ศาลพม่าตัดสินจำคุก 6 เดือน-โพสต์เฟสบุ๊กหมิ่นอองซานซูจี

ศาลในพม่าตัดสินจำคุก 6 เดือน หญิงผู้หนึ่งที่ถูกกล่าวหาว่าแชร์เนื้อหาหมิ่นอองซานซูจีบนเฟซบุ๊ก หญิงคนดังกล่าวเป็นผู้ที่สนับสนุนพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามกับพรรครัฐบาลปัจจุบัน นักวิจัยชี้มีการบังคับใช้กฎหมายมาตรานี้เพิ่มขึ้นสมัยรัฐบาลใหม่และกลุ่มด้านเสรีภาพสื่อกับกลุ่มสิทธิมนุษยชนก็แสดงความกังวลต่อการใช้กฎหมายที่จะลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

อองซานซูจี และผู้สนับสนุนที่เขตกอหมู่ ภาคย่างกุ้ง เมื่อเดือนธันวาคม 2558 (ที่มา: แฟ้มภาพ/เฟซบุ๊คเพจ NLD Chairperson)

อิระวดีรายงานว่าเมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2560 ศาลในเมืองพะโคตัดสินจำคุก 6 เดือน ซานดี มิ้น อ่อง ข้อหาแชร์โพสต์ในเฟซบุ๊กที่ถูกมองว่าเป็นการหมิ่น อองซานซูจี ซึ่งมีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาแห่งรัฐ และถูกมองว่าเป็นวีรสตรีประชาธิปไตยพม่า โดยศาลอ้างมาตรา 66(d) จากกฎหมายโทรคมนาคม เพื่อเอาผิดกับจำเลย

คดีนี้มีการฟ้องร้องตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2559 เมื่อชาวพะโครายหนึ่งยื่นฟ้อง ซานดี มิ้น อ่อง มาที่สถานีตำรวจในเมืองพะโค ผู้ยื่นฟ้องกล่าวหาว่าเธอแชร์โพสต์ลงบนเฟซบุ๊กที่มีเนื้อหาใช้คำหยาบคายต่อ อองซานซูจี

ทั้งนี้ ซานดี มิ้น อ่อง เป็นผู้สนับสนุนตัวยงของพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา หรือ USDP ที่ก่อตั้งโดยรัฐบาลทหารพม่าชุดก่อน

ตำรวจจับกุม ซานดี มิ้น อ่อง เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2559 และได้รับการประกันตัวในเวลาต่อมาคือวันที่ 26 ธ.ค. 2559 ฝ่ายโจทก์พยายามยืนขอไม่ให้มีการประกันตัวจำเลยแต่ก็ถูกปฏิเสธคำขอนี้

ทีมวิจัยด้านกฎหมายโทรคมนาคมเปิดเผยว่านับตั้งแต่มีการปกครองภายใต้รัฐบาลใหม่ที่นำโดยพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยหรือ NLD ก็มีคดีความที่อ้างใช้มาตรา 66(d) ในกฎหมายโทรคมนาคมพม่าแล้ว 60 คดี มีการตัดสินแล้ว 11 คดี โดยที่มี 6 คดีที่จำเลยถูกสั่งคุมขังโดยไม่ได้รับการประกันตัวหรือบางส่วนก็ยังรอการไต่สวนคดีอยู่ ทีมวิจัยยังระบุอีกว่าในสมัยของอดีตประธานาธิบดีอูเต็งเส่งมีคดีจากกฎหมายนี้ 7 คดี และมีการตัดสิน 5 คดี

องค์กรอย่างอาร์ติเคิล 19 และฮิวแมนไรท์วอทช์ต่างก็แสดงความกังวลต่อการใช้กฎหมายนี้ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ตกทอดมาตั้งแต่สมัยของรัฐบาลทหาร โดยเมื่อวันที่ 10 พ.ค. ที่ผ่านมาฮิวแมนไรท์วอทช์เรียกร้องให้มีการแก้ไขมาตรา 66(d) ของกฎหมายนี้ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลในการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกเพราะเกรงว่าจะถูกเอามาใช้ในทางการเมืองหรือด้วยข้ออ้างอื่นๆ

ทางด้าน อาร์ติเคิล 19 ระบุว่า กฎหมายโทรคมนาคมของพม่าแม้จะมีข้อดีบางส่วนอย่างการส่งเสริมความหลากหลายของสื่อผ่านการแข่งขันกับภายนอก แต่กฎหมายนี้ก็ล้มเหลวในการคุ้มครองเสรีภาพขั้นพื้นฐานอย่างเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร และสิทธิความเป็นส่วนตัว รวมถึงมีนิยามบางส่วนในกฎหมายที่ไม่ชัดเจน

มาตรา 66(d) ของกฎหมายโทรคมนาคมระบุว่าผู้ใดที่กระทำการ "ขู่กรรโชกทรัพย์ ข่มขู่บังคับ กักขังหน่วงเหนี่ยวอย่างผิดๆ ทำให้เสียชื่อเสียง ก่อกวน ส่งอิทธิพลอย่างไม่เหมาะสม หรือคุกคามบุคคล โดยอาศัยเครือข่ายโทรคมนาคม" จะถูกลงโทษจำคุกสูงสุดเป็นเวลา 3 ปี

เรียบเรียงจาก

Woman Sentenced Under Article 66(d) for ‘Insults’ to Daw Aung San Suu Kyi, Irrawaddy, 26-05-2017

Burma: Letter on Section 66(d) of the Telecommunications Law, Human Right Watch, 10-05-2017

Myanmar: Telecommunications Law

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท