Skip to main content
sharethis

เวทีทบทวนสถานการณ์สิทธิฯ ไทยกลางวงยูเอ็น ทางการยันว่าจำเป็นที่จะมีการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนบ้างเพื่อรักษาความสงบสุข ขณะที่ 105 ประเทศตั้งคำถามการละเมิดสิทธิพลเมือง ขึ้นศาลทหาร แรงงานข้ามชาติ และกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย ยังน่าเป็นห่วง

11 พ.ค.2559 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 14.00 น. (ตามเวลาประเทศไทย) ที่ Black Box Cafe&Bar 11 ได้จัดถ่ายทอดสด จากเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ กรณีคณะทำงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal Periodical Review Working Group) หรือคณะทำงานยูพีอาร์ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council) ทำการทบทวนสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ในประเด็น ได้แก่ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 3/2558 การซ้อมทรมาน คดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ หรือความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112 การบังคับสูญหาย กฎอัยการศึก เสรีภาพในการแสดงออกและชุมนุม และการละเว้นไม่ต้องได้รับโทษ ฯลฯ

พรรณิการ์ วานิช ผู้ดำเนินรายการการถ่ายทอดสดดังกล่าว ได้กล่าวสรุปว่า วันนี้ในการชี้แจ้งรอบสุดท้ายทางการไทยยืนยันว่าเพื่อที่จะมีความสงบสุข ไม่แบ่งแยก แตกแยก ทะเลาะเบาะแว้งภายในประเทศจำเป็นที่จะต้องมีการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนบ้าง ขณะที่นานาชาติ 105 ประเทศ ตั้งคำถามต่อรัฐบาลไทย โดยสรุปคือ 1. การละเมิดสิทธิเสรีภาพของพลเมือง การให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร การใช้ ม. 112 ม. 116 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และกฎหมายอื่นๆ และคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 13/2559 ในเรื่องการขยายขอบเขตอำนาจการดูแลความสงบเรียบร้อยภายในของกองทัพ 2. แรงงานข้ามชาติและผู้ลี้ภัย การเคารพสิทธิมนุษยชนของผู้ที่ไม่ใช่คนไทย 3. การให้สิทธิเสรีภาพแก่บุคคลที่มีความอ่อนไหวในด้านต่างๆ เช่น เรื่องชาติพันธุ์ ผู้หญิง แต่วันนี้ไม่มีการพูดถึงกลุ่ม LGBT หรือกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ

ขณะที่ อังคณา นีละไพจิตร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย หรือการ UPR ในวันนี้ เป็นการที่ประเทศสมาชิกสหประชาชาติมีข้อห่วงกังวลและอยากให้รัฐบาลไทยตระหนักว่าสิ่งที่รัฐบาลรับข้อเสนอแนะถือเป็นพันธะสัญญาที่ต้องนำมาปฏิบัติ เหตุการณ์การทบทวนในสภาคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ วันนี้เป็นการแสดงข้อห่วงใย แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดหลังจากนี้คือการนำข้อเสนอแนะเหล่านั้นที่ประเทศไทยรับรองแล้วนำมาบังคับใช้ทีหลัง ในการที่นำสู่การปฏิบัติขอให้รัฐบาลใจกว้างที่ประชาชนจะให้ข้อเสนอแนะติดตามการนำข้อเสนอแนะเหล่านี้ไปปฏิบัติ และตัวชี้วัดของรัฐบาลคือก็หลังจากนี้ไปจำนวนการละเมิดสิทธิมนุษยชนจะมีจำนวนลดลงหรือไม่ และสถานการณ์การเมืองจะกลับสู่ปกติหรือไม่ ช่วงนี้เป็นช่วงที่คณะผู้แทนไทยบอกว่าเป็นความท้าทายต่อการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติในประเทศไทย

อังคณา กล่าวต่อว่า ในฐานะกรรมการสิทธิและอนุกรรมการสิทธิด้านสิทธิพลเมืองได้ยื่นข้อเสนอต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อขอตั้งคณะกรรมการเพื่อติดตามการนำข้อเสนอแนะ UPR มาปฏิบัติ เช่น ตอนนี้รัฐบาลทำอะไรบ้างอาจจะต้องติดตามไปถึงกระทรวงต่างๆ ที่รับข้อเสนอแนะ เชิญมาให้ข้อมูล ทำงานภาคประชาสังคม ทำงานไปแล้วผลเป็นอย่างไร เชื่อว่าถ้ากรรมการสิทธิทำงานควบคู่กับภาคประชาชนแล้วจะแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยได้ ส่วนในการจะตั้งอนุกรรมการฯ ต้องผ่านมติของ กสม. ทั้ง 7 คน และก็หวังว่ากรรมการสิทธิจะเข้าใจ

สุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาประจำประเทศไทยของฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Right Watch) กล่าวสรุปว่า ประเด็นการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน นานาชาติมองไทยเป็นรัฐทหาร คำถามและข้อเสนอแนะสะท้อนความเป็นรัฐทหารซึ่งให้คำสัญญาที่จะมีโรดแมปเพื่อการเปลี่ยนผ่านจากสถานการณ์ประเทศที่ไม่ปกติไปสู่สถานการณ์ปกติ คือเป็นประชาธิปไตยของพลเรือน ซึ่งการจะเป็นประชาธิปไตยพลเรือนได้จะต้องมีสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน เช่น เรื่องการชุมนุมรวมตัวและการสมาคม ประเทศต่างๆที่ตั้งคำถามและมีข้อแนะนำว่าเกี่ยวข้องกับการกลับสู่เป็นรัฐประชาธิปไตยจึงให้ความสำคัญกับเสรีภาพสิทธิในการแสดงออกมาก โดยพูดถึงเครื่องมือที่ คสช. นำมาใช้สร้างภาวะไม่ปกติ กฎหมายที่อยู่ในความสนใจของนานาชาติ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ มาตรา 116 ข้อหายุยงปลุกปั่น ซึ่งในทัศนะนานาชาติเป็นการใช้ตีความโดยอำเภอใจ ในภาวะปกติกระบวนการดำเนินคดีทั้งหมดอยู่ในอำนาจคสช. ไม่ใช่กลไกกลางในภาวะปกติที่ขึ้นศาลยุติธรรม 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net