Skip to main content
sharethis

สรุปสถานการณ์เด่นในประเด็นการย้ายถิ่นข้ามชาติ ปี 2558 - วิกฤติผู้อพยพโยกย้าย, การค้ามนุษย์ แรงงานในภาคประมงทะเล นโยบายการจัดการแรงงานข้ามชาติ และการเข้าไม่ถึงการศึกษาของเด็กไม่มีสถานะทางกฎหมาย


(อ่านได้ที่ด้านล่าง)

8 ม.ค. 2559 เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group) จัดทำรายงานสถานการณ์แรงงานข้ามชาติในประเทศไทย พ.ศ. 2558 โดยตอนหนึ่งมีการสรุปสถานการณ์เด่นในประเด็นการย้ายถิ่นข้ามชาติ ได้แก่ วิกฤติผู้อพยพโยกย้าย, การค้ามนุษย์ แรงงานในภาคประมงทะเล นโยบายการจัดการแรงงานข้ามชาติ และการเข้าไม่ถึงการศึกษาของเด็กไม่มีสถานะทางกฎหมาย

 

สถานการณ์เด่นประเด็นการย้ายถิ่นข้ามชาติ 2558 : วิกฤติผู้อพยพย้ายถิ่น

สถานการณ์ที่ในช่วงรอบปีที่ผ่านมา ข่าวคราวด้านการย้ายถิ่นกลายเป็นประเด็นใหญ่ในระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นกรณีการอพยพทางทะเลของกลุ่มผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยาในแถบทะเลอันดามันที่กลายเป็นประเด็นสำคัญของไทย กลายเป็นวาระในระดับภูมิภาคและระดับโลก จนไปถึงกรณีผู้อพยพลี้ภัยจากซีเรียในแถบทะเลเมติเตอร์เรเนียนที่ทำให้กลุ่มประเทศยุโรปต้องมีมาตรการเร่งด่วน และหันมาทบทวนนโยบายการรับลี้ภัย ตลอดจนกลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างจริงจังในระดับโลก มีการประเมินกันว่าประเด็นการอพยพครั้งนี้ ถือว่าเป็นสถานการณ์ใหญ่หลังจากยุคสงครามเย็น อาจจะนำไปสู่ “ทศวรรษของวิกฤติผู้อพยพ” ที่ประชาคมโลกจะต้องหันมาพิจารณาในเร่องนี้กันอย่างจริงจังอีกครั้ง

ในขณะเดียวกันในปีที่ผ่านมาประเทศไทยก็มีสถานการณ์ด้านการอพยพย้ายถิ่นที่น่าสนใจจำนวนมาก โดยอาจจะสรุปสถานการณ์เด่น ๆ ได้ดังนี้ 

วิกฤติผู้อพยพโยกย้าย ข้อท้าทายประเทศไทย : หรือเรายังไปไม่ถูกทาง?
ในช่วงปี 2558 ที่ผ่านมากระแสผู้อพยพย้ายถิ่นจากประเทศพม่าและบังคลาเทศ รวมถึงผู้อพยพชาวโรฮิงญาเข้ามาในประเทศไทยเป็นจำนวนมากโดยอาศัยช่องทางของกลุ่มขบวนการขน-ค้ามนุษย์จากพื้นที่รัฐอาระกัน ประเทศเมียนมาร์ในการข้ามพรมแดน  ซึ่งปรากฎเป็นข่าวเมื่อเกิดอุบัติเหตุและการจับกุมการลักลอบขนผู้อพยพเข้าเมืองเมื่อต้นปี 2558 ทำให้เกิดการติดตามจับกุมและสกัดกั้นขบวนการค้ามนุษย์ จากข้อมูลในการตรวจสอบทำให้พบว่าระหว่างทางการเดินทางพบว่า มีผู้อพยพจำนวนไม่น้อยที่เสียชีวิตระหว่างการเดินทางโดยทางเรือ เนื่องจากสภาพความแออัดบนเรือ การขาดอาหารและน้ำอย่างต่อเนื่องหลายสิบวัน ประกอบกับการเผชิญกับพายุหรือภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือถูกกลุ่มขบวนการขน-ค้ามนุษย์ทำร้ายระหว่างการเดินทาง และเมื่อผู้อพยพขึ้นฝั่งแล้ว  ในระหว่างที่ถูกขนย้าย-ควบคุมตัวตามแคมป์ต่างๆ บริเวณชายแดนไทย-มาเลเซีย พบว่า จะมีการขู่บังคับเพื่อเรียกเอาเงิน(รีดไถ) ทั้งต่อตัวผู้อพยพเอง และการเรียกเงินจากจากครอบครัวที่ยังอาศัยอยู่ในประเทศต้นทาง หากกลุ่มขบวนการขน-ค้ามนุษย์ฯ ไม่ได้เงินตามที่ต้องการ ผู้อพยพก็จะถูกกักขัง ปล่อยให้ขาดอาหารและน้ำ หรือถูกทำร้ายร่างกาย ฯลฯ ซึ่งการขุดพบศพชาวโรฮิงญาในพื้นที่ตำบลปาดังเบซาร์ จังหวัดสงขลา ผลการชันสูตรศพระบุว่า สาเหตุการเสียชีวิตนั้นเกิดจากภาวะขาดอาหารและน้ำ บางกรณีอาจถูกทำร้ายร่างกายจนเสียชีวิต ฯลฯ อันนำไปสู่การขยายผลการสืบสวนสอบสวนเพื่อติดตามหาผู้ที่เกี่ยวข้องกับขบวนการขน-ค้ามนุษย์ฯ มาดำเนินคดีภายใต้ความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ ล่าสุด มีการออกหมายจับบุคคลที่เกี่ยวข้องมากกว่า 60 ราย ซึ่งมีทั้งนักการเมืองท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่ข้าราชการทหารระดับสูงในพื้นที่

ความเข้มงวดในการจับกุมขบวนการขน-ค้ามนุษย์ฯ ในลักษณะข้างต้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา ส่งผลให้เรือที่ใช้บรรทุกผู้อพยพ รวมถึงผู้อพยพชาวโรฮิงญาที่ยังเดินทางบนท้องทะเลไม่สามารถเข้ามายังชายฝั่งในประเทศไทยและประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ การเคว้งคว้างในทะเลเป็นเวลานานส่งผลให้สถานการณ์ของผู้อพยพในเรือเหล่านั้นอยู่ในขั้นวิกฤติเนื่องจากเกิดภาวะขาดแคลนน้ำและอาหาร ตลอดจนยารักษาโรค สถานการณ์เช่นนี้ ด้านหนึ่งส่งผลให้เกิดกระแสเรียกร้องและกดดันให้ประเทศไทย ประเทศมาเลเซียและประเทศอินโดนีเซียดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้อพยพ หากเรือที่ขนผู้อพยพได้เข้ามาถึงน่านน้ำของตนหรือแม้แต่ในเขตน่านน้ำสากลและเพื่อนำไปสู่การกำหนดมาตรการในการจัดการกับปรากฎการณ์ดังกล่าว รัฐบาลไทยจึงได้จัดให้มีการประชุมว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย ในวันที่ 29 พฤษภาคม 2558 ที่กรุงเทพมหานคร อย่างไรก็ตามรัฐบาลไทยก็ทำได้เพียงส่งเรือออกไปให้ความช่วยเหลือและสกัดกั้นไม่ให้เดินทางเข้าฝั่งประเทศไทย ผิดกับประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียที่มีมาตรการในการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือและคัดกรองผู้อพยพ

ในอีกด้านหนึ่งรัฐบาลได้ดำเนินมาตรการในการส่งกลับผู้อพยพชาวอุยกูร์จำนวน 90 คนกลับประเทศจีน ซึ่งประชาคมโลก และหนวยงานด้านสิทธิมนุษยชนต่างตระหนกและมีความกังวลใจต่อสถานการณ์ดังกล่าวทั้งนี้เนื่องจากเป็นที่รู้กันว่าสถานการณ์ระหว่างชายอุยกูร์กับรัฐบาลจีนเป็นปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรง ซึ่งการดำเนินการของไทยดังกล่าวเรียกได้ว่าขัดหลักการไม่ผลักดันส่งกลับผู้อพยพไปสู่อันตรายต่อชีวิต ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้การการประท้วงอย่างรุนแรงที่สถานทูตไทยในตุรกี ล่าสุดรัฐบาลไทยได้ดำเนินการส่งผู้ลี้ภัยนักกิจกรรมจีนซึ่งขึ้นทะเบียนผู้ลี้ภัยกับ UNHCR ให้กับทางการจีน ซึ่งได้รับการคัดค้านและตำหนิจากประชาคมโลก

ดังนั้นหากประเมินการดำเนินการจัดการกับกระแสวิกฤติผู้อพยพที่อาจจะเกิดขึ้นของไทยจากการดำเนินการที่ผ่านมาแล้วจะพบว่าประเทศไทยไม่มีมาตรการที่ชัดเจนในการจัดการในเรื่องนี้เลย ยังมีผู้อพยพยอีกจำนวนไม่น้อยที่ต้องตกอยู่ในฐานะผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายและถูกกักอยู่ในห้องกักนานนับปี  และยังเสี่งต่อการที่รัฐบาลไทยจะละเมิดหลักปฏิบัติสากลว่าด้วยหลักการไม่ผลักดันส่งกลับไปสู่อันตรายได้ค่อยข้างง่าย

การค้ามนุษย์ แรงงานในภาคประมงทะเล : บททดสอบใหญ่ของประเทศไทย
ในช่วงปี 2558 ประเทศไทยค่อนข้างจะเจอกับภาวะถูกจับตามองจากประเทศคู่ค้าละประชาคมโลกในเรื่องการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ และการดำเนินการกรณีประมงที่ผิดกฎหมาย โดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ออกรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี 2558 และประกาศในรายงานให้ประเทศไทย อยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 3 คือ "กลุ่มประเทศที่ดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำของกฎหมายสหรัฐอเมริกาและไม่มีความพยายามแก้ไขปัญหา" ซึ่งรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเห็นว่า ประเทศไทยเป็นทั้งประเทศปลายทางและประเทศทางผ่านสำหรับแรงงานย้ายถิ่น บางส่วนได้ถูกแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ มีการบังคับใช้แรงงานในกิจการประมง หรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการประมง ในโรงงาน และลูกจ้างทำงานบ้าน นอกจากนี้ยังพบว่ามีผู้เสียหายบางส่วนถูกผลักดันกลับโดยมิได้มีกระบวนการคัดแยกเหยื่อตามขั้นตอนที่เหมาะสม ปราศจากหลักประกันความปลอดภัย บางรายถูกบังคับให้เป็นขอทานบนท้องถนน หรือเข้าสู่ธุรกิจการค้าประเวณี รวมทั้งสหภาพยุโรปก็ได้มีมาตรการตักเตือน หรือให้ใบเหลืองกับประเทศไทยในกรณีการแก้ไขปัญหาการทำประมงแบบผิดกฎหมายและไร้การควบคุม ( Illegal, Unreported and Unregulated - IUU) ซึ่งทำให้ประเทศไทยเร่งมีมาตรการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และการใช้แรงงานข้ามชาติในภาคประมงทะเล ควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาการทำประมงทะเลที่ผิดกฎหมาย

สิ่งที่ปรากฎได้ชัดในการจัดการต่อประเด็นแรงงานในภาคประมงทะเล และการค้ามนุษย์ รัฐบาลได้จัดตั้งคณะกรรมการและคณะทำงานขึ้นมาดำเนินการแก้ไขจำนวนหนึ่ง ควบคู่ไปกับการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง  เช่น การออกกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. 2557 การออกพรบ.แรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 และการออกพรบ.การประมงทะเล พ.ศ. 2558 รวมถึงจัดตั้งแนวปฏิบัติในระดับพื้นที่กันอย่างจริงจัง แต่หลังจากมีการออกกฎหมายออกมาก็พบว่ายัมีปัญหาในแง่การปฏิบัติอยู่พอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจดทะเบียนเรือที่ทำให้ผู้ประกอบการจำนวนเมืองได้รับผลกระทบและกลายเป็นประเด็นคัดค้านตามมา ในขณะที่กฎหมายที่คุ้มครองแรงงานในภาคประมงทะเลที่ออกมาตั้งแต่ปลายปี 2557 ก็ยังพบว่าไม่สามารถบังคับใช้ได้จริง เช่น แรงงานภาคประมงทะเลก็ยังไม่ได้มีการทำสัญญาจ้างกับนายจ้าง อีกทั้งยังไม่ปรากฏข้อมูลของการนำผู้ที่เกี่ยวข้องหรือนายจ้างที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์แรงงานประมงมาดำเนินคดีได้สำเร็จ อีกด้านหนึ่งพบว่าการแก้ไขปัญหากรณีลูกเรือไทยและข้ามชาติที่ถูกหลอกให้ไปทำงานในเรือประมงและถูกนายจ้างควบคุมตัวอยู่ในพื้นที่ประเทศอินโดนีเซียที่เคยเป็นข่าวในปี 2558 ก็ยังพบว่ามีแรงงานจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ได้รับการดำเนินการช่วยเหลือ และยังติดอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย และการดำเนินการแก้ไขปัญหานี้ร่วมกันระหว่างประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้านซึ่งเป็นประเทศต้นทางของแรงงานข้ามชาติก็ยังไม่ปรากฎชัดเจนมากนัก

จึงเป็นที่น่ากังวลใจว่า การพยายามทุ่มเท่ทรัพยากรจำนวนมากเพื่อแก้ไขปัญหาในกิจการประมงทะเลในช่วงปี 2558 ที่ผ่านมา จะเป็นทิศทางที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติและการค้ามนุษย์ในกิจการประมงทะเลได้แค่ไหน คุ้มกับทรัพยากรที่ระดมทุ่มเทลงไปเพื่อให้ผ่านพ้นการถูกจับตามองทั้งในเรื่องค้ามนุษย์ และเรื่องการแก้ปัญหาประมงที่ผิดกฎหมายหรือไม่? 


เด็กข้ามชาติ ความเสี่ยงต่อการถูกจับกุมส่งกลับ : ความไม่ชัดเจนในการจัดการคนข้ามชาติ
สืบเนื่องจากนโยบายการจัดการแรงงานข้ามชาติผ่านการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติในปี 2557 ที่ผ่านมา ซึ่งจะมีระยะเวลาการผ่อนผันให้แรงงานข้ามชาติทำงานในประเทศไทยและดำเนินการพิสูจน์สัญชาติกับประเทศต้นทางได้ถึง 31 มีนาคม 2558 เพื่อให้เกิดการดำเนินการอย่างต่อเนื่องรัฐบาลจึงได้มีนโยบายการจัดการแรงงานข้ามชาติโดยมี มติครม. 3 มีนาคม 2558 เรื่องการจัดการแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา  ให้มีการจัดการแรงงานข้ามชาติเคยขึ้นทะเบียนเมื่อปี 2557 และกำลังจะหมดระยะเวลาการผ่อนผัน ทั้งแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตามให้มาขอต่อบัตรประจำตัวใหม่
ซึ่งในการขึ้นทะเบียนเมื่อปี 2557 มีลูกของแรงงานข้ามชาติ (อายุ 0-15 ปี)ไปดำเนินการขึ้นทะเบียนพร้อมพ่อแม่ มีจำนวนรวม 92,560 คน เป็นผู้ติดตามสัญชาติพม่า 40,801 คน กัมพูชา 42,609 คน ลาว 9,150 คน  ทำให้มีการคาดการณ์ว่าเด็กจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงการจดทะเบียน และพบว่าสาเหตุที่เด็กจำนวนมากไม่ไปจดทะเบียนเนื่องจากความไม่เข้าใจในรายละเอียดการจดทะเบียนของพ่อแม่ รวมทั้งนายจ้างจำนวนมากไม่นำเด็กไปจดทะเบียนพร้อมพ่อแม่ แต่หลังจากการต่อบัตรประจำตัวตามนโยบายใหม่ ก็พบว่ามีเด็กผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติมาต่อบัตรเพียง 38,933 คน ไม่ได้มาต่อบัตรมากถึง 53,628 คน หรือคิดเป็น 58% นอกจากนั้นแล้วยังพบว่ามีผู้ติดตามที่ไม่ได้จดทะเบียนผู้ติดตามที่ OSS พร้อมกับพ่อแม่ หรือเกิดในประเทศไทยมีเอกสารรับรองการเกิดเลยไม่ได้ไปจดทะเบียนผู้ติดตาม บางส่วนไม่ได้ไปแจ้งเกิดทำให้ไม่มีเอกสารแสดงตน และมีความเสี่ยงที่จะถูกจับกุมส่งกลับหลังจาก 30 มิถุนายน 2558 เช่นกัน

ซึ่งในระหว่างการดำเนินการต่อบัตร ก็มีการดำเนินการเข้าไปจับกุมกวาดล้างแรงงานข้ามชาติในพื้นที่พื้นที่ตำบลรังสิต อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี และได้ผลักดันส่งกลับทางด่านชายแดนแม่สอดในกรณีคนข้ามชาติจากพม่า และชายแดนจังหวัดสระแก้วในกรณีคนข้ามชาติชาวกัมพูชา โดยมีกลุ่มชาวพม่า รวมทั้งหมด 116 คน ผู้ใหญ่ 57 คน (ช.18, ญ. 39) แยกเป็นผู้ บัตรประจำตัวแรงงานต่างด้าว 4 คน พาสปอร์ตหาย 1 คน ไม่มีเอกสารมาแสดง 1 คน ที่เหลือมีหนังสือเดินทาง เด็ก 59 คน (ช 23, ญ. 36 คน) มีใบเกิดมาแสดง 49 คน (ช.18 ญ.31) ไม่มีใบเกิดมาแสดง 10 คน (ช.5, ญ 5)  ส่วนกรณีชาวกัมพูชาได้รับรายงานว่ามี 5 ครอบครัวที่ถูกส่งออกไปทางด่านชายแดน จ.สระแก้ว

การขาดมาตรการเรื่องการพัฒนาสถานะเด็กข้ามชาติ ความไม่ชัดเจนเรื่องเอกสารแสดงตนของเด็ก และจำนวนเด็กข้ามชาติที่หายไปจากระบบการขึ้นทะเบียน ประกอบกับมาตรการการจับกุมเด็กข้ามชาติที่มีมากขึ้น ทำให้เกิดความกังวลในเรื่องความปลอดภัยของเด็ก การคุ้มครองเด็กตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และความเสี่ยงตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ของเด็กข้ามชาติ ขณะเดียวกันก็มีความกังวลใจถึงผลกระทบที่จะเกิดต่อการจัดแรงงานข้ามชาติและการค้ามนุษย์ที่กำลังดำเนินการของรัฐบาลปัจจุบัน


การเข้าถึงการศึกษาของเด็กไม่มีสถานะทางกฎหมายกับปัญหาเงินอุดหนุนรายหัวโรงเรียนเอกชนสงเคราะห์ : แนวนโยบายที่ยังกีดกันเด็กไม่มีเอกสารประจำตัว
ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีนโยบายที่จะทำให้คนทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้ รวมทั้งมีนโยบายที่จะเอื้อให้เด็กทุกคนแม้จะไม่เอกสารประจำตัวสามารถเข้าเรียนในโรงเรียนได้ตั้งแต่ปี 2549 ที่ผ่านมาโรงเรียนเอกชนมีการเปิดรับเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทยเข้าเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนเอกชนสงเคราะห์ ซึ่งในปัจจุบันพบว่ายังมีปัญหาในเรื่องการจัดขอรับงบประมาณค่าใช้จ่ายรายหัวในกรณีนักเรียนที่ไม่มีเอกสารประจำตัว หรือไม่มีเลขสิบสามหลัก โดยเฉพาะกลุ่มไม่มีเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก ไม่มีสิทธิรับเงินอุดหนุน เช่น นักเรียนที่ไม่มีเลขประจำตัวประชาชน เนื่องจากบุคคลต่างด้าวไร้สัญชาติ ถามไม่ชัดเจนของมาตราการในเรื่องเงินอุดหนุนรายหัวของเด็กนักเรียนที่ไม่มีเอกสารแสดงตัวที่ผ่านมา ทำให้โรงเรียนเอกชนสงเคราะห์ปฏิเสธที่จะรับเด็กที่ไม่มีเอกสารแสดงตนเข้าเรียน

ในปี พ.ศ. 2558 กระทรวงศึกษาธิการออกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยมาตรการการช่วยเหลือนักเรียนในโรงเรียนเอกชนเป็นเงินอุดหนุนรายหัว พ.ศ. 2558 โดยได้มีการกำหนดนักเรียนที่จะนำมานับเพื่อขอรับเงินอุดหนุนรายหัว ต้องมีคุณสมบัติ โดยใน ข้อ ค. ระบุไว้ว่า  “เป็นนักเรียนที่มีเลขประจำตัวประชาชนที่ออกโดยกระทรวงมหาดไทย” ซึ่งสร้างความกังวลใจว่าระเบียบดังกล่าวจะทำให้เด็กนักเรียนที่มีมีเอกสารแสดงตนหรือไม่มีเลขประจำตัวประชาชนที่ออกให้โดยกระทรวงมหาดไทย จะไม่ถูกนับการขอรับเงินอุดหนุนรายหัว ซึ่งมีผลทำให้เกิดปัญหาโรงเรียนเอกชนสงเคราะห์ปฏิเสธที่จะรับเด็กต่างด้าวเข้าเรียน มีผลกระทบต่อการเข้าถึงการศึกษาของเด็กนักเรียนที่ไม่มีเลขประจำตัวสิบสามหลักโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มนักเรียนโรงเรียนเอกชนสงเคราะห์ที่ส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ซึ่งเคยเกิดปัญหาลักษณะดังกล่าวแล้วในช่วงที่ผ่านมาในการขอรับเงินอุดหนุนของโรงเรียนเอกชนสงเคราะห์ 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net