Skip to main content
sharethis

พรเพชร วิชิตชลชัย ระบุยังไม่ทราบ และยังไม่ได้คิดว่า หากมี คณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์จะแก้ปัญหาประเทศได้หรือไม่ แต่ประทับใจสิ่งที่ ร.10 ตรัสกับผู้สื่อข่าวต่างชาติว่า “ไทยเป็นดินแดนแห่งการประนีประนอม” ด้านโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ย้ำคณะกรรมการปรองดองฯ ไม่ใช่การยื้อเวลา แต่เป็นการทำให้ทุกฝ่ายร่วมหาทางออกเพื่อเดินไปสู่จุดเดียวกัน พร้อมดันร่างแก้ไข รธน. ฉบับไอลอว์เข้าสู่การพิจารณา

2 พ.ย. 2563 ที่สถาบันพระปกเกล้า พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่รัฐสภาเตรียมพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญกลางเดือน พ.ย. ว่า สมาชิกวุฒิสภายังไม่ได้หารือกันถึงแนวทางการลงมติ กำหนดการต่างๆ ขึ้นอยู่กับประธานรัฐสภาเป็นผู้กำหนด แต่เมื่อเข้าสู่ระเบียบวาระแล้วก็เป็นหน้าที่ของสมาชิกในการพิจารณา

ส่วนการตั้งคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า เป็นเรื่องที่พรรคการเมืองต่างๆ ต้องพูดคุยกัน ซึ่งเชื่อว่าจะมีความพยายามดำเนินการให้ได้

เมื่อถามว่าหากคณะกรรมการฯ ทำงานแล้วจะสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศขณะนี้ได้หรือไม่ พรเพชร กล่าวว่า ตนยังไม่ทราบ และยังไม่ได้คิด แต่รู้สึกประทับใจเป็นอย่างยิ่งในสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตรัสกับผู้สื่อข่าวต่างประเทศ เมื่อวานนี้ (1 พ.ย. ) ว่าไทยเป็นดินแดนแห่งการประนีประนอม

ด้านราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้แถลงต่อผู้สื่อข่าว ถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า เมื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญเรื่องแก้รัฐธรรมนูญชุดก่อนรับหลักการพิจารณาเสร็จแล้ว จะบรรจุระเบียบวาระเพื่อเข้าสู่การลงมติในวาระที่หนึ่ง และเห็นด้วยหากจะนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของภาคประชาชนหรือไอลอว์มาพิจารณาไปพร้อมกัน เพราะจะได้ไม่เป็นปัญหาเรื่องการตีความข้อบังคับ เรื่องความซ้ำซ้อน หากพิจารณาไปในคราวเดียวกัน มีคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดเดียวกัน จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเดินไปในทิศทางเดียวกัน

“เชื่อว่าภาคประชาชนก็เห็นด้วย และในวาระหนึ่งเมื่อได้เข้ามาชี้แจงประกอบร่างต่อสภาแล้ว หากรับหลักการเมื่อเข้าสู่การพิจารณาวาระที่สอง ก็จะได้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในการแสดงความคิดเห็นตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ส่วนการเตรียมการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ สถาบันพระปกเกล้าเป็นสถาบันที่มีผู้ทรงคุณวุฒิ มีผู้เชี่ยวชาญ เชื่อว่าการออกแบบโครงสร้างจะทำให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วม คณะกรรมการชุดนี้สามารถทำงานควบคู่กันไปกับกระบวนการในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ ในการร่วมกันแก้ปัญหา เพราะต้องยอมรับว่าเรื่องแก้รัฐธรรมนูญก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญ” โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว

ราเมศ กล่าวว่า ไม่อยากให้คิดว่าการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์จะเป็นการซื้อเวลา อยากให้ทุกฝ่ายคิดถึงประโยชน์ส่วนรวมของประเทศเป็นที่ตั้ง จะทำอย่างไรที่จะใช้โอกาสและเวลาให้มีค่าที่สุด เพราะถ้าวันหนึ่งคณะกรรมการชุดนี้ไม่เป็นไปตามที่หวังวันนั้นทุกคนที่เกี่ยวข้องต้องรับผิดชอบ เวลาจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด เมื่อการออกแบบโครงสร้างเสร็จแล้ว การพูดคุยนอกรอบกับทุกฝ่ายเพื่อให้เกิดความเข้าใจในเจตนารมณ์ของการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ดี เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ก้าวเดินไปสู่จุดหมายเดียวกัน อยากให้ทุกฝ่ายช่วยคิดเพื่อหาทางออกให้ประเทศ ถ้าไม่ช่วยกันก็จะมีแต่ทางตันที่ไม่อาจรู้ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น วันนี้ก็ต้องติดตามถึงโครงสร้างของคณะกรรมการสมานฉันท์ต่อไป

ที่มาจาก: สำนักข่าวไทย 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net