Skip to main content
sharethis

กลุ่มนักเศรษฐศาสตร์อเมริกันเปิดเผยถึงสาเหตุที่ความไม่เท่าเทียมกำลังบ่อนเซาะประชาธิปไตยของอเมริกัน โดยเสนอว่าทางแก้ไขควรจะต้องมีการให้สวัสดิการสุขภาพสำหรับทุกคน มีค่าจ้างที่เพียงพอต่อการดำรงชีพ และทำให้เงินทุนของกลุ่มบรรษัทออกไปจากระบบการเมือง

ที่มาภาพจาก: SDictionary

9 ส.ค. 2560 นักเศรษฐศาสตร์สหรัฐฯ โธมัส พิกเก็ตตี, กาเบรียล ซัคมาน และเอ็มมานูเอล ซาเอซ เปิดเผยรายงานการวิจัยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (7 ส.ค.) ผ่านโครงการเน็กซ์ซิสเทมและสถาบันเพื่อการวิจัยนโยบายสหรัฐฯ พบว่าถึงแม้ในสมัยของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ตลาดหุ้นมีความคึกคักมากขึ้นแต่จากข้อมูลพบว่าชาวอเมริกันส่วนใหญ่ยังคงถูกกีดกันออกไปจากความมั่งคั่งของประเทศ เมื่อพิจารณาจากรายได้แล้วพบว่าคนครึ่งหนึ่งในสหรัฐฯ ที่จนกว่า "ถูกกีดกันออกจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ" โดยสิ้นเชิง 

รายงานของนักเศรษฐศาสตร์เหล่านี้เปิดเผยว่าในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาระบบแบบที่ทำให้สหรัฐฯ มีความไม่เท่าเทียมกันสูงมากคือการที่อำนาจทางการเมืองกระจุกตัวอยู่ในระดับบนสุด การกีดกันทางเชื้อชาติอย่างเป็นระบบ และอำนาจขององค์กรจัดตั้งทางแรงงานที่ลดน้อยลงเมื่อเผชิญกับการโจมตีจากบรรษัท เมื่อปัจจัยเหล่านี้ถูกนำมาพิจารณาร่วมกับความเปลี่ยนแปลงจากโลกาภิวัตน์และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีแล้วก็ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมในระดับที่ก่อให้เกิดความไม่ยั่งยืน

นักเศรษฐศาสตร์เหล่านี้ยังอ้างผลการสำรวจขององค์กรอ็อกแฟมสหรัฐฯ ที่เปิดเผยว่าคนงานค่าแรงขั้นตำในสหรัฐฯ ไม่ได้อยู่ด้วยค่าจ้างที่เพียงพอต่อการดำรงชีพแต่เป็นค่าจ้างที่น้อยในระดับยากจน (poverty wage) มีคนงานร้อยละ 43.7 ของสหรัฐฯ คิดเป็นราว 58.3 ล้านคนทำงานได้เงินน้อยกว่า 15 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง แต่ระบบที่เหยียดผิวก็ทำให้คนดำและชาวละตินได้ค่าแรงน้อยยิ่งกว่า โดยมีคนดำและชาวละตินร้อยละ 53 นับเป็นจำนวนประชากรมากกว่า 41 ล้านคนได้ค่าแรงน้อยกว่า 12 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง

นอกจากนี้นักเศรษฐศาสตร์ยังชี้ให้เห็นช่องว่างระหว่างคนทั่วไปกับคนรวยไม่กี่คนที่เป็นช่องว่างมหาศาล จากการสำรวจหลายที่ เช่นจากการสำรวจที่พบว่ากลุ่มคนรวยระดับบนสุดของสหรัฐฯ มีรายได้เทียบเท่ากับครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่าร้อยละ 90 รวมกัน หรือการสำรวจที่ระบุว่าเศรษฐีรวมที่สุด 20 คนที่นั่งเครื่องบินเจ็ตหรูหรามีความมั่งคั่งสุทธิ (Net worth) รวมกันมากกว่าประชากรสหรัฐฯ ครึ่งหนึ่งรวมกัน

ชัค คอลลินส์ ผู้เขียนรายงานชิ้นนี้และเป็นผู้อำนวยการโครงการเกี่ยวกับปัญหาความไม่เท่าเทียมกันประจำสถาบันเพื่อการวิจัยนโยบายกล่าวว่า ระบบที่สร้างความไม่เท่าเทียมกันนี้คือรากฐานของปัญหาการสาธารณสุข การเหยียดเชื้อชาติ ปัญหาการศึกษา และความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม สิ่งเหล่านี้มาจากโมเดลเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เอง และสิ่งเหล่านี้ก็ส่งผลเสียต่อระบอบประชาธิปไตยในแง่ที่กลุ่มที่มีทุนหนาจะกลบเสียงของผู้คนที่ต้องการเปล่งเสียงในพื้นที่สาธารณะ และอำนาจจากกลุ่มทุนใหญ่ที่มีต่อกาเมืองยังปิดกั้นไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง สิ่งเหล่านี้เอื้อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าคณาธิปไตย หรือการปกครองแบบเล่นพรรคเล่นพวกของคนกลุ่มเล็กๆ

รายงานระบุว่าสิ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้คือการยกระดับทางเศรษฐกิจจากระดับล่าง ลดการกระจุกตัวของความมั่งคั่งรวมถึงมีการตรวจสอบอำนาจบรรษัท พวกเขาเสนอให้มีสวัสดิการสุขภาพแก่ชาวอเมริกันทุกคน มีค่าจ้างขั้นต่ำที่เพียงพอต่อการดำรงชีพ คุ้มครองแรงงานในด้านการลา การถูกเหยียดเชื้อชาติในที่ทำงาน  การล่วงละเมิดทางเพศ รวมถึงการคุ้มครองไม่ให้มีการถูกฉกฉวยค่าแรง ทำให้สถาบันการศึกษาของรัฐเรียนฟรี จำกัดการบริจาคหรือการแผ่อิทธิพลของบรรษัทในทางการหาเสียงเลือกตั้งและให้มีการเปิดเผยเรื่องการบริจาคทางการเมืองในเวลาที่เหมาะสม กลับมาเก็บภาษีอัตราก้าวหน้ายกเลิกไม่ให้กลุ่มคนรวยสามารถหลีกเลี่ยงภาษีได้ ลดอำนาจธนาคารใหญ่ๆ และออกมาตรการป้องกันการผูกขาด

รายงานสรุปว่าชาวอเมริกันต้องการความเท่าเทียมไม่ใช่เพราะแค่มันเป็นเรื่องที่ดีในตัวมันเอง แต่ความเท่าเทียมจะส่งผลดีต่อสังคมด้วย อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงระบบได้ต้องมาจากการแลกเปลี่ยนมุมมองจากผู้คนเพื่อมองหาความเป็นไปได้เท่านั้น ซึ่งคอลลินส์บอกว่าคงเป็นไปได้ยากที่จะหวังเรื่องนี้ในระดับชาติ แต่ก็มีโอกาสทำได้ในระดับท้องถิ่นย่อยๆ ที่จะวางรากฐานเตรียมไว้กับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอนาคต

 

เรียบเรียงจาก

As US Inequality Breeds Oligarchy, New Report Details Pathway to Equity, Common Dreams, 0-08-2017

https://www.commondreams.org/news/2017/08/07/us-inequality-breeds-oligarchy-new-report-details-pathway-equity

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net