Skip to main content
sharethis

29 มี.ค. 2559 จากกรณีที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ได้ร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อให้พิจารณาเรียกค่าเสียหายจากการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อวันที่ 2 ก.พ.2557 จำนวนกว่า 2,037 ล้านบาท จาก คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และ กปปส. อีกทั้งเรียกเงินงบประมาณที่คงเหลือจากการไม่ได้ใช้ไปในการเลือกตั้ง ส.ส. คืนจาก กกต.จำนวนกว่า 1,126 ล้านบาทโดยเร็ว (อ่านรายละเอียด) นั้น

ล่าสุดวันนี้ (29 มี.ค.59) มติชนออนไลน์ รายงานว่า นายธนิศร์ ศรีประเทศ ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงาน กกต. แถลงข่าวชี้แจงกรณีดังกล่าวว่า ยอมรับว่ามีเงินเหลือจริง แต่ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง มาตรา 39 และมาตรา 40 กำหนดชัดเจนว่างบประมาณที่เหลือจ่ายจากการเลือกตั้ง กกต.สามารถเก็บไว้เป็นเงินสะสมได้โดยไม่ต้องส่งคืนคลัง โดยเงินดังกล่าวจะถูกนำไปใช้ในกรณีที่มีเหตุจำเป็น ซึ่ง กกต.จะต้องสามารถชี้แจงได้ ทั้งนี้ กกต.ก็ได้ประสานกับสำนักงบประมาณอยู่เป็นประจำอยู่แล้ว ในเรื่องการใช้จ่ายงบเหลือจ่าย และเงินเหลือเงินขาด

ระบุงบเหลือจากการจัดประชามติ ก็ไม่ต้องส่งคืนคลังเช่นกัน

โดยเดลินิวส์ รายงานเพิ่มเติมด้วยว่า นายธนิศร์ กล่าวว่า ในส่วนที่จะมีการออกเสียงประชามติในขณะนี้ กกต.ได้ส่งเอกสารการของบประมาณให้สำนักงบประมาณแล้ว เมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยมีวงเงินค่าใช้จ่าย 2,991 ล้านบาทเศษ แยกเป็นค่าใช้จ่ายในส่วนของสำนักงาน กกต. 2,575 ล้านบาท ซึ่งจะใช้ในเรื่องของการจัดพิมพ์และส่งร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการจัดการออกเสียงประชามติ ค่าตอบแทนกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง 97,000 หน่วย และการจัดซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ นอกจากนั้นเป็นของหน่วยงานสนับสนุน 11 หน่วยงาน ประมาณ 416 ล้านบาท ซึ่งหลังการออกเสียงหากมีงบประมาณเหลือจ่าย กกต.ก็ไม่ต้องส่งคืนคลังเช่นกัน

นายธนิศร์ กล่าวอีกว่า กกต.มีความเป็นห่วงการกระทำใดๆ ที่อาจจะเข้าข่ายความผิดในช่วงที่รัฐบาลได้มีการจัดส่งร่างรัฐธรรมนูญมาให้ กกต.เพื่อเริ่มกระบวนการประชามติแล้ว ซึ่งก็ถือว่ากระบวนการออกเสียงประชามติได้เริ่มต้น แต่ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติยังไม่มีผลใช้บังคับ ฉะนั้นการกระทำใดๆ ที่อาจจะตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจ หรืออาจจะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ในช่วงเวลาดังกล่าว ก็ยิ่งสุ่มเสี่ยงเป็นความผิดตามกฎหมายความมั่นคง ประกาศ คสช.หรือกฎหมายอาญา จึงอยากให้มีการระมัดระวัง โดยเฉพาะเทศกาลสงกรานต์ที่จะมาถึง อย่างไรก็ตามคาดว่าร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติจะประกาศใช้หลังจากที่พ้นช่วงเทศกาลสงกรานต์ไปแล้ว จากนั้นในวันที่ 18 เม.ย.นี้ ซึ่งเป็นวันทำการแรกหลังจากหยุดเทศกาลสงกรานต์ กกต.ก็จะมีการประชุมเพื่อกำหนดวันออกเสียงประชามติ โดยเบื้องต้นคาดว่าวันออกเสียงจะเป็นวันที่ 7 ส.ค. ซึ่งถือว่าเป็นวันที่ 115 ตามกรอบเวลา 120 วันหลังจาก กกต.ได้รับสรุปร่างสาระสำคัญจาก กรธ. แต่ทั้งนี้อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ ขึ้นอยู่กับว่ากรธ.จะส่งสรุปสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญมายังกกต.เร็วหรือช้า
 
เริ่มกระบวนการประชามติ ร่างรธน.ถึงมือกกต.แล้ว 
 
โดยเดลินิวส์ รายงานด้วยว่า เวลา 15.30น. เจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้นำเอาสำเนาร่างรัฐธรรมนูญ มาส่งให้ กกต.แล้ว ซึ่งจะถือได้ว่ากระบวนการการทำประชามติได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net