Skip to main content
sharethis

ทนายความจากกลุ่มสหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกันกล่าวชมทวิตเตอร์ปกป้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหลังจากทวิตเตอร์ฟ้องรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ขอข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ที่วิพากษ์วิจารณ์นโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ โดยทวิตเตอร์ฟ้องร้องว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

9 เม.ย. 2560 จากเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯ เรียกขอข้อมูลผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งที่แสดงการต่อต้านประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แต่ทวิตเตอร์ได้ยืนยันสิทธิในการเเสดงความคิดเห็นโดยฟ้องร้องดำเนินคดีกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (DHS) กับสำนักงานศุลกากรและป้องกันชายแดนของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ศาลรัฐบาลกลางในเมืองซานฟรานซิสโก โดยฟ้องร้องด้วยฐานที่ว่า การพยายามขอข้อมูลส่วนบุคคลของบัญชีผู้ใช้ถือเป็นการละเมิดบทบัญญัติเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตราที่ 1 ของสหรัฐฯ ที่ว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

ทวิตเตอร์ยืนยันว่าผู้ใช้งานของพวกเขาควรจะได้รับสิทธิตามรัฐธรรมนูญในการเผยแพร่ข้อความแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้อย่างไม่ต้องเปิดเผยนามและใช้นามแฝงได้

โดยเหตุเกิดเมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2560 ทางการสหรัฐฯ เรียกร้องให้เปิดเผยรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับผู้ใช้ที่ชื่อ @ALT_uscis ไม่ว่าจะเป็นชื่อผู้ใช้ อีเมลล์ผู้ใช้งาน เบอร์โทรศัพท์ผู้ใช้งาน หรือแม้กระทั่งหมายเลขไอพีเครื่องคอมพิวเตอร์ผู้ใช้ แต่เมื่อดูตามเอกสารแฟกซ์ที่ทางสำนักงานศุลกากรและป้องกันชายแดนของรัฐบาลสหรัฐฯ ส่งให้ทวิตเตอร์ระบุให้ทวิตเตอร์ต้องส่งข้อมูลดังกล่าวให้ภายในวันที่ 13 มี.ค. ทั้งๆ ที่แฟกซ์ส่งถึงวันที่ 14

นิวยอร์กไทม์ระบุว่าบัญชีผู้ใช้งานที่ชื่อ @ALT_uscis เป็นชื่อที่จงใจสื่อถึงสำนักงานบริการพลเมืองและตรวจคนเข้าเมืองของสหรัฐฯ (USCIS) โดยระบุราวกับเป็นรัฐบาลกลาง "ทางเลือก" ("Alternative" Federal Government) มีการสร้างบัญชีนี้ขึ้นมาตั้งแต่ 2 เดือนที่แล้ว และมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์นโยบายกีดกันผู้อพยพของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์รวมถึงแสดงให้เห็นว่านโยบายเหล่านี้เป็นความสิ้นเปลืองและการจัดการที่ผิดพลาดของ DHS และ USCIS

นอกจาก @ALT_uscis แล้วยังมีบัญชีทวิตเตอร์ "ทางเลือก" อื่นๆ ที่ทำขึ้นในเชิงวิพากษ์วิจารณ์หรืออ้างว่าเป็นตัวแทนของเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางสหรัฐฯ ทั้งอดีตและปัจจุบัน ซึ่งบัญชีเหล่านี้เกิดขึ้นหลังจากทรัมป์เข้าสู่ตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็น @Alt_CDC ที่อ้างว่าเป็น "ทางเลือก" ของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อ (CDC) หรือ @AltUSEPA ที่สื่อถึงสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐ (EPA) บัญชีนี้อ้างว่าเป็น "ฝ่ายต่อต้านอย่างไม่เป็นทางการของทีมปกป้องสิ่งแวดล้อม"

จนถึงตอนนี้ฝ่ายรัฐบาลสหรัฐฯ ยังไม่ได้เหตุผที่ชัดเจนว่าต้องการให้ทวิตเตอร์ระบุตัวตนของผู้ใช้ไปทำไม

ในการฟ้องร้องของทวิตเตอร์ พวกเขาบอกว่ารัฐบาลไม่สามารถบังคับให้บริษัทเปิดเผยตัวตนของผู้ใช้ได้โดยไม่มีเหตุจำเป็นซึ่งการพิสูจน์เตุจำเปนดังกล่าวต้องผ่านการตรวจสอบหลายขั้นตอน พวกเขาต้องมีข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนว่าผู้ใช้เหล่านั้นกระทำผิดจริงไม่ว่าจะในทางแพ่งหรือทางอาญา ทางการต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าพวกเขาไม่ได้นำข้อมูลเหล่านั้นไปโดยมีเจตนาต้องการลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และยังต้องทำให้เห็นว่าประโยชน์ด้านการสืบสวนของพวกเขามีน้ำหนักมากพอเมื่อเทียบกับสิทธิของทวิตเตอร์และของผู้ใช้ตามที่ระบุไว้ในบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตราที่ 1 ของสหรัฐฯ 

แต่สำนวนคำฟ้องร้องของทวิตเตอร์ก็ระบุว่าฝ่ายรัฐบาลสหรัฐฯ แทบจะไม่ได้พิสูจน์ให้เห็นในเรื่องเหล่านี้เลย

อิชา บันดารี ทนายความจากสหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกัน (ACLU) ได้กล่าวชื่นชมทวิตเตอร์ในเรื่องนี้ว่า พวกเขารู้สึกดีที่ทวิตเตอร์ยืนหยัดต่อสู้เพื่อผู้ใช้งานของตัวเองและออกตัวปกป้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

นิวยอร์กไทม์ระบุว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ทวิตเตอร์ฟ้องร้องรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อปกป้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของผู้ใช้งาน ในปี 2555 ทวิตเตอร์ก็เคยโต้กลับคำสั่งศาลที่บังคับให้ส่งข้อมูลผู้ใช้งานและข้อความทวีตของผู้ประท้วง "ยึดวอลล์สตรีท" (Occupy Wall Street) ในปี 2557 ก็เคยฟ้องร้องรัฐบาลโอบาม่า เพื่อให้พวกเขามีสิทธิที่จะเปิดเผย "รายงานความโปร่งใส" ฉบับเต็ม ซึ่งมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการขอข้อมูลของรัฐบาล

 

เรียบเรียงจาก

Twitter Challenges US Order for Anti-Trump User Records, New York Times, 06-04-2017

https://www.nytimes.com/aponline/2017/04/06/us/ap-us-twitter-government-lawsuit.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net