Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

“ถ่านหินที่ถูกขุดขึ้นมาจากพื้นดินในจำนวนมหาศาล ไม่ต่างอะไรจากมังกรที่ถูกปลุกขึ้นมาจากการหลับใหลใต้พิภพพร้อมที่จะเข่นฆ่า ประหัตประหาร แผดเผา ทำลายผู้คนให้มอดไหม้ หากแต่ถ่านหินนั้นไม่ได้คร่าชีวิตผู้คนด้วยการพ่นไฟออกมา แต่มันเลือดเย็นกว่านั้น ถ่านหินกลืนกินมนุษย์ สัตว์ป่า ต้นไม้ใบหญ้า และแม่น้ำลำธาร” 


กว่า 7 ปีที่หมู่บ้านกุนชองยี หมู่บ้านชาวกะเหรี่ยงคริสต์ ต้องเผชิญกับภัยคุกคามในหมู่บ้านที่ไม่ใช่ภัยจากการสู้รบที่พวกเขาเผชิญระหว่างกองทัพเมียนมาและกองกำลังกะเหรี่ยง อันเกิดจากความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์หลายทศวรรษ อันเปรียบเสมือนปีศาจตนหนึ่งที่ทำให้ชาวบ้านที่นี่ต้องล้มตายจากการสู้รบ หรือแม้กระทั่งระหกระเหินออกจากถิ่นเกิดเมืองนอนไปอาศัยอยู่ ณ ที่ที่ไม่คุ้นเคย หรือ เข้ามาประสบพบเจอกับชะตากรรมในต่างแดนอย่างประเทศไทย หากแต่เป็นเหมืองถ่านหินขนาดใหญ่ ซึ่งมีพื้นที่กว่า 504.8 เอเคอร์ หรือประมาณ 1262 ไร่


พื้นที่เหมืองถ่านหินบานชอง ตั้งอยู่ในบริเวณหมู่บ้านกุนชองยี
พื้นที่ตรงนี้เคยเป็นพื้นที่ทำกินของชุมชนมาก่อน

ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทีมงาน The Mekong Butterfly ได้ร่วมเดินทางไปกับคณะนักเดินทางที่กำลังติดตามการดำเนินการของเหมืองบานชอง เหมืองถ่านหินที่ดำเนินการโดยบริษัทคนไทยในพื้นที่ชาวกะเหรี่ยง ภายใต้อิทธิพลทางอำนาจของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง เพื่อติดตามผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่เกิดขึ้นในพื้นที่หลังจากที่เหมืองดังกล่าวเริ่มดำเนินการไปได้กว่า 7 ปีแล้ว นับตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา เมื่อมีการลงนามในสัญญาสัมปทานระหว่างบริษัท อีส สตาร์ จำกัด และสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ KNU โดยทาง KNU อนุญาตให้ทางบริษัทเข้าดำเนินการบนพื้นที่เหมืองถ่านหินแห่งนี้ ปัจจุบันพื้นที่เหมืองที่ถูกดำเนินการไปแล้ว โดยบริษัท อีสสตาร์ มีเฉพาะพื้นที่แปลงที่ 2 (จากทั้งหมด 6 แปลง) ซึ่งมีขนาดพื้นที่ 60 เอเคอร์ บนพื้นที่ของหมู่บ้านกุนชองยี

The Mekong Butterflyและคณะฯ ออกเดินทางจากเขตแดนประเทศไทยไปยังด่านพุน้ำร้อน จ. กาญจนบุรี เพื่อเดินทางข้ามเส้นพรมแดนสมมติทางธรรมชาติและด่านตรวจคนเข้าเมืองไปยังเมืองทิคิ  ภูมิภาคตะนาวศรี สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคมและประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองมารับด้วยรถยนต์ จากนั้นข้ามเขาผ่านพื้นที่ป่าตะนาวศรีไปยังหมู่บ้านกุนชองยี โดยใช้ถนนเข้า – ออกชั่วคราว (access road) ที่ทางบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ ตัดขึ้นเพื่อเข้าสู่พื้นที่โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ประมาณ 45 นาที จากนั้นจึงใช้เส้นทางแยกที่ทางบริษัท อีส สตาร์ ตัดเข้าไปยังหมู่บ้านกุนชองยี อันเป็นถนนที่ถูกใช้เพื่อลำเลียงและขนส่งถ่านหินที่ขุดได้จากเหมือง ใช้เวลาในการเดินทาง 3 ชั่วโมง รวมเวลาเดินทางจากด่านพุน้ำร้อนไปยังหมู่บ้านกุนชองยี ประมาณ 4 ชั่วโมง โดยระหว่างเราเดินทางผ่านพื้นที่เขตป่าดิบชื้นอันอุดมสมบูรณ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ซึ่งอยู่ภายใต้หน่วยงานอนุรักษ์ของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง ข้ามผ่านแม่น้ำขนาดใหญ่ที่ขณะนี้เหือดแห้งลงเนื่องจากยังไม่เข้าสู่ช่วงหน้าฝน จึงทำให้เราสามารถเดินทางข้ามแม่น้ำโดยใช้รถกระบะได้ แต่เมื่อเข้าสู่วสันตฤดู แม่น้ำตะนาวศรี สายเลือดใหญ่ของคนทวายและผู้คนในภูมิภาคตะนาวศรี ก็จะกลับมามีชีวิตชีวาและเอ่อล้นแผ่ขยายอาณาเขตลำน้ำอย่างกว้าขวาง จึงจำเป็นที่ว่าหากต้องการเดินทางข้ามแม่น้ำก็ต้องใช้เรือในการเดินทางเท่านั้น


ชาวบ้านกำลังเตรียมผ่าหมากและนำไปตาก:
หมากนับเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างยิ่งของชุมชน

ทันทีที่ทางทีมงานและคณะเดินทางเข้าไปถึงหมู่บ้านกุนชองยี เราพบว่าหมู่บ้านตั้งอยู่ในพื้นที่คล้ายหุบเขา อยู่ท่ามกลางผืนป่าเขียวชอุ่ม บริเวณพื้นที่ใจกลางของหมู่บ้านนับเป็นพื้นที่ส่วนรวมที่ใช้ประกอบกิจกรรมของชุมชน มีลักษณะเป็นลานกลางแจ้งขนาดใหญ่ สะดวกต่อการรวมพล ประกอบพิธีการ พิธีกรรมต่าง ๆ  ตามบ้านเรือนต่างๆ ส่วนใหญ่จะมีการเลี้ยงสัตว์ เช่น หมู ไก่ แพะ และสุนัข บริเวณใจกลางหมู่บ้านจะมีโบสถ์โปรเตสแตนท์ โดยโบสถ์นี้ได้รับการสร้างและต่อเติมจนทันสมัยด้วยเงินสนับสนุนจากคนในหมู่บ้านที่อพยพลี้ภัยสงครามไปอยู่สหรัฐอเมริกา  บริเวณลานกลางแจ้งเป็นสนามหญ้าขนาดใหญ่ มีโรงเรียน 1 แห่ง เวทีกิจกรรมของชุมชน 1 แห่ง และโรงครัวเพื่อประกอบอาหารและเลี้ยงอาหารของชุมชน 1 โรง ภายในใจกลางหมู่บ้านมีบ้านเรือนที่ปลูกแยกเดี่ยวแต่อยู่ไม่ห่างกันนัก ส่วนบ้านเรือนที่ตั้งอยู่ไกลออกไปจากใจกลางหมู่บ้านจะตั้งกันอยู่กระจัดกระจายแต่อยู่ใกล้ลำน้ำลำห้วย ซึ่งมีแม่น้ำกุนชองยี อันเป็นสาขาหนึ่งของแม่น้ำบานชอง ซึ่งหล่อเลี้ยงพื้นที่ชุมชนกะเหรี่ยงกว่า 20 หมู่บ้าน ซึ่งรวมกลุ่มกันเป็นพื้นที่ที่มีชื่อเรียกตามแม่น้ำแห่งนี้


โบสถ์คริสต์ใจกลางหมู่บ้าน: ศูนย์รวมจิตใจและพื้นที่ทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชุมชน

หากกล่าวถึงรายละเอียดเชิงตัวเลขและระบบประชากร ผู้ใหญ่บ้านกุนชองยีได้ให้ข้อมูลกับเราว่าหมู่บ้านแห่งนี้มีประชากรทั้งสิ้น 400 คน 110 ครัวเรือน โดยเกือบ 1 ใน 3 ของประชากร เป็นเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะถึง 150 คน ซึ่งมีจำนวนสูงมาก

นอกจากสภาพแวดล้อมที่ดีแล้ว เรายังพบว่าผู้คนในหมู่บ้านให้การต้อนรับเป็นอย่างดี หลายคนสามารถสื่อสารภาษาไทยได้อย่างคล่องแคล่ว ทำให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ และปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ได้ไม่ยากนัก ชาวบ้านหลายคนอาสาเป็นล่ามกิตติมศักดิ์ให้เราอย่างเต็มใจ และยินดีพาพวกเราสำรวจพื้นที่ชุมชน และพื้นที่บริเวณเหมืองแบบที่พวกเราไม่ต้องออกปากขอให้ช่วย

ชาวบ้านที่พูดภาษาไทยได้หลายคนเล่าให้เราฟังว่า พวกเขาเคยเข้าไปทำงานและใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยมานานนับสิบปี ออกจากหมู่บ้านไปตั้งแต่ยังเป็นเด็กหรือยังเป็นวัยรุ่น เนื่องจากต้องหลบหนีภัยสงคราม และหาที่ปลอดภัยในการดำรงชีวิต หลายคนต้องเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยในฝั่งประเทศไทยอยู่นับสิบปี แล้วจึงย้ายถิ่นฐานไปยังประเทศที่สาม บางคนย้ายไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในอีกฟากหนึ่งของโลก เช่น ยุโรป และสหรัฐอเมริกา แต่ก็ยังคงนึกถึงคนที่นี่บ้างแวะกลับมาเยี่ยมเยียน บ้างส่งกำลังแรงเงินแรงใจมาสนับสนุนคนในหมู่บ้านเพื่อพัฒนาชุมชนในด้านต่าง ๆ หลังจากที่มีการลงนามในสัญญาหยุดยิง สงครามค่อย ๆ สงบลง ชาวบ้านหลายคนที่อาศัยอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านก็ได้ทยอยกลับเข้ามาในหมู่บ้าน แดนมาตุภูมิของพวกเขาอีกครั้งหนึ่ง  แม้หลายต่อหลายชีวิตจะไม่ได้กลับเข้ามาอยู่บ้านเรือนหรือพื้นที่เดิมที่เขาเคยอยู่แล้ว แต่ก็ยังได้อยู่ใกล้ชิดครอบครัวมากยิ่งขึ้น

ด้วยความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติที่มีอยู่ในชุมชน ชาวบ้านที่นี่และบริเวณใกล้เคียงจึงมีฐานทางเศรษฐกิจวัฒนธรรมที่ผูกโยงกับสิ่งที่ธรรมชาติมอบให้กับพวกเขา รายได้และความมั่งคั่งของชุมชนจึงมาจากการปลูกพืช ทำไร่หมุนเวียน โดยจะปลูกข้าวไร่ และพืชผักสวนครัวอื่น ๆ แต่พืชที่มีความสำคัญ นอกเหนือจากการบริโภคในครัวเรือน คือ มะม่วงหิมพานต์ ยางพารา มะม่วง ทุเรียน เงาะ และที่สำคัญคือ หมาก ซึ่งชาวบ้านจะส่งออกไปขายนอกชุมชน โดยขนไปขายที่เมืองทวาย และจากนั้นหมากและมะม่วงหิมพานต์จะถูกกระจายและส่งออกไปทั่วประเทศ โดยส่วนใหญ่จะถูกส่งไปขายในย่างกุ้ง ทั้งยังส่งออกไปต่างประเทศด้วย เช่น จีนและอินเดีย

ทางคณะฯ ได้ลงพื้นที่สำรวจตัวเหมืองบานชอง รวมไปถึงการดำเนินการของเหมือง โดยมีชาวบ้านในหมู่บ้านกุนชองยี และหมู่บ้านใกล้เคียง จำนวนราว 10 คน นำคณะฯ เข้าไปยังพื้นที่เหมือง โดยพื้นที่ดำเนินการมีขนาด 60 เอเคอร์ สร้างทับพื้นที่ทำกินของชุมชนซึ่งแต่เดิมเป็นเนินเขาเล็ก ๆ ที่ใช้สำหรับปลูกสมุนไพรที่มีชื่อว่า “พารา”แต่ปัจจุบันเนินเขามีขนาดใหญ่และสูงขึ้น เพราะเกิดจากการทับถมของดินที่บริษัทนำมาถมเพื่อฝังกลบการลุกไหม้ของถ่านหิน ถ่านหินที่พบทั้งหมดเป็นถ่านหินประเภทลิกไนต์ ซึ่งมีคุณภาพต่ำและเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างยิ่ง เหมืองมีหลุมขนาดใหญ่ที่เกิดจากการขุดถ่านหินซึ่งมีน้ำขังอยู่ภายใน นอกจากนั้นยังพบบ่อพักตะกอนเก่า จำนวน 2 บ่อ ที่มีรั้วไม้ล้อมรอบท่ามกลางพงหญ้าและต้นไม้ที่ขึ้นใหม่ ซึ่งอยู่ห่างจากแม่น้ำสายเล็ก ที่ชื่อว่า “แม่น้ำดะบุโผละ” เพียงไม่ถึง 5 เมตร โดยบ่อพักตะกอนทั้งสองบ่อมีขนาดไม่ใหญ่นัก ทำหน้าที่ในการกักเก็บน้ำจากเหมืองไม่ให้ลงสู่แหล่งน้ำและพื้นที่เพาะปลูกของชาวบ้านโดยรอบ นอกจากนี้ยังพบบ่อกักเก็บตะกอนในอีกบริเวณหนึ่งซึ่งอยู่ด้านตรงข้ามกับสองบ่อแรก โดยมีทั้งหมด 3 บ่อ ซึ่งมีขนาดเล็กและมีรั้วไม้ล้อมรอบ รวมทั้งสิ้นมีบ่อเก็บตะกอน 5 บ่อ



บริเวณจุดที่มีน้ำแข็งขนาดใหญ่จากการดำเนินการขุดเหมือง

เตง อู อดีตอาจารย์วัยเกษียณโรงเรียนในหมู่บ้านกุนชองยี ให้ข้อมูลกับเราว่า บ่อกักเก็บตะกอน 3 บ่อ เพิ่งถูกขุดขึ้นหลังจากชาวบ้านเรียกร้องและทำข้อตกลงให้มีการขุดเพิ่ม เนื่องจากไม่เพียงพอที่จะสามารถกักเก็บน้ำและตะกอนจากเหมืองได้ แต่ชาวบ้านกล่าวว่าแม้จะมีการขุดบ่อกักเก็บตะกอนเพิ่มเติม แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ยังมีการล้นทะลักของน้ำจากเหมืองอยู่ และเมื่อฝนตกก็ทำให้สารพิษจากการชะของน้ำแพร่กระจายไปยังแหล่งน้ำและอากาศได้ง่ายขึ้น ขณะที่ทางคณะฯ กำลังสำรวจเหมือง พบว่ายังคงพบเห็นควันที่เกิดจากการลุกไหม้ของถ่านหินกระจายออกมาจากหน้าดินที่ใช้ฝังกลบอยู่เป็นระยะ ชาวบ้านกล่าวว่าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาทางบริษัทเพิ่งจะฝังกลบไปหลังจากที่เกิดการลุกไหม้อีกครั้ง


บ่อกักเก็บตะกอน 3 บ่อ ที่เพิ่งถูกขุดขึ้นใหม่ตามข้อเรียกร้องของชุมชน
แต่ก็ยังมีขนาดเล็ก และการป้องกันยังขาดความรัดกุม

ใกล้กับบ่อกักเก็บตะกอนที่ขุดขึ้นใหม่ 3 บ่อ พบลำธารสายเล็กที่อยู่ใกล้กับตัวเหมือง มีการปนเปื้อนดินตะกอนที่ไหลออกมาจากเหมืองอย่างเห็นได้ชัด น้ำในลำธารกลายเป็นสีส้มเข้มละมีความข้นมาก ต้นไม้ที่อยู่กลางลำธารยืนต้นตายนับสิบต้น นอกจากนี้ยังมีต้นหมากยืนต้นตายในบริเวณดังกล่าวอย่างเห็นได้ชัด ในบริเวณดังกล่าวมีป้ายไวนิลสีเหลี่ยมที่มีข้อความระบุถึงปัญหาที่เกิดจากการล้นทะลักของน้ำจากเหมือง ทั้งในรูปแบบภาษาอังกฤษ ภาษาไทย ภาษาพม่า และภาษากะเหรี่ยง ปรากฏข้อความ เช่น “สูญเสียลำน้ำเพราะของเสีย” “ต้นหมากตายเพราะน้ำจากเหมือง” “น้ำจากเหมืองไหลลงในแม่น้ำ” และยังพบป้ายรณรงค์อื่น ๆ ด้วย


แนวหมากยืนต้นตายใกล้กับเหมือง หลังจากที่น้ำจากเหมืองล้นทะลักปนเปื้อนลำธาร

หะ มิ ชายวัยกลางคน อายุ 36 ปี เจ้าของบ้านริมน้ำดะบุโผละ ใกล้บ่อกักเก็บตะกอน ระบุว่า ครอบครัวของเขายังคงใช้น้ำและดื่มน้ำจากแม่น้ำแห่งนี้อยู่เป็นประจำ ลูก ๆ ของเขายังคงไปอาบน้ำที่แม่น้ำแห่งนี้ และหลังจากอาบน้ำก็มักจะพบตุ่มใส ๆ ตามลำตัว และมีอาการคันตามผิวหนัง หะ มิ เล่าประสบการณ์ที่สะเทือนใจต่อไปว่าผลกระทบที่เห็นได้ชัดไม่ได้เกิดขึ้นแต่กับลูกของเขาเท่านั้น ภรรยาวัย 34 ปี ของเขา ชื่อ ปาน พิว เคยแท้งลูกไปแล้วสองคน ซึ่งแท้งติดต่อกันถึง 2 ปี คือ ช่วงปี 2558 – 2559 และช่วงปี 2559 – 2560 ที่ผ่านมา โดยในการแท้งลูกคนแรกนั้น ภรรยาของเขามีอายุครรภ์ได้ 3 เดือน และแท้งคนที่สองมีอายุครรภ์ 5 เดือน หะ มิ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าก่อนแท้ง ภรรยาของเขาไม่ได้ทำงานหนักและไม่ได้ยกของหนักแต่อย่างใด ใช้ชีวิตตามปกติ แต่ดื่มน้ำจากแม่น้ำดะบุโผละ และได้รับกลิ่นควันจากการลุกไหม้ของถ่านหิน ส่งผลให้ภรรยา ตัวเขา และลูก ๆ ต้องรีบหลบเข้าบ้าน ปิดห้องอย่างมิดชิด เพื่อหลบกลิ่นควันจากการลุกไหม้ของถ่านหินที่คละคลุ้งไปทั่วอาณาบริเวณ บางครั้งทนไม่ไหวต้องหนีควันและกลิ่นไปหลบที่บ้านแม่ใหญ่ซึ่งอยู่ห่างออกไปใกล้กับแม่น้ำบานชอง เขาเล่าต่อไปว่าภรรยาของเขามีอาการวิงเวียนศีรษะ ปวดหัว แสบตา และมีความดันสูง ก่อนที่จะแท้งลูก ขณะหลังแท้งภรรยาของเขาได้รับการรักษาจากหมอตำแยและแพทย์แผนปัจจุบันในหมู่บ้าน โดยเขา ภรรยา และหมอทั้งสองแผนคิดว่าการแท้งของภรรยาน่าจะเป็นผลมาจากควันของถ่านหิน


หะ มิ ชาวบ้านหมู่บ้านกุนชองยี ซึ่งอาศัยอยู่ติดกับแม่น้ำดะบุโผละ

แม้จะเกิดผลกระทบต่อสุขภาพอย่างหนัก แต่ปัจจุบันเขายังไม่พบเห็นความผิดปกติหรือผลกระทบที่เกิดกับผลผลิตทางการเกษตรของเขา หมาก และพืชผลอื่น ๆ ที่ปลูกไว้ตามบ้านยังคงออกดอกออกผลตามปกติ และยังไม่ยืนต้นตาย เหมือนต้นที่อยู่ใกล้บ่อกักเก็บตะกอนหรืออยู่ใกล้แม่น้ำตะบุโผละที่ปลูกไว้ในระดับเดียวกับแม่น้ำ เพราะสวนของเขาอยู่เหนือแม่น้ำจึงทำให้ไม่ได้รับผลกระทบ บ้านที่อยู่ในปัจจุบันนี้ปลูกมากว่า 8 ปี ก่อนเหมืองจะเปิดดำเนินการ โดยก่อนที่เหมืองจะเปิดดำเนินการพวกเขาก็ใช้ชีวิตตามปกติและไม่ได้รับผลกระทบจากอะไรทั้งสิ้น

ไม่ไกลจากบ้านของหะ มิ อีกฟากฝั่งหนึ่งของแม่น้ำดะบุโผละ ปรากฏบ้านไม้ชั้นเดียวถูกทิ้งร้างหนึ่งหลัง อยู่กลางดงไม้อันรกชัฏ…หม่อง โต๊ะ หนึ่งในสมาชิกหมู่บ้านที่มาร่วมเดินทางสำรวจ คือ จ้าของบ้านหลังนี้ เขาพาเราเดินฝ่ากิ่งไม้ใบหญ้าที่ขึ้นเหลื่อนกลาดและไม่ได้รับการตัดแต่งเข้าไปยังตัวบ้านของเขา พร้อมทั้งพาสำรวจบ้านและบริเวณโดยรอบ พร้อมเล่าสาเหตุที่เขาต้องปล่อยบ้านหลังนี้ให้ทิ้งร้างไว้ว่า

“ผมและเมียย้ายออกมาจากบ้านหลังนี้เมื่อ 2 ปีที่แล้ว (ราวปี 2558 – 2559) เพราะทนกลิ่นจากการลุกไหม้ (ถ่านหิน) ไม่ไหว หน้ามืด วิงเวียนศีรษะ และอ่อนเพลีย ตอนนี้อยู่กับญาติที่กลางหมู่บ้าน” 

คงไม่แปลกนักที่เขาจะทิ้งบ้านหลังนี้ไปด้วยเหตุผลดังกล่าว เพราะไม่ไกลจากตัวบ้าน ประมาณ 300 เมตร คือภูเขาดินทรายที่เกิดจากการนำดินมากลบถ่านหินที่มีการลุกไหม้อยู่เป็นระยะ เขาเล่าว่าช่วงใกล้ฝนตกหรือช่วงหน้าฝนควันจากบริเวณดังกล่าวจะลอยคลุ้งและส่งกลิ่นเหม็นรบกวนอย่างมาก


หม่อง โต๊ะ ชายสูงวัย ผู้ต้องทอดทิ้งบ้านของตนเองเพื่อหลบหนี
จากกลิ่นและควันของถ่านหิน

ใกล้กับบริเวณยังมีสวนหมากและไม้ยืนต้นหลายชนิดที่เขาและภรรยาเป็นเจ้าของ ปัจจุบันเขายังคงแวะเวียนมาเก็บผลผลิตบ้าง แต่ก็ไม่ได้มาดูแลเหมือนเมื่อก่อน ขณะที่อาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้พวกเขาใช้น้ำจากลำธารขนาดเล็กที่อยู่ใกล้เหมืองเป็นปกติ และพบว่าพืชผลทางการเกษตรของเขาที่อยู่ใกล้แม่น้ำเติบโตได้ไม่เต็มที่ บ้างก็ยืนต้นตาย หลังจากที่ย้ายออกมาจากบ้านหลังนี้ เขาไม่มีที่ทำกินเป็นของตัวเอง ทั้งยังไม่เคยได้รับการชดเชยความเสียหายที่เกิดจากการทำเหมืองแต่อย่างใด

แม้หม่อง โต๊ะ จะไม่มีอาการที่เกิดจากการได้รับควันจากการลุกไหม้ของถ่านหินมากนัก แต่ภรรยาของเขา พอ ละวา วัย 52 ปี กลับไม่เป็นเช่นนั้น เธอมีอาการปวดหัว ปวดหลัง วิงเวียนศีรษะ หายใจลำบาก และเหนื่อยง่ายมากขึ้น คันตามผิวหนัง มีลอยคราบเหมือนรอยไหม้สีดำเป็นปื้นตามแขนและลำตัว

“ช่วงที่บริษัทเริ่มเข้ามาทำเหมืองใหม่ ๆ ยังไม่มีอาการผิดปกติมากนัก แต่หลังจากช่วงปี 2556 ผ่านไป 1 ปี ก็เริ่มมีอาการปวดหัวและวิงเวียนศีรษะ เลยย้ายออกมา ตอนนี้ก็เริ่มหายใจสะดวกขึ้น แต่ยังหน้ามืดและปวดหัวอยู่บ้าง”

เธอพบว่าเพื่อนบ้านของเธอที่อยู่ใกล้เหมืองก็มีอาการคล้าย ๆ กัน พร้อมกับกล่าวว่ารู้สึกเสียใจที่ต้องย้ายออกมาจากบ้านและที่ดินของตน ทำให้ต้องบุกเบิกแหล่งทำกินใหม่ ในส่วนของการรักษาอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับสุขภาพร่างกายของเธอ  เธอต้องหาซื้อยาแก้อาการคันตามร้านขายของบริเวณหมู่บ้านและหมู่บ้านใกล้เคียงทาน ต้องเสียค่ายาเฉลี่ยเดือนละประมาณ 3,000 จั๊ต หรือราว 100 บาท นอกจากนี้พอ ละวา ยังเคยได้รับการตรวจสุขภาพจากแพทย์ชาวไทยที่ทางบริษัท อีส สตาร์ จัดหามา เนื่องจากอยู่ในเงื่อนไขข้อเรียกร้อง 11 ข้อ ที่ทางชุมชนเรียกร้องต่อบริษัท โดย 1 ใน 11 ข้อ ได้มีการกำหนดให้ทางบริษัทต้องจัดหาแพทย์มาเพื่อตรวจสุขภาพให้กับชาวบ้าน แต่ถึงกระนั้นแม้จะมีการตรวจสุขภาพคนในชุมชน แต่ทางบริษัทก็ไม่ได้มีการเปิดเผยผลตรวจใด ๆ แก่ผู้รับการตรวจ ทั้งยังไม่มีคำแนะนำใด ๆ จากแพทย์ ปัญหาทางสุขภาพจึงไม่ได้รับการแก้ไขแต่อย่างใด โดยพอ ละวา กล่าวว่าแม้จะมีการตรวจสุขภาพแต่ไม่ได้มีการตรวจเชิงลึก เช่น การนำเลือดไปตรวจ


พอ ละวา ภรรยาของหม่อง โต๊ะ มีอาการผิวหนังมีรอยคราบไหม้ตามแขน ขา และลำตัว

“เราอยากกลับไปอยู่ในที่ที่เป็นของเรา บ้านของเราที่ถูกทิ้งร้าง อยากเรียกร้องให้มีการชดเชยความเสียหายแก่ผู้ได้รับผลกระทบ และบริษัทต้องหยุดทำเหมืองอย่างถาวร เพราะหากหยุดได้ แหล่งน้ำได้รับการฟื้นฟู และแน่นอนเราจะได้กลับบ้านกันสักที” สองสามีภรรยากล่าวทิ้งทาย

นอกจากครอบครัวของหะ มิ และหม่อง โต๊ะ แล้ว ยังมีอีกลายคนครอบครัวที่ได้สะท้อนปัญหาที่พวกเขาประสบพบเจอให้เราฟัง ชาวบ้านหลายรายกล่าวว่านับตั้งแต่เหมืองเริ่มเปิดดำเนินการ ในปี 2555 พวกเขาได้รับกลิ่นเหม็นจากควันที่เกิดจากการลุกไหม้ของถ่านหิน รวมถึงตะกอนที่ปนเปื้อนลงในแหล่งน้ำ ส่วนใหญ่มีอาการปวดหัว วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ แสบตา สายตาพร่ามัวมากขึ้น มีอาการแพ้ เป็นหวัด คัดจมูก น้ำมูกไหลง่ายขึ้น หายใจได้ไม่เต็มที่ มีรายงานว่าเด็กวัย 11 ขวบ ในหมู่บ้านมีอาการชัก ถึง 3 ครั้ง ชาวบ้านบางรายที่อาศัยอยู่ใกล้เหมืองมีอาการหนักกว่าชาวบ้านที่อยู่ห่างออกไป หลายรายออกทำงานไม่ได้ หมดแรงโดยไม่ทรายสาเหตุ ต้องนอนพักผ่อนอยู่ที่บ้านมีอาการเพลียอยู่ตลอดเวลา ซ้ำยังมีอาการปวดข้อกระดูก ซึ่งชาวบ้านอธิบายว่ามีความแตกต่างจากอาการปวดเมื่อยทั่วไป บางรายมีอาการข้อไม้ข้อมือข้อนิ้วล็อก เหมือนชา รู้สึกเกร็ง หมดแรงหยิบจับโดยไม่สามารถระบุได้ เช่น ถือของอยู่ดี ๆ ก็หล่นหรือหลุดมือ โดยที่ยังมีสติอยู่ แต่ควบคุมไม่ได้ ยิ่งไปกว่านั้นบางรายมีอาหารปัสสาวะขัด มีชาวบ้าน 3 รายที่ป่วยหนักจนต้องให้อาหารทางหลอด เพราะมีอาการเจ็บและแสบคออย่างมาก ส่งผลให้ไม่สามารถทานอาหารแบบปกติได้ นอกจากนี้ชาวบ้านยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าเมื่อ 2 ปีที่แล้ว มีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งปอดและมะเร็งกระดูกที่บริเวณเข่า รวม 2 ราย ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าเกิดจากสาเหตุใด แต่แพทย์ประจำหมู่บ้านกล่าวว่าผู้เสียชีวิตป่วยเป็นมะเร็ง นอกจากควันและกลิ่นที่เกิดจากการลุกไหม้ของถ่านหินแล้ว ฝุ่นละอองที่เกิดจากการรถบรรทุกขณะขนส่งถ่านหินเองก็ส่งผลให้เกิดฝุ่นฟุ้งกระจายลงสู่แม่น้ำ สวนหมาก พืชผลการเกษตร และอากาศตามรายทางขณะที่รถเคลื่อนตัว ส่งผลให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากการใช้น้ำที่มีการปนเปื้อนของฝุ่นถ่านหินที่มีกับรถบรรทุก และทำให้ชาวบ้านบางส่วนไม่กล้าใช้น้ำในลำธาร

โซ เด คิ หนึ่งในสมาชิกชุมชนเล่าให้ฟังว่า พร้อมชูประจักษ์พยานตามเนื้อตัวของเขาว่าเขามีอาการผิวหนังปูดบวมตามเนื้อตัวแบบผิดปกติ เป็นก้อนนิ่มบ้าง แข็งบ้าง ตามแขนและลำตัว ซึ่งนับเป็นอาการประหลาดที่เขาและทางคณะฯ ไม่เคยพบเจอ จากนั้นชาวบ้านก็เริ่มพูดถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเด็ก ๆ ในหมู่บ้าน พร้อมชี้ให้เห็นความผิดปกติของร่างกายที่ปรากฏร่องรอยบนผิวหนังของเด็ก ๆ ที่มาเข้าร่วมประชุม ชาวบ้านขอให้เด็กคนหนึ่งเลิ่กเสื้อผ้าขึ้น สิ่งที่เราพบเห็นคือแผลถลอกบนแผ่นหลังลามไปถึงก้นเป็นจุด ๆ  และมีรอยดำตามตัว ชาวบ้านเล่าว่าร่องรอยพวกนี้เกิดขึ้นหลังจากที่เด็ก ๆ อาบน้ำในแม่น้ำที่อยู่ใกล้เหมือง แรกเริ่มมีอาการเป็นตุ่มใส และผิวหนังพุพอง รวมทั้งมีอาการคันอย่างไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งก่อนที่จะมีการดำเนินการของเหมืองไม่มีใครเคยมีอาการลักษณะนี้

อิ เสะ คุณพ่อ วัย 30 ปี ขณะนี้มีลูกน้อย 2 คน เป็นหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบ
จากควันถ่านหินเล่าให้ฟัง ขณะที่เขายืนอยู่หน้าบ้านหลังเก่าของตัวเองว่า

“ผมย้ายออกจากที่นี่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว เพราะทนกลิ่นควันไม่ไหว กลิ่นเหม็นมาก กลิ่นเหมือนน้ำมันรถยนต์และยางมะตอย ผมกับเมียมีอาการปวดหัวและคลื่นไส้ทุกครั้งที่เกิดกลุ่มควัน ผมทนอยู่บ้านหลังนี้มา 4 ปี ตั้งแต่บริษัทเข้ามาทำเหมือง ทนกลิ่นเหม็นมา 2 ปี จนต้องย้ายออก อีกอย่างที่สำคัญเลยคือผมเป็นห่วงเมียและลูก ๆ” นี่คือน้ำเสียงของหัวหน้าครอบครัวและผู้เป็นพ่อ

อิ เสะ มีลูกสามคน คนแรกอายุ 3 ปี และคนสุดท้องมีอายุ 6 เดือน กล่าวได้ว่าในขณะที่เขาย้ายออกมาจากบ้านหลังนี้เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ลูกคนแรกชองเขามีอายุเพียง 1 ปี เท่านั้น นั่นหมายความว่าเด็กแรกเกิดต้องทนรับควันจากการลุกไหม้ของถ่านหินอยู่นานถึง 1 ปีเต็ม อิ เสะ กล่าวต่อไปว่าก่อนที่จะย้ายบ้าน ลูกของเขาเริ่มมีอาการหอบหืดแล้ว จึงได้ตัดสินใจย้าย และคิดว่าหากยังอยู่ต่อก็จะส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพของลูก จนถึงตอนนี้ลูกคนโตชองเขาก็ยังมีอาการหอบหืดอยู่

คำบอกเล่าข้างต้นเป็นข้อเท็จจริงที่ชาวบ้านในหมู่บ้านกุนชองยีประสบมานานเกือบ 7 ปี หลังจากเหมืองบานชองเปิดดำเนินการ ความรุนแรงและพัฒนาผลกระทบที่ถูกบอกเล่าจากปากคำของชุมชนอาจสะท้อนให้เห็นถึงผลที่ตามมาจากการขุดเหมืองถ่านหินในระดับอุตสาหกรรมได้ และหากเป็นในแง่มุมทางวิชาการล่ะ จะมีคำอธิบายอย่างไร

การเดินทางสำรวจและสอบถามผลกระทบในครั้งนี้ ไม่ได้มีเพียงทีมงานของเราเท่านั้น สิ่งที่จะมาเติมเต็มความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นปัญหาทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพนั้น คงต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญที่คลุกคลีอยู่กับประเด็นปัญหาลักษณะนี้มาเป็นเวลานาน และมีเนื้อหาทางวิชาการมาแถลงไขให้ชุมชนและทีมงาน The Mekong Butterfly ได้รับทราบ

ดร. อาภา หวังเกียรติ หนึ่งในคณะสำรวจ อาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับถ่านหิน และผลกระทบจากถ่านหินที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเริ่มจากการอธิบายถึงประเภทของถ่านหิน กล่าวว่าถ่านหินในเหมืองบานชองเป็นถ่านหินประเภทลิกไนต์ ซึ่งนับเป็นถ่านหินที่มีคุณภาพต่ำที่สุด (จาก 4 ประเภท คือ ลิกไนต์ ซับบิทูมินัส บิทูมินัส และแอนทราไซด์) มีปริมาณกำมะถันสูง ส่งผลให้เกิดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ มีกลิ่นคล้ายไข่เน่า น้ำมัน หรือยางมะตอย ในถ่านหินมีตัวให้ความร้อนที่เรียกว่า “ไฮโดรคาร์บอน” ซึ่งเกิดจากซากพืชซากสัตว์ที่ทับถมกันมาเป็นเวลานานนับล้านปี โดยจะปรากฏอยู่ในผลิตภัณฑ์หรือสิ่งของบางประเภท เช่น ไส้ดินสอ ยางรถยนต์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีสารโลหะหนักและสารประกอบโลหะอื่น ๆ ไม่น้อยกว่า 25 ชนิด โดยสารโลหะหนัก เช่น สารหนู ปรอท ตะกั่ว แคดเมียม ทองแดง นิกเกิล โครเมียม แมงกานีส เหล็ก สังกะสี เป็นต้น และสารประกอบโลหะ เช่น อลูมิเนียม เงิน แบเรี่ยม พลวง โมลิเดียม และวานาเดียม นอกจากนั้นแล้ว ในถ่านหินยังมีสารที่ทำให้เกิดกรดแก๊ส และสารก่อมะเร็งด้วย ยิ่งไปกว่านั้นยังมีสารอินทรีย์ระเหยง่าย สังเกตได้จากควันถ่านหินเมื่อเกิดการเผาไหม้แล้วจะมีกลิ่นระเหยคล้ายน้ำมันที่ใช้เติมรถยนต์  หากสูดเข้าไปในปริมาณมากและนานจะกลายเป็นสารที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้ ในถ่านหินยังมีสารกัมมันตภาพรังสี อาทิ ยูเรเนียม ทรอเลียม เรเดียม และสารที่สามารถตกค้างได้ยาวนานเป็นแสนเป็นล้านปี หากปนเปื้อนลงไปในแหล่งน้ำที่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ พลอยได้รับสารพิษไปด้วย หากรับประทานเข้าไปสารพิษก็จะเข้าสู่ร่างกาย

เธออธิบายเพิ่มเติมว่าควันถ่านหินนั้น หากลอยไปในอากาศและปะทะเข้ากับฝนก็จะส่งผลให้สารพิษตกลงมาพร้อมกับฝนด้วย ฝนที่ตกลงมาจะกลายเป็นฝนกรด ส่งผลให้สารพิษปนเปื้อนลงบนพื้นดินและแม่น้ำ ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลต่อพืชและสัตว์น้ำที่เป็นอาหารของชุมชน ไหลวนสู่ห่วงโซ่อาหาร อีกทั้งสารพิษที่ลอยอยู่ในอากาศและแหล่งน้ำก็จะเข้าไปในร่างกายผ่านทางการหายใจ และการสัมผัสโดยตรง เช่น การดื่มและอาบน้ำ หรือนำน้ำไปประกอบอาหารก็จะทำให้สารพิษตรงเข้าสู่ร่างกายผ่านผิวหนัง รูขุมขน หรือปาก เข้าไปยังอวัยวะภายใน เช่น ตับ ปอด ไต และไหลเวียนอยู่ในระบบเลือดทั่วร่างกาย ส่งผลต่อระบบสมองส่วนกลางซึ่งมีหน้าที่สั่งการการเคลื่อนไหว ดังนั้นการไม่สามารถควบคุมร่างกายได้ เช่น ถือของอยู่แล้วหลุดมือ นั่นอาจเป็นผลมาจากความผิดปกติของสมองส่วนกลางที่ได้รับสารพิษต่าง ๆ อาการปัสสาวะขัดหรือเจ็บกะเพราะปัสสาวะก็มาจากความผิดปกติของไตที่ได้รับสารพิษในปริมาณมากและสะสมเป็นเวลานาน ถึงกระนั้นก็ยังมีสารพิษบางประเภทที่สามารถถูกขับออกจากร่างกายได้ เช่น ตะกั่ว แต่หากจะให้แน่ใจว่ามีสารพิษเหล่านี้อยู่ในร่างกายหรือไม่ ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจโรคอย่างละเอียดผ่านการวิเคราะห์ผลเลือด โดยสถานการณ์ทางสุขภาพที่เกิดขึ้นในขณะนี้จากการสำรวจลงพื้นที่ทั้งในช่วงเช้า และอาการตามที่เห็นแล้ว ถือว่าอยู่ในขั้นเตือนภัย ซึ่งเป็นช่วงก่อนวิกฤต ต้องมีการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน โดยจากสัดส่วนประชากรในหมู่บ้านทั้งหมดราว 400 คน เกือบ 50% ของประชากรในหมู่บ้านเป็นเด็ก จึงถือว่าเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เนื่องจากสารพิษต่าง ๆ ที่เกิดจากถ่านหินนั้นจะมีผลอย่างมากกับกลุ่มเปราะบาง คือ กลุ่มที่มีภูมิต้านทานต่ำ มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว และกลุ่มเด็ก เพราะอวัยวะภายในยังเติบโตไม่เต็มที่และมีขนาดเล็ก จึงไม่สามารถรับสารพิษได้มาก หลอดอาหารและทางเดินหายใจของเด็กที่เล็กสั้นจะส่งผลให้เด็กรับสารพิษเข้าสู่ร่างกายได้เร็วขึ้น เด็กอาจมีพัฒนาการสมองและสติปัญญาช้าลง อาจเป็นโรคปัญญาอ่อนได้

หลังจากที่ได้ฟังคำอธิบายจากปากคำของ ดร. อาภา หลายคนดูมีความกังวลมากขึ้น ว่าในอนาคตข้างหน้า พวกเขาจะมีสุขภาพอย่างไร และเศรษฐกิจชุมชนจะเปลี่ยนไปอย่างไร นี่คงเป็นคำถามคาใจ เพื่อหาคำตอบต่อไปในอนาคต แต่ดูเหมือนว่าทิศทางข้างหน้าที่ชัดเจนที่สุด คือ ให้บริษัทหยุดการดำเนินเหมืองอย่างถาวร และเร่งฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ… ฝังกลบมังกรเพชฌฆาตให้หลับใหลลงไปชั่วนิรันดร์

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: https://themekongbutterfly.com/2018/05/01

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net