Skip to main content
sharethis

'อนุทิน' เปิดเวทีรับฟังความเห็น “กองทุนบัตรทอง ครั้งที่ 16” ระดมความร่วมมือทุกภาคส่วนแจงนโยบายรัฐบาลพร้อมหนุนพัฒนาหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของคนไทย เพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพ ครอบคลุม ทั่วถึง อย่างมีมาตรฐานและคุณภาพ ย้ำหลักประกันสุขภาพเป็นการลงทุน ไม่ใช่ภาระค่าใช้จ่าย พร้อมย้ำไม่มีร่วมจ่ายแน่นอน ขณะที่ 'คนรักหลักประกัน' ร้อง 5 สิทธิประโยชน์

15 ส.ค.2562 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) รายงานว่า วันนี้ ที่โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทรา ศูนย์ราชการฯ อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการะทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานเปิด “เวทีรับฟังความคิดเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการระดับประเทศ ประจำปี 2562 ครั้งที่ 16” พร้อมมอบนโยบาย “ทิศทางเพื่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์หลักประกันสุขภาพ” จัดโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีผู้แทนผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นักวิชาการ และประชาชนทั่วไป ตลอดจนคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ อนุกรรมการฯ และคณะทำงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกว่า 500 คน

อนุทิน กล่าวว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทยตลอด 17 ปี ถือว่าประสบความสำเร็จ ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศและถูกยกเป็นต้นแบบการดำเนินหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในหลายประเทศ โดยรัฐบาลนี้จะเดินหน้าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อคุ้มครองความมั่นคงทางสุขภาพให้กับประชาชนที่เป็นหัวใจสำคัญ เพราะเมื่อประชาชนสุขภาพที่ดีย่อมส่งผลต่อผลิตภาพในระบบเศรษฐกิจประเทศ ดังนั้นการจัดสรรงบประมาณสู่กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รัฐบาลถือเป็นการลงทุนในมนุษย์ ไม่ใช่ภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาล

จากนโยบายด้านสาธารณสุขของรัฐบาล ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ายังมีส่วนที่ต้องทำเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นของประชาชนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในทางการแพทย์ช่วยเพิ่มประสิทธิผลและคุณภาพบริการ การเสริมสร้างความเข้มแข็งการป้องกันการเจ็บป่วยของประชาชนให้เกิดความตระหนักรู้และดูแลสุขภาพเบื้องต้น การให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นต่อบริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค การกำหนดทิศทางการบริหารจัดการรองรับโรคอุบัติใหม่ โรคอุบัติซ้ำ โรคไม่ติดต่อ และการเจ็บป่วยที่เกิดจากสภาพแวดล้อมและสังคม เช่น อุบัติเหตุจราจร การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ โรคจากมลพิษ เป็นต้น

นอกจากนี้มุ่งขยายระบบบริการในรูปแบบใหม่ สร้างเครือข่ายหน่วยบริการร่วม ทำให้ประชาชนในชุมชนเข้าถึงบริการอย่างทั่วถึง รวดเร็ว และมีคุณภาพ เช่น ร้านยาชุมชนอบอุ่น คลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่น องค์กรคนพิการ เครือข่ายเอดส์ เป็นต้น รวมถึงขยายพื้นที่กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพฯระดับจังหวัด ฯลฯ ส่วนการบริหารจัดการกองทุนจะเน้นประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ มุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน โดยอาศัยความร่วมมือนอกจาก สปสช.แล้ว กระทรวงสาธารณสุข ทบวงมหาวิทยาลัย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคีเครือข่ายเป็นส่วนสำคัญร่วมพัฒนาการจัดบริการเพื่อดูแลสุขภาพคนไทยในทุกระดับและทุกมิติอย่างมีคุณภาพ

“เวทีรับฟังความคิดเห็นทั่วไปฯ วันนี้ เป็นกลไกหนึ่งของการสร้างความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วน เพื่อร่วมปรับปรุงและพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้บรรลุจากเจตนารมณ์ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 แล้ว ยังนำไปสู่เป้าหมายสำคัญของรัฐบาลในการดูแลคนไทยทุกคนให้มีสุขภาพดี เป็นรากฐานความมั่นคงของประเทศ” รมว.สาธารณสุข กล่าว

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า เวทีรับฟังความคิดเห็นทั่วไปฯ ในปี 2562นับเป็นครั้งที่ 16 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-16 สิงหาคม 2562 โดยกำหนดประเด็นรับฟังความ 7 ด้านตามข้อบังคับ ได้แก่ 1.ประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุข 2.มาตรฐานบริการสาธารณสุข 3.การบริหารจัดการสำนักงาน 4.การบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 5.การบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นและพื้นที่ 6.การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และ7.การรับรู้และคุ้มครองสิทธิ และในปีนี้ได้เพิ่มประเด็นเฉพาะ “การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก” เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ย้ำไม่มีร่วมจ่ายแน่นอน

รายงานข่าวยังระบุว่า อนุทิน กล่าวในการมอบนโยบาย "ทิศทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์หลักประกันสุขภาพ" ตอนหนึ่งว่า ที่ผ่านมาการขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีความสำเร็จและคืบหน้าพอสมควร ได้รับการยอมรับจากนานาชาติและถูกยกให้เป็นต้นแบบในการขับเคลื่อนการให้บริการด้านสุขภาพ โดยรัฐบาลขอยืนยันที่จะสานต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย โดยระบบนี้จะต้องอยู่ต่อไปโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง

อนุทิน กล่าวต่อว่า การเพิ่มประสิทธิภาพของระบบหลักประกันสุขภาพเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ประชาชนเกิดความมั่นคงทางสุขภาพ ซึ่งจะเป็นการลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐ และสร้างเศรษฐกิจของประเทศไปพร้อมกัน โดยการดำเนินงานจะพุ่งเป้าไปที่การลดความเหลื่อมล้ำของสิทธิประโยชน์ คุณภาพบริการ ซึ่งทำให้ประชาชนเข้าถึงได้โดยไม่เกิดความเดือดร้อนและไม่ล้มละลายจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ

นอกจากนี้ สิ่งที่ สปสช.จะดำเนินการเพิ่มเติมในอนาคตคือการสร้างหลักประกันสุขภาพที่ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นเท่าเทียมกัน และจะสนับสนุนให้มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในทางการแพทย์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพการบริการ เช่น ระบบการแพทย์ทางไกล ระบบบริการระบบส่งต่อการแพทย์ที่แม่นยำ ตลอดจนการเชื่อมโยงข้อมูลการบริการสุขภาพให้เป็นหนึ่งเดียว เพื่อใช้ประโยชน์ของ Big Data ในการจัดการระบบสุขภาพให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน

“นโยบายที่ได้มอบให้หน่วยงานในสังกัด สธ. ในฐานะผู้ให้บริการคือ “บริการให้เยี่ยม” ส่วนนโยบายที่อยากมอบให้ประชาชนในฐานะผู้รับบริการคือ "อย่าป่วย" พวกท่านต้องแข็งแรง อย่าไปคิดว่าท่านป่วยแล้วมีคนรักษา มีสิทธิบัตรทองเสีย 30 บาท หรือคิดว่ามีรายได้ดี พอป่วยก็เข้าโรงพยาบาลชั้นหนึ่ง ซื้อยาดีได้ พวกนี้เป็นการแก้ปัญหาที่เราก็จะเจ็บแล้วเจ็บอีก เจ็บทั้งตัวเจ็บทั้งกระเป๋า ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุดคือต้องไม่ป่วย ซึ่งทำได้ด้วยการดูแลตัวเอง สปสช.จะได้เอางบที่มีไปรักษาคนที่ต้องใช้จริงๆ รวมถึงอนุโมทนาคนที่ไม่ได้ใช้ค่าใช้จ่ายจากการไปรักษาที่โรงพยาบาล ที่ถือว่าได้ทำบุญทุกวัน เพราะงบเหมารายหัว สิ่งที่เราไม่ได้เอาไปใช้เขาสามารถเอาไปให้การรักษา หรือทำโครงการดีๆ ให้คนที่ต้องใช้จริงๆ ได้ใช้ นี่คือเป้าหมาย ไม่ได้มีนโยบายอะไรมากไปกว่านั้น” อนุทิน กล่าว

อนุทิน กล่าวว่า ตนได้รับการแต่งตั้งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ซึ่งมีความเชื่ออยู่ในใจว่า แม้ สธ.จะไม่ได้อยู่ในกระทรวงเศรษฐกิจ แต่แท้จริงแล้วเป็นฐานรากของเศรษฐกิจประเทศ ถ้าประชาชนพร้อมใจกันป่วย เศรษฐกิจก็ล่ม แต่ถ้าประชาชนพร้อมใจกันแข็งแรงผลลัพธ์ของประเทศคงไม่ต้องพูดถึง

“ผมไม่ใช่หมอ ผมเป็นวิศวกร รู้ว่าการที่มีฐานรากมั่นคงแข็งแกร่งนั้น ดีกว่าการมียอดสูงใหญ่แต่อยู่บนฐานรากที่อ่อนแอ ซึ่งสมัยผมอยู่ภาคธุรกิจ บริษัทที่อยู่ต้องประสบภาวะล้มละลาย เพราะมัวไปต่อยอดที่มันเยอะ แต่อยู่บนฐานที่มันง่อนแง่ ในตอนหลังผมมีโอกาสเข้าแก้ไข ฟื้นฟูกิจการต่างๆ โดยเชื่ออย่างเดียวว่าฐานแกร่งก่อนแล้วยอดจึงจะไปได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด กว่า 20 ปีที่ผมทำเรื่องฐานราก ทำให้บริษัทที่ผมทำอยู่มียอดขายหลายหมื่นล้าน ไม่มีหนี้สิน เพราะเราโฟกัสชัดเจนว่าจะทำอะไร ไม่ทำอะไร เช่นเดียวกับ สธ. ที่จะโฟกัสอย่างเดียวคือการให้บริการ” อนุทิน กล่าว

อนุทิน กล่าวอีกว่า ได้พูดคุยกับนายกรัฐมนตรีแล้วว่าเงิน สปสช. มีเท่าไรก็ไม่พอ แต่ตนจะทำให้ใช้เงินทุกบาททุกสตางค์ได้อย่างคุ้มค่าที่สุด เช่น เรื่องการจัดซื้อเวชภัณฑ์ต่างๆ ต้องเน้นการผลิตในไทย เช่นนี้เราจะยังสามารถช่วยพยุงเศรษฐกิจ งบประมาณที่ใช้ไปก็จะหมุนอยู่ในประเทศ สิ่งที่เสียไปก็ไม่เสียเปล่า แต่ยังไปช่วยพยุงเศรษฐกิจประเทศไทยที่ตอนนี้ต้องซ่อมอย่างหนัก

“ขอให้ทุกคนให้ความคิดเห็นกันอย่างเต็มที่ สิ่งใดที่ผมทำได้ในสถานภาพ ตำแหน่ง ที่สามารถมีแรงขับเคลื่อนผลักดันระบบสาธารณสุขของประเทศ ให้ประชาชนรับบริการที่ดีสุดเท่าที่จะทำได้ ทำทุกอย่างให้ท่านมีสุขภาพแข็งแรง ผมปวารณาตัวจะทำอย่างเต็มที่ ขอให้มั่นใจในทีมงานของผม ไม่ว่าข้าราชการใน สธ. หรือ สปสช. ทุกคนมีความตั้งใจทำภารกิจที่เราได้รับอย่างเต็มที่" อนุทิน กล่าวและว่า ทั้งนี้ ในส่วนที่มีความกังวลว่าจะมีการให้ประชาชนร่วมจ่าย ขอย้ำว่าไม่มีนโยบาย ไม่มีแนวคิดเรื่องนี้เลย ไม่ต้องการผลักภาระให้ประชาชน ในทางกลับกันจะเพิ่มสิทธิประโยชน์แก่กลุ่มผู้ป่วยโรคหายากด้วย

'คนรักหลักประกัน' ร้อง 5 สิทธิประโยชน์

ขณะที่ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ รายงานด้วยว่า อภิวัฒน์ กวางแก้ว และกัลยทรรศน์ ติ้งหวัง ผู้แทนจากกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพยื่นข้อเสนอต่อ อนุทิน ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เกี่ยวกับการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ที่จำเป็นสำหรับประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพ ภายหลังมาเป็นประธานเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นนี้ด้วย โดยชุดสิทธิประโยชน์หลักที่กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพเสนอต่อ อนุทิน คือ  1. การเสนอแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ในมาตรา 5 โดยให้กำหนดคำนิยามคนที่เข้ารับบริการด้านสุขภาพให้ครอบคลุม “คนทุกคน” ที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทย ซึ่งจะทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ คนไทยไร้สิทธิ คนไทยพลัดถิ่น สามารถเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน 2. การเพิ่มชุดสิทธิประโยชน์ใหม่ด้านการรักษา เช่น การรักษารากฟัน การผลักดันให้กัญชาเป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ เป็นต้น

3. การเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงบริการที่ทั่วถึงมากขึ้น เช่น มีศูนย์บริการที่เป็นมิตรแบบ One Stop service ให้กับเยาวชน มีหน่วยให้บริการประจำจังหวัดละแห่งที่ทำเรื่องการยุติการตั้งครรภ์ด้วยวิธีการที่ปลอดภัย ให้คลินิกเอกชนมาร่วมให้บริการด้านทันตกรรม เป็นต้น 4. การส่งเสริมให้กลุ่มประชาชน เช่น ข่ายแรงงานนอกระบบ ข่ายคนพิการ ข่ายเยาวชน ข่ายผู้ป่วยเรื้อรัง ข่ายชาติพันธ์ เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานร่วมกับหน่วยบริการ เพื่อร่วมกันพัฒนาระบบที่สอดรับกับการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานของคนแต่ละกลุ่ม และ 5. การทำงานเชิงป้องกัน โดยให้ความสำคัญกับการตรวจสุขภาพที่คำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ นอกเหนือจากการใช้เฉพาะเกณฑ์ช่วงอายุเข้ารับบริการ เช่น ปัจจัยเสี่ยงด้านการประกอบอาชีพ ที่อยู่อาศัย เป็นต้น 

กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพคาดหวังว่ารัฐมนตรีสาธารณสุขในฐานะประธานบอร์ด สปสช. จะพิจารณานำข้อเสนอของภาคประชาชนไปเสนอในที่ประชุมบอร์ด เพื่อพัฒนา ปรับปรุง หรือเพิ่มเติมแนวทางที่จะทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างมีมาตรฐานมากขึ้น พร้อมกันนี้กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพเตรียมนัดหมายกับ อนุทิน เพื่อหารือถึงแนวนโยบายและทิศทางการบริหารงานด้านระบบสุขภาพของรัฐบาลชุดปัจจุบัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net