Skip to main content
sharethis

'วรเจตน์' ขอลาออกจาก คกก.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ระบุมีความขัดแย้งกับประธาน 'บวรศักดิ์ อุวรรณโณ' ด้าน 'สาวตรี' โพสต์เฟสบุ๊คเล่าว่าวรเจตน์เคยเป็นคณะกรรมการชุดดังกล่าวตั้งแต่ปี 49 แต่หลังรัฐประหารก็ไม่ได้เป็นอีก จนกระทั่งมีการชวนอีกครั้งรอบนี้ ซึ่งตอนแรกประธาน คกก. ยังไม่ใช่คนปัจจุบัน

10 มิ.ย. 2563 จากกรณีวานนี้ (9 มิ.ย.) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เสนอแต่งตั้ง บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ รวม 10 คน โดยมี วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นหนึ่งในกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้วย หลังจากประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระ 3 ปี

วันนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธีระ สุธีวรางกูร จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า วรเจตน์ฝากแจ้งว่า ได้ขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน 'คณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง' และได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา พร้อมโพสต์ภาพสำเนาหนังสือลาออกจากตำแหน่งประกอบด้วย

หนังสือลาออกจากตำแหน่งของวรเจตน์ ระบุถึงเหตุผลของการลาออกว่า เพิ่งทราบว่ามีการเปลี่ยนตัวบุคคลที่ดำรงตำแหน่งประธานธรรมการเป็นบวรศักดิ์ อุวรรณโณ และ "ข้าพเจ้ามีปัญหาขัดแย้งกับผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการ ซึ่งอาจส่งผลทำให้การทำงานร่วมกันไม่อาจเป็นไปได้อย่างราบรื่น"

ทั้งนี้วรเจตน์ได้กล่าวขอบคุณเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องที่ผลักดันให้ตนกลับมาเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการอีกครั้ง และขอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา "สร้างและพัฒนาหลักกฎหมายวิธีพิจารณาเรื่องทางปกครองให้เจริญทัดเทียมอารยประเทศเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติราชการและเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนบรรลุผลสำเร็จ"

ต่อมาวันนี้ สาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์เฟสบุ๊คส่วนตัวแสดงความเห็นและอธิบายต่อประเด็นดังกล่าวว่า ในวงการกฎหมายย่อมรู้ว่าบรรดาอาจารย์กฎหมายในมหาลัย (รวมทั้งผู้พิพากษาด้วย) หากมีความรู้ความสามารถ ก็มักถูกร้องขอจากฝ่ายข้าราชการประจำ (ให้ช่วยรับการแต่งตั้ง) ให้ทำงานเป็น คณะกรรมการชุดต่าง ๆ ด้านกฎหมายของหน่วยงานและรัฐบาล เช่น คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร (กวฉ.) คณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ฯลฯ ซึ่งลักษณะงานของคณะกรรมการเหล่านี้ คือ การทำงานให้คำปรึกษา หรือวินิจฉัยปัญหาให้กับหน่วยงานภาครัฐ และประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนจากการปฏิบัติงานของหน่วยงานรัฐทุกหน่วยงาน

สาวตรีระบุว่า กรณีที่หน่วยงานนั้นไม่มั่นใจว่าออกคำสั่งได้หรือไม่ อย่างไร หรือหากมีการออกคำสั่งไปแล้ว แต่ส่งผลกระทบกับประชาชน จะสามารถเพิกถอนคำสั่งเหล่านั้นได้หรือไม่ เหล่านี้เอง จึงกล่าวได้ว่า เป็นการทำงานที่ "ห่างจากภาคการเมือง" มากทีเดียว หากแต่เป็น "การทำงานร่วมกับฝ่ายราชการประจำ" และปกติแล้วคณะกรรมการเหล่านี้จำเป็นต้องมีในทุกรัฐบาลด้วยเพราะเป็นงานประจำ

สาวตรีตั้งคำถามว่า ดังนั้นเบื้องต้นด้วยลักษณะงานดังกล่าว สามารถเรียกว่าเป็นการทำงาน "ฝ่ายการเมือง" หรือทำงาน "รับใช้รัฐประหาร" ได้หรือไม่ หรือบรรดาอาจารย์ นักวิชาการที่รับไปเป็นที่ปรึกษา กมธ. สส. ชุดต่าง ๆ ในปัจจุบันซึ่งมี ครม. เป็นชุดประยุทธ์ จันทร์โอชา ยิ่งถือว่าใกล้ชิดการเมืองและรับใช้รัฐประหารหรือไม่ โดยสาวตรีกล่าวว่า ตนเองก็รับเป็นที่ปรึกษาใน กมธ.ยธ.สส. โดยตั้งใจไปช่วยทำงาน และช่วยตรวจสอบหน่วยงานรัฐที่ละเมิดสิทธิ

สาวตรียังเล่าว่า หลังจากจบกลับมาทำงานเป็นอาจารย์ วรเจตน์เคยได้รับการทาบทามให้รับเป็นคณะกรรมการ 2 ชุด คือ กวฉ. กับ คณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และได้ทำงานมาตลอด โดยเป็นคณะกรรมการ กวฉ. ตั้งแต่ปี 2544 และเป็นคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองตั้งแต่ปี 2549 และทั้ง 2 ชุดนี้ วรเจตน์ไม่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นอีกหลังรัฐประหาร 57

สาวตรีเล่าต่อว่า จนเมื่อหลายเดือนก่อนข้าราชการประจำที่เกี่ยวข้องขอให้วรเจตน์กลับมาช่วยเป็นใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการแก้ไขกฎหมายวิปกครองฯ ซึ่งกำลังจะมีการแก้ไขครั้งใหญ่ และเป็นกฎหมายสำคัญที่กระทบการทำงานของหน่วยราชการทั้งหมด โดยรับแนวทางมาจากเยอรมันมาค่อนข้างมากด้วย โดยวรเจตน์คิดว่าประธานคณะกรรมการเป็นคนที่เคยเป็นอยู่ ซึ่งคุ้นเคยกันดี และจบจากเยอรมนีมาเหมือนกัน จึงยอมให้ฝ่ายข้าราชการประจำเสนอชื่อไป โดยไม่รู้เลยว่าต่อมามีการเปลี่ยนประธานอีกรอบ กลายเป็นบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ซึ่งโดยส่วนตัว ทั้งวิธีคิด วิธีปฏิบัติ ความตรงไปตรงมาทางวิชาการ ฯลฯ ทำให้ไม่สามารถทำงานร่วมกันได้ และวรเจตน์ได้เขียนใบลาออกนับตั้งแต่เมื่อวานตอนที่ได้รับข่าวว่ามีการแต่งตั้ง แม้เจ้าหน้าที่ผู้รับเรื่องจะร้องขอให้ช่วยใช้วิธีการ "ถอนตัว" ออกไปอย่างเงียบ ๆ เนื่องจากคำสั่งแต่งตั้งยังไม่มีผล แต่วรเจตน์ยืนยันว่าต้อง "ลาออก" ให้เป็นกิจจลักษณะ

"โดยส่วนตัว ความเคารพนับถือของเรา และความเชื่อมั่นในหลักการ อุดมการณ์ของบุคคลผู้นี้ ไม่เคย "สั่นคลอน" ไปเลยจริง ๆ ฮะ แม้มีข่าวอะไรแบบนี้ออกมาก็ตาม เพราะเราคิดว่า ด้วยความรู้ความสามารถของเขา เขาจะไปเป็นตำแหน่งอะไรก็ได้ (จริง ๆ นะ)...แต่ทุกวันนี้เท่าที่ทำงานร่วมกันมา วรเจตน์ ไม่เคยรับอะไรเลย ยังคงทำงานงก ๆ หามรุ่งหามค่ำ ต่อสู้กับโรคประจำตัว และเจียดเงินเดือนส่งให้ครอบครัวพี่น้องอยู่เหมือนเดิม" สาวตรีระบุ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net