Skip to main content
sharethis

นักสิทธิมนุษยชน นักวิชาการและนักกิจกรรมร่วมกันสะท้อนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนและปัญหาผู้ต้องขังคดีทางการเมืองในไทยที่สะสมต่อเนื่องมา 3-4 ปีที่ยังไม่ถูกสะสาง ก่อนรัฐบาลไทยจะเดินหน้าเข้ารับเลือกเป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของยูเอ็น

2 ม.ค. 2567 เวลา 18.00 น. ฝ่ายสื่อสารของเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนรายงานถึงเสวนา “Thailand’s Road to the UN Homan Rights Council หนทางสู่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ ประเทศไทย จะทำได้หรือเปล่า?”  ที่จัดโดย แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทย และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

เวทีเสวนามีตัวแทนจากองค์กรสิทธิมนุษยชนหลายองค์กร ได้แก่ เยาวลักษณ์ อนุพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, Arnaud Chatlin ผู้แทนจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR), วิทิต มันตาภรณ์ ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ, คุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, ใบปอ ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ นักกิจกรรมจากกลุ่มทะลุวัง, ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเกียวโต และผู้ลี้ภัยทางการเมือง, ธนภัทร ชาตินักรบ นักวิชาการ ประจำศูนย์กฎหมายระหว่างประเทศและศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, อัครชัย ชัยมณีการเกษ หัวหน้าฝ่ายต่างประเทศและนโยบาย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และเฝาซี ลาเต๊ะ เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์เชิงนโยบายของแอมเนสตี้ฯ ร่วมเสวนา

งานเสวนานี้กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงการต่างประเทศ ได้ประกาศเจตจำนงค์ในการเสนอตัวเข้ารับเลือกเป็นสมาชิกในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (the United Nations Human Rights Council) ในช่วงวาระปี 2568 - 2570 ในฐานะตัวแทนเดียวของสมาคมอาเซียน ในงานจึงมีการกล่าวถึงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยตลอด 3 - 4 ปีที่ผ่านมานี้ว่าประเทศไทยเหมาะสมแล้วหรือไม่ที่จะได้รับที่นั่งในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

องค์กรสิทธิฯ บอกแนวข้อสอบก่อนรัฐบาลเศรษฐาจะไปให้นานาชาติเลือกเป็นคณะมนตรีสิทธิฯ ของ UN

วิทิต มันตาภรณ์ ผู้รายงานพิเศษแห่งองค์การสหประชาชาติ ได้เริ่มปาฐกถางานเสวนาในหัวข้อ “Thailand - In search of the rights way” โดยกล่าวเน้นเรื่องความพร้อมของประเทศไทย ขอให้รัฐบาลพิจารณาในสิ่งที่เคยสัญญาไว้อนุสัญญาต่าง ๆ ทั้งเรื่องทางด้านมั่นคง สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี โดยเห็นว่าในอนาคต สิทธิมนุษยชนยังคงเป็นเรื่องท้าทายสำหรับประเทศไทย และหวังว่าจะเป็นเรื่องที่เรายังพัฒนาไปข้างหน้าไปด้วยกันได้

ต่อมา อัครชัย ชัยมณีการเกษ หัวหน้าฝ่ายต่างประเทศและนโยบาย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้กล่าวถึงสถานการณ์สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมในประเทศไทย โดยสรุปให้ฟังถึงการติดตามข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนว่า ปัจจุบันประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับสิทธิและเสรีภาพของประเทศไทยยังคงอยู่ในภาวะวิกฤติของเสรีภาพทางการชุมนุม

จากการเก็บข้อมูลของศูนย์ทนายฯ ตั้งแต่ปี 2557 - 2563 องค์กรศูนย์ทนายให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายอยู่ราว 30 - 40 คดีต่อปี แต่ในช่วงปี 2563 ที่มีการชุมนุมใหญ่กลับพบว่าองค์กรต้องให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเพิ่มขึ้นเป็น 234 คดีต่อปี ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่กระโดดสูงมาก และหากดูในส่วนของคดี ม.112 ก็พบว่าจากผู้ที่ถูกดำเนินคดีเพียง 55 ราย ก็เพิ่มขึ้นเป็น 263 ราย หรือเพิ่มขึ้นกว่า  378 เปอร์เซ็นต์ ภายหลังการชุมนุมใหญ่ในปี 2563

อัครชัย ได้สรุปภาพรวมว่าแม้จะมีการเลือกตั้งและเปลี่ยนผ่านรัฐบาล แต่จนถึงวันนี้ (2 ก.พ. 2567) ยังคงมีการสั่งฟ้องคดี ม.112 เพิ่มขึ้นอยู่ในทุกเดือน

เฝาซี ลาเต๊ะ เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์เชิงนโยบายของแอมเนสตี้ฯ ได้อธิบายเพิ่มในส่วนภาพรวมของการออกมาใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมของประเทศไทยว่า จากการเก็บข้อมูลของ Mob Data Thailand มีการชุมนุมเกิดขึ้นอย่างน้อย 3,582 ครั้งตั้งแต่ปี 2563 ที่ผ่านมา โดยเป็นการชุมนุมในประเด็นที่หลากหลาย อาทิเช่น ความเท่าเทียม ที่ดิน และการเมือง เฝาซีเห็นว่าตัวเลขดังกล่าวมีนัยที่น่าสนใจ และน่าภูมิใจในการเคลื่อนไหวของประชาชน แต่ในอีกนัยหนึ่งตัวเลขดังกล่าวก็เป็นการโชว์ความล้มเหลวต่อการตอบสนองในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล

ทั้งนี้ เฝาซีได้เสนอให้เห็นถึงตัวเลขจำนวนครั้งที่เจ้าหน้าที่รัฐสลายการชุมนุมมีมากกว่า 70 ครั้งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และเข้าขัดขวางการชุมนุมกว่า 148 ครั้ง โดยหนึ่งในรูปแบบวิธีการที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้และเกิดขึ้นบ่อยที่สุดคือการใช้กระสุนยางยิงใส่ผู้ชุมนุม ซึ่งเกิดขึ้นกว่า 125 ครั้ง

และในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา มีการจับกุมเด็กและเยาวชนโดยไม่มีหมายจับจากศาล มีการใช้เครื่องพันธนาการต่อเด็กและควบคุมตัวรวมกับผู้ใหญ่ และยังมีตัวเลขของเด็กที่ได้รับบาดเจ็บจากการเข้าร่วมการชุมนุมอย่างน้อย 200 ราย

 

เฝาซี สรุปในภาพรวมว่าจากการตรวจสอบในเรื่องการจับกุม ไม่เคยมีครั้งใดที่ศาลเห็นว่าเจ้าหน้าที่รัฐ ปฏิบัติโดยไม่ชอบทางกฎหมาย และไม่เคยมีการเยียวยาหรือสอบสวนเจ้าหน้าที่รัฐเหล่านั้นอย่างจริงจัง

ต่อมา มีการเสวนาในหัวข้อ ประสบการณ์และผลกระทบจากการเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และนักกิจกรรที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย

ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ หรือ ใบปอนักกิจกรรมจากกลุ่มทะลุวัง นักกิจกรรมจากกลุ่มทะลุวัง เริ่มต้นด้วยการเล่าประสบการณ์จากการเคลื่อนไหวทางการเมืองและการตกเป็นผู้ต้องหาในคดี ม.112 พบว่ามีการคุกคามเกิดขึ้น และขัดขวางไม่ให้ทำกิจกรรมทางการเมืองหลายครั้งตลอดจนปรากฏภาพความรุนแรงผ่านทางภาพสื่อสังคมออนไลน์ และความรุนแรงเหล่านี้มักมีจุดเริ่มต้นจากตัวของเจ้าหน้าที่รัฐที่ก่อความรุนแรงกับกลุ่มผู้ชุมนุม

ตัวแทนจากทะลุวังเสนอว่า ใน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ จะต้องรวม ม.112 ไปด้วย เพราะ ม.112 ก็เป็นคดีทางการเมืองที่มีผู้ถูกดำเนินคดีเยอะพอ ๆ กับคดีประเภทอื่น ๆ ปัจจุบันมีนักโทษทางการเมืองอยู่ 39 ราย มีหลายคนคดีสิ้นสุดแล้ว ถ้าพระราชบัญญัตินี้ออกมาได้ ก็จะส่งผลดีต่อเพื่อน ๆ ในเรือนจำของเรา และส่งผลให้ภาพด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยดีขึ้น

คุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ยังได้แสดงความคิดเห็นและกล่าวถึงประเด็นที่น่าเป็นห่วงในเรื่องการแจ้งสิทธิขั้นพื้นฐานกับผู้ต้องหา และไม่แจ้งพื้นที่ควบคุมตัวกับผู้ต้องหา ซึ่งเป็นอุปสรรคของทนายความ ที่ไม่สามารถเข้าถึงผู้ต้องหาได้ ซึ่งกล่าวได้ว่าการกระทำดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งในเรื่องการจับกุมเยาวชนที่เข้าใช้สิทธิในพื้นที่ชุมนุม ไม่ได้กระทำโดยละมุนละมอม มีการจับเด็กไปรวมกับผู้ใหญ่ในห้องขังเดียวกัน ซึ่งมันเป็นภาพที่ไม่ควรเกิดขึ้น

คุ้มเกล้า กล่าวต่อว่าเรามีปัญหาเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองจริง ๆ จากการทำรัฐประหาร ปี 2557 มันไม่แปลกที่จะมีกลุ่มคนเห็นต่างออกมาเรียกร้องสิทธิของตัวเอง และมันนำไปสู่การเกิดขึ้นคดีทางการเมือง เราต้องยอมรับให้ได้ว่ามันมีความขัดแย้งตรงนี้ และมาตรา 112 ก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือของกลุ่มคนที่เห็นต่าง กลุ่มปกป้องสถาบันกษัตริย์นำมาแจ้งความดำเนินคดี ตอบโต้กลุ่มประชาชนอีกฝ่ายหนึ่ง ดังนั้น ม.112 จึงสมควรที่จะต้องรวมอยู่ใน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชนนี้ด้วย

จากนั้นปวิน ชัชวาลพงษ์พันธุ์ เริ่มต้นกล่าวว่าตัวเองก็โดนมาตรา 112 ในหลายคดี และเห็นว่าบทลงโทษในข้อหาดังกล่าว มันขาดความสมดุลกับการกระทำผิด และไม่เหมาะสมที่จะต้องมีบทลงโทษสูงขนาดนั้น และในประเด็นเกี่ยวกับการคุกคาม เขาเองก็มีความเข้าใจมากเพราะเป็นหนึ่งในบุคคลที่ให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยไทยที่หนีออกมาจากการคุกคามของรัฐไทย ซึ่งมีหลายกรณีเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ปวินยังกล่าวว่าสังคมไทยไปไกลมากแล้ว การพยายามเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างทางสังคมของประชาชนจึงเป็นเรื่องสำคัญมากกับการอยู่รอดของสถาบันกษัตริย์ แต่ท้ายที่สุด แม้เขาจะปิดประตูทางกฎหมายได้ แต่จะไม่มีใครสามารถปิดประตูการพูดในพื้นที่สาธารณะได้

ทั้งนี้ ปวินกล่าวถึงพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมประชาชนว่า เขาเห็นด้วยกับทุกคนในพื้นที่นี้ว่า นิรโทษกรรมควรรวมข้อหา ม.112 เพราะมันมีการใช้เป็นเครื่องมือกับคนที่เห็นต่าง แต่ที่สำคัญกว่านั้น คือการคืนความยุติธรรมให้กับผู้ต้องหาคดีการเมืองทุกคน

ธนภัทร ชาตินักรบ นักวิชาการ ประจำศูนย์กฎหมายระหว่างประเทศและศูนย์กฎหมายแพ่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า หากประเทศไทยคาดหวังจะเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน ก็ควรจะพิจารณาถึงข้อกฎหมายต่าง ๆ อาทิเช่น ความมั่นคงของรัฐ ก็ต้องมาตีความกันว่าความมั่นคงดังกล่าวคืออะไร หรือในเรื่องความั่นคงทางสาธารณะสุข ที่ถูกเอามาใช้ดำเนินคดีกับการชุมนุมในพื้นที่สาธารณะก็ต้องตีความกันว่ามีข้อยกเว้นอะไรได้บ้าง

ประเทศที่ได้รับเลือกเป็นคณะกรรมการหลายประเทศ ก็มีการพิจารณาในหลากหลายประเด็น ซึ่งมองว่าประเทศไทยก็ยังมีสิทธิที่จะได้และไม่ได้ หลายเรื่องที่ยังเกิดข้นในประเทศไทยที่คิดไว้ว่ามันจะเป็นแบบหนึ่ง แต่สุดท้ายมันก็ไม่ได้เป็นแบบที่เราคิด และมีสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงอยู่พอสมควรที่จะได้รับเลือกให้มีที่นั่งในเรื่องนี้

สุดท้าย ธนภัทรกล่าวว่ากฎหมายที่บังคับใช้ ทั้งเรื่องสิทธิและพื้นฐานต่าง ๆ ท้ายที่สุดเราก็ต้องมองว่า คนใช้บังคับกฎหมายนั้น ๆ ใช้มันอย่างเท่าเทียมหรือไม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net