สกว.ศึกษาการเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์สาธารณสุขในอาเซียน

 


เทคโนโลยีสำหรับขนส่งระบบกลาง

2 พ.ย. 2559 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) รายงานว่า สกว. ได้ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ และศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการโซ่อุปทานสุขภาพ (LogHealth) มหาวิทยาลัยมหิดล ศึกษาการเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์สาธารณสุขในภูมิภาคอาเซียน และนำเสนอโมเดลการเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์สาธารณสุขไทยให้รองรับบริบทภูมิภาค เพื่อเสนอการเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ในอาเซียนให้สนองต่อนโยบายประชาคมอาเซียนของรัฐบาล ซึ่งเป็นรากฐานของความร่วมมือและการยกระดับระบบสาธารณสุขในภูมิภาคร่วมกัน

ล่าสุดในการประชุมวิชาการ “เตรียมความพร้อมด้านโลจิสติกส์สุขภาพต่อการเชื่อมโยงระบบสาธารณสุขในภูมิภาคอาเซียน เพื่อรองรับการเกิดธุรกิจสำหรับผู้ให้บริหารโลจิสติกส์ในระบบสาธารณสุขไทย” ซึ่งจัดขึ้นเพื่อแพร่ผลงานวิจัยที่ต่อยอดจากผลวิจัยโครงการ “การพัฒนาความสามารถและโอกาสของประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางผู้ให้บริการโลจิสติกส์สุขภาพในภูมิภาคอาเซียนตามแนวโน้มของโลจิสติกส์สุขภาพโลก” โดยต้องการให้แต่ละประเทศเห็นความสำคัญในการเชื่อมโยงระบบสุขภาพ เพื่อพัฒนาศักยภาพและร่วมมือกันในการให้บริการ ไม่ว่าจะเป็นการไหลของยาและเวชภัณฑ์ หรือการไหลของแรงงาน หากทุกประเทศสามารถเชื่อมโยงข้อมูลถึงกันได้อย่างมีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ จะช่วยลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการรับ-ส่งข้อมูล สถานบริการสุขภาพ และสามารถติดตามและสอบกลับระบบยาและเวชภัณฑ์ได้ตลอดโซ่อุปทาน ตลอดจนมีข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบายในการบริหารจัดการยาในระดับประเทศ

สกว.ระบุว่า เล็งเห็นถึงความสำคัญของการผลักดันงานวิจัยด้านการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานให้เกิดขึ้นแก่ระบบสาธารณสุขไทย เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญ และเข้าใจแนวคิดดังกล่าว รวมถึงนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ได้จริง เพื่อเป็นแนวทางที่จะช่วยแก้ไขปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ดีขึ้นได้

ทั้งนี้ผลการศึกษาดังกล่าวได้สร้างโมเดลเริ่มต้นในการทดลองนำไปใช้ในการเชื่อมโยงการไหลของวัสดุ ข้อมูล และทรัพยากรมนุษย์ ในระบบสาธารณสุขระหว่างประเทศในประชาคมอาเซียน เพื่อลดช่องว่างการพัฒนาและบทบาทของประเทศไทย

ดวงพรรณ กริชชาญชัย หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า ผลการวิจัยที่ผ่านมาพบว่าโลจิสติกส์ของระบบสาธารณสุขในประเทศเมียนมาและลาว ยังต้องการการพัฒนาและการสนับสนุนให้มีความพร้อมอีกมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน ที่ผ่านมามีข้อตกลงความร่วมมือระหว่างประเทศที่เรียกว่า “Twin city, twin hospital” โดยความร่วมมือเป็นคู่โรงพยาบาลระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ เมียนมา ลาว และกัมพูชา พบว่าสถานการณ์ปัจจุบันของโรงพยาบาลคู่แฝดยังมีช่องว่างของการบริการด้านการพยาบาลค่อนข้างมาก ทำให้ภาระงานของโรงพยาบาลในประเทศสูงขึ้น แม้กระทรวงการต่างประเทศจะให้ความช่วยเหลือคู่สัญญาในรูปแบบของสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น อาคารโรงพยาบาล ห้องผ่าตัด รถฉุกเฉิน แต่ความร่วมมือส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบไม่เป็นทางการ มีการส่งต่อผู้ป่วยมายังไทยในกรณีผู้ป่วยมีกำลังทรัพย์ หรือเจ็บป่วยรุนแรง หรือต้องการผ่าตัดใหญ่ ยังขาดหลักปฏิบัติและระบบสารสนเทศในการจัดการ ไม่มีการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ป่วยต้องถือแฟ้มข้อมูลในการรักษามาเอง และปัญหาด้านการสื่อสารระหว่างคนไข้กับแพทย์ นอกจากนี้การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทำให้ประชากรจากประเทศเพื่อนบ้านจะยิ่งเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น รวมถึงจำนวนผู้ป่วยด้วย แต่คำถามคือ โรงพยาบาลคู่สัญญาในพื้นที่เหล่านั้นจะเตรียมความพร้อมในการรักษาพยาบาลอย่างไร

คณะวิจัยได้ออกแบบสอบถามผู้เชี่ยวชาญในเขตเศรษฐกิจพิเศษแต่ละพื้นที่ เพื่อประมาณการจำนวนแรงงานหลังการเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษไปแล้ว 6 ปี และได้พยากรณ์จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นจากปัจจัยแนวโน้มปกติด้วยค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ เพื่อเตรียมวางแผนทางด้านสาธารณสุขให้โรงพยาบาลในเขตเศรษฐกิจพิเศษแต่ละจังหวัด ประกอบด้วย เชียงราย หนองคาย สระแก้ว ตราด และกาญจนบุรี

“ปัจจุบันสถานการณ์จำนวนเตียงผู้ป่วยในจังหวัดกาญจนบุรีและหนองคายมีจำนวนเพียงพอต่อการรองรับการเพิ่มของผู้ป่วยหลังการเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ เนื่องจากมีการเตรียมการรองรับผู้ป่วยต่างชาติที่เข้ามีรับการรักษาเป็นประจำอยู่ก่อนแล้ว แต่ในพื้นที่อื่นจำเป็นต้องเพิ่มจำนวนเตียงให้มากขึ้นเพื่อรองรับการเจริญเติบโต ขณะที่เตียงไอซียูขาดแคลนในหลายโรงพยาบาล และหลังเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษแล้วก็ยังมีความต้องการจำนวนเตียงไอซียูเพิ่มขึ้นทุกโรงพยาบาล มิฉะนั้นอาจเกิดปัญหาในการส่งต่อผู้ป่วยวิกฤติที่จำเป็น ซึ่งจะเป็นความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของผู้ป่วย ด้านค่าใช้จ่ายเหมารายตามสิทธิประกันสุขภาพพบว่าเพิ่มขึ้นทุกจังหวัด โดยกาญจนบุรีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากที่สุด เนื่องจากเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดอยู่ที่อำเภอเมือง มีโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนาตั้งอยู่ในพื้นที่ ซึ่งมีประชากรจำนวนมาก ทำให้ค่าใช้จ่ายรวมมากขึ้นกว่าจังหวัดอื่นๆ” จิรพรรณ เลี่ยงโรคาพาธ หนึ่งในคณะวิจัยเปิดเผยข้อมูล

สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค ระบุว่า อัตราป่วยจากการบาดเจ็บจากการทำงานหลังเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษเต็มรูปแบบจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น 456.3 คนต่อประชากร 1 แสนคน โดยกลุ่มโรคและอาการเสี่ยงที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ได้แก่ โรคปอดจากฝุ่น โรคพิษตัวทำละลายอินทรีย์ วัณโรคปอด โรคหอบหืด โรคพิษจากโลหะหนัก โรคประสาทหูเสื่อม โรคจากความร้อน กลุ่มโรคที่มาจากเชื้อโรคและไม่ถูกสุขอนามัย โรคที่มาจากการสัมผัสสารเคมี และโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบกล้ามเนื้อและโครงสร้างกระดูก

ข้อเสนอแนะในการรับมือกับสิ่งที่จะต้องเผชิญในอนาคต คือ ปัญหาการเรียกเก็บค่าบริการได้ไม่ครบจากจำนวนผู้ป่วยแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาใช้บริการบางรายที่ไม่สามารถจ่ายได้ หน่วยงานภาครัฐอาจผลักดันให้แรงงานเหล่านี้เข้าสู่ระบบประกันสุขภาพได้อย่างครอบคลุม โดยคาดว่าในปี 2568 ปัญหานี้จะทวีความรุนแรงขึ้นหากเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษเต็มรูปแบบ ขณะที่การศึกษาเรื่องวางแผนทรัพยากรของโรงพยาบาลจะเป็นประโยชน์ต่อการรองรับปริมาณผู้ป่วยทั้งชาวไทยและประเทศเพื่อนบ้าน โดยไทยอาจช่วยให้คำปรึกษาแก่ฝั่งเพื่อนบ้าน และควรจะมีการพิจารณาเพิ่มเติมในส่วนของจำนวนแพทย์เฉพาะทางต่างๆ รังสีแพทย์ ศัลยแพทย์ ฯลฯ เพื่อตอบสนองความต้องการในการรักษาโรคและอาการเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น

วรการ ศรีนวลนัด กรรมการผู้จัดการบริษัท ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น จำกัด กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมสู่อาเซียนเพื่อรองรับการเกิดธุรกิจสำหรับผู้ให้บริการโลจิสติกส์ในระบบสาธารณสุขไทย ว่าในด้านการผลิตจะต้องเลือกใช้มาตรฐาน GMP PIC/S หรือหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิตยา เพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตยาและพัฒนาศักยภาพของบุคลากรให้เทียบเท่ากับมาตรฐานของสหภาพยุโรป โดยจะต้องครอบคลุมกระบวนการผลิตทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเลือกซื้อวัตถุดิบ จนถึงการจัดเก็บและจัดส่งสินค้าสำเร็จรูปให้กับลูกค้า นอกจากนี้การควบคุมคุณภาพในกระบวนการผลิตก็มีความสำคัญเช่นกัน เพื่อให้มั่นใจในคุณภาพของผลิตภัณฑ์ในแต่ละรุ่นการผลิต ด้านมาตรฐานการจัดเก็บจะต้องได้มาตรฐานทั้งบุคลากร อาคารสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวก ข้อกำหนดการจัดเก็บ สินค้าคืน การจัดส่งสินค้าและการขนส่ง การเรียกเก็บคืนผลิตภัณฑ์ และสภาวะการจัดเก็บและการปิดฉลาก

เขากล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ความท้าทายในอนาคตของระบบโลจิสติกส์สุขภาพ คือ เราต้องแข่งขันกับต้นทุนที่ถูกลง การลงทุนมากๆ ก็มีความเสี่ยง เขตเศรษฐกิจพิเศาจะต้องมีการรองรับด้านการขนส่งและเคลื่อนย้าย มีการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบการสื่อสารเข้ามาช่วย มีการลงทุนด้านเทคโนโลยีที่เหมาะสม บุคลากรมีทักษะความชำนาญ ระบบโลจิสติกส์ต้องมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่งแน่นอนว่าองค์กรจะต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อเตรียมพร้อมรับมือสู่อาเซียน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท