Skip to main content
sharethis

ผลการศึกษาสามัญที่ตกต่ำต่อเนื่อง ภายใต้บริบทอันซับซ้อนของการศึกษา ศาสนาและอัตลักษณ์ในชายแดนใต้ กับ 3 วิถีการศึกษาของนักเรียนมุสลิม เมื่อเด็กประถมและตาดีกาคือคนเดียวกัน รวมเกือบ 20 วิชาที่ต้องเรียน กำแพงภาษาที่กว่าจะข้ามไปได้ แต่เด็กบางคนก็ไม่อดทนพอ รัฐจะแก้ปัญหาอย่างไร จะบูรณาการวิชาสามัญกับศาสนาได้หรือไม่ เมื่อ “มลายูกับอิสลาม คือจิตวิญญาณของคนที่นี่” โรงเรียนรัฐจะดึงเด็กไว้ได้แค่ไหน ท่ามกลางการศึกษาทางเลือกที่กำลังเติบโต ข้อเสนอ 4 ข้อเพื่อพัฒนาการศึกษาให้สอดคล้องกับพื้นที่ รัฐจะสนใจหรือไม่

เป็นที่รู้กันว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา(สายสามัญ)ในชายแดนใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) ต่ำที่สุดของประเทศต่อเนื่องมาเป็นสิบๆ ปีแล้ว แต่ยังไม่เห็นรัฐบาลปัจจุบันจะมุ่งมั่นแก้ปัญหาอย่างจริงจังเป็นการเฉพาะ ทั้งที่เป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ของพื้นที่ และเป็นเงื่อนไขสำคัญของความขัดแย้งมาตั้งแต่อดีต

อีกทั้ง ในโอกาสของความพยายามสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในพื้นที่จากฝ่ายต่างๆ การแก้ปัญหาการศึกษาจึงเป็นเงื่อนไขหนึ่งของการสร้างสันติภาพด้วยเช่นกัน

ผลสอบ O-NET ที่ตกต่ำต่อเนื่อง

ผลคะแนนเฉลี่ยจากการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ครั้งล่าสุดในปีการศึกษา 2564 ในวิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ทั้งระดับชั้น ป.6 และ ม.3 และ วิชาภาษาไทย สังคมศึกษา ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ระดับชั้น ม.6 ของทั้ง 3 จังหวัดอยู่อันดับสุดท้ายทั้งหมด

บางทีได้ หากให้นักเรียนใน 3 จังหวัดโดยเฉพาะเด็กมลายูมุสลิมเรียนแค่ 4-5 วิชาข้างต้น และไม่มี“กำแพงภาษา” ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษานี้อาจจะดีขึ้นมากๆ ก็เป็นได้ แต่ความจริงอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้น

เพราะระบบการศึกษาดั้งเดิมของพื้นที่มีอยู่แล้ว ประกอบกับปัจจัยทางสังคมและวัฒนธรรม ทำให้ความต้องการทางการศึกษาของคนในพื้นที่มีความหลากหลาย ไม่เฉพาะวิชาสามัญเท่านั้น ปัจจัยหลายๆ อย่างเหล่านั้น จึงกลายเป็นอุปสรรคด้านในการเรียนการสอนขั้นพื้นฐานและการเรียนรู้ในแบบเรียนที่ใช้ภาษาไทยเป็นหลัก

ศาสนา-อัตลักษณ์ บริบทอันซับซ้อนในชายแดนใต้

ด้วยความทับซ้อนของโครงสร้างอัตลักษณ์พื้นฐานของสังคม “มุสลิม” “มลายู” “ปาตานี” ใน 3 จังหวัดนั้น ระบบการศึกษาดั้งเดิมของพื้นที่จึงให้ความสำคัญกับการศึกษาศาสนาอิสลาม และใช้ภาษามลายูในการเรียนการสอนอย่างแนบแน่นจนถึงปัจจุบัน

สำคัญถึงขนาดระบบการศึกษาของรัฐยังต้องนำหลักวิชาอิสลามศึกษามาสอนเพิ่มด้วย เพื่อตอบสนองความต้องการทางการศึกษาของผู้ปกครองที่ต้องการให้เด็กมีความรู้ทั้งศาสนาและทางโลกไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้เด็กสามารถดำรงตนเป็นศาสนิกที่ดีของสังคม

ขณะที่สถานศึกษาศาสนาควบคู่สามัญที่จัดตั้งโดยคนในพื้นที่เอง มักใช้ภาษามลายูในการถ่ายทอดวิชาความรู้ศาสนา โดยเฉพาะโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม

ส่วนสถานศึกษาที่สอนศาสนาอย่างเดียว เช่น ตาดีกา (ศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด) และ สถาบันศึกษาปอเนาะ ใช้ภาษามลายูอย่างเดียว ซึ่งเป็นภาษาหลักที่ใช้สื่อสารกันในชีวิตประจำวันของคนในพื้นที่

แต่ก็มี ตาดีกา บางแห่ง ที่อยู่ในเขตเมืองที่เริ่มใช้ภาษาไทยในการเรียนการสอนศาสนาควบคู่กับภาษามลายูแล้ว เพราะเด็กในเมืองเริ่มใช้ภาษามลายูลดลง ส่วนใหญ่จะใช้ภาษาไทยในชีวิตประจำวัน

สถานศึกษาเหล่านี้ ยังสอนภาษาอาหรับด้วย ซึ่งเป็นภาษาทางศาสนาเพื่อให้เด็กสามารถศึกษาคัมภีร์อัลกุรอานได้อย่างถูกต้อง

ทั้ง 3 สถาบันการศึกษา คือ ตาดีกา ปอเนาะและโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ยังถ่ายทอดความรู้ที่ครอบคลุมไปถึงจารีต ประเพณี และวัฒนธรรมมลายูปาตานีด้วย

ทว่า เนื้อหาโดยตรงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ “ปาตานี” ด้านการเมืองการปกครองซึ่งอาจเสี่ยงต่อภัยความมั่นคงจากรัฐ ไม่ถูกนำมาถ่ายทอดผ่านระบบการเรียนการสอนในสถานศึกษา

3 วิถีการศึกษาของนักเรียนมุสลิม

ระบบการศึกษาของไทยภายใต้ พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ระบุว่า เด็กและเยาวชนไทยต้องได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานในระบบโรงเรียนของรัฐทุกสังกัด ไม่น้อยกว่า 12 ปี ซึ่งก็คือการเรียนระดับประถม 6 ปี และมัธยมศึกษา 6 ปี ในเวลาเวลาเรียนปกติ ตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.00 ถึง 15.30 น.

ทว่าสำหรับ เด็กมลายูมุสลิมในระดับชั้นประถม นอกจากต้องเรียนในโรงเรียนประถมของรัฐแล้ว พวกเขายังต้องเรียนตาดีกาในวันเสาร์-อาทิตย์ (บางแห่งสอนตาดีกาในช่วงค่ำทุกวัน ยกเว้นวันพฤหัส)

หลังเลิกเรียนประถมและตาดีกาเด็กจะมีเวลาเล่นนิดหน่อย จนถึงช่วงค่ำเด็กก็จะต้องไปเรียนการฝึกอ่านคัมภีร์อัลกุรอ่านจากครูในชุมชนใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง (ในช่วงคั่นเวลาระหว่างละหมาดมัฆริบ และละหมาดอีชา) ซึ่งระบบหรือรูปแบบการสอนก็จะมีหลากหลายเช่นกัน

ภาพนักเรียนศาสนา

การเรียนและการฝึกทักษะการอ่านคัมภีร์อัลกุรอ่านนั้น เป็นเรื่องสำคัญสำหรับมุสลิมเพราะเป็นที่มาหนึ่งของหลักศาสนาอิสลาม การเริ่มต้นเรียนศาสนาของเด็กมุสลิมที่พ่อแม่ผู้ปกครองจะสอนลูกหลานตั้งแต่เล็กๆ คืออัลกุรอ่าน

สรุปคือ วิถีการเรียนในระดับขั้นพื้นฐานของเด็กมลายูมุสลิมในพื้นที่โดยทั่วไปจะต้องใช้เวลาเรียน 3 ระบบพร้อมๆ กัน คือ สายสามัญ สายศาสนาและอัลกุรอ่าน เพราะฉะนั้นวันเสาร์-อาทิตย์ไม่ใช่วันหยุดสำหรับพวกเขา

เด็กประถมและตาดีกาคือคนเดียวกัน

เมื่อเด็กเรียนจบชั้นประถมไปแล้ว เด็กก็จะเรียนจบตาดีกาไปพร้อมกัน เพราะมีการจัดลำดับชั้นเรียนให้เด็กจบพร้อมกัน เพราะเด็กประถมกับเด็กตาดีกาคือคนเดียวกัน ยกเว้นเด็กที่เรียนในโรงเรียนระดับประถมของเอกชนที่สอนศาสนาอิสลามควบคู่สามัญก็จะไม่เรียนตาดีกา เพราะได้เรียนวิชาศาสนาขั้นพื้นฐานอยู่แล้ว

เมื่อเด็กเรียนจบชั้นประถม ส่วนใหญ่ก็จะเข้าเรียนต่อระดับมัธยมในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามก็จะได้เรียนทั้งวิชาสามัญและศาสนาในระดับที่สูงขึ้นไปพร้อมกันด้วยเช่นกัน

แน่นอนว่า เมื่อเด็กต้องเรียนทั้งสายสามัญและสายศาสนาไปพร้อมกัน จำนวนวิชาที่เรียนก็ต้องเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย บางโรงเรียนโดยเฉพาะโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามต้องใช้เวลาสอนตั้งแต่ 8 โมงถึง 5 โมงเย็นก็มี

ด้วยเหตุนี้ ทำให้เด็กมุสลิมในพื้นที่ต้องใช้เวลาไปกับการเรียนมากกว่าเด็กทั่วๆ ไปในประเทศไทย รวมๆ แล้วอาจสูงถึง 20 วิชา คือ วิชาในโรงเรียนประถมกับวิชาเรียนในตาดีกา และ วิชาศาสนากับสามัญในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม

ทำไมต้องมีอิสลามศึกษาควบคู่สามัญ

เหตุใด จึงต้องให้ความสำคัญกับการศึกษาศาสนาพร้อมกับสายสามัญ ก็เพราะ “ในบ้านเราศาสนาเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเป้าหมายและแบบแผนของชีวิต เรามองความสำเร็จอยู่ที่การดำเนินชีวิตตามหลักศาสนา นี่คือคติ ค่านิยมและความเชื่อของมุสลิม”

นั่นคือคำอธิบายของ “ดิเรก เหมนคร” ผู้อำนวยการโรงเรียนรักษ์อิสลาม อ.เทพา จ.สงขลา

เขายืนยันว่า “เด็กควรได้เรียนเรื่องจิตวิญญาณก่อนคือวิชาศาสนา เพราะเกี่ยวข้องกับความเป็นพลเมือง ความสัมพันธ์ของคนและความยุติธรรม ไม่ใช่เรื่องพิธีกรรมอย่างเดียว”

คำกล่าวนี้สะท้อนเป้าหมายของผู้ปกครองส่วนใหญ่ที่อยากให้ลูกหลานได้เรียนศาสนาขั้นพื้นฐานตั้งแต่เด็กๆ เพื่อใช้ในชีวิตประจำวันตามควรลองของอิสลามก่อนจะเรียนวิชาในทางโลกตามมา

อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน โรงเรียนประถมของรัฐได้ยืดหยุ่นมากขึ้น และปรับการเรียนการสอนให้สอดรับกับบริบทของแต่ละพื้นที่มากขึ้น หลายโรงเรียนได้ออกแบบหลักสูตรให้เข้ากับข้อตกลงทางศาสนาและข้อตกลงของชุมชนท้องถิ่น เช่น มีการสอนวิชาอิสลามศึกษาในชั้นประถม ให้มีช่วงเวลาละหมาดและจัดห้องละหมาดให้นักเรียน รวมถึงปรับกฎระเบียบด้านการแต่งกายให้สอดคล้องกับคำสอนทางศาสนา

กำแพงภาษา กว่าจะข้ามไปได้

การที่ต้องเรียนเยอะ อาจไม่ได้ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีเหตุผลอื่นๆ อีกหลายอย่างด้วย หนึ่งในนั้นคือ “กำแพงภาษา”

เนื่องจากผู้ปกครองและเด็กนักเรียนส่วนใหญ่ในพื้นที่มีภาษามลายูเป็น ‘ภาษาแม่’ และเป็นภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เด็กฟังและพูดภาษามลายูมาตั้งแต่เกิด

เมื่อเด็กเริ่มเข้าเรียนในโรงเรียนประถมที่ใช้ภาษาไทยในการเรียนการสอน ปัญหาจึงเกิดขึ้นทันที เพราะเท่ากับว่าพวกเขาต้องเรียนหนังสือด้วยภาษาไทยที่เป็นภาษาราชการ ซึ่งเป็นภาษาที่สองสำหรับพวกเขาที่พวกเขาไม่เข้าใจ

กว่าที่เด็กมลายูมุสลิมจะเข้าใจภาษาไทยให้ดีขึ้น ก็ต้องเสียเวลาไปกับการเริ่มทำความคุ้นเคยในโลกของภาษาที่สอง ผ่านการสื่อสารอย่างง่ายๆ ทั้งการฟังและการพูดจากครูผู้สอน

อาจบอกได้ว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา(สายสามัญ) ที่ตกต่ำลงส่วนหนึ่งก็เกิดจากกำแพงภาษานี้เอง

เด็กบางคนก็ไม่มีความอดทนพอ

ขณะที่เด็กบางคนก็ไม่มีความอดทนพอกับการที่ต้องพยายามข้ามกำแพงภาษานี้ไปให้ได้ และอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เด็กบางส่วนหลุดออกจากระบบการศึกษาไป

สถานการณ์เช่นนี้ ทำให้โรงเรียนของรัฐหลายแหล่งตัดสินใจเข้าร่วมโครงการจัดการศึกษาแบบทวิ-พหุภาษา (ภาษาไทย-มลายูถิ่น) ซึ่งต่อยอดมาจากโครงการวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลารับช่วงนำมาดำเนินงานต่อในระดับท้องถิ่น

การจัดการศึกษาแบบทวิ-พหุภาษา กลายเป็นสะพานที่ทำให้เด็กสามารถเรียนรู้ภาษาไทยได้ดีกว่าเดิม ซึ่งส่งผลไปถึงการมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่ดีขึ้นตามมาในกลุ่มเด็กที่เข้าร่วมโครงการ

ความพยายามของรัฐ

เนื่องจากวิถีชีวิตคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ผูกพันกับหลักคำสอนทางศาสนาอิสลาม และมีความเป็นมลายูอย่างเข้มข้น แต่ยังจำเป็นต้องเรียนรู้วิชาทางโลกเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพด้วย ระบบการศึกษาทางเลือกจึงเกิดขึ้นมากมายหลายรูปแบบในพื้นที่ตามความต้องการทางการศึกษา

แม้แต่รัฐเองก็ยังต้องส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ แต่ข้อเรียกร้องให้ “รัฐพัฒนาการศึกษาให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนในพื้นที่” ก็ยังเป็นหนึ่งในข้อเสนอแรกๆ ของการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้

เป็นข้อเสนอที่หมายถึง การพัฒนาการศึกษาศาสนา อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมควบคู่การศึกษาในสายสามัญ รวมถึงสายอาชีพ

ทว่า ระบบการศึกษาที่มีอยู่อย่างหลากหลายในพื้นที่นั้น ต่างก็มีประเด็นปัญหาแตกต่างกันไป การที่จะบูรณาการวิชาความรู้ทางศาสนากับสามัญ เพื่อลดภาระและเวลาเรียนของเด็กลง แต่ยังต้องตอบสนองความต้องการทางการศึกษาของพื้นที่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

5 สาย การศึกษาของเด็กมลายูมุสลิม

สำหรับระบบการศึกษาและสถานศึกษาที่มีอยู่ในพื้นที่ที่เด็กมลายูมุสลิมส่วนใหญ่เข้าเรียน ได้แก่

  1. สายสามัญอย่างเดียวส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนของรัฐ ทั้งระดับประถมและมัธยม บางโรงใช้หลักสูตรอิสลามศึกษาแบบเข้มควบคู่กับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551
  2. สายศาสนาควบคู่สามัญ ได้แก่ โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามระดับมัธยม ส่วนระดับประถมเริ่มมีมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
  3. สายศาสนาอย่างเดียว มีหลายประเภท ได้แก่ ตาดีกา สถาบันศึกษาปอเนาะ โรงเรียนท่องจำคัมภีร์อัลกุรอ่าน ซึ่งแยกเป็นสำหรับผู้ชายเรียกว่า โรงเรียนฮาฟิซ สำหรับผู้หญิงเรียกว่า โรงเรียนฮาฟิเซาะห์ นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนอาลิม(สำหรับผู้ชาย) โรงเรียนอาลีมะห์(สำหรับผู้หญิง)

สถานศึกษาเหล่านี้เป็นสถานศึกษาที่อยู่ประจำ มีหอพักสำหรับนักเรียน ยกเว้นตาดีกา

  1. การศึกษาสายอาชีพ คือวิทยาลัยอาชีวะ วิทยาลัยเทคนิค
  2. การศึกษาสายอาชีพควบคู่ศาสนา ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามที่สอนศาสนาควบคู่สามัญเดิม แต่เพิ่มแผนกวิชาชีพ

“ตาดีกา-ปอเนาะ” สถานศึกษาดั้งเดิมที่ยังคงอยู่

ตาดีกา และ ปอเนาะ เป็นระบบการศึกษาเก่าแก่และดั้งเดิมที่อยู่คู่กับชุมชนมุสลิมมานาน โดยตาดีกา เป็นสถานที่อบรมศาสนาขั้นพื้นฐานแก่เด็กอายุ 6 - 12 ปี ให้มีความรู้ศาสนาภาคบังคับสำหรับมุสลิมทุกคนที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน เรียกว่า “ฟัรฎูอีน” (Fardu-in) ส่วนครูผู้สอนก็เป็นคนในชุมชน

โดยปกติตาดีกาเปิดสอนทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ส่วนวันจันทร์-ศุกร์เด็กๆ ต้องไปโรงเรียนประถมของรัฐ แต่ตาดีกาบางแห่งเปิดสอนช่วงค่ำ เป็นระบบชั้นเรียนที่ให้เด็กจบหลักสูตรพร้อมกับจบชั้น ป.6

ปัจจุบันมีตาดีกา กว่า 2,000 แห่ง(รวมใน จ.สตูล) มีครูผู้สอนราวๆ 15,000 คน และนักเรียนอีกกว่า 200,000 คน

ตาดีกา เป็นคำย่อของ Taman Didikan Kanak-kanak (TADIKA) แปลว่า อุทยานการเรียนรู้ของเด็กๆ

คำว่า ตาดีกา ถูกนำมาใช้แทนที่คำว่า “Sekolah Melayu” (โรงเรียนมลายู) ราวปี พ.ศ.2494 (หลังจากมีนโยบาย “รัฐนิยม” ของจอมพล ป.พิบูลสงคราม) เพื่อไม่ให้ซ้ำกับคำว่า “โรงเรียน” (Sekolah) ของรัฐที่บังคับให้เด็กมุสลิมเข้าเรียน

สถานบ่มเพาะความเป็น “มลายู มุสลิม ปาตานี”

ตาดีกาเน้นสอนหลักศรัทธา หลักศาสนกิจ และคุณธรรมจริยธรรม โดยใช้ภาษามลายูในการเรียนการสอน จึงทำให้ตาดีกามีบทบาทสำคัญในการธำรงอัตลักษณ์ความเป็น “มลายูมุสลิมปาตานี” ที่ฝ่ายความมั่นคงระแวง เพราะเชื่อมโยงกับความภูมิใจในประวัติศาสตร์ของพื้นที่ แต่พี่น้องมุสลิมกว่า 80% ก็ยังส่งลูกหลานเข้าเรียนตาดีกา

ส่วน “ปอเนาะ” (Pondok-แปลว่า โรงแรม, ที่พัก, กระท่อม ฯลฯ) เป็นสถานศึกษาสำหรับเด็กโตขึ้นไปซึ่งไม่จำกัดอายุและระยะเวลาเรียน เป็นการเรียนตำราศาสนาแบบเล่มต่อเล่ม มีโต๊ะครูเป็นผู้สอนคนเดียว แต่อาจมีผู้ช่วยสอนบ้าง

ในอดีต ทั้งตาดีกาและปอเนาะต้องปรับตัวหลายครั้งจากนโยบายของรัฐ (ทั้งที่จำใจหรือถูกบังคับ) ซึ่งปอเนาะหลายแห่งได้พัฒนามาเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาในปัจจุบัน

ถึงกระนั้น ตาดีกาและปอเนาะแบบดั้งเดิมก็ยังมีอยู่อย่างเข้มแข็ง แม้หลายครั้งถูกสงสัยว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาความไม่สงบก็ตาม

รัฐกับการจัดการตาดีกา

รัฐเริ่มให้ความสำคัญกับตาดีกาในปี 2540 โดยอุดหนุนค่าตอบแทนครูแห่งละ 2,000 บาทต่อปี ต่อมาในปี 2555 ก็ปรับเพิ่มเป็นเดือนละ 3,000 บาทต่อคน แต่ไม่เกิน 6 คน

ปัจจุบัน รัฐกำหนดให้ตาตีกาใช้ “หลักสูตรอิสลามศึกษาฟัรฎูอีนประจำมัสยิด ระดับอิสลามศึกษาตอนต้น (อิบตีดาอียะห์) พุทธศักราช 2559” ซึ่งหลักสูตรนี้เกิดจากความร่วมมือของหลายฝ่ายในพื้นที่

ถึงกระนั้น ตาดีกาหลายแห่งก็ไม่อยากใช้หลักสูตรที่รัฐจัดทำให้นี้ แต่หันไปใช้หลักสูตรตาดีกา ปี พ.ศ.2556/ฮ.1434 ของมูลนิธิศูนย์ประสานงานตาดีกาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ PERKASA และใช้ตำราเรียนของ PERKASA ด้วย แม้ว่าทั้ง 2 หลักสูตรมีเนื้อหาไม่แตกต่างกันมาก

สำหรับหลักสูตรตาดีกาของรัฐมี 9 สาระการเรียนรู้ ได้แก่

  • วิชาอัลกุรฺอาน อัลฮะดีษ(วัจนะท่านศาสดา)
  • วิชาอัลอะกีดะฮฺ (หลักศรัทธา)
  • วิชาอัลฟิกฮ์ (ศานบัญญัติ)
  • วิชาอัลอัคลาก (จริยธรรม)
  • วิชาอัตตารีค (ประวัติศาสตร์อิสลาม)
  • วิชาภาษาอาหรับ
  • วิชาภาษามลายูอักษรยาวีและภาษามลายูอักษรรูมี
  • และมีสาระวิชาเพิ่มเติม คือ ภาษาอังกฤษ และภาษามลายูหรือภาษาอาหรับเพื่อการสื่อสาร

ส่วนหลักสูตรของ PERKASA มี 10 สาระการเรียนรู้ คือมีวิชาคณิตศาสตร์เพิ่มเติม

เกือบ 20 วิชา ที่เด็กต้องเรียน

เมื่อนักเรียนตาดีกากับประถมเป็นคนเดียวกัน ทำให้เด็กต้องเรียนไม่มีวันหยุด และต้องใช้เวลาเรียนรวมกันมากถึง 6-7 ชั่วโมงต่อวันตลอดสัปดาห์ (ประถมวันละ 5 ชั่วโมง 5 วันต่อสัปดาห์/ตาดีกาวันละ 5 ชั่วโมง 2 วันต่อสัปดาห์ และเรียนการอ่านคัมภีร์อัลกุรอ่านอีกวันละ 1-2 ชั่วโมง ในช่วงค่ำ 6 วันต่อสัปดาห์-หยุดทุกวันพฤหัส)

สำหรับการเรียนอัลกุรอ่าน หลักๆ มี 2 ระบบ คือ ระบบกาดัมแบบดั้งเดิม และระบบกีรออาตี

หากนับรวมวิชาที่เด็กคนหนึ่งต้องเรียนทั้งหมด (รวมประถมและตาดีกา) มีมากถึง 17-18 วิชาต่อสัปดาห์ (ตาดีกา 9-10 วิชา/ประถม 8 วิชา) หากนับรวมสาระวิชาเพิ่มเติมด้วยก็ 20 วิชา

ด้วยสภาพการณ์เช่นนี้เองที่มักถูกยกมาอธิบายว่า เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผลสอบ O-net ของเด็กมลายูมุสลิมตกต่ำ เพราะเด็กต้องเรียนเยอะเกินไป

ระดับผลการทดสอบ O-net ดังกล่าว ก็ไม่ค่อยต่างจากนักเรียนในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามมากนัก เพียงแต่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามสอนทั้งวิชาศาสนาและวิชาสามัญ เพราะใช้ 2 หลักสูตรพร้อมกัน

นั่นคือ หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ที่มี 7-8 วิชา และหลักสูตรอิสลามศึกษา พ.ศ.2546 ที่มี 8-9 วิชา โดยส่วนใหญ่ใช้วิธีแบ่งเวลาเรียนหลักสูตรละครึ่งวัน

ตาดีกา –ประถม จะบูรณาการกันได้หรือไม่

อับดุลมุไฮมิน สาและ ประธานมูลนิธิศูนย์ประสานงานตาดีกาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ PERKASA บอกว่า เพื่อไม่ให้เด็กต้องเรียนมากเกินไปทั้งศาสนาและสามัญ ที่ผ่านมามี 2 ข้อเสนอ คือ

  1. บูรณาการวิชาเรียนตาดีกากับวิชาเรียนตามหลักสูตรแกนกลางฯ คือ วิชาไหนที่มีเนื้อหาคล้ายๆ กันก็ควบรวมให้เป็นวิชาเดียว
  2. นำโรงเรียนตาดีกาเข้าระบบการศึกษาแบบเต็มรูปแบบ

ทว่า อับดุลมุไฮมิน บอกว่า ทั้ง 2 แนวทางนั้นน่าจะทำได้ยากพอๆ กัน

อับดุลมุไฮมิน สาและ ประธานมูลนิธิศูนย์ประสานงานตาดีกาจังหวัดชายแดนภาคใต้

แนวทางแรกทำได้ โดยมีข้อเสนอคือ รัฐต้องลดวิชาสามัญลงแล้วเพิ่มวิชาศาสนา แล้วแบ่งเวลาเรียนคนละครึ่งวันก็ได้ และใช้ 2 ภาษาคือไทยและมลายู

“เรื่องนี้พูดคุยกันมาหลายครั้งแล้ว ซึ่งฝ่ายรัฐต้องการให้ลดวิชาศาสนาเหลือแค่ 3 วิชา แต่ไม่ต้องการลดวิชาและเวลาเรียนในสายสามัญ”

ส่วนอีกแนวทาง รัฐพยายามนำตาดีกาเข้ามาอยู่ในระบบแบบเต็มรูปแบบ เช่น จัดหลักสูตรตาดีกาให้มี 2 ช่วงชั้น มี 8 สาระการเรียนรู้ แต่มีหลายตาดีกาที่ไม่เอา เพราะต้องการคงอัตลักษณ์ดั้งเดิมของตาดีกาเอาไว้

“มลายูกับอิสลาม คือจิตวิญญาณของคนที่นี่”

ประธาน PERKASA ยังบอกด้วยว่า ตาดีกาให้ความสำคัญกับภาษามลายูในฐานะภาษาแม่ของมุสลิมที่นี่ แต่ “จะให้เราเน้นสอนภาษาไทยได้อย่างไร ในเมื่อเด็กเรียนภาษาไทยอยู่แล้วถึง 5 วันต่อสัปดาห์ในโรงเรียนประถม”

สิ่งนี้ อับดุลมุไฮมิน สะท้อนถึงความพยายามของรัฐ โดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคงที่ต้องการให้ตาดีกาสอนด้วยภาษาไทย และเพิ่มเนื้อหา “ความเป็นไทย” เข้าไปในการเรียนการสอน

“เพราะคนที่นี่ใช้ภาษามลายู ก็ต้องสอนด้วยภาษามลายูจึงจะทำให้เขาเข้าใจอิสลามได้ดีที่สุด”

เขาย้ำถึงบทบาทของภาษามลายูว่า มีความสำคัญด้านการเรียนการสอนศาสนาอิสลามมาตั้งแต่อดีต “ภาษามลายูกับศาสนาอิสลามเปรียบเสมือนจิตวิญญาณของคนที่นี่เลยครับ”

เพราะเหตุนี้ PERKASA จึงได้จัดทำหลักสูตรขึ้นมาเองและผลิตตำราเรียนเองที่เป็นภาษามลายูและภาษาอาหรับ ขายให้ตาดีกานำไปใช้สอนเด็ก แต่ก็ไม่ได้บังคับว่า ตาดีกาไหนจะเลือกใช้หลักสูตรใดและตำราของใคร

โรงเรียนประถมเอกชน 2 หลักสูตร

แม้ว่าทั้ง 2 วิธีการนั้นยากที่จะทำได้ แต่มีแนวทางที่ง่ายกว่านั้นและก็เริ่มมีขึ้นแล้ว นั่นคือ การเปิดโรงเรียนเอกชนระดับประถมที่สอนศาสนาควบคู่สามัญ เหมือนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามที่เปิดสอนในระดับมัธยม

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีการเปิดโรงเรียนเอกชนระดับประถมในลักษณะนี้มากขึ้นในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตัวอย่าง เช่น โรงเรียนรักษ์อิสลาม ใน อ.เทพา จ.สงขลา ของดิเรก เหมนคร นั่นเอง

โรงเรียนรักษ์อิสลาม

โรงเรียนเหล่านี้ ได้บูรณาการเนื้อหาความรู้ศาสนากับวิชาสามัญได้ในระดับหนึ่ง เพื่อให้เด็กไม่ต้องเรียนมากเกินไป แต่ก็ไม่ทั้งหมด ซึ่ง ผอ.ดิเรก บอกว่า ยังไม่สามารถบูรณาการได้จริง เพราะมีหลักสูตรแกนกลางฯ ของรัฐล็อคไว้อยู่

ผอ.ดิเรก บอกว่า มีโรงเรียนเปิดใหม่เริ่มที่ระดับอนุบาลและประถมมากขึ้น ส่วนโรงเรียนเอกชนฯระดับมัธยมเดิมก็เปิดแผนกอนุบาลและประถมเพิ่มขึ้นด้วย และนับวันก็ยิ่งขยายใหญ่โต เหตุผลเพราะรัฐอุดหนุนค่าหัวเด็กนั่นเอง

ผลที่ตามมาก็คือ มีเด็กเข้าเรียนในโรงเรียนของรัฐน้อยลง

“เพราะค่านิยมของผู้ปกครองที่อยากให้ลูกหลานเริ่มต้นเรียนทั้ง 2 สายในระบบตั้งแต่ชั้นประถม แทนที่จะไปเริ่มหลังจบ ป.6 ในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามอย่างที่เป็นมา ซึ่งมันช้าไปแล้ว”

นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อที่ว่า โรงเรียนเอกชนน่าจะสอนดีกว่าโรงเรียนรัฐ ผู้ปกครองไว้ใจและเชื่อมั่นว่าเด็กจะอยู่ในบรรยากาศความเป็นอิสลามมากกว่าโรงเรียนของรัฐด้วย ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย การดำเนินชีวิตและการปฏิบัติศาสนกิจ

“ข้อดีคือ ทำให้เด็กรู้ศาสนาขั้นพื้นฐานผ่านระบบโรงเรียนได้เร็วขึ้น แล้วค่อยไปเลือกเรียนในสายที่ชอบในระดับที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเรียนต่อสายศาสนา สายสามัญ หรือสายอาชีพ”

อิสลามศึกษา(แบบเข้ม) ดึงเด็กเข้าโรงเรียนรัฐ

การเข้าเรียนในโรงเรียนของรัฐน้อยลง เป็นปรากฏการณ์ที่มีมาต่อเนื่องหลายสิบปีแล้ว โดยเฉพาะในระดับมัธยม เพราะเด็กมุสลิมส่วนใหญ่จะเข้าเรียนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามที่เปิดสอนทั้งสายสามัญและศาสนา

ปรากฏการณ์นี้เริ่มขยายมาสู่ระดับประถมมากขึ้น เมื่อมีโรงเรียนเอกชนระดับประถมที่เปิดสอนทั้งสองสายมากขึ้น อย่างที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งรัฐก็ไม่ไดนิ่งนอนใจ

ที่ผ่านมาภาครัฐเองพยายามตอบสนองความต้องการด้านการศึกษาของคนในพื้นที่มากขึ้น โดยเฉพาะในด้านการเรียนการสอนวิชาศาสนา โดยออกหลักสูตรอิสลามศึกษาตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ทั้งระดับประถมและมัธยม

หลักสูตรนี้เรียกสั้น ๆ ว่า “หลักสูตรอิสลามศึกษาแบบเข้ม”หรือ" โรงเรียน 2 ระบบ" โดยเพิ่มการสอนอิสลามศึกษาจากเดิมสัปดาห์ละ 2 ชั่วโมงเป็น 8–10 ชั่วโมง ประกอบด้วย สาระวิชาอัล-กุรอาน สาระอัล- หะดีษ  สาระอัล- อะกีดะฮฺ(หลักศรัทธา) สาระอัล- ฟิกฮฺ (บัญญัติศาสนา) สาระอัตตารีค (ศาสนประวัติ) สาระอัล- อัคลาก (จริยธรรม) สาระภาษาอาหรับ และสาระภาษามาลายู/ภาษาอาหรับเสริม

คนที่จบจากโรงเรียนที่ใช้หลักสูตรนี้จะได้วุฒิการศึกษาทั้งด้านสามัญและศาสนา แต่ก็ไม่บังคับว่าทุกโรงเรียนต้องนำไปใช้

ทว่า เหตุผลที่แท้จริง คือเพื่อดึงผู้ปกครองให้ส่งลูกหลานเข้าโรงเรียนรัฐให้มากขึ้น เพราะส่วนใหญ่จะส่งเข้าเรียนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามที่สอนศาสนาควบคู่สามัญ หรือไม่ก็ส่งไปเรียนศาสนาอย่างเดียวในสถาบันปอเนาะ หรือส่งไปเรียนต่อในต่างประเทศเสียเลย

ถึงกระนั้น แนวโน้มการเข้าเรียนโรงเรียนรัฐก็ยิ่งลดลงอยู่ดี ซึ่ง ผอ.ดิเรก มองว่า เพราะผู้ปกครองเชื่อใจ โรงเรียนประถมเอกชน 2 หลักสูตรมากกว่า เพราะทำให้เด็กอยู่ในบรรยากาศอิสลามมากกว่าโรงเรียนรัฐนั่นเอง

โรงเรียนท่องจำอัลกุรอาน ทางเลือกที่กำลังเติบโต

ไม่เฉพาะโรงเรียนประถมเอกชน 2 หลักสูตรเท่านั้นที่กำลังเติบโต จนทำให้เด็กเข้าเรียนโรงเรียนรัฐน้อยลง แต่ยังมีอีกหนึ่งระบบการศึกษาทางเลือกรูปแบบใหม่ในสายศาสนา ที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

นั่นคือ “โรงเรียนท่องจำคัมภีร์อัลกุรอ่าน” หรือเรียกว่า “โรงเรียนฮาฟิซอัลกุรอ่าน” (สำหรับผู้ชายเรียกว่า โรงเรียนฮาฟิซ สำหรับผู้หญิงเรียกว่าโรงเรียนฮาฟิเซาะห์)

ในช่วง 10 ปีมานี้ มีการเปิดโรงเรียนท่องจำคัมภีร์อัลกุรอ่านหลายแห่งในประเทศไทย (แต่ยังไม่มีใครเก็บข้อมูลสถิติอย่างเป็นทางการ)

ฮาฟิซอัลกุรอ่าน หรือ ตะห์ฟิซอัลกุรอ่าน เป็นรูปแบบโรงเรียนประจำสำหรับเด็กที่จบชั้น ป.6 แล้ว (เด็กโตก็รับเข้าเรียนได้เช่นกัน) ใช้เวลาเรียน 3-4 ปี เมื่อท่องจำอัลกุรอ่านทั้งเล่มแล้ว เด็กหลายคนจะกลับไปเรียนชั้นมัธยมต่อ หรือบางแห่งก็ให้เด็กเรียน กศน.ไปพร้อมกัน

นายมูซอ หะยีอาแว ผู้อำนวยการโรงเรียนมฮัดซะห์เราะอฺ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ซึ่งรับเฉพาะเด็กผู้หญิง(ฮาฟีเซาะห์) บอกว่า ระบบฮาฟิซจะสอนควบคู่กับหลักอิสลามทั่วไป โดยมีหลักการ คือการเรียนศาสนาต้องเริ่มด้วยการท่องจำอัลกุรอาน ซึ่งนักปราชญ์อิสลามส่วนใหญ่เมื่ออายุ 10 ขวบก็ท่องจำอัลกุรอานทั้งเล่มแล้ว

“มีแรงดึงดูดหลายอย่างที่ผู้ปกครองอยากส่งลูกหลานมาเรียน ทั้งเรื่องผลบุญ รวมถึงอยากให้เด็กอยู่ในกรอบศาสนาและอยากพ้นจากความยุ่งเหยิงของสื่อสังคมออนไลน์”

จากประสบการณ์ในต่างประเทศพบว่า เด็กที่ผ่านระบบฮาฟิซแล้วเมื่อกลับไปเรียนต่อสายสามัญหรือสายอื่นจะเรียนได้ดีขึ้นและเร็วขึ้นกว่าเดิม

มูซอ เล่าว่า ระบบฮาฟิซอัลกุรอ่าน มีที่มาจากแคว้นฮินดูสถาน (อินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศและศรีลังกา) ในกลุ่มดะวะห์ตับลิฆ (กลุ่มนักเผยแพร่ศาสนา) คนไทยที่เข้าร่วมกลุ่มนี้ก็นำระบบนี้กลับมาด้วย

โดยโรงเรียนฮาฟิซอัลกุรอ่านแห่งแรกตั้งขึ้นที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว แต่ในช่วง 10 ปีหลังมานี้เริ่มขยายตัวมากขึ้น เนื่องจากมีนักเรียนที่เรียนจบระบบฮาฟิซอัลกุรอ่านที่ศูนย์ดะวะห์ที่ จ.ยะลา เป็นพันคน

“หลายคนกลับไปเปิดโรงเรียนฮาฟิซที่บ้านจนขยายตัวมากในปัจจุบัน” ส่วนโรงเรียนฮาฟิซฮาฟีเซาะห์ (สำหรับผู้หญิง) แห่งแรกเปิดที่ ต.แม่ขรี อ.ตะโหมด จ.พัทลุง น่าจะประมาณ 20 กว่าปีมาแล้ว

มูซอ บอกว่า เป้าหมายของโรงเรียนฮาฟิซ คือการสร้างผู้นำศาสนา (โต๊ะอิหม่าม) เป็นคนที่ดูแลรักษาศาสนาในหมู่บ้าน เป็นพึ่งพาทางใจของคนในหมู่บ้านโดยใช้ศาสนาในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ช่วยให้เข้าใกล้อัลเลาะห์มากขึ้น เพราะคนที่มีปัญหาอาจเป็นเพราะเขาห่างไกลจากอัลเลาะห์

คนที่จบฮาฟิซส่วนมากจะเป็นครูสอนอัลกุรอ่านให้เด็ก หรือเป็นครูตาดีกา พร้อมกับทำอาชีพอื่นไปด้วย

อาลิม-อาลีมะห์ ระบบการศึกษาควบคู่ฮาฟิซอัลกุรอ่าน

การศึกษาในระบบนี้ยังมีสถานศึกษาอีกประเภทที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน และมีผู้เข้าเรียนจำนวนมากเช่นกัน คือ ระบบอาลิม(สำหรับผู้ชาย) และระบบอาลีมะห์(สำหรับผู้หญิง) คล้ายๆ ระบบปอเนาะแต่ใช้ระบบชั้นเรียน ส่วนระบบปอเนาะจะเรียนตำราศาสนาแบบเล่มต่อเล่ม

ระบบอาลิมและระบบอาลีมะห์ จะใช้ระบบการสอนที่เรียกว่า เดาเราะห์ฮาดิษ (การสอนเกี่ยวกับวัจนะ การปฏิบัติและการยอมรับของศาสดามูฮัมหมัด) โดยใช้ตำราฮาดิษ 6 เล่ม ได้แก่ ตำราของบูคอรี มุสลิม อิบนูมาญะห์ นาซาอี อาบูดาวูด และ ติรมีซีย์ ซึ่งถือว่าเป็นการเรียนที่เข้มข้นพอสมควร

เด็กที่เข้าเรียนระบบนี้ มักจะเป็นเด็กที่เรียนจบระบบฮาฟิซแล้ว หมายถึงเด็กที่ท่องจำคัมภีร์อัลกุรอ่านทั้งเล่มแล้ว แต่ก็ไม่ใช่เด็กทุกคนที่จะท่องจำทั้งเล่ม เพราะเด็กบางคนเข้าเรียนฮาฟิซหลังจากจบชั้น ม.3 ซึ่งอาจ “โตเกินไป” ที่จะท่องจำทั้งเล่มได้ทันตามระยะที่กำหนด คือ 3-4 ปี

เด็กกลุ่มก็เมื่อเรียนท่องจำไปได้จำนวนหนึ่งหรือครบเวลา 3-4 ปี ก็จะเข้าเรียนระบบอาลิม หรืออาลีมะห์ต่ออีก 4 – 6 ปี

4 ทางแก้ปัญหาและพัฒนาการศึกษาที่สอดคล้องกับพื้นที่

แม้ว่า การศึกษาศาสนาไม่ว่าในระบบไหนจะไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องการงานอาชีพโดยตรง เพราะถือว่าสามารถเรียนรู้ได้ แต่สิ่งสำคัญคือการดำรงตนเป็นศาสนิกที่ดีตามหลักศาสนาอิสลาม แต่ความรู้ในสายสามัญก็สำคัญในการดำรงชีวิต ดังนั้นข้อเสนอในการพัฒนาระบบการศึกษาของพื้นที่ชายแดนใต้ จึงต้องให้ความสำคัญกับการศึกษาศาสนาควบคู่สามัญ

“ดิเรก เหมนคร” ผู้อำนวยการโรงเรียนรักษ์อิสลาม อ.เทพา จ.สงขลา

ผอ.ดิเรก ระบุว่า การศึกษาที่เหมาะสมกับพื้นที่คือแบบผสมผสานทั้งสายศาสนาและสามัญ แต่ต้องตัดเนื้อหาที่ซ้ำซ้อนกับระหว่างวิชาศาสนาและสามัญ แล้วมาบูรณาการให้เป็นวิชาเดียวกัน เช่น วิชาสุขศึกษากับวิชาอัคลาก(จริยธรรม) เป็นต้น

ส่วนอาจารย์อับดุลสุโก ดินอะ จากโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ อ.จะนะ จ.สงขลา มีข้อเสนอต่อการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ ดังนี้

1. ปรับลดวิชาบังคับในหลักสูตรแกนกลางลงเหลือ 30% เพิ่มหลักสูตรสถานศึกษาเป็น 70% เพราะจะทำให้สถานศึกษาได้คิดนวัตกรรมการเรียนการสอนใหม่ๆ ออกมาได้

2. กระจายอำนาจทางการศึกษาลงสู่พื้นที่พร้อมงบประมาณและบุคลากร โดยอาจเริ่มกระจายอำนาจให้สำนักงานศึกษาธิการส่วนหน้าที่ก่อนก็ได้ ให้มีอำนาจออกแบบระบบการศึกษาที่เหมาะสมกับพื้นที่จริงๆ

3. กำหนดให้การศึกษาในชายแดนใต้มี 4 สาย คือสายวิทย์ สายศิลป์ สายวิชาชีพและสายศาสนา โดยรัฐต้องอุดหนุนงบประมาณให้ทุกสาย โดยเฉพาะสายศาสนา เพราะจะแก้ปัญหาค่าตอบแทนครูสอนศาสนาได้

4. พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 กำหนดไว้ว่าการจัดการศึกษามี 3 รูปแบบ คือ การศึกษาในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย เพราะฉะนั้นรัฐต้องอุดหนุนงบประมาณทางการศึกษาให้ทุกระบบบนฐานของความเป็นพลเมืองไทย ไม่อดหนุนเฉพาะการศึกษาในระบบเท่านั้น

อับดุลสุโก ดินอะ จากโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ อ.จะนะ จ.สงขลา

ข้อเสนอเหล่านี้ จะเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามสร้างสันติภาพในพื้นที่ โดยการผลักดันของฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะฝ่ายการเมืองในระบบรัฐสภา ผ่านกระบวนการที่เรียกว่า การปรึกษาหารือสาธารณะ (Public Consultation) ในกระบวนการสันติภาพ หากรัฐบาลไม่สนใจก็คงจะเสียโอกาสสร้างผลงานแก้ปัญหาหนึ่งในปัญหาใจกลางของพื้นที่ไป

หมายเหตุ : งานเขียนชิ้นนี้ มีเนื้อหาบางส่วนที่ปรับปรุงจากรายงานเรื่อง “อัตลักษณ์ ศาสนาและสามัญ หัวใจของระบบการศึกษามุสลิมที่หลากหลายในชายแดนใต้”. วารสารผู้ไถ่ ปีที่ 44 ฉบับที่ 122 พฤษภาคม-สิงหาคม 2566

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net