Skip to main content
sharethis

เครือข่ายปกป้องเด็กชายแดนใต้ออกแถลงกังวลสถานการณ์ละเมิดสิทธิเด็ก เผยเด็กตกอยู่ในวงล้อมปฏิบัติการมวลชนและทางทหารทั้งจากฝ่ายรัฐและไม่ใช่รัฐ ย้ำต้องไม่สร้างสภาวะแวดล้อมที่เด็กมีส่วนร่วมกับการใช้อาวุธ ยิ่งรัฐละเมิดซ้ำยิ่งทำให้เด็กกลัว และการใช้ SLAPP Laws ปิดปากประชาชน พร้อมเรียกร้องทุกฝ่ายยุติปฏิบัติการมวลชนและทางทหารในตาดีกา ด้าน กอ.รมน. สั่งออกมาตรการควบคุมกิจกรรมตาดีกา

สถานการณ์การละเมิดสิทธิเด็กน่ากังวลใจอย่างยิ่ง

เมื่อวันที่ 28 ก.ค. ที่ผ่านมา เครือข่ายปกป้องเด็กจังหวัดชายแดนใต้ Child Protection Network ออกแถลงการณ์ร่วม เรื่องข้อห่วงใยต่อสถานการณ์เด็กในความขัดแย้งจังหวัดชายแดนใต้ โดยระบุว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์การละเมิดสิทธิเด็กน่ากังวลใจอย่างยิ่ง

แถลงการณ์ฉบับนี้มีขึ้นหลังจากมีกรณีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงนำตัวเด็กนักเรียนตาดีกา 4 คนพร้อมผู้ปกครองไปสอบปากคำ เพราะถือรูปภาพของคนที่ถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญฆาตกรรม ในขบวนพาเหรดมหกรรมตาดีกาสัมพันธ์ ต.บ้านน้ำบ่อ อ.ปานาเระ จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคมที่ผ่านมา

เด็กตกอยู่ในวงล้อมปฏิบัติการมวลชนและทางทหารทั้งจากฝ่ายรัฐและไม่ใช่รัฐ

แถลงการณ์ระบุว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีเด็กตกอยู่ในวงล้อมของปฏิบัติการทางมวลชนและทางทหาร (ทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายที่ไม่ใช่รัฐ) ที่ปรากฏในสื่อออนไลน์ เช่น กรณีทหารเข้าไปทำกิจกรรมในโรงเรียนตาดีกาซึ่งเป็นที่สอนศาสนาอิสลามสำหรับเด็กอายุ 7-12 ปี ในวันเสาร์-อาทิตย์โดยนำอาวุธเข้าไปด้วย หรือกรณีเด็กตาดีกาถือภาพผู้เสียชีวิตจากเหตุปะทะในกิจกรรมเดินพาเหรด เป็นกรณีตัวอย่างที่สร้างสิ่งแวดล้อมที่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงให้แก่เด็กและเยาวชนในพื้นที่

ยิ่งไปกว่านั้น ยังพบว่าเด็กบางคนถูกชักชวนและได้เข้าร่วมสนับสนุนปฏิบัติการทางทหาร เมื่อปี 2565 เด็ก 17 ปีถูกกล่าวหาว่าร่วมสังหารตำรวจ และในปี 2566 เด็กอายุ 16 ปีมีส่วนร่วมเคลื่อนย้ายวัตถุระเบิด ทำให้มีการบังคับใช้กฎหมายพิเศษกับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีที่นำไปสู่การจับกุมสอบสวนและคุมขังเด็ก

ต้องไม่สร้างสภาวะแวดล้อมที่เด็กมีส่วนร่วมกับการใช้อาวุธ

แถลงการณ์ระบุด้วยว่า แม้ความขัดแย้งในชายแดนใต้เป็นความขัดแย้งทางอาวุธภายในประเทศที่ไม่ใช่สงคราม แต่ทุกฝ่ายยังต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาเจนีวาและอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กอย่างเคร่งครัด

“อย่างน้อยที่สุดเด็กก็มีสิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรมระหว่างความขัดแย้งซึ่งมักจะโหดร้ายมาก ไม่ควรมีความรุนแรงต่อชีวิตหรือการละเมิดศักดิ์ศรีของพวกเขา” (มาตรา 3 ทั่วไปของอนุสัญญาเจนีวา) และ (c) เด็กที่อายุไม่เกินสิบห้าปีจะไม่ถูกเกณฑ์เข้ากองทัพหรือกลุ่ม หรือไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมในการสู้รบ (พิธีสารฉบับที่ 2)

ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กข้อ 38 และพิธีสารเลือกรับเรื่องความเกี่ยวพันของเด็กในความขัดแย้งกันด้วยอาวุธที่ประเทศไทยได้ลงนามและต้องปฏิบัติตาม คือ กองกำลังติดอาวุธของรัฐและกลุ่มติดอาวุธทุกฝ่ายจะต้องเคารพกฎเกณฑ์แห่งกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศที่ใช้บังคับรัฐภาคีในกรณีพิพาทกันด้วยอาวุธที่เกี่ยวข้องกับเด็ก และรัฐภาคีจะประกันว่าบุคคลที่อายุไม่ถึง 18 ปีจะไม่มีส่วนร่วมโดยตรงในการสู้รบไม่ว่าในกรณีใดๆ

“นั่นหมายความว่ากองกำลังติดอาวุธทุกฝ่ายจะต้องสร้างสภาวะแวดล้อมที่ไม่มีความรุนแรง ไม่มีอาวุธและไม่ดำเนินการที่ทำให้เด็กเข้าไปมีส่วนร่วมหรือเกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธ” แถลงการณ์ระบุ

ชี้รัฐละเมิดซ้ำยิ่งทำให้เด็กกลัว และการใช้ SLAPP Laws

แถลงการณ์ระบุต่อไปว่า การเดินพาเหรดของเด็กตาดีกาพร้อมถือภาพผู้เสียชีวิตจากการปะทะปรากฏสู่สาธารณะ ทางตำรวจและทหารได้เรียกเด็กและผู้ปกครองไปสอบสวนนั้นกลายเป็นการละเมิดซ้ำโดยรัฐและส่งผลให้เด็กและผู้ปกครองตกอยู่ในความหวาดกลัว ยิ่งไปกว่านั้นก็มีการแถลงการณ์ที่จะสอบสวนและมีการบังคับใช้กฎหมาย กลายเป็นการตอกย้ำถึงการใช้ SLAPP Laws ในพื้นที่ความขัดแย้งนี้

ร้องทุกฝ่ายยุติปฏิบัติการมวลชนและทางทหารในตาดีกา

แถลงการณ์ระบุอีกว่า จากที่กล่าวมาข้างต้น เครือข่ายเครือข่ายปกป้องเด็กจังหวัดชายแดนใต้ Child Protection Network จึงขอเรียกร้องให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย

1. ดำเนินการตามแนวทาง “ปฏิญญาโรงเรียนปลอดภัย” ซึ่งเป็นแนวทางที่เป็นรูปธรรมสำหรับประเทศต่างๆ ในการให้คำมั่นในการปกป้องการศึกษาของเด็กๆ แม้ในช่วงที่มีการสู้รบกัน

2. ยุติปฏิบัติการทางมวลชนและทางทหารในโรงเรียนตาดีกาจากทั้งกองกำลังของรัฐและกองกำลังติดอาวุธทุกกลุ่มโดยเด็ดขาด ขอให้กระทรวงศึกษาเข้ามาร่วมตรวจสอบตรวจตราการละเมิดของฝ่ายความมั่นคง

3. ยุติการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของประชาชนในกิจการสาธารณะ Strategic Lawsuit Against Public Participation (SLAPP Law) ซึ่งใน 2 ปีที่ผ่านมา มีการเรียกประชาชนไปเป็นพยานจำนวนมากเพื่อกล่าวหาประชาชน เช่น กรณี พ่อบ้านใจกล้า กรณีการประท้วงการขุดศพ กรณีการนำศพไปประกอบพิธีทางศาสนาหลังจากการปะทะจำนวน 10-15คน

4. เนื่องจากพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมลายูมุสลิมและมีความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงควรมีการทำงานเชิงป้องกันการละเมิดสิทธิเด็กด้วยการสร้างการตระหนักรู้และความเข้าใจถึงสิทธิเด็กและหลักสิทธิมนุษยชนโดยไม่เลือกปฏิบัติกับเด็กๆ ทุกกลุ่มประชากร

รายชื่อองค์กรร่วมลงนาม ได้แก่ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เครือข่ายปกป้องเด็กจังหวัดชายแดนใต้ Child Protection Network เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ JASAD สมาคมฟ้าใส สมาคมเพื่อสันติภาพและการพัฒนา กลุ่มเพื่อนเยาวชนและคนพุทธ และ กลุ่มด้วยใจ

กอ.รมน. สั่งออกมาตรการควบคุมกิจกรรมตาดีกา

ก่อนหน้านี้ เมื่อ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา เวลา 13.30 น. พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองแม่ทัพภาคที่ 4/รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ได้ประชุมหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการจัดงานที่ห้องประชุม กอ.รมน.ภาค 4 สน. อ.ยะรัง จ.ปัตตานี มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน 4 หมู่บ้านใน ต.บ้านน้ำบ่อ อิหม่ามประจำมัสยิดในพื้นที่และผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิดดารุลมะมุร (ตาดีกา) เข้าร่วมด้วย

พล.ต.ปราโมทย์ กล่าวถึงผลการประชุมทางเพจ ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ว่า คณะกรรมการจัดงานต่างรู้สึกเสียใจต่อกรณีที่เกิดขึ้น ภายหลังทราบจากสื่อว่ามีกิจกรรมแฝงตามที่ปรากฏในภาพก็รู้สึกไม่สบายใจและอยากจะขอโทษต่อสังคม ซึ่งคณะผู้จัดมีเจตนาที่ดี แต่มีมือที่สามมาทำให้กิจกรรมครั้งนี้ผิดเพี้ยนไปจากวัตถุประสงค์ที่ควรจะเป็น

สำหรับการดำเนินการหลังจากนี้ ประการแรก ใช้มาตรการทางกฎหมาย สิ่งนี้เจ้าหน้าที่รัฐล้วนคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชนและไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น โดยเฉพาะการใช้เด็กเป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด ถือเป็นการกระทำที่ชั่วร้ายและผิดกฎหมายคุ้มครองสิทธิเด็ก

ส่วนที่สอง มอบหมายให้ศูนย์สันติวิธีและสำนักมวลชนและกิจการพิเศษ จัดทำแนวทางเสริมสร้างความเข้าใจร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและโต๊ะอิหม่าม เพื่อเป็นโมเดลในการจัดกิจกรรมในพื้นที่ และ

ประการสุดท้าย มอบหมายให้ กอ.รมน.จังหวัด ศูนย์ปฏิบัติการอำเภอ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนจังหวัด สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนอำเภอ กำหนดแนวทางในการจัดกิจกรรมลักษณะนี้ ตั้งแต่การขออนุญาตให้ถูกต้องตามกฎหมาย การร่วมสนับสนุน รวมทั้งมาตรการต่าง ๆ เพื่อป้องกันกลุ่มผู้ไม่หวังดีเข้ามาแสวงประโยชน์ โดยเฉพาะการใช้เด็กเป็นเครื่องมือในรูปแบบต่าง ๆ

วันเดียวกัน (27 ก.ค.) ครูตาดีกา(เจ๊ะฆู) 2 คน เข้าพบเจ้าหน้าที่สืบสวน สภ.ปะนาเระ ต่อมาเวลาประมาณ 5 โมงเย็น เจ้าหน้าที่ได้ส่งรถกระบะไปรับตัวเด็ก 4 คน (จาก 9 คนที่ถือป้ายรูปภาพดังกล่าว) พร้อมผู้ปกครอง 3 คน ไปที่ที่ว่าการอำเภอเพื่อสอบปากคำและตรวจสอบหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม

ส่วนภาพที่เด็กถือ พบว่าเป็นผู้ต้องหาคดีความมั่นคงที่เสียชีวิตจากการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ ประกอบด้วย นายมะรอโซ จันทรวดี เสียชีวิตเมื่อ 13 ก.พ.2556 ในการยิงปะทะกับเจ้าหน้าที่และครั้งนั้นฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบเสียชีวิตถึง 16 ศพ นายลุกมัน มะเด็ง เสียชีวิตเมื่อ 1 ต.ค.2560 นายอาแดร์ เจ๊ะมุ เสียชีวิตเมื่อเดือน ก.ค.2565 นายซูลกิฟลี มะสาแมง เสียชีวิต 6 ก.ค.2565 นายอับดุลฮากัม เจ๊ะมะ เสียชีวิตเมื่อ 24 ก.ย.2565 และ นายสาการียา สาอิ เพิ่งเสียชีวิตเมื่อ 4 ก.ค.2566

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net