Skip to main content
sharethis

ประชาสังคมระบุ ประชาชนยังระแวง วาทกรรมแยกพุทธ-มุสลิมลงถึงระดับเยาวชนแล้ว เสนอต้องมีพื้นที่ปลอดภัยทั้งอาวุธและการแสดงความเห็น ภาครัฐมองต่าง ชี้สถานการณ์ใต้ดีขึ้น วอนช่วยกันลดความชอบธรรมการใช้ความรุนแรงในพื้นที่ กองทัพต้องจำกัดบทบาทการใช้อาวุธและเคร่งครัดระเบียบควบคุมตัว

7 ธ.ค. 2560 ศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และ Strengthening Human Rights and Peace Research and Education in ASEAN/Southeast Asia (SHAPE-SEA) จัดเวทีประชุมภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานสันติภาพในจังหวัดชายแดนใต้ เป็นเวทีต่อเนื่องจากเวทีเสวนา “บทบาทของสังคมไทยกับการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนใต้” ที่มีขึ้นเมื่อวานนี้ (6 ธ.ค. 60) จัดที่สถานที่เดิมคือคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ 

ในงานมีผู้เข้าร่วมจากหลากหลายสาขาทั้งฝ่ายวิชาการ ภาคประชาสังคม สื่อมวลชน ตัวแทนจากฝ่ายรัฐและคณะพูดคุยสันติภาพ

โคทม อารียา: คนนอกกับการสานวาทกรรมและจุดอ่อน หนุนคนในพื้นที่แก้ปัญหาชายแดนใต้

ประชาสังคมชี้ประชาชนยังระแวง วาทกรรมแยกพุทธ-มุสลิมลงถึงระดับเยาวชนแล้ว

ชลิดา ทาเจริญศักดิ์ จากมูลนิธิส่งเสริมศักยภาพชุมชนกล่าวว่า แม้ทุกคนพยายามหาทางออก สร้างสันติภาพ แต่ก็เป็นข้อท้าทายว่า คนที่ไปถามคำถามเป็นใคร คนในพื้นที่ยังมีความหวาดกลัวอยู่ คนในพื้นที่กับคนนอกพื้นที่ลงไปถามก็ได้คำตอบคนละอย่าง

พื้นที่ปลอดภัยไม่เพียงแต่ปลอดภัยจากอาวุธ แต่ต้องปลอดภัยที่จะแสดงความเห็น การเจรจาตอนนี้ยังมีความรุนแรงเกิดขึ้นบ่อยๆ บริบทเพิ่มมากขึ้น มีเรื่องสิ่งแวดล้อม ชีวิตความเป็นอยู่ ปากท้องผู้คนก็เป็นเรื่องสำคัญ โครงการใหญ่ที่ลงไปก็จะมีผลกระทบกับประชาชน แต่รัฐไม่ฟัง ถ้าคุยกันแบบนี้อย่างไรก็ไม่จบ

แล้วจะหาความร่วมมืออย่างไร ก็ต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้คนในพื้นที่ปลอดภัยจริงก่อน ทุกครั้งที่เราจัดเวทีคนก็ระแวงหน้าระแวงหลังว่าพูดหรือไม่พูดดี ตราบใดที่ไม่มีพื้นที่ปลอดภัยขึ้นจริงๆ เราก็ยังไม่ได้ความจริงว่าจริงๆ แล้วประชาชนต้องการอะไร ส่วนความสำเร็จในการสร้างสันติภาพในประเทศในภูมิภาคทั้งในมินดาเนา อาเจะห์ ติมอร์เลสเต คือบทเรียนที่ต้องมาถอดร่วมกันกับประชาชนตามบริบทของไทย หลายคนก็ทำหลายเรื่องแล้วแต่ทำอย่างไรให้มีการแลกเปลี่ยนความคืบหน้า ตรวจสอบสิ่งที่แต่ละฝ่ายขาดและเกิน

พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ อาจารย์จากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า จากที่ตนได้ใช้เวลาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ พบว่าวาทกรรมแบ่งแยกพุทธ-มุสลิมกระจายลงไปในระดับเด็กและสถานศึกษา หลายกิจกรรมปัจจุบันต้องทำแยกกันระหว่างเด็กพุทธกับมุสลิม เด็กไทยพุทธบ่นเรื่องการไม่มีครัวพุทธ รำคาญเสียงอาซาน (การประกาศเชิญชวนให้ปฏิบัติละหมาด) รู้สึกว่ารัฐลำเอียงในการให้ทุนการศึกษากับเด็กมุสลิม ตนเคยอ่านเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา และพบว่าตอนนี้ภาคใต้ก็มีเงื่อนไขที่สอดคล้องกันหลายประการ ความขัดแย้งระหว่างพุทธกับมุสลิมรุนแรงขึ้น ความหวาดกลัวว่าศาสนาพุทธจะหมดไปถ้าไม่ช่วยกันสอดส่องดูแลเป็นวาทกรรมที่เข้มข้นขึ้น ซึ่งฝ่ายมุสลิมเองก็มีปฏิบัติการในการต่อสู้กับชาวพุทธเช่นกัน

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ จากมูลนิธิผสานวัฒนธรรมกล่าวว่า ในช่วง 2-4 เดือนที่ผ่านมามีการติดป้ายหมายจับบุคคลตามสถานที่ต่างๆ ไม่ใช่ป้ายเล็กตามด่านแต่เป็นป้ายขนาดใหญ่เท่าที่เทคโนโลยีในสามจังหวัดชายแดนใต้จะทำได้ ติดตามด่าน ถนน หนทางที่เห็นได้ชัด ตำรวจออกหมายจับตาม ป.วิ.อาญา การติดหมายจับในที่สาธารณะยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในวงการนักสิทธิมนุษยชนว่าสามารถทำได้หรือเปล่า ส่วนประเด็นการนิรโทษกรรมก็ต้องยอมรับว่าสิทธิและการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมหยุดลง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและพวกเรา (ภาคประชาสังคม) เข้าไปตรวจพื้นที่คุมขังไม่ได้ คุยกับญาติผู้เสียหายร่วมกับเจ้าหน้าที่ได้น้อยมาก ราชทัณฑ์มีเงื่อนไขเยอะ แต่ก่อนประชาสังคมเคยไปได้พอสมควรแต่ตอนนี้แทบจะไม่ได้

ข้อเสนอของบีอาร์เอ็นที่เรียกร้องให้รัฐปล่อยตัวนักโทษคดีความมั่นคงนั้น พรเพ็ญระบุว่า ไม่รู้ว่าตอนนี้รัฐจับใครอยู่ มีหมายจับแค่ไหน ลักษณะการดำเนินคดีกับผู้ต้องสงสัยเป็นไปในลักษณะใด ต้องยืนยันว่าอยากได้คนผิดมาลงโทษทุกคน การฆ่า การวางระเบิดการดำเนินการดังกล่าวที่ผิดกฎหมายและหลักมนุษยธรรมก็ต้องได้รับการลงโทษ แต่อยากให้เกิดการดำเนินการที่เป็นธรรม กรณีพระมหาอภิชาติ ดีใจที่รัฐให้ความสนใจ แต่วิธีจับสึกกลับสร้างให้เกิดความแตกแยกมากขึ้น และอาจทำให้ไทยพุทธที่หวังใช้อภิชาติเป็นการสื่อสารต่อต้านรัฐในแนวทางอื่นๆ หรืออาจจะรู้สึกว่ารัฐไม่ให้ความเป็นธรรมกับเขา
 

ภาครัฐระบุ สถานการณ์ใต้ดีขึ้น วอนช่วยกันลดความชอบธรรมการใช้ความรุนแรงในพื้นที่ 

พลตรีสิทธิ ตระกูลวงศ์ เลขานุการคณะพูดคุยสันติสุขชุดปัจจุบันกล่าวถึงแนวโน้มสถานการณ์ว่า ปัจจุบันค่อนข้างดีขึ้น ความเสียหายของกลุ่มเป้าหมายทั้งครู พระ วัด โรงเรียน ตกเป็นเป้าหมายน้อยลง เหตุระเบิดที่บิ๊กซีถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นเรื่องการรับรู้การปฏิเสธความรุนแรงเพราะมีภาคประชาชน องค์การระหว่างประเทศประณาม ครั้งแรกที่คนกล้าออกมาประณามคนก่อเหตุ

ความรู้สึกเกลียดกลัวมุสลิมในคนไทยพุทธส่วนหนึ่งมาจากข้อมูลเรื่องความมั่นคง ทั้งเรื่องที่แผนของขบวนการบีอาร์เอ็นคือการขับไล่ชาวพุทธ ให้พื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เป็นของมุสลิม และการมองว่าไทยพุทธคือสิ่งแปลกปลอม ฆ่าไทยพุทธได้ถือว่าได้บุญ ซึ่งเป็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่ซักถามคนที่ถูกจับกุมและได้รับการเผยแพร่ออกไป แม้ว่าต่อมาจะพยายามชี้แจงให้ถูกต้องแต่ก็ไม่ฟังกันแล้ว มีการขยายความเข้าใจผิดจากวงหนึ่งไปอีกวงหนึ่ง เอาข้อมูลไปต่อยอดและสร้างความเข้าใจผิด เช่น ความเข้าใจผิดที่ว่าจะมีการใช้ภาษามลายูเป็นภาษาราชการในพื้นที่ชายแดนใต้

พื้นที่เริ่มมีความเสรีมากขึ้น คนเริ่มฟังกันและกัน ในเรื่องการพูดคุย กลุ่มบีอาร์เอ็นในความหมายตนคือคนที่ก่อเหตุในปัจจุบัน แต่ในมุมมองนักวิชาการและเอ็นจีโอเป็นอย่างไรก็ต้องมีความชัดเจน ส่วนข้อคำถามที่ว่าทำไมชุดพูดคุยชุดนี้ไม่คุยกับกลุ่มเดียวแต่ไปคุยกับหกกลุ่มที่เหลือ ตอนแรกที่ทำคือคุยปูโลเพราะตอนนั้นมีกำลังมากที่สุด ต่อมาปูโลแตกก็เป็นกลุ่มบีอาร์เอ็นมาแทนที่ นายกรัฐมนตรีท่านบอกว่ากลุ่มไหนที่มีอิทธิพลก็เรียกมาคุยให้หมด

กรณีป้ายประกาศจับได้มีการสะท้อนให้ผู้ใหญ่ได้รับทราบว่ามันกระทบกับครอบครัว เด็กในพื้นทีี่เอามาใช้ล้อเลียนกัน ควรอยู่กับเจ้าหน้าที่ ดูกันเฉพาะเจ้าหน้าที่ก็พอ ส่วนเรื่องการควบคุมตัว ขั้นต้นด้วยเนื้อหาของพระราชกำหนด (การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน) เป็นการให้ความเป็นธรรมกับผู้ต้องสงสัยมากเพราะเราขังเขาในเรือนจำไม่ได้ ตอนนี้ก็ต้องกลับมาคุยเรื่องสิทธิผู้ต้องสงสัย ต้องดูอีกครั้งว่าจะขับเคลื่อนประเด็นนี้อย่างไร ตอนลงพื้นที่เองก็แจ้งเจ้าหน้าที่ประจำว่าถ้าจับใครก็ต้องแจ้งให้ครอบครัวทราบ

พล.ต. สิทธิระบุว่า ตอนนี้มีตั้งคำสั่ง 230/2557 มีตั้งคณะกรรมการอำนวยการพูดคุยสันติสุข จัดตั้งคณะพูดคุย นำโดยพลเอกอักษรา เกิดผล มีแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนเพื่อกระบวนการสันติสุขชายแดนใต้ ตอนนี้อยู่ในระยะการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ มีการคัดเลือกพื้นที่ปลอดภัยกันอยู่ จากนั้นจะมีคนในพื้นที่รวมถึงฝ่ายที่เห็นต่างเป็นคณะกรรมการจัดการพื้นที่ปลอดภัย การพัฒนามีสิ่งที่น่าสนใจคืออยากให้มีเรื่องการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ส่งเสริมอัตลักษณ์ ภาษาที่ใช้ เรื่องการศึกษาและปัญหายาเสพติดที่ต้องแก้ไขเร่งด่วน

ระยะที่สองเป็นการแสวงหาข้อตกลงร่วมกันว่า ต้องมีเงื่อนไขอะไรที่ทำให้คนกลุ่มหนึ่งไม่สบายใจ ไม่อยากอยู่ใต้การปกครองของรัฐมาจับอาวุธต่อสู้ เมื่อได้เงื่อนไขและสอบถามประชาชนว่ามีความสอดคล้องแล้วจะนำไปสู่การจัดทำโรดแมป รัฐบาลชุดนี้จริงใจแก้ไขปัญหา มีการพูดคุยที่เป็นระบบมากขึ้น มีการประเมินว่าเป็นไปตามแผนมากน้อยหรือไม่อย่างไร

ทั้งนี้ เลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังระบุว่า สิ่งที่อยากให้ช่วยกันสองเรื่องคือ หนึ่ง เรื่องประวัติศาสตร์ เพราะตอนนี้ประวัติศาสตร์ส่วนกลางกับท้องถิ่นมันชนกัน อยากให้มีพิพิธภัณฑ์ในปัตตานี ให้เกิดการเรียนรู้ว่ารากฐานตัวตนของตัวเองทั้งเรื่องที่มาของดินแดนและรากความเป็นมลายู

สอง ยังมีความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรง เป็นค่านิยมคนในพื้นที่ ถ้ามีการวิสามัญขบวนการ พวกไทยพุทธก็จะชอบใจ ในขณะที่อีกฝ่ายบอกว่าเป็นเรืองการละเมิดสิทธิฯ ถ้ามีการฆ่าไทยพุทธ ครู พระ อีกฝ่ายก็พอใจ ถือว่าสมน้ำสมเนื้อ อย่าให้ความรุนแรงเกิดขึ้นวนไปวนมา

ต่อประเด็นบทบาทของกองทัพในการลดความชอบธรรมการใช้ความรุนแรง พล.อ.สิทธิ กล่าวกับประชาไทเพิ่มเติมว่า เจ้าพนักงานก็ต้องควบคุมปฏิบัติการทางทหารและการใช้อาวุธกับเป้าหมายให้จำเพาะลง กองทัพมีระเบียบเรื่องกฎการปะทะ อันไหนยิงได้หรือยิงไม่ได้ มีกฎเรื่องการปิดล้อม ตรวจค้น มีกลุ่มเป้าหมายรับทราบว่าใครอยู่ตรงไหน ถ้าไม่จำเป็นก็อย่าใช้อาวุธ ให้ปิดล้อมเขาแล้วเชิญชวนผู้นำศาสนาบอกให้เขามอบตัว แนวทางการใช้กำลัง ก็ต้องใช้กำลังให้พอดีกับสถานการณ์ ไม่ใช่มีผู้ต้องสงสัยหนึ่งคนยกกองกำลังกันไป 50-60 คน และพยายามลดการใช้อาวุธ เพราะอาวุธไม่ทำให้เกิดประโยชน์ นอกจากบาดแผลและการตอบโต้กันไปมามากกว่า ทางที่ดีคือใช้กฎหมายในทางที่เหมาะสมที่สุด ยกเว้นเหตุปะทะกันซึ่งหน้าก็เป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องป้องกันตัวเองและป้องกันคนอื่น

ต่อคำถามว่า พ.ร.ก. ฉุกเฉินและการบังคับใช้กฎอัยการศึกเป็นปัจจัยเสริมให้มีความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงในพื้นที่หรือไม่ พล.ต.สิทธิเห็นว่า กฎหมายไม่ใช่ความรุนแรงโดยตรง แต่เป็นความรุนแรงทางอ้อม

“กฎอัยการศึกให้อำนาจเจ้าหน้าที่ซึ่งตอนนี้เราบังคับใช้ตัวเดียวคือการระงับเหตุด้วยการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย กฎอัยการศึกให้อำนาจของเจ้าหน้าที่ในการควบคุมตัวผุ้ต้องสงสัย เป็นเวลา 7 วัน ซึ่งผมก็เห็นว่ามันจำเป็นต่อเหตุการณ์ในภาคใต้ที่ต้องระงับเหตุก่อนที่จะเกิด หรือถ้าเราสงสัยใครก็ควบคุมตัวไว้ก่อนเพื่อไม่ให้การก่อเหตุเกิดขึ้น ผมว่ากฎหมายไม่ได้มีปัญหา แต่มันอยู่ที่การเข้าใจของเจ้าหน้าที่ ถ้าใช้เป็นการป้องกันไม่ให้การก่อเหตุเกิดขึ้น และใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหา เรามีกฎหมายเยอะ บางอย่างก็ใช้แก้ปัญหาได้เช่น พ.ร.บ. ความมั่นคงมาตรา 21 ที่ให้มีการอบรมแทนที่จะฟ้องคดีต่อผู้ก่อการโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ก็มีทางออกแบบนั้นอยู่” เลขาฯ คณะพูดคุยฯ กล่าว

ส่วนคำตอบในประเด็นการมีส่วนร่วมของประชาสังคมน้อยลงในประเด็นการเข้าถึงผู้ต้องขังนั้น พล.อ.สิทธิอธิบายว่า เรามีระเบียบฉบับหนึ่งออกตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน พูดถึงการควบคุมตัวว่าต้องแจ้งญาติว่าบุคคลนั้นๆ จะถูกควบคุมตัวไว้ที่ใด แล้วระเบียบการเยี่ยมญาติก็มีอยู่ แต่เราก็จำกัดเฉพาะญาติ พ่อแม่ตามสายเลือดถึงจะเข้าเยี่ยมได้ ก็เหมือนกับผู้ต้องหาคดีความมั่นคงที่ึคนเข้าเยี่ยมได้ต้องเป็นญาติหรือสายเลือดเดียวกัน พ่อ แม่ ลูก เมีย ส่วนภาคประชาสังคมหรือกรรมการสิทธิฯ ถ้าจะเข้ามาก็ต้องร้องขอเป็นรายกรณีไป มีอย่างเดียวคือต้องแจ้งให้หน่วยหรือคนปฏิบัติงานให้ทราบระเบียบดังกล่าวและให้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ผมเข้าใจปัญหาตรงนี้ บางคนเหมารถไปหาลูกแล้วไม่เจอก็กังวลใจว่าปลอดภัยไหม ถ้ารู้สถานที่และเวลาเยี่ยมก็จะสบายใจมากกว่า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net