Skip to main content
sharethis

สื่ออังกฤษตีแผ่เรื่องการบังคับเด็กแต่งงานใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ของไทยที่มีชาวมาเลเซียข้ามแดนมาเพื่อซื้อการจดทะเบียนสมรสที่ไทยที่เงื่อนไขทางวัฒนธรรมและช่องว่างกฎหมายทำได้ง่ายกว่าในประเทศที่รัฐบาล-องค์กรศาสนาเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ สวนทางประเทศมุสลิมจำนวนมากที่เริ่มห้ามแต่งงานกับผู้เยาว์ต่ำกว่า 18 ปี

ที่มาภาพ: oyibosonline

เดอะการ์เดียนตีแผ่ปัญหาการบังคับเด็กหญิงชาวมุสลิมให้แต่งงานกับชายชาวมาเลเซียซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในเขตชายแดนภาคใต้ของไทยที่รัฐบาลทำเป็นมองไม่เห็นปัญหา

มีการนำเสนอเรื่องของอายู เด็กหญิงอายุ 11 ปี ที่ถูกส่งไปแต่งงานกับ เช อับดุล การิม ในมัสยิดริมฝังแม่น้ำโกลกทางตอนใต้สุดของประเทศไทย โดยที่ก่อนหน้านี้ทั้งเจ้าบ่าวและเจ้าสาวเดินทางจากมาเลเซียข้ามแดนเข้าสู่ จ.นราธิวาสของไทยเพื่อจัดงานแต่งงานที่นั่น

กรรมการสิทธิฯ เสนอออก กม.ห้ามแต่งงานก่อนวัยอันควรครอบคลุมเด็กทุกคน

หลังจากพิธีกรรมสั้นๆ ในเวลา 11 นาฬิกา พวกเขาก็เดินทางไปที่สำนักงานสภาอิสลามเพื่อขอตราประทับรับรองการแต่งงาน หลังได้รับตราประทับอนุญาต ทั้งคู่ก็ข้ามแดนกลับสู่มาเลเซีย โดยอายูเป็นภรรยาคนที่สาม ของอับดุล การิม

ในประเทศมาเลเซียผู้ชายสามารถแต่งงานกับผู้หญิงอายุน้อยกว่า 18 ปีได้อย่างถูกกฎหมายถ้าหากศาลกฎหมายอิสลามหรือศาลชะรีอะฮ์ให้การรับรอง กรณีของอายูทำให้มีกระแสความไม่พอใจในรัฐสภามาเลเซียและถึงขั้นมีการประท้วงบนท้องถนน ในทางกลับกัน รัฐบาลและผู้มีอำนาจทางศาสนาในไทยที่เป็นพื้นที่ของการจดทะเบียนกลับเงียบเสียง

รองนายกฯ มาเลเซียประณามกรณีชาย 41 วิวาห์เด็ก 11 ชี้ ผิด กม.อิสลาม

ฮาชิม ยูซอฟฟ์ อิหม่ามผู้จัดแจงให้มีการแต่งงานอันเป็นที่โจษจัน ได้ปกป้องการแต่งงานนี้ว่าอายู "โตพอ" ทำให้การแต่งงานเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมายชะรีอะฮ์ โดยมีการห้ามอับดุล คาริม มีเพศสัมพันธ์ภรรยาอายุน้อยของตัวเอง แต่เมื่อมีการตรวจสอบทางการแพทย์แล้วพบว่าอับดุล คาริม ไม่ได้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้

ทางด้านพ่อของอายูคือมาโดรเซห์ โรหมัดซา บอกว่าเขาอนุมัติยินยอมให้ลูกสาวของตัวเองแต่งงานโดยอ้างว่า "ในประเทศไทย มีผู้คนจำนวนมากที่แต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อย" อย่างไรก็ตามในไทยมีกฎหมายคุ้มครองเด็กตั้งแต่ปี 2546 ที่ระบุว่าคนที่อายุต่ำกว่า 17 ปี ไม่สามารถแต่งงาน และการมีเพศสัมพันธ์กับผู้เยาว์ถือเป็นความผิดที่จะถูกฟ้องร้องดำเนินคดีได้ แต่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีชาวมุสลิมเป็นส่วนใหญ่มักจะอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมายที่นำกฎหมายชะรีอะฮ์ ตามคู่มือหลักกฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดก มาปฏิบัติในเรื่องเกี่ยวกับครอบครัว

เดอะการ์เดียนรายงานต่อไปว่า กฎหมายชะรีอะฮ์ที่ว่าไม่มีการกำหนดอายุขั้นต่ำสุดที่จะแต่งงานได้และในทางวัฒนธรรมนั้นถือว่าผู้หญิงสามารถแต่งงานได้ทันทีที่มีประจำเดือน ทำให้เกิดบรรทัดฐานทางสังคมที่ไม่มีการกำกับดูแลจนทำให้เกิดการข่มขืนและการตั้งครรภ์ของผู้เยาว์ในแถบพื้นที่นั้นและรัฐบาลไทยก็แสร้งทำเอาหูไปนาเอาตาไปไร่

ผู้หญิงคนหนึ่งในจังหวัดปัตตานีเปิดเผยว่าเธอถูกบังคับให้แต่งงานกับญาติที่อายุมากกว่า 10 ปีตั้งแต่อายุได้ 15 ปี เธอบอกอีกว่าวัฒนธรรมแบบนี้ทำให้ผู้หญิงรู้สึกว่าต้องรีบแต่งงาน ถ้าหากอายุ 16 ปีก็เธอรู้สึกว่ามันสายไปแล้วและจะไม่มีใครแต่งงานกับเธอ

ข้ามแดนมาเลเซียมาจดทะเบียนที่ไทย

อัญชนา หีมมิหน๊ะ นักสิทธิเด็กกล่าวว่า ช่องโหว่ทางกฎหมายเช่นนี้ยังทำให้เกิดธุรกิจรับจดทะเบียนให้ชายมาเลเซียผู้ข้ามแดนมาเพื่อหาคู่ที่เป็นเด็กในไทย มีผู้ที่ทำธุรกิจนี้เปิดเผยว่ามีชาวมาเลเซียข้ามแดนมารับบริการดังว่ามากกว่า 50 รายต่อปี ส่วนใหญ่มาเพื่อหาเป็นภรรยาคนที่สองหรือสาม

สาเหตุที่มีผู้มาใช้บริการเช่นนี้มาจากกระบวนการแต่งงานกับเด็กในมาเลเซียที่แม้เป็นสังคมศาสนาอิสลามแต่ก็มีความเคร่งครัด ต้องผ่านกระบวนการซับซ้อนผ่านศาลชะรีอะฮ์ ต้องตอบคำถามยากๆ และบางครั้งมีกระบวนการที่ยาวนานเป็นปี แต่ที่ไทยสามารถใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายทำให้ได้อย่างรวดเร็วกว่า แม้ธุรกิจข้ามแดนนี้จะทำเงินให้หลายคนในพื้นที่ แต่ก็มีผู้หญิงที่ถูกบังคับให้แต่งงานด้วยที่ต้องแบกรับความเจ็บปวด

วรรณากนก โพหิตแตดะออห์ หนึ่งในคนที่เคยถูกบังคับให้แต่งงานด้วยความรุนแรงตั้งแต่ยังเยาว์วัยที่ปัจจุบันทำสถานรับเลี้ยงเด็กอยู่ที่นราธิวาส เธอบอกว่าปัญหาที่ใหญ่ที่สุดคือในไทยไม่มีใครอยากพูดถึงปัญหานี้ไม่ว่าจะเป็นสภาอิสลาม อิหม่าม หรือรัฐบาล กลายเป็นปัญหาที่ถูกซุกไว้ใต้พรม

การแต่งงานกับเด็กทำให้เกิดปัญหาความรุนแรงทางเพศอย่างการข่มขืนและการใช้ความรุนแรงทำร้ายเด็กเพื่อบังคับให้มีเพศสัมพันธ์ด้วย เธอส่งเสียงร้องในบ้านถึงขนาดที่พ่อแม่ได้ยิน เด็กหลายคนในวัยนั้นยังไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่าเพศสัมพันธ์คืออะไร

โพหิตแตดะออห์กล่าวว่าหนึ่งในสาเหตุของปัญหานี้คือการที่พ่อแม่ของเด็กยากจนมาก มีภาระทางการเงินจนการให้ลูกแต่งงานไปเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

แม้ไม่มีตัวเลขอย่างเป็นทางการว่ามีเด็กที่ถูกบังคับให้แต่งงานมากแค่ไหน แต่จากสถิติของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนไทยก็ระบุว่าในปี 2559 ปีเดียว มีหญิงวัยรุ่นคลอดลูกจากการแต่งงาน 1,100 กรณีในโรงพยาบาลของรัฐที่นราธิวาส ยังไม่รวมตัวเลขจังหวัดอื่นและคนที่คลอดในสถานที่อื่นๆ

สำหรับสาเหตุที่รัฐบาลไทยแกล้งทำเอาหูไปนาเอาตาไปไร่นั้น อัญชนาบอกว่าเป็นเพราะพวกเขากลัวว่าจะกระตุ้นให้ชุมชนในพื้นที่สามจังหวัดฯ ไม่พอใจ รัฐบาลแค่พยายามปกป้องตัวเอง ทางเดอะการ์เดียนระบุว่าการที่รัฐบาลไทยดำเนินนโยบายแบบเน้นศูนย์กลางอำนาจสั่งการจากกรุงเทพฯ สร้างรอยร้าวในความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลางกับสามจังหวัดภาคใต้ของไทยมานานแล้ว ทำให้รัฐไทยดูรั้งรอที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับประเด็นที่ถูกมองว่ามีความอ่อนไหวทางศาสนา

แม้กรณีของอายูจะทำให้เกิดกระแสความไม่พอใจในมาเลเซียที่สุดท้ายทำให้อายูได้กลับไปอยู่ในไทยพร้อมกับครอบครัวในที่สุด แต่อัญชนาก็กังวลว่าการเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ของทางการไทยจะทำให้เกิดความชอบธรรมในการใคร่เด็ก (pedophilia) ในระดับโลกมีการศึกษามาแล้วว่าเด็กที่แต่งงานก่อนวัย 18 ปีนั้นจะมีความเสียหายทั้งต่อร่างกายและจิตใจ นอกจากนี้ยังทำให้เกิดวงจรความยากจนซ้ำซ้อน เช่นในกรณีเด็กในสามจังหวัดฯ มักจะต้องออกจากโรงเรียนเพื่อไปแต่งงานและมักจะหย่าร้างพร้อมกับลูกติดมาด้วยในช่วงก่อนที่พวกเธอจะอายุ 18 ปี

ข้ออ้างหนึ่งของการบังคับเด็กแต่งงานก่อนวัยคือการอ้างว่าเพื่อไม่ให้พวกเธอถูกลงโทษเวลามีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย อังคณา นีละไพจิตร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของไทยเล่าว่าเคยมีกรณีไม่นานนี้ที่เด็กอายุ 15 ปีถูกข่มขืนแล้วสภาอิสลามของไทยบังคับให้เธอแต่งงานกับชายที่ข่มขืนเธอโดยบอกว่า "มันจะดีที่สุดสำหรับตัวเธอเอง"

กระนั้นก็ตามสังคมมุสลิมในที่อื่นๆ นอกจากไทยก็เริ่มทำให้การแต่งงานกับเด็กกลายเป็นเรื่องผิดกฎหมาย เช่น แอลจีเรีย โอมาน บังกลาเทศ ปากีสถาน อียิปต์ โมร็อกโก และตุรกี พวกเขากำกับให้การแต่งงานทำได้เมื่ออายุขั้นต่ำ 18 ปี เท่านั้น และเมื่อไม่นานนี้อินโดนีเซียก็เตรียมออกกฤษฎีกาพิเศษของประธานาธิบดีเพื่อปิดช่องโหว่กฎหมายซึ่งทำให้เกิดการแต่งงานกับเด็กได้

เรียบเรียงจาก

The dark secret of Thailand’s child brides, The Guardian, Sep. 1, 2018

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net