Skip to main content
sharethis

กลุ่มปฏิบัติการขนส่งทางอากาศ (ATAG) ซึ่งเป็นการรวมตัวกันขององค์กรในอุตสาหกรรมการบิน เผยแพร่รายงานเมื่อปลายเดือน ก.ย. 2563 ระบุว่าตำแหน่งงานประมาณ 46 ล้านคน กำลังสุ่มเสี่ยงที่จะหายไป จากผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 จากคนทำงานทั้งหมด 88 ล้านคน ในอุตสาหกรรมการบินทั้งระบบ และมีการประเมินว่าอุตสาหกรรมการบินจะยังไม่ฟื้นตัวเท่ากับระดับเดียวกับในปี 2562 จนกว่าจะถึงปี 2567

การสูญเสียตำแหน่งงานในสนามบิน สายการบิน บริษัทผู้ผลิตเครื่องบินและอุปกรณ์กี่ยวข้อง รวมถึงบริษัทด้านอวกาศอวกาศ อาจมีจำนวนถึง 4.8 ล้านคน ภายในต้นปี 2564 การจ้างงานจะลดลงถึงร้อยละ 43 จากระดับก่อน COVID-19 การระบาด ตามรายงานซึ่งอ้างอิงจากการวิเคราะห์ของ Oxford Economics

ตำแหน่งงานอีก 26 ล้านตำแหน่งที่อยู่ในความเสี่ยง อยู่ในธุรกิจท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางทางอากาศ อีกประมาณ 15 ล้านตำแหน่ง อยู่ในธุรกิจขายสินค้าและบริการในห่วงโซ่อุปทานการขนส่งทางอากาศหรือในอุตสาหกรรมการบิน

ทั้งนี้ตำแหน่งงานในสายการบินอาจลดลงมากกว่า 1 ใน 3 หรือประมาณ 1.3 ล้านคน ในขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ได้รับการสนับสนุนจากการบินอาจมีมูลค่าลดลงถึงร้อยละ 52 ซึ่งแปลงเป็นการสูญเสีย GDP ทั่วโลกถึง 1.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ในรายงานระบุว่าการแพร่ระบาดของ COVID-19 จะมี "ผลกระทบที่เป็นวงกว้างต่ออุตสาหกรรมเป็นเวลาหลายปี" ภัยพิบัติครั้งนี้ได้กระทบต่อดำรงชีวิตของคนทำงานหลายล้านคนที่พึ่งพาการเดินทางทางอากาศทั่วโลก ที่ใกล้จะหยุดนิ่งจากการปิดกั้นการระบาดทั่วโลกตั้งแต่เดือน เม.ย. 2563 และคาดว่าจะยังคงตกต่ำไปอีกหลายปี

"ในอดีตปริมาณผู้โดยสารสารการบินเคยลดลง แต่ก็ไม่เคยมีการปิดตัวลงทั่วโลกอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้" รายงานของ ATAG ยังระบุการคาดการณ์จำนวนผู้โดยสารในปี 2563 จะน้อยกว่าจำนวนครึ่งหนึ่งของปี 2562 

ส่วนข้อมูลจาก Cirium บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลด้านการเดินทางทางอากาศเปิดเผยเมื่อช่วงเดือน ต.ค. 2563 ว่าการสนับสนุนที่แข็งแกร่งจากรัฐบาลได้ช่วยให้สายการบินบางแห่งรอดพ้นจากการล้มละลาย อย่างไรก็ตาม อาจมีสายการบินจำนวนมากขึ้นที่จะต้องยุติการให้บริการโดยสิ้นเชิงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้

Cirium เปิดเผยว่านับตั้งแต่เดือน ม.ค. 2563 สายการบินพาณิชย์ 43 รายได้ระงับการให้บริการโดยสิ้นเชิงแล้ว เมื่อเทียบกับ 46 รายของทั้งปี 2562 และ 56 รายในปี 2561

นอกจากนี้นักวิเคราะห์อิสระจาก Sobie Aviation ระบุว่า "หากปราศจากการแทรกแซงและการสนับสนุนของรัฐบาล สายการบินต่าง ๆ อาจล้มละลายเป็นจำนวนมากในช่วง 6 เดือนแรกของวิกฤตนี้"

รัดเข็มขัด-เลิกจ้าง

ในสถานการณ์เช่นนี้สายการบินมีแนวโน้มที่จะจ้างงานพนักงานที่มีค่าจ้างต่ำเพื่อลดรายจ่ายด้านการจ้างงาน มากกว่าพนักงานที่มีทักษะและชั่วโมงบินสูงซึ่งก็จะมีค่าจ้างแพงขึ้นตามไปด้วย 

ขณะนี้ธุรกิจสายการบินของสหรัฐฯ ต้องใช้เงินราว 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือนในการบริหารงานต่อ หลังจากเที่ยวบินลดลงถึงร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ซึ่งหลายบริษัทการบินมีสภาพคล่องเพียงพอสำหรับดำเนินธุรกิจแค่ในระยะ 12 เดือน หากสถานการณ์ COVID-19 ยังทำให้ยอดการบินตกต่ำไปเช่นนี้ พวกเขาจำเป็นต้องได้รับเงินช่วยเหลือ 25,000 ล้านดอลลาร์จากรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อให้รักษาระดับการจ้างงานให้รองรับเศรษฐกิจที่จะกลับมาฟื้นตัวหลัง COVID-19

ในช่วงเดือน ต.ค. 2563 นี้ คาดว่าสายการบินอเมริกันหลายแห่งจะต้องสั่งให้พนักงานถึงร้อยละ 25 พักงาน หากการหารือเรื่องมาตรการช่วยเหลือก้อนใหม่จากสภาคองเกรสยังไม่ได้ข้อสรุป ทั้งนี้สายการบินในสหรัฐฯ ได้เตือนต่อสภาคองเกรสแล้วว่างาน 100,000 ตำแหน่ง จะตกอยู่ในความเสี่ยงทันที เมื่อแพ็คเกจช่วยเหลือของรัฐบาลกลางจะหมดอายุในวันที่ 1 ต.ค. 2563 นอกจากนี้บริษัทผู้ผลิตต่าง ๆ เช่น Boeing, Airbus, GE Aviation และ Rolls-Royce ก็ต้องเลิกจ้างพนักงาน เนื่องจากความต้องการเครื่องบินที่ลดลง

เรียกร้องให้ผ่อนปรนข้อจำกัดกักตัว

IATA ระบุว่าชุดตรวจ COVID-19 แบบให้ผลรวดเร็วและราคาไม่แพงกำลังจะมีออกมาใช้ในอนาคตอันใกล้ และควรจะกลายเป็นมาตรการใหม่ในการตรวจหาเชื้อ COVID-19 ทั่วโลก แทนการกักตัว 14 วัน | ที่มาภาพ: Future Travel Experience

นอกจากนี้ สายการบินทั่วโลกยังได้เรียกร้องรัฐบาลให้การสนับสนุนทางการเงิน รวมทั้งอำนวยความสะดวกการตรวจเชื้อ COVID-19 ให้ผู้โดยสารก่อนขึ้นบิน และยังมีการขอให้ผ่อนปรนข้อจำกัดต่าง ๆ ที่บังคับให้นักท่องเที่ยวและนักธุรกิจหลายล้านคนต้องเลื่อนหรือยกเลิกการเดินทาง 

โดยเฉพาะการกดดันให้รัฐบาลประเทศตนนำมาตรการอื่นมาใช้แทนการกักตัวผู้โดยสารระหว่างประเทศเป็นเวลา 14 วัน ในขณะที่กำลังมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรอบใหม่ในหลายประเทศ โดยเฉพาะในยุโรป

เมื่อช่วงเดือน ก.ย. 2563 สมาคมการเดินทางทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ออกมาเรียกร้องขอให้มีการตรวจเชื้อ COVID-19 ของผู้โดยสารทุกคนที่จะเดินทางระหว่างประเทศ อย่างเคร่งครัด เพื่อนำมาใช้แทนมาตรการกักตัว 14 วันซึ่งถูกมองว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้การเดินทางด้วยเครื่องบินลดน้อยลงไปมากในช่วงที่ผ่านมา

ผู้อำนวยการใหญ่ IATA ระบุว่าชุดตรวจ COVID-19 แบบให้ผลรวดเร็วและราคาไม่แพงกำลังจะมีออกมาใช้ในอนาคตอันใกล้ และควรจะกลายเป็นมาตรการใหม่ในการตรวจหาเชื้อ COVID-19 ทั่วโลก โดย IATA จะผลักดันให้มีการใช้ชุดตรวจสารแอนติเจน (Antigen) ที่มีราคาชุดละ 7 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยจะขอความสนับสนุนจากองค์การการบินพลเรือนสากลแห่งสหประชาชาติ (ICAO) ซึ่งเป็นผู้ดูแลกฎเกณฑ์ด้านการบินทั่วโลกด้วย นอกจากนี้ IATA จะพยายามสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้โดยสารเครื่องบินที่ต้องรับการตรวจดังกล่าว รวมทั้งจากประเทศที่เป็นจุดหมายปลายทางด้วย


ที่มาเรียบเรียงจาก
The collapse of global air travel is putting 46 million jobs at risk (CNN, 30/9/2020)
Coronavirus: Hundreds of thousands of airline jobs at risk, warns industry body (BBC, 29/9/2020)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net