Skip to main content
sharethis

สปสช.เชิญผู้ประกอบการฟู้ด เดลิเวอรี่ ถกวางระบบจัดส่งอาหารแก่ผู้ป่วย COVID-19 ที่รักษาตัวที่บ้าน ด้านผู้ประกอบการขานรับพร้อมส่งทั้งแบบกำหนดจุดรับส่งประจำและส่งให้ถึงบ้านผู้ป่วย หลังจากนี้รอข้อมูลจำนวนผู้ป่วยและพื้นที่อาศัยจากกรมการแพทย์ก่อนหารือรายละเอียดกันอีกครั้ง - ระดม แกนนำชุมชน อสส. ภาคประชาชน เร่งจัดระบบดูแลผู้ป่วยโควิดสีเขียวที่บ้าน/ชุมชน 

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดประชุมออนไลน์เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2564 โดยเชิญผู้ประกอบการบริการจัดส่งอาหารร่วมให้ข้อมูลและหารือถึงความเป็นไปได้ในการวางระบบจัดส่งอาหารแก่ผู้ป่วยโควิด-19 ที่รักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation) โดย นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มมากขึ้นจนอาจเกิดปัญหาเตียงไม่พอ ทำให้กรมการแพทย์และ สปสช.จัดระบบการดูแลผู้ป่วยที่บ้านหรือ Home Isolation ซึ่งประเด็นสำคัญอย่างหนึ่ง คือการส่งอาหารให้คนไข้กักตัวที่บ้าน โดย สปสช.สนับสนุนค่าอาหารและค่าบริการจัดการวันละ 1,000 บาท โดยให้โรงพยาบาลเป็นผู้บริหารค่าใช้จ่าย ด้วยเหตุนี้จึงได้จึงเชิญองค์กรธุรกิจที่ทำอาหารหรือจัดส่งอาหารมาร่วมหารือถึงความเป็นไปได้ในการจัดระบบส่งอาหารแก่โรงพยาบาล ไม่ว่าจะจากโรงครัวของโรงพยาบาลแล้วจัดส่งไปให้ที่บ้าน หรือให้ผู้ป่วยสั่งออเดอร์ผ่านแอปพลิเคชัน  

ตัวแทนฝ่ายครัวการบิน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในส่วนของครัวการบินไทย สามารถผลิต Set box ซึ่งประกอบด้วย อาหาร ผลไม้ เครื่องดื่ม และอุปกรณ์ในการรับประทาน มีเมนูหลากหลายไม่ซ้ำ เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยรู้สึกจำเจ โดยในส่วนของแพ็คเก็จจิ้งจะเป็นแบบใช้แล้วทิ้ง อย่างไรก็ดี ในส่วนของส่วนลดค่าอาหารอาจต้องหารือแบบ case by case ขึ้นอยู่กับปริมาณที่แต่ละโรงพยาบาลสั่ง 

ด้านตัวแทน บริษัท ลาล่ามูฟ ประเทศไทย กล่าวว่า บริษัทให้บริการแอปพลิเคชันขนส่งสินค้าทุกประเภทรวมทั้งอาหาร โดยมีรถให้บริการ 7 ประเภท ในกรณีของอาหารปรุงสุก เสนอว่าการขนส่งด้วยรถที่ควบคุมอุณหภูมิได้น่าจะสำหรับการรักษาคุณภาพอาหาร จึงเสนอใช้รถ CRV 5 ประตู ที่บรรจุอาหาร 200-500 กล่องในการขนส่ง 

"ลาล่ามูฟ สามารถรวบรวมจุดขนส่งสินค้าที่ไม่ใช่ทีละบ้าน เพราะรถที่สนับสนุนได้จะเป็นรถใหญ่ ขณะนี้ก็มีคลัสเตอร์ในชุมชนต่างๆ หรือแคมป์ก่อสร้าง แต่ละจุดอาจมีผู้ป่วยหลายร้อยคน ลาล่ามูฟสามารถช่วยสนับสนุนการขนส่งอาหารไปยังชุมชนที่มีการระบาดจำนวนมากได้ แต่การกระจายไปตามบ้านอาจต้องมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หรือผู้นำชุมชน เป็นตัวกลางแจกจ่ายอาหาร"ตัวแทน บริษัท ลาล่ามูฟ ประเทศไทย กล่าว 

ขณะที่ตัวแทนจากแอปพลิเคชันไลน์แมน กล่าวว่า ระบบของไลน์แมนจะส่งจุดต่อจุด โดยผู้ใช้กดสั่งอาหารจากร้านที่กำหนด อย่างไรก็ตาม ในกรณีของผู้ป่วยโควิด-19 ผู้ใช้จะมีการสั่งซ้ำๆกันและมีร้านที่ค่อนข้างแน่นอน จึงเสนอว่าอาจใช้ไลน์แท็กซี่ที่ขนอาหารได้มากกว่ามอเตอร์ไซค์ โดยจุดที่มีผู้ป่วยหลายคนก็กำหนดจุดรับส่งที่แน่นอนแล้วนัดเวลาแล้วไปส่งทีเดียวโดยบริษัทประสานไรเดอร์ให้ 

อย่างไรก็ดี ในแอปพลิเคชันไลน์แมน สามารถสร้างคอลเล็คชั่นเมนูอาหารสำหรับผู้ป่วยได้แล้วให้ผู้ป่วยเป็นคนสั่งเอง หากเป็นลักษณะนี้ สปสช.หรือโรงพยาบาลสามารถแจกคูปองแก่ผู้ป่วยสำหรับใช้ชำระค่าอาหารและค่าส่งได้เช่นกัน 

ขณะที่ตัวแทนบริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ผู้ให้บริการแอปฯโรบินฮู้ด กล่าวว่า บริษัทสามารถจัดบริการได้ทั้ง 2 Mode คือส่งอาหารจากโรงประกอบอาหารไปยังจุดรับหรือบ้านผู้ป่วยได้ หรือ ให้คนไข้มี playlist รายการอาหารแล้วเลือกสั่งด้วยตัวเองก็ได้ 

ด้านตัวแทนแอปฯฟู้ดแพนด้า กล่าวว่า ฟู๊ดแพนด้ามีบริการทั้งลูกค้าทั่วไปและลูกค้าองค์กร ดังนั้นจึงมีแพล็ทฟอร์มสำหรับลูกค้าองค์กรอย่างโรงพยาบาล ให้บริหารจัดการส่งอาหารจาก Catering หรือร้านอาหารไปให้คนไข้ที่บ้านได้เลย โดยพร้อมส่งทีมงานไปเทรนนิ่งการใช้งานให้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล 

ตัวแทนฟู้ดแพนด้า กล่าวอีกว่า ระบบของฟู้ดแพนด้า ยังสามารถทำ pre order สั่งอาหารล่วงหน้าได้สูงสุด 7 วัน ทำให้โรงพยาบาลไม่ต้องมานั่งสั่งอาหารทุกๆวัน รวมทั้งมีระบบหลักบ้านที่ช่วยควบคุมงบประมาณได้ โดยดูได้ว่าแต่ละวันใช้เงินไปเท่าไหร่ เหลือเท่าไหร่ รวมทั้งตรวจสอบได้ว่าส่งไปที่ไหนบ้าง 

นอกจากนี้ ฟู้ดแพนด้า ยังมีครัวของตัวเอง มีรายการอาหารที่หลากหลาย มีพาร์ทเนอร์ร้านอาหารประมาณ 1 แสนร้าน มีจำนวนไรเดอร์มากเป็นอันดับต้นๆของประเทศ สามารถกระจายอาหารไปยังบ้านผู้ป่วยได้เลย ซึ่งในกรณีผู้ป่วยโควิด-19 บริษัทจะไม่คิดเงินค่าจัดส่งอาหาร และยังมีส่วนลดเพิ่มเติมแก่โรงพยาบาลอีกด้วย 

ส่วนผู้แทนบริษัท ไปรษณีย์ไทย ดิสทริบิวชั่น จำกัด ระบุว่าบริษัทไม่ได้มีแพล็ทฟอร์มร้านอาหารโดยตรงแต่ก็มีรถขนส่งกระจายทั่วประเทศ ดังนั้นขอนำข้อมูลการประชุมในครั้งนี้ไปหารือกับทีมงานเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะและจะหารือมายัง สปสช. ต่อไป 

นพ.จเด็จ กล่าวทิ้งท้ายว่า หลังจากนี้กรมการแพทย์น่าจะมีข้อมูลจำนวนผู้ป่วยและพื้นที่อยู่มากขึ้น สปสช.จะเชิญบริษัทต่างๆมาร่วมวางแผนอีกครั้ง รวมทั้งจะเป็นตัวกลางสื่อสารประชาสัมพันธ์ระหว่างบริษัทผู้จัดส่งอาหารให้โรงพยาบาลต่างๆได้รับทราบต่อไป 

สปสช.ระดม แกนนำชุมชน อสส. ภาคประชาชน เร่งจัดระบบดูแลผู้ป่วยโควิดสีเขียวที่บ้าน/ชุมชน  

เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2564 – สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้จัดการประชุมหารือบทบาทของภาคประชาชนในการช่วยสนับสนุนการจัดระบบดูแลผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียวที่บ้านและในชุมชน (home & community Isolation) ผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meeting เพื่อระดมความร่วมมือเครือข่ายภาคประชาชนโดยเฉพาะในเขตพื้นที่การแพร่ระบาดสีแดง ในการจัดระบบดูแลผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเขียว โดยมีตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน หน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียนตามมาตรา 50(5) ผู้นำชุมชน และอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) เข้าร่วม 125 คน  

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่าภายหลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศนโยบายจัดระบบดูแลผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียวที่บ้านและในชุมชน สปสช.ได้ดำเนินการเพิ่มรายการค่าใช้จ่ายบริการรองรับและประชุมชี้แจงโรงพยาบาลทั่วประเทศแล้ว นโยบายนี้จะเดินหน้าได้หรือไม่ ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคประชาชน ผู้นำชุมชน และ อสส. ดังนั้นในวันนี้ สปสช. จึงจัดการประชุมขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจต่อปัญหาที่เกิดขึ้น และประสานความร่วมมือในการดำเนินการ เพราะด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีรายงานอยู่ที่ 3,000-5,000 รายต่อวัน ทำให้เกินศักยภาพโรงพยาบาลในการดูแล จำเป็นต้องให้ชุมชนร่วมดูแลผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว เพื่อให้ผู้ป่วยกลุ่มสีแดงได้รับการดูแลอย่างเต็มที่  

นายนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวว่า อสส. แกนนำชุมชน ที่ทำงานอยู่ขณะนี้ทราบดีว่าการประสานหาเตียงผู้ป่วยขณะนี้ยากมาก โดยเฉพาะผู้ป่วยสีเขียวและสีเหลือง เมื่อกรมการแพทย์ประกาศแนวทางการดูแลผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวที่บ้าน เท่ากับว่ากฎหมายเปิดให้ชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วมแล้ว เรื่องนี้ไม่ใช่การผลักภาระให้ชุมชนดูแล แต่เป็นการขอความช่วยเหลือจากชุมชน ร่วมทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่ในภาวะวิกฤต ทั้งนี้เชื่อว่าชุมชนทำได้ เพียงแต่ต้องอาศัยแกนนำที่เข้มแข็ง มีความรู้เรื่องโควิด-19 ซึ่งที่ผ่านมาเครือข่ายภาคประชาชนได้จัดอบรมให้ความรู้การรับมือสถานการณ์โควิด-19 โดยมีแกนนำชุมชน 70 คนจาก 23 ชุมชนที่ผ่านการอบรมแล้ว นอกจากนี้ยังจะมีการจับคู่ระหว่างชุมชนกับโรงพยาบาล เพื่อให้มีการประสานการดูแลผู้ป่วยร่วมกัน  

“หากผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเขียวที่อยู่ที่บ้านหรือในชุมชน หากขยับเป็นสีเหลืองเข้ม โรงพยาบาลที่เป็นเครือข่ายจะรับผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลโดยเร็ว แต่หากเตียงเต็มจะมีการประสานไปยังระบบกลางในการจัดหาเตียงให้ ซึ่งเชื่อว่าหลังการจัดระบบในกลุ่มผู้ป่วยโควิดสีเขียวแล้ว จำนวนเตียงจะมากขึ้นเพียงพอรองรับผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลได้”  

ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ระบบที่เกิดขึ้นนี้จะเป็นหนึ่งในนวัตกรรมระบบสุขภาพรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิด-19  โดยมีชุมชนเป็นฐานและอาจนำไปสู่การพัฒนาการดูแลสุขภาพรูปแบบในอนาคต เบื้องต้นนอกจาก สปสช.จัดเพิ่มรายการเบิกจ่ายสิทธิประโยชน์สนับสนุนดูแลผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเขียวที่บ้านและในชุมชนแล้ว ภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ยังมี “กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น (กปท.)” เข้ามาร่วมสนับสนุนการจัดระบบการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ในชุมชน ซึ่งในเขตพื้นที่ กทม. ยังมีงบประมาณนี้อยู่ ชุมชนต่างๆ สามารถนำเสนอโครงการเข้ามาได้ โดยจะมีเครือข่ายภาคประชาชนช่วยให้คำแนะนำในการดำเนินการ ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยเติมเต็มงานที่ทางชุมชนทำกันอยู่แล้วให้เกิดความเข้มแข็งยิ่งขึ้น 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net