Skip to main content
sharethis

โมกหลวงริมน้ำ สมยศ และญาติของผู้ถูกบังคับสูญหาย ยื่นหนังสือถึง กสม. ชุดใหม่ ตรวจสอบประยุทธ์ ปมเอี่ยวอุ้มหายประชาชน 9 คนตั้งแต่ยุค คสช. หวังให้ กสม.มีความกล้าทางจริยธรรมไม่เห็นแก่รัฐบาลที่ตั้ง กก. ด้าน กสม.แจงจะพยายามเต็มที่แม้นมีข้อจำกัด และไม่เคยมองว่าองค์กรนี้ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐ พร้อมชวนประชาชนตรวจสอบการทำงานของ กสม.อย่างเต็มที่  

ภาพของนายวันเฉลิม ศักดิ์สัตย์สิทธิ์ ผู้ถูกบังคับสูญหายที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา

11 ส.ค. 64 สำนักข่าวราษฎร ถ่ายทอดสดผ่านเพจเฟซบุ๊กวันนี้ (11 ส.ค.) เมื่อเวลาประมาณ 13.00 น. ติดตามกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ สมยศ พฤกษาเกษมสุข จากกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย 'เจน' สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พร้อมด้วยญาติและสมาชิกครอบครัวของผู้ถูกบังคับสูญหาย ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เรื่อง "ขอให้ทำการตรวจสอบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาและพรรคพวก ในประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชน และอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปและการเสียชีวิตของนักเคลื่อนไหวทางการเมือง" พร้อมด้วยหลักฐานและเอกสารที่แนบมาด้วย ซึ่งเป็นเอกสารลับจับตายเป้าหมายผู้ที่ขัดขวางการทำงานของรัฐบาล ที่อาคาร บี ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ โดยมี ศยามล ไกยูรวงศ์ และสุชาติ เศรษฐมาลินี ตัวแทนของ กสม. เป็นผู้รับหนังสือ 

ขณะที่กลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ชี้แจงถึงสาเหตุการมายื่นหนังสือต่อ กสม. ผ่านทางเพจเฟซบุ๊กด้วยว่า หลังการทำรัฐประหารนำโดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการกดดันและคุกคามประชาชนผู้เห็นต่าง นักกิจกรรมทางการเมือง และผู้สนับสนุนประชาธิปไตย จนต้องลี้ภัยออกประเทศ และมีหลายคนต้องกลายเป็นผู้ถูกบังคับสูญหาย 

โมกหลวงริมน้ำมีข้อน่าสังเกตว่า บุคคลที่ถูกบังคับสูญหายทั้ง 9 คน ถูกกล่าวหาโดยคณะรัฐประหาร คสช. หรือรัฐบาลประยุทธ์ทั้งสิ้น รวมถึงรัฐบาลประยุทธ์ ยังเมินเฉยต่อการสืบสวนคดีบังคับสูญหาย ไม่มีความคืบหน้าใดต่อผู้กระทำความผิดแม้จะผ่านมานับปี กลุ่มโมกหลวงฯ จึงมีข้อสงสัยว่า การสูญหายของนักเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายราย ประยุทธ์ และพรรคพวกอาจมีส่วนรู้เห็น

ผู้ถูกบังคับสูญหายในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลประยุทธ์ (2557-2564) 

  1. อิทธิพล สุขแป้น หรือ 'ดีเจซุนโฮ' วันที่หาย ก.ค. 2559 สถานะไม่ทราบชะตากรรม คดีไม่คืบหน้า 
  2. วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือ 'โกตี๋' วันที่หาย 29 ก.ค. 2560 สถานะไม่ทราบชะตากรรม คดีไม่คืบหน้า 
  3. สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือ 'สุรชัย แซ่ด่าน' วันที่หาย ธ.ค. 2561 สถานะไม่ทราบชะตากรรม คดีไม่คืบหน้า
  4. ชัชชาญ บุปผาวัลย์ หรือ 'ภูชนะ' วันที่หาย ธ.ค. 2561 สถานะเสียชีวิต คดีไม่คืบหน้า
  5. ไกรเดช ลือเลิศ หรือ 'สหายกาสะลอง' วันที่หาย ธ.ค. 2561 สถานะเสียชีวิต คดีไม่คืบหน้า
  6. ชูชีพ ชีวะสุทธิ์ หรือ 'ลุงสนามหลวง' วันที่หาย พ.ค. 2562 สถานะไม่ทราบชะตากรรม คดีไม่คืบหน้า 
  7. กฤษณะ ทัพไทย หรือ 'สหายยังบลัด' วันที่หาย พ.ค. 2562 สถานะไม่ทราบชะตากรรม คดีไม่คืบหน้า 
  8. สยาม ธีรวุฒิ วันที่หาย พ.ค. 2562 สถานะไม่ทราบชะตากรรม คดีไม่คืบหน้า
  9. วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หรือ ต้าร์ วันที่หาย 4 มิ.ย. 2562 สถานะไม่ทราบชะตากรรม คดีไม่คืบหน้า

ภาพงานศิลปะของผู้ถูกบังคับสูญหาย

ข้อเรียกร้องของกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ และประชาชน จึงประกอบด้วย หนึ่ง ให้ กสม.ติดตามตรวจสอบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และพรรคพวก ที่เป็นหน่วยข่าวกรองและปฏิบัติการทางทหารโดยอาจเป็นการใช้งบลับทางการทหาร ว่าจะเกี่ยวข้องกับการอุ้มหายและคุกคามประชาชนทุกคน หากพบว่าผิดจริง ให้มีการดำเนินคดี และคืนความยุติธรรมให้ผู้ถูกบังคับสูญหาย

สอง เรียกร้องติดตามการการอภิปรายและลงมติ ร่าง พ.ร.บ. ป้องกันปราบปรามการทรมานและการบังคับสูญหายของประชาชนให้ได้ภายในปี 2564  

จากไลฟ์สดของสำนักข่าวราษฎร พบว่า ก่อนการยื่นหนังสือ มีการขับขานลำเนาเพลง 'นักสู้ธุลีดิน' โดย 'อาเล็กโชค ร่มพฤกษ์' เนื่องในโอกาสครบรอบวันคล้ายวันเกิดของ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ถูกบังคับสูญหายที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ตลอดจนรำลึกถึงผู้ถูกบังคับสูญหายอื่นๆ หลังจากนั้น ตัวแทนยื่นหนังสือเดินทางไปที่สำนักงาน กสม. ซึ่งอยู่ที่ชั้น 6 อาคารบี ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ โดยทาง กสม. เปิดห้องเพื่อการหารือ และเปิดให้ทางตัวแทนยื่นหนังสือถามคำถาม  

เบื้องต้น ตัวแทนกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ อ่านข้อความในหนังสือ และมอบหนังสือให้กับตัวแทนจาก กสม. หลังจากนั้น ทางตัวแทน กสม. เปิดให้มีการถามคำถาม รวมถึงข้อร้องเรียนถึง กสม. 

น้องสาวของสยาม ธีรวุฒิ หวังให้ทาง กสม. แจงความคืบหน้าคดีของ สยาม ธีรวุฒิ หลังเคยรับปากว่าจะช่วยเมื่อ 2 ปีก่อน แต่เงียบหายไป 

อดีตคนรักของวันเฉลิม เผยอยากให้ทาง กสม. ช่วยดำเนินการติดตามคดีของผู้ถูกบังคับสูญหาย และเนื่องด้วยการเมืองตอนนี้ไร้เสถียรภาพ เธอกังวลว่า พ.ร.บ.ป้องกันการอุ้มหาย อาจถูกปัดตกวาระ 2 จึงต้องการให้ กสม. ช่วยติดตามตรงนี้ด้วย

สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หรือเจน พี่สาววันเฉลิม กล่าวว่า เธอจะติดตามการทำงานของ กสม. อย่างใกล้ชิดว่าจะมีประสิทธิภาพ และทำงานอย่างจริงจังหรือไม่ และทีมงานจะไม่ปล่อยให้เรื่องล่าช้ากว่านี้แล้ว

สมยศ พฤกษาเกษมสุข กล่าวว่า ตนเข้าใจว่าทาง กสม. มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องต่อรัฐบาล เนื่องจากถูกแต่งตั้งขึ้นมาตามรัฐธรรมนูญ ‘60 แต่ด้วยทาง กสม. ทำงานเกี่ยวข้องโดยตรงกับประเด็นทางด้านสิทธิมนุษยชน ก็หวังให้ทางคณะกรรมการชุดนี้มีความกล้าหาญจริยกรรม ไม่เห็นแก่รัฐบาลที่เป็นผู้แต่งตั้งขึ้นมา ยึดประชาชนและประชาธิปไตยเป็นที่ตั้ง ทำงานจริงจัง ไม่เกรงกลัวผู้มีอิทธิพล 

"ก็อยากให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนได้ตระหนักถึงความเดือดร้อน สิทธิเสรีภาพ และสิทธิมนุษยชนของผู้ถูกบังคับสูญหาย โดยเรื่องนี้ได้ถูกยื่นเรื่องตั้งแต่ปีที่แล้ว และ กสม.ชุดที่แล้ว ก็ไม่ได้สนใจใยดี และก็ปรารถนาว่า กสม.ชุดนี้ จะมีความกล้าทางจริยธรรม เพราะคณะกรรมการก็กินเงินเดือนประชาชน และกำลังทำหน้าที่ในแง่ที่มีความหมายด้านสิทธิมนุษยชน ก็หวังว่าจะไม่เห็นแก่ผู้ที่แต่งตั้งเข้ามา แต่เห็นแก่ประชาชน และประชาธิปไตย อยากให้ กสม.ชุดใหม่ทำงานอย่างเร่งด่วน จริงจัง ไม่เกรงกลัวผู้มีอิทธิพล ที่เป็นรัฐ" สมยศ กล่าว 

สมยศ เสนอด้วยว่า ในกระบวนการสืบสวนคดีอยากให้มีประชาชนและผู้ที่ได้รับความเสียหายได้เข้ามาส่วนในกระบวนการทำงาน สุดท้าย ในด้าน พ.ร.บ. การป้องกันการทรมานและบุคคลสูญหาย... ก็อยากให้มีการผลักดันอย่างเร่งด่วน และถ้าเป็นไปได้ อยากให้มีการนำความคิดเห็นของประชาชนไปใส่ใน พ.ร.บ.ทรมานและอุ้มหาย ที่ก้าวหน้ากว่าภาครัฐ อยากให้ประสานงานกับทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เพื่อให้ พ.ร.บ.ทรมานและอุ้มหาย เข้าสู่การพิจารณาในสภาโดยเร็ว

ภาพของสมยศ พฤกษาเกษมสุข เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 64

ด้าน ศยามล ไกยูรวงศ์ ตัวแทน กสม. ชุดที่ 4 ระบุว่า ยินดีให้ประชาชนเข้ามาตรวจสอบการทำงานของ กสม. องค์กรอิสระทุกองค์กรควรได้รับการตรวจสอบ พร้อมกับเผยว่าตนเข้าใจความรู้สึกของญาติและครอบครัวของผู้ถูกอุ้มหาย แต่ข้อจำกัดของ กสม. คือ การสืบสวนของ กสม. จำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะเป็น DSI หรือตำรวจเข้ามาให้ความช่วยเหลือ แต่ กสม.ไม่มีเครื่องมือดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตาม จะก้าวข้ามข้อกำจัดโดยการทำงานร่วมกับรัฐ และผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อที่จะพยายามช่วยกันตรวจสอบเพื่อให้ความจริงเป็นที่ประจักษ์ แม้ว่าผลจะไม่เจอ หรือหาไม่พบ ก็ต้องทำอย่างน้อยญาติพี่น้องจะได้รู้ว่าเขาไปแล้ว เขาไปอย่างไร ที่ไหน หรือแม้ว่าเขาจะไม่กลับมา ทุกคนก็ยังอยากฟังคำตอบ มากกว่าเงียบหายไป ไม่รู้ว่าเขาอยู่ที่ไหน 

กรณี พ.ร.บ. การป้องกันการทรมานและบุคคลสูญหาย... ทาง กสม. ชุดใหม่ ยินดีติดตามความคืบหน้า และชี้แจงว่าเบื้องต้น กสม. ชุดที่แล้วมีการผลักดันและมีข้อเสนอไปทางรัฐบาลแล้ว กสม.ชุดนี้คงต้องติดตามและเข้าพบหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบเพื่อสอบถามความชัดเจนต่อทิศทางกฎหมายต่อไป

ขณะที่นายสุชาติ เศรษฐมาลินี ตัวแทน กสม. ยืนยันว่า ทาง กสม. มีความพยายาม และมีความมุ่งมั่นที่จะทลายข้อจำกัดในการที่จะให้การคุ้มครองและการปกป้องสิทธิมนุษยชน 

สุชาติ กล่าวต่อประเด็นของสมยศว่า กสม.ไม่ได้มามองตัวเองว่ามาจากการแต่งตั้งของรัฐบาล แต่มองตัวเองว่าเป็นองค์กรอิสระ ที่ประชาคมโลกและนานาชาติให้ความสำคัญ ที่ต้องมีอิสระ และต้องเป็นองค์กรที่จะต้องมาให้การปกป้อง เคารพสิทธิ์ซึ่งกันและกัน และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 

นอกจากเรื่องการบังคับสูญหายแล้ว ทาง กสม. ตั้งใจดูเรื่องการซ้อมทรมานด้วย มีการร้องเรียนเรื่องการซ้อมทรมานเข้ามาเป็นจำนวนมาก แต่ไม่สามารถเข้าไปทำอะไรได้เลย สิ่งต่างๆ เหล่านี้สังคมจะสงบสุขได้ การเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน 

"วันนี้เรากำลังอยากจะมองให้ไปไกลกว่านั้น ทำอย่างไร ก็ต้องพยายามที่จะสร้างความเข้าใจระหว่างให้ผู้คนทุกหมู่เหล่าได้มีการเคารพสิทธิ์ซึ่งกันและกัน และจะได้อยู่ร่วมกัน ไม่ว่าเขาจะมีความคิดเห็นที่แตกต่างทางการเมือง หรืออะไรยังไง ไม่ควรมีใครควรถูกอุ้มหาย ซ้อมทรมาน หรือถูกทำร้าย นั่นคือสิ่งที่เราเป็นห่วง และเราจะพยายามที่จะให้การปกป้องคุ้มครองสิทธิ์" สุชาติ ตัวแทน กสม.ชุดที่ 4 กล่าว 

ทั้งนี้ วันที่ 11 ส.ค. ยังเป็นวันคล้ายวันเกิดของ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งขณะนี้เขามีอายุครบ 39 ปีบริบูรณ์

รายละเอียดหนังสือของโมกหลวงริมน้ำ

เรื่อง ตรวจสอบรัฐบาลประยุทธ์จันทร์โอชา ในประเด็นการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการบังคับสูญหายผู้ลี้ภัยทางการเมือง 9 คน และขอให้ติดตามการพิจารณาร่างพรบ. ป้องกันปราบปรามการทรมานและการบังคับสูญหายของประชาชน

เรียน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

สืบเนื่องจากนาย ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำการรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ. 2557 มีประชาชนที่ออกมา
แสดงความไม่เห็นด้วยต่อการยึดอ านาจครั้งนี้ ซึ่งเป็นการกระท าที่ขัดต่อหลักการของระบอบประชาธิปไตย ที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน คณะรักษาความสงบแห่งชาติไม่ควรมีแม้แต่สิทธิ์ใดๆ ที่จะเข้ามา ย่างกรายหรือแทรกแซงการบริหารประเทศด้วยการยึดอำนาจที่เป็นของประชาชนมาเป็นของตนและพวกพ้อง อีกทั้งตลอดการยึดอำนาจของประยุทธ์และองคาพยพ ตั้งแต่การเป็นคณะรักษาความสงบแห่งชาติมาจนถึงการเป็นรัฐบาลปัจจุบัน มีการเรียกบุคคลต่างๆ มาเพื่อรายงานตัวซึ่งเป็นการกระทำที่คุกคามประชาชนและขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทั้งยังมีการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112) จับกุมคุมขัง เพื่อปิดปากประชาชนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างจนเป็นการกดดันให้หลายคนต้อง ลี้ภัยการเมืองไปต่างแดน และท้ายที่สุดนั้นร้ายแรงจนถึงขั้นอุ้มหายในที่สุด ตลอดเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลประยุทธ์เพิกเฉยต่อการติดตามผู้สูญหาย ไม่มีความคืบหน้าใด ๆ ในการดำเนินคดีผู้กระทำความผิด จึงทำให้เชื่อได้ว่ารัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา มีส่วนเกี่ยวข้องในการอุ้มหายผู้ลี้ภัยการเมืองทั้ง 9 คน

การรัฐประหารโดยประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นต้นเหตุของการลี้ภัยการเมืองและการอุ้มหายระหว่างปี 2560-2564 ภายใต้รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการบังคับสูญหายผู้ลี้ภัยการเมืองที่อยู่ในประเทศลาว เวียดนาม และกัมพูชา เป็นจำนวน 9 คน คือ 1. นายอิทธิพล สุขแป้น 2. นายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ 3.นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ 4.นายชัชชาญ บุปผาวัลย์ 5.นายไกรเดช ลือเลิศ 6.นายชูชีพชีวสุทธ์ 7.นายกฤษณะ ทัพไทย 8.นายสยาม ธีรวุฒิ และ 9.นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ทั้งนี้ ปรากฏหลักฐานเอกสารลับเป็นปฏิบัติการทหาร การแบ่งประเภทบุคคลเป้าหมายที่ขัดขวางการทำงานของรัฐบาลให้มีการจับตาย มีรหัส “D” หรือ “Delete” ให้ใช้วิธีการจับตาย ทั้งนี้ ในวันที่ 13 ธันวาคม 2564 นายประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินทางไปที่ประเทศลาว ในวันเดียวกันนี้ ปรากฏหลักฐานการอุ้มหาย นายสุรชัย นายไกรเดช นายชัชชาญ ต่อมาในวันที่ 26-27 ธันวาคม 2564 พบศพทั้งสามคนโผล่จากใต้แม่น้ำโขง จ.นครพนม โดยศพของนายสุรชัยหายไปด้วย ครอบครัวได้แจ้งความให้มีการสอบสวนทั้งศพนายสุรชัย ได้หายไป และอีกสองศพในสภาพถูกทำร้ายอย่างทารุณ แต่ปรากฏว่าไม่มีความคืบหน้าแต่ประการใด ในเวลาต่อมา นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ถูกอุ้มหายปรากฏหลักฐานจากกล้องวงจรปิด และภาพถ่ายบุคคลต้องสงสัยเกี่ยวข้อง แต่จนบัดนี้ไม่มีความคืบหน้าแต่ประการใด การเพิกเฉย ละเลยต่อการสอบสวนของตำรวจ ทำให้เชื่อได้ว่า การบังคับสูญหายเป็นอาชญากรรมต่อเนื่องโดยรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา

กลุ่มโมกหลวงริมน้ำขอร้องเรียนและเรียกร้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติดังนี้

1. ให้ตรวจสอบนายประยุทธ์ จันทร์โอชา และผู้ที่ต้องสงสัย ที่เป็นหน่วยข่าวกรองและปฏิบัติการทางทหารโดยอาจเป็นการใช้งบลับทางการทหาร ว่าจะเกี่ยวข้องกับการอุ้มหายและคุกคามประชาชนทุกคน หากเป็นการกระทำโดยรัฐอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ให้มีการดำเนินคดีเอาผิดต่อประยุทธ์ จันทร์โอชาและหน่วยงานผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งคืนความยุติธรรมให้กับครอบครัวผู้ถูกบังคับสูญหาย

2. ติดตามการการอภิปรายและลงมติ ร่าง พ.ร.บ. ป้องกันปราบปรามการทรมานและการบังคับสูญหายของประชาชนให้ได้ภายในปี 2564 จึงเรียนมาเพื่อโปรดดำเนินการทั้งนี้กลุ่มโมกหลวงจะได้รวบรวมหลักฐานและเบาะแสการอุ้มหายเพิ่มเติมในโอกาสต่อไป และขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้รายงานผลการดำเนินงานให้ทราบด้วย

สิ่งที่ส่งมาด้วย เอกสารลับปฏิบัติการสั่งตาย และภาพถ่ายบุคคลต้องสงสัยเกี่ยวข้องกับการบังคับสูญหาย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net