหกรรมของรัฐที่กำลังจะแปรรูปเป็นรัฐวิสาหกิจและเลิกจ้างพนักงานทำให้พนักงานหลายแสนคนต้องตกงาน การพยายามแปรรูปนี้มาจากมาตรการรัดเข็มขัดที่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟ กลุ่มแรงงานต่อสู้ด้วยการเดินขบวน ปักหลักประท้วง สัมมนา และส่งเสริมให้ภาคส่วนอื่นๆ เข้าร่วม

ลาซาร์ระบุว่ากลุ่มประชาสังคมบางส่วนในอิรักเริ่มขยายความร่วมมือกับกลุ่มประชาสังคมในสหรัฐฯ รวมถึงสมาพันธ์ผู้ต่อต้านสงคราม ศูนย์เพื่อสิทธิรัฐธรรมนูญ กลุ่มทหารผ่านศึกอิรักต่อต้านสงคราม พวกเขารวมตัวกันภายใต้ชื่อว่ากลุ่มปฏิบัติการไรท์ทูฮีล (Right to Heal Initiative) ที่เรียกร้องให้มีการชดเชยแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของสหรัฐฯ ต่ออิรักตั้งแต่ปี 2534

โมห์ยา คาห์ฟ นักเขียนและกวีที่เกิดในกรุงดามาสกัสกล่าวว่ายังคงมีกลุ่มประชาสังคมที่ต่อสู้ด้วยวิธีการไม่ใช้ความรุนแรงอยู่ในซีเรียและพวกเขามีความสำคัญ ซึ่งกลุ่มเพื่อสันติในสหรัฐฯ ควรร่วมมือกับกลุ่มประชาสังคมเหล่านี้ไม่เพียงแค่ตอนที่ใกล้จะเกิดการใช้ความรุนแรงหรือแค่ตอนที่ต้องการต่อต้านการแทรกแซงโดยการทหารจากสหรัฐฯ เท่านั้น

ลาซาร์ระบุว่าฝ่ายซ้ายในสหรัฐฯ ต้องวิพากษ์วิจารณ์ทางการในระดับนโยบายที่ทำต่อตะวันออกกลางและกดดันให้มีการเปลี่ยนแปลงในระยะยาวให้ได้ พวกเขาต้องเร่งห้ามไม่ให้สหรัฐฯ ทำสงครามครั้งใหม่ที่จะทำให้เกิดความล้มเหลวและเกิดปัญหาความรุนแรงใหม่ๆ ก่อนที่จะเรียกร้องเรื่องการชดเชยซึ่งต้องเรียกร้องหลังจากนั้น

ขั้นตอนการเคลื่อนไหวระดับประชาชน
ลาซาร์ระบุถึงขั้นตอนต่างๆ ในการช่วยแก้ปัญหาซึ่งพลเมืองทั่วไปสามารถร่วมด้วยช่วยกันได้ ตั้งแต่การสนับสนุนโดยตรงเช่นการบริจาค หรือยื่นมือช่วยเหลือกลุ่มประชาสังคมระดับรากหญ้าในซีเรียและอิรัก รวมถึงการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากสงคราม

ขั้นตอนต่อมาคือการเรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับภาคประชาสังคมในประเทศแถบตะวันออกกลางจากสื่อต่างๆ ทั้งในประเด็นด้านสิทธิสตรี แรงงาน และสิ่งแวดล้อม รวมถึงไม่คิดอะไรแบบเหมารวม เช่นไม่มองว่าผู้ต่อต้านรัฐบาลเผด็จการในซีเรียเป็นพวกที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ไปเสียทุกกลุ่ม รวมถึงไม่คิดว่าเป็นฝ่ายต่อต้านไอซิสไปหมดทุกกลุ่มด้วย

"มันเป็นเรื่องเชิงเหยียดเชื้อชาติที่จะคิดว่าชาวซีเรียไม่มีกลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาลเผด็จการเว้นแต่มีพวกคนผิวขาวฉลาดๆ คอยกระซิบบอก ...ชาวซีเรียมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ทั้ง 2 แง่อยู่ในใจในเวลาเดียวกัน คือความคิดวิพากษ์วิจารณ์ลัทธิจักรวรรดินิยมของสหรัฐฯ และความคิดวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลที่โหดเหี้ยมของซีเรียเอง" คาห์ฟกล่าว

ลาซาร์ระบุอีกว่าน่าจะมีการเรียนรู้จากขบวนการเคลื่อนไหวที่ทรงพลังซึ่งเคยเกิดขึ้นในภาคประชาสังคมสหรัฐฯ เช่นกลุ่มคนผิวดำ ในกรณีที่ตำรวจสังหารคนผิวดำอย่างไม่เป็นธรรมซึ่งเกิดเป็นการประท้วงทั่วประเทศ โดยสามารถโยงเรื่องความยุติธรรมด้านเชื้อชาติเป็นจุดร่วมกันของกลุ่มผู้เรียกร้องได้

ในฐานะบุคคลทั่วไปที่ไม่ได้เข้าร่วมขบวนการใดๆ ก็ทำได้โดยการพูดคุยกับครอบครัว เพื่อนฝูง คนรู้จักเกี่ยวกับเรื่องสงครามต่อไอซิสได้ในเชิงตั้งคำถามว่านโยบายตะวันออกกลางของสหรัฐฯ มีส่วนเกี่ยวข้องกับความเป็นธรรมทางสังคมของพวกเขาอย่างไร โดยในระยะยาวต้องคิดร่วมกันว่าจะทำให้สหรัฐฯ เลิกเน้นนโยบายในเชิงการทหารและการใช้กำลังได้อย่างไร

ลาซาร์ระบุว่าขั้นตอนต่อไปคือการร่วมกดดันรัฐบาล กดดัน ส.ส. ในสหรัฐฯ ไม่ให้คล้อยตามไปกับกลุ่มบ้าสงครามที่อยู่ในสภา โดยการแสดงพลังจากในระดับประชาชนทั่วไป รวมถึงคอยสอดส่องการทำงานของรัฐบาลว่ามีการลงมติทำสงครามกับไอซิสหรือไม่ หรือมีความพยายามทำลายความพยายามเชื่อมสัมพันธ์ทางการทูตกับอิหร่านหรือไม่

องค์กรเพื่อเสรีภาพสตรีในอิรักระบุไว้เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2557 ว่า "จากความช่วยเหลือของผู้รักเสรีภาพจากทั่วโลก ทำให้พวกเรายังคงอยู่รอดต่อไปได้ท่ามกลางการโจมตีสังคมของพวกเรา และพวกเราจะต้องประสบความสำเร้จในการเป็นต้นแบบของสังคมที่มีมนุษยธรรมและมีความเท่าเทียมกันในอนาคตได้"

"พวกเราเองก็ต้องประสบความสำเร็จไปพร้อมกับพวกเขาด้วย" ลาซาร์ระบุในบทความ

เรียบเรียงจาก

How to Get Serious About Ending the ISIS War, FPIF, 04-02-2015
http://fpif.org/get-serious-ending-isis-war/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท