Skip to main content
sharethis

หลังจากมีการยื่นคำฟ้องต่อนายกฯ และรมต.สธ. (ขณะออกกฎกระทรวง) เนื่องจากกฎกระทรวงว่าด้วยหนังสือแสดงเจตนาในการไม่รับการรักษาในวาระสุดท้ายของชีวิต ศาลพิจารณาตัดสินยกฟ้อง

18 มิ.ย. 2558 ศาลปกครองสูงสุดอ่านคำพิพากษา กรณีฟ้องร้องขอให้ยกเลิกกฎกระทรวงตามมาตรา12 แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ว่าด้วยหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อการยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากความเจ็บป่วย พ.ศ. 2553 ศาลวินิจฉัยแล้ว ตัดสินยกฟ้อง

กฎกระทรวงตามมาตรา 12 แห่งพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550  มีเนื้อหาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อการยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากความเจ็บป่วย พ.ศ.2553  หมายถึงบุคคลมีสิทธิที่จะทำหนังสือล่วงหน้าเพื่อแสดงเจตนาดังกล่าวได้ โดยมีหลักเกณฑ์และกระบวนการต่างๆ ที่แพทย์ที่ดูแลรักษาจะต้องปฏิบัติตาม

ด้านนพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ, พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา และ พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล ยื่นฟ้องโดยมีประเด็นที่สำคัญว่า กฎกระทรวงดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย และหากทำตามกฎกระทรวงนี้ จะถือเป็นการปล่อยให้ผู้ป่วยเสียชีวิตลง โดยงดเว้นไม่ให้การรักษา หรือการใช้ยาและเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์บางอย่างเพื่อยุติชีวิต ซึ่งถือว่าเป็นการละเลยจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525

โดยแพทย์ทั้งสามได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองในวันที่17 สิงหาคม 2554 ต่อนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขนายวิทยา บุรณศิริ

เวลา13.30 น. ศาลอ่านคำพิพากษาตัดสินยกฟ้อง โดยวินิจฉัยว่าการทำหนังสือแสดงเจตนาดังกล่าว เป็นสิทธิในชีวิตและร่างกายของบุคคล อ้างความจากมาตรา 32 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 โดยการทำหนังสือไว้ล่วงหน้า เป็นการประกาศแก่สาธารณชนว่าจะใช้สิทธิเช่นใด  และกฎกระทรวงดังกล่าวได้กำหนดองค์ประกอบของการแสดงสิทธิไว้ว่า

  1. หากมีผู้ทำหนังสือแสดงเจตนา หนังสือแสดงเจตนาต้องครบถ้วน
  2. ผู้ประกอบวิชาชีพสาธารณะสุขไม่มีอำนาจในการทำให้ผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาถึงแก่ความตายด้วยวิธีการใดๆ
  3. ผู้ทำหนังสือแสดงเจตนายังได้รับการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative care)
  4. ผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาต้องมีภาวะตามกฎกระทรวงกำหนดไว้
  5. ผู้กระกอบวิชาชีพเวชกรรมที่รับผิดชอบการรักษามีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยพยากรณ์โรคตามมาตรฐานทางการแพทย์
  6. ผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาดังกล่าวต้องการตายอย่างเป็นธรรมชาติ

จึงไม่เป็นการทอดทิ้งให้ผู้ป่วยเสียชีวิตลง โดยงดเว้นไม่ให้การรักษา หรือการใช้ยาและเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์บางอย่างเพื่อยุติชีวิต เนื่องจากผู้ประกอบวิชาชีพยังต้องมีหน้าที่ในการรักษาดูแลแบบประคับประคอง
ทั้งนี้ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้ออกกฎกระทรวงโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการงานด้านสุขภาพของประเทศ ซึ่งไม่ขัดกับพ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ที่มีวัตถุประสงค์หลักในการควบคุมดูแลและกำหนดมาตรฐานวิชาชีพเวชกรรม ที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้าง  จึงไม่เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ทั้งนี้ นายวิทยา บุรณศิริ ได้ส่งผู้รับมอบอำนาจมาฟังคำพิพากษาแทน  ในขณะที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่มาปรากฏตัวที่ศาล  เช่นเดียวกับแพทย์ผู้ยื่นคำฟ้องทั้งสาม

ด้านนิรชา อัศวธีรากุล รักษาการผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสิทธิและสร้างสังคมสุขภาวะ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) มีความเห็นต่อคำพิพากษาของศาลว่า เป็นการพิสูจน์ความศักดิ์สิทธิ์ของมาตรา 12 ที่ให้ประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพเหนือร่างกายของตนเอง  นิรชากล่าวถึงสมัยโบราณที่จะมีคำสั่งเสียก่อนตาย แต่ในปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์ทำให้เกิดการยื้อความตายเกิดขึ้น ทำให้ญาติผู้ป่วยที่อาจจะมีความรู้เรื่องการรักษาด้อยกว่าบุคลากรทางการแพทย์ยอมตาม และต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลต่อมา

นิรชา กล่าวด้วยว่า  สำนักส่งเสริมสิทธิและสร้างสังคมสุขภาวะกำลังมีแผนยุทธศาสตร์ที่จะให้ความรู้เรื่องการดูแลรักษาแบบประคับประคองให้เป็นระบบ ผ่านทางเว็บไซต์ http://www.thailivingwill.in.th/ และงานเสวนาวิชาการที่สช.จะจัดขึ้นต่อไป 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net