Skip to main content
sharethis

เทศบาลตำบลสันทรายหลวง อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ประกาศพื้นที่เป้าหมายควบคุมโรคที่บ้านโจ้ เป็นเวลา 28 วัน หลังพบเด็กป่วยไวรัสซิกา 2 ราย โดยโรคนี้มียุงลายเป็นพาหะ ด้านสาธารณสุข จ.เชียงใหม่ เผยผู้ป่วยกลับจากร่วมงานศพที่บ้านติ้ว อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ขณะนี้หายเป็นปกติและพักอยู่บ้าน ส่วนที่ จ.เพชรบูรณ์พบผู้ป่วยไวรัสซิกา 3 ราย

ยุงลายเป็นพาหนะของไวรัสซิกา หรือไข้ซิกา (ที่มา: James Gathany/Wikipedia)

เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 21 มิ.ย. นายนที ดำรงค์ นายกเทศมนตรีตำบลสันทรายหลวง อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ได้ออกหนังสือประกาศให้พื้นที่ บ้านโจ้ หมู่ที่ 5 ต.สันทรายน้อย อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ในเขตเทศบาลตำลสันทรายหลวงเป็นพื้นที่เป้าหมายควบคุมโรค หลังจากเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. มีการตรวจพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสซิกา จำนวน 2 ราย โดยผู้ป่วยเป็นเด็กชาย 1 ราย และเด็กหญิง 1 ราย อายุ 13 ปี ซึ่งอาศัยอยู่บ้านเลขที่ 99/307 บ้านโจ้ หมู่ที่ 5 ต.สันทรายน้อย อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ดังนั้น เทศบาลตำบลสันทรายหลวงจึงประกาศให้พื้นที่โดยรอบบ้านเลขที่ดังกล่าวทั้งหมดในระยะรัศมี 100 เมตร เป็นเขตพื้นที่เป้าหมายในการควบคุมโรคติดต่อเชื้อไวรัสซิกา หรือซิกา ในระยะเวลา 28 วัน นับแต่วันที่ประกาศนี้

โดยประกาศดังกล่าวอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.2496 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 50(4) กำหนดให้เทศบาลมีหน้าที่ป้องกันและระงับโรคติดต่อ

ในรายงานของ ข่าวสด ระบุว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ (สสจ.เชียงใหม่) ระบุว่าได้รับแจ้งจากสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 19 มิ.ย. ว่าที่ จ.เพชรบูรณ์ พบผู้ป่วยออกผื่น 9 ราย เป็นคน จ.เพชรบูรณ์ 7 ราย จ.เชียงใหม่ 2 ราย คนเพชรบูรณ์ทราบผลการตรวจเป็นไข้ซิกา 3 ราย ส่วนคนเชียงใหม่ 2 ราย ไปร่วมงานศพที่ ต.บ้านติ้ว อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ เมื่อ 2 มิ.ย. 2559 และกลับมาที่เชียงใหม่เมื่อ 11 มิ.ย. 2559 เริ่มป่วยเป็นไข้ซิกาวันที่ 11 มิ.ย. เข้ารักษา 13 มิ.ย.ที่ รพ.ลานนา ขณะนี้หายเป็นปกติและพักอยู่ที่บ้าน

จากข้อมูลของ สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โรคไข้ซิกา มียุงลายเป็นพาหะนำโรค พบครั้งแรกที่อูกานดา เมื่อ พ.ศ. 2490 พบการระบาดของไข้ซิกาในทวีปแอฟริกา เอเชีย หมู่เกาะแปซิฟิกและอเมริกา ทั่วโลกมีแนวโน้มระบาดของโรคจะแพร่กระจายไปยังประเทศใหม่ๆ เนื่องจากการเดินทางที่สะดวกและรวดเร็ว นอกจากนั้นยุงลายซึ่งเป็นพาหะนำโรคยังมีกระจายอยู่ในหลายทวีปทั่วโลก

ระยะฟักตัวของโรคไข้ซิกา ใช้เวลา 3-12 วัน อาการของโรคคล้ายที่เกิดกับโรคที่เกิดจากอาร์โบไวรัส (Arbovirus) ซึ่งเป็นเชื่อไวรัสที่มีแมลงเป็นพาหะนำโรค เช่น โรคไข้สมองอักเสบ โรคไข้เหลือ และโรคไข้เลือดออก เป็นต้น มีอาการไข้ ผื่นแดง เยื่อบุตาอักเสบ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ อาการเหล่านี้ปกติจะเป็นเพียงเล็กน้อย และอาการจะเป็นอยู่ประมาณ 2-7 วัน

ในช่วงที่เกิดการระบาดเป็นวงกว้าง ในหมู่เกาะเฟรนช์โปลินีเซีย และประเทศบราซิล ในปี พ.ศ. 2556 และ พ.ศ. 2558 เจ้าหน้าที่ได้รายงานภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการติดโรคไข้ซิกาต่อระบบประสาทในระบบภูมิคุ้มกัน และปัจจุบันในประเทศบราซิล เจ้าหน้าที่ได้พบว่ามีการติดเชื้อโรค ไข้ซิกาเพิ่มขึ้นในประชาชนทั่วไป และในขณะเดียวกันพบว่าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศบราซิล มีการเพิ่มขึ้นของภาวะศีรษะเล็กแต่กำเนิด (Microcephaly) ในเด็กแรกเกิด อย่างไรก็ตามยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของภาวะศรีษะเล็กแต่กำเนิด (Microcephaly) กับการติดโรคไข้ซิกา และต้องมีการค้นคว้าหาสาเหตุอื่นๆ ที่อาจมีผลให้เกิดภาวะดังกล่าวร่วมด้วย

ทั้งนี้ หน่วยงานสาธารณสุขมีการเตรียมระบบการเฝ้าระวังเพื่อป้องกันควบคุมโรคไข้ซิกา โดยมีระบบการเฝ้าระวัง 4 ด้าน ได้แก่ การเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา การเฝ้าระวังทางกีฏวิทยา การเฝ้าระวังทารกแรกเกิดที่มีความพิการแต่กำเนิด และการเฝ้าระวังกลุ่มอาการทางระบบประสาท และได้มีการดำเนินการเตรียมความพร้อมทางห้องปฏิบัติการเพื่อการตรวจวินิจฉัยโรค การเตรียมความพร้อมด้านการดูแลรักษา และการดำเนินการควบคุม แมลงพาหะนำโรค หากมีข้อสงสัย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เบอร์โทรศัพท์ 1422 หรือเว็บไซต์ สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ http://beid.ddc.moph.go.th

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net