Skip to main content
sharethis

 

  • ธิกานต์ ศรีนารา นักประวัติศาสตร์ วิเคราะห์การลุกขึ้นของคนรุ่นใหม่ปัจจุบัน ผ่าน 3 ปัจจัย ประสบการณ์ ปัญญาชนจัดการศึกษาออนไลน์และการไม่ผ่านกระบวนการกล่อมเกลาที่เข้มข้นเหมือนก่อนหน้า
  • ย้อนดูหลัง พฤษภา 35 สถาบันกษัตริย์มีกระบวนการสร้างบารมีมากขึ้น ขณะที่ภาพนักการเมืองแย่-ทหารเงียบ
  • 7 กระแสปัญญาชนฝ่ายต่อต้านหลังป่าแตก ขณะที่ปัญญาชนฝ่ายค้านอนุรักษนิยมมากขึ้นและวิจารณ์เฉพาะทุนนิยมอย่างเดียว และ 3 ปัจจัยส่งผล
  • หวังเชื่อมโยง 6 ตุลากับปัจจุบัน และทำอย่างไรไม่ให้สังคมไทยลงเอยอย่างนั้นอีกอย่างเป็นรูปธรรม

เมื่อวันที่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา VOICE TV สัมภาษณ์ ธิกานต์ ศรีนารา ผู้ช่วยศาสตราจารย์และอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ศึกษาเกี่ยวกับคนเดือนตุลา การเมืองไทยหลัง 6 ตุลา 19 โดยเฉพาะผลกระทบหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว และการปรับตัวของปัญญาชนฝ่ายต่อต้าน ในประเด็น 45 ปี คนตุลาฯ

การลุกขึ้นของคนรุ่นใหม่ปัจจุบัน : ประสบการณ์-ปัญญาชนจัดการศึกษาออนไลน์-ไม่ผ่านกระบวนการกล่อมเกลาที่เข้มข้นเหมือนก่อนหน้า

ต่อประเด็นก่อนหน้านี้ที่ขบวนการคนรุ่นใหม่หายไปนั้นเกิดจากอะไร และทำไมถึงกลับมาเกิดช่วงนี้ ธิกานต์ มองว่าเป็นแรงกระเพื่อมของการเมืองไทยในระยะอันใกล้นี้ โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของเสื้อแดงที่ลุกขึ้นมา และการพยายามตั้งพรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่แล้วก็ถูกทำลายลงไป ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่พอใจ

การลุกฮือของคนรุ่นใหม่ค่อยๆ มีประสบการณ์ ในที่สุดก็รู้ว่าใจกลางของปัญหาทางการเมืองอยู่ที่ไหน อันนี้เขาเรียนรู้จาแประสบการณ์ด้วย อีกประเด็นหนึ่งการได้รับข้อมูลข่าวสารหรือการจัดการศึกษาของปัญญาชนที่ใช้สื่อออนไลน์ด้วย เช่น สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ที่พยายามชี้ให้เห็นว่าปัญหาใจกลางทางการเมืองไทยอยู่ที่ไหน

หลัง 6 ตุลา 19 มาจริงๆ แล้วมีการเคลื่อนไหว อย่างพฤษภา 35 ก็มี ขบวนการนักศึกษาหลัง 2535 ก็มีสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย หรือ สนนท. ก็มี เพียงแต่ว่าไม่ได้มีพลังเยอะมากเท่า 14 ตุลา 16 หรือปัจจุบัน สนนท. เคลื่อนไหวในเชิงการเมืองภาคประชาชนหรือการปฏิรูปการเมือง ตั้งแต่ 2527 ที่มีการตั้ง สนนท. ก่อน 2535 ก็เริ่มมีเป็นที่รู้จักว่านักศึกษามาเคลื่อนไหว

Lost Generation หรือการขาดช่วงทางรุ่น รุ่นปัจจุบันพยายามเชื่อมกับรุ่น 6 ตุลา แต่มันขาดไปนานมากแล้ว ส่วน Lost Generation นั้น เรียกว่ารุ่นพฤษภา 35 เป็นกลุ่มใหญ่มาก แต่ว่าคนเหล่านี้เติบโตมาในยุคทำกิจกรรมในยุควิกฤติศรัทธาพอดี เป็นยุคที่คนไม่เชื่อใน พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) อีกแล้ว คนเหล่านี้ก็พยายามหาแนวใหม่ อาจจะศึกษามาร์กซิสม์ก็ได้แต่ไม่ใช่แนว พคท.แล้ว ทำให้แยกขาดจากคนรุ่น 6 ตุลา ผสมกับคนรุ่นนี้ไม่ใช่เป็นขบวนที่ใหญ่ทำให้ไม่มีผลกับเยาวชนรุ่นหลัง อาจจะมีกับนักกิจกรรมหรือนักศึกษาที่ทำชมรมบ้าง แต่คนก็ไม่ได้มาก

ดังนั้นคนรุ่นใหม่ที่โผล่มาช่วง 10 ปีนี้ มันมาถึงแรงกระเพื่อมทางการเมืองเฉพาะหน้านี้ด้วย บวกกับปัญญาชนรุ่น 6 ตุลา ที่มาจัดการศึกษาเพื่อชี้ให้เห็นใจกลางของปัญหาการเมืองมันอยู่ที่ไหน

อีกประการคนรุ่นนี้ไม่ได้เติบโตมาพร้อมกับบารมีของ ร.9 กระบวนการกล่อมเกลาที่เข้มข้นแน่นหนาจนทำให้คิดนอกกรอบไม่ได้ แต่คนรุ่นนี้โตมาไม่ได้อยู่กระบวนการนั้นแล้ว แต่กลับมาอยู่ในอีกบริบทหนึ่ง ซึ่งตัวสถาบันกษัตริย์เป็นประเด็น ตนได้ยอนมาว่าเด็กมีลักษณะแรดิคัล (radical) มากกว่าคนรุ่น 14 ตุลา หรือ 6 ตุลา ด้วยซ้ำ ที่ประสบการณ์เดบของพวกเขาจะมีการคิดเยอะ คิดซับซ้อน มียุทธศาสตร์ ยุทธวิธี แต่เด็กก็มาเลย ไม่กลัวกับประเด็นเหล่านั้น ซึ่งมีทั้งผลดีผลเสีย

หลัง พฤษภา 35 สถาบันกษัตริย์มีกระบวนการสร้างบารมีมากขึ้น ขณะที่ภาพนักการเมืองแย่-ทหารเงียบ

อธึกกิต แสวงสุขซึ่งเป็นพิธีกร เสริมด้วยว่า กระบวนการกล่อมดังกล่าวเพิ่งเกิดมาช่วงปรี 27-28 ในขณะที่รุ่นของตนนั้นยังไม่มากนัก ซึ่ง ธิกานต์ ยืนยันถึงกระบวนการกล่อมเกลานั้นว่า หลังพฤษภา 35 โดยเฉพาะทศวรรษที่ 30 เป็นต้นมาที่สถาบันพระมหากษัตริย์จะเริ่มมีกระบวนการสร้างบารมีทางการเมืองมากขึ้น ทั้งที่ดำเนินการเองและคนอื่นช่วยทำ ล้อไปพร้อมกันกับภาพลักษณ์ที่นักการเมืองแย่ ทหารเงียบ นักการเมืองที่มีภาพห่วยนั้นเนื่องจากขึ้นมาในเวทีทางการเมืองจำนวนมาก เป็นบทบาทหลัก ขณะที่ทหารถอยออกไป จึงทำให้คนทั่วไปมองว่านักการเมืองส่วนใหญ่ก็จะเริ่มมีปัญหา มีการคอรัปชั่น ดังนั้นเมื่อประชาชนหรือปัญญาชนในสังคมไทยจะวิพากษ์วิจารณ์นักการเมืองมักจะเอาคนที่เขารู้สึกว่าดีกว่าหรือเป็นคนที่ไม่ผิดพลาดอะไรเลยมาเป็นบรรทัดฐานในการวิจารณ์ จึงทำให้คนรุ่นหลังพฤษภา 35 มาที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็จะอยู่ในบรรยากาศที่กษัตริย์เป็นคนที่ดีที่สุด ขณะที่นักการเมืองเลว ทหารเงียบ

7 กระแสปัญญาชนฝ่ายต่อต้านหลังป่าแตก

สำหรับพัฒนาการของปัญญาชนฝ่ายต่อต้านหลัง 6 ตุลา 19 นั้น ธิกานต์ กล่าวว่าเป็นปัจจัยเสริมกันมาตั้งแต่หลักป่าแตก โดยอย่างน้อยช่วงที่ พคท.มีพลัง ตั้งแต่ปี 17-18 จนถึงปี 24-25 เป็นช่วงเวลาที่แนวคิดต่อต้านระบบที่ใหญ่ที่สุดหรือมีพลังมากที่สุดคือแนวคิดสังคมนิยมของ พคท. ตั้งแต่ปี 17-19 แล้วที่คนเห็นด้วยกับ พคท. ต้องปฏิวัติ ต้องโค่นศักดินา ต้องโค่นจักรวรรดินิยม ทุนนิยมขุนนางพวกนี้ ต้องชนบทล้อมเมืองต้องจับอาวุธ นักศึกษาก็เข้าป่า เป็นกระแสที่ต่อต้านทั้งทุนและศักดินาไปพร้อมๆ กัน 

แต่หลัง 24 มันเสื่อมลง เมื่อเสื่อมลงเหมือนกระบวนทัศน์คือ เมื่อรู้สึกว่า พทค. ส่วนใหญ่ผิดพลาด ล้มเหลว หรือว่าามันไม่ใช่แล้ว ก็กลับไปอีกทางเลย เหมือนกับหลัง 14 ตุลา ที่กลับจาออีกทางหนึ่งเหวี่ยงมาหา พคท.เลย เป็นกระแสให้ แม้จะมีกระแสอื่น แต่เมื่อ พคท.พัง กระแส พคท.หมดความชอบธรรมลง คนก็เหมือนกับเลิกเชื่อไปเลย เคยเชื่อว่าศักดินาไม่ดี ทุนนิยมไม่ดี ก็ไม่ได้คิดแบบนั้นอีกแล้ว ดังนั้นหลังจากป่าแตกกระแส พคท.ก็หายไป แต่สังคมไทยไม่ได้ขาดคนที่ต่อต้านรัฐและทุน หรือคนที่ต่อต้านระบบ จึงมีปัญญาชนกลุ่มใหม่ๆ 7 กระแส โดยเฉพาะหลังปี 2524 จะเห็นได้ชัด เช่น เปิดหน้าวารสารวิชาการหรือการเมืองจะเห็นกระแสคิดพวกนี้ ประกอบด้วย

(1) กระแสลัทธิมาร์กซ์คลาสสิค หรือ ลัทธิมาร์กซ์ดั้งเดิม พยายามอธิบายว่าที่ พคท.พังเป็นการพังขององค์กรหนึ่งเท่านั้น เป็นลัทธิเหมากับลัทธิสตาลิน ไม่ใช่ลิทธิมาร์กซ์จริงๆ ไม่ใช่ของแท้ ก็เริ่มมีการหันกลับไปอ่านมีการแปลหนังสือออกมา

(2) กระแสลัทธิทรอตสกี้ เป็นอันหนึ่งของลิทธิมาร์กซ์ดั้งเดิม สุวินัย ภรณวลัย เป็นคนที่อธิบายเรื่องนี้ได้ดีมากเรื่องการปฏิวัติถาวร ปี 2529 ยังเขียนบทความลงวารสารเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ อยู่เลยว่าต้องปฏิวัติถาวร เป็นพวกสากลที่ 4 ซึ่ง ทรอตสกี้ เป็นกระแสที่เหมือนเป็นความหวังหลังจากสตาลินมาแล้วมีปัญหา จึงมีความหวังไปที่ทรอตสกี้ นอกจากนี้ ใจ อึ๊งภากรณ์ ก็เป็นแนวนี้

(3) กระแสลัทธิมาร์กซ์ตะวันตก เป็นกระแสที่ไม่เอาลัทธิสตาลิน พยายามปรับปรุงลัทธิมาร์กซ์ให้มันมีความซับซ้อนมากขึ้น เป็นลัทธิมาร์กซ์ที่ย้ายจากโลกคอมมิวนิสต์ไปอยู่ประเทศตะวันตกที่เป็นประเทศทุนนิยมไม่มีขบวนการกรรมกร คนเหล่านี้พัฒนาทฤษฎีไปศึกษาในเชิงอุดมการ ในเรื่องอำนาจครองจิตครองใจ(Hegemony) ในเชิงสุนทรียศาสตร์ เช่น กรัมชี่ (Gramsci) และ อัลธูแซร์ (Althusser) โดย กรัมชี่ คนที่เอาการเอางานมากในการเอาเข้ามาคือ เกษียร เตชะพีระ และ สมบัติ พิศสะอาด กระแสนี้เหมือนเป็นความหวังในช่วงหนึ่ง

(4) กระแสทฤษฎีพึ่งพา เป็นลัทธิมาร์กซ์ที่โตมาในโลกที่ 3 ก็มีการนำแนวคิดเหล่านี้เข้ามาด้วย แต่กระแสลัทธิมาร์กซ์เหล่านี้พังไปเหมือนกันในช่วงปี 30 เลิกพูดกันเพราะมีการดีเบตครั้งใหญ่ในหมู่ปัญญาชนที่ยังเป็นลัทธิมาร์กซ์อยู่

(5) กระแสประชาธิปไตยแบบรัฐสภา กระแสที่มาในช่วงหลังตั้งแต่ปี 24 เป็นต้นมา ตอนนั้นบริบทคือทหารพยายามเข้ามาควบคุมสภาผู้แทน หรือประชาธิปไตยครึ่งใบ น่าสนใจมาก ปัญญาชนในช่วงนั้น แม้แต่ ชัยอนันต์ สมุทวณิช ยังสนับสนุนประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ช่วง 24 ถึงก่อนรัฐประหาร 34 จำนวนมากสนับสนุนประชาธิปไตยแบบรัฐสภาหมดในแนวคิดที่ว่าทหารต้องถอยออกไป นักการเมืองอาจจะดูเลว แต่ต้องให้เขาลองพิสูจน์ตัวเอง ลองทำงานในที่่แจ้ง ด่าได้ ซึ่งเป็นคำที่เราสามารถเอามาพูดได้ในปัจจุบันเลย ความคิดนี้เป็นความคิดสำคัญที่ทำให้การเมืองไทยเริ่มเปลี่ยน

(6) กระแสวัฒนธรรมชุมชน อันนี้เติบโตในหมู่เอ็นจีโอ รวมทั้งนักวิชาการบางส่วน เศรษฐศาสตร์การเมือง ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ที่มาจากการคิดในเชิงทฤษฎีหรือตัวอย่างจากอินเดีย ส่วนเอ็นจีโอมาจากประสบการณ์ และพบว่ามันต้องใช้วัฒนธรรมชุมชนเมื่อ 2 กลุ่มนี้มาเจอกันก็ทำให้กระแสนี้เป็นกระแสหนึ่งที่สำคัญมาก ที่เสนอว่าการเมืองไทยต้องมีฐานที่ชุมชน ประชาธิปไตยต้องอยู่ที่ชุมชน

(7) กระแสพุทธศาสนา ประชาธิปไตยแบบพุทธ ต้องเลือกคนดีใช้คนดีมาปกครอง คนที่มีธรรมะ

โดยกระแสพุทธศาสนากับกระแสวัฒนธรรมชุมชน ในภายหลังจะมารวมกัน โดยเฉพาะกระแสวัฒนธรรมชุมชน ถูกประเวศ วะสี กับสุเมธ ตันติเวชกุล มีการเชื่อมโยงนักวิชาการและเอ็นจีโอ รวมทั้ง เอกวิทย์ ณ ถลาง โดยที่แรกๆ กระแสวัฒนธรรมชุมชน การพึ่งตนเองนั้น มาพร้อมกับที่ในหลวง ร.9 ทำเรื่องหนึ่งตั้งแต่ทศวรรษ 10 แล้วคือเรื่องของสหกรณ์การพึ่งตัวเองของชาวบ้าน ซึ่งคล้ายกันมา แต่มาคนละทาง และวันหนึ่งมีการเชื่อมโยงเอาวัฒนธรรมชุมชนเข้ากับกระแสสหกรณ์พึ่งตนเองของในหลวง

หลังป่าแตกปัญญาชนฝ่ายค้านอนุรักษนิยมมากขึ้นและวิจารณ์เฉพาะทุนนิยมอย่างเดียว และ 3 ปัจจัยส่งผล

ธิกานต์  กล่าวว่า กระแสคิดมันเริ่มเอียงไปในทางที่ conservative หรือ อนุรักษนิยม มากขึ้น เอียงจาซ้ายไปในทางอนุรักษนิยมมากขึ้น ตนอาจจะผิดก็ได้ แต่ 7 กระแสคิดนี้จนถึงปี 34 วิพากษ์วิจารณ์ทุนนิยมอย่างเดียว แล้วเลิกการวิจารณ์ศักดินาหรือตัวสถาบันกษัตริย์ ทั้งที่ปี 17, 18 จนถึงปี 24 ตอนที่ พคท.มีอิทธิพลกระแสที่วิจารณ์ทั้งศักดินาและทุนนิยมนั้นไปด้วยกันและโตมาก แต่เมื่อ พทค.ล่ม ปัญญาชนฝ่ายค้านรุ่นใหม่ก็ร่วมไม้ร่วมมือเป็นเอกฉันท์จะวิจารณ์เฉพาะทุนนิยมอย่างเดียว เพราะมองว่าพอเป็นทุนนิยมแล้วศักดินาก็ไม่เป็นประเด็น อีกทั้งปี 28 พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจเป็นผลิตเพื่อส่งออก มีการให้มาตั้งโรงงานในประเทศำให้ GDP ไทยรุ่งเรื่องมาก ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่หนุนเสริมแนวคิดดังกล่าว

หลังป่าแตกทำไมฝ่ายต่อต้านหรือฝ่ายซ้ายไทยเปลี่ยนไปนั้น ธิกานต์ กล่าวว่า ตนมีคำอธิบาย 3 คำอธิบาย ว่าทำไมฝ่ายต่อต้านที่ต่อต้านทั้งศักดินาและทุนนิยม ถึงเปลี่ยนย้ายมาเป็นคนที่เอาด้วยกับศักดินา แล้วก็ต่อต้านทุนนิยม 

ประเด็นแรกคือ การโตขึ้นของระบบทุนนิยม มันทำให้ความเป็นจริงคนมักอธิบายว่า ทุนนิยมมันมีปัญหามากกว่า ต่อต้านได้ยากกว่า ถ้าเป็นศักดินาน่าจะจัดการและรับมือได้ง่ายกว่า พวกทุนนิยมมันเป็นระบบโลก 

ประเด็นที่ 2 คือ การที่ตัวเขาเองเปลี่ยนสถานะจากคนธรรมดาที่อยู่ชายของของสังคม เข้าป่า เมื่อออกจากป่าหลายคนอยู่ใจกลางของสถาบันสำคัญๆ ของการเมืองหรือองค์กรสำคัญของสังคมไทย แทบทุกวงการฝ่ายซ้ายเก่าไปอยู่ในนั้น โดยที่องค์กรเหล่านั้นมันมีระบบอุดมการณ์ของมันมีเครือข่ายทางการเมืองของมัน ซึ่งมีผล หรือแม้แต่ผลประโยชน์ส่วนตัวก็มีผล

ประเด็นที่ 3 คือการเติบโตขึ้นอย่างมากชองฐานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ก่อนหน้านี้ เมื่ออุมดการณ์หนึ่งเสื่อมลง ขณะที่อีกอุดมการณ์โตขึ้น มีตัวบุคคลใหม่เป็นศูนย์กลางของความชอบธรรมเกือบทุกสิ่ง ศูนย์กลางของความดี กลายเป็นอันหนึ่งที่ดึงดูดให้ฝ่ายซ้ายเก่าสามารถที่จะเปลี่ยน

หวังเชื่อมโยงปัจจุบันรวมทั้งทำอย่างไรไม่ให้สังคมไทยลงเอยอย่างนั้นอีก

สำหรับความเข้าใจของเยาวชนและนักศึกษาในปัจจุบันต่อเหตุการณ์ 6 ตุลา นั้น  นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ กล่าวว่า นักศึกษาโดยทั่วไปในแบบเรียนนั้นแทบไม่รู้เรื่อง 6 ตุลา ครูแทบไม่พูดเลย ส่วนมาเรียนมหาวิทยาลัยนักศึกษาที่เรียนสาขาอื่นคือยิ่งโอกาสที่จะรู้น้อย แม้แต่เรียนประวัติศาสตร์บางสำนักก็ไม่สอน แต่ต่อให้สำนักที่สอนก็ไม่แน่ว่าจะสอนถูก กลับเป็นสื่อข้างนอกต่างหากที่ให้การศึกษาเรื่อง 6 ตุลา กระตุ้นให้เยาวชนรู้เรื่องนี้หรือสนใจในเรื่องนี้มากขึ้น

"แรงบันดาลใจทางการเมืองมันสำคัญต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองในแต่ละยุคสมัย ความเห็นของผม ผมสอนประวัติศาสตร์การเมือง ผมมีเป้าหมายอยู่ว่าการรู้เหตุการณ์อย่างถูกต้องและรู้ประวัติศาสตร์การเมืองที่มันปกปิดอะไรต่างๆ มันจะทำให้นักศึกษาอาจจะเกิดสำนึกทางการเมืองหรือตระหนักทางการเมืองขึ้นมา" ธิกานต์ กล่าวถึงความสำคัญของการรู้เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ โดย 6 ตุลา เป็นเหตุการณ์ที่รัฐทุกระดับมีส่วนเกี่ยวข้อง และไม่มีการไต่สวน นักศึกษาต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคมแต่ถูกปราบปรามอย่างไรเหตุผล อย่างผิดกฎหมายด้วย โดยผู้ปกครองทุกระดับ มันยิ่งตอกย้ำกลับมาข้างหน้าปัจจุบันว่ามันเกิดเหตุการณ์อย่างนี้มาในอดีต อีกอันมันทำลายบุคลาธิษฐานของบางคนด้วยว่าเขามีส่วนเกี่ยวข้องจึงยิ่งทำให้นักศึกษาในปัจุบันมั่นใจมากขึ้นว่าสิ่งที่ตนเองทำหรือต่อสู้อยู่มันถูกทางแล้ว

คาดหวังว่าการเสียชีวิตของวีรชนตั้งแต่ก่อน 6 ตุลา จนวันที่ 6 ตุลา และก็หลัง 6 ตุลา จะไม่ได้สูญเปล่า จะถูกจดจำในแบบช่วงยาวหรือเกี่ยวข้องกัน คนที่ไปตายในป่าตรงนั้นก็คือคนหนีจาก 6 ตุลา โกรธแค้นจาก 6 ตุลา ก็ต้องจำให้หมด ไม่ใช่ว่า 6 ตุลาจบแล้ว พคท.เป็นพวกอื่น พวกตายในป่าก็ช่างเข้า อันนี้ไม่ใช่ รู้เรื่อง 6 ตุลาให้มันครบ ให้มันเข้าใจอย่างจริงจังรอบด้านทุกเรื่อง รอบด้านมากขึ้น รวมถึงว่าใครเป็นคนทำ ใครบ้างเป็นคนร่วมฆ่าร่วมปราบปราม หวังว่าจะมีการเชื่อมโยงกับการเมืองในปัจจุบันว่าจะทำอย่างไรไม่ให้สังคมไทยลงเอยอย่างนี้อีก รวมทั้งต้องมีข้อเสนออย่างเป็นรูปธรรม เช่น สถาบันกษัตริย์ต้องไม่ยุ่งเกี่ยวการเมือง ทหารต้องไม่แทรกแซง รัฐธรรมนูญต้องมีความเป็นประชาธิปไตย เป็นต้น

สำหรับเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เป็นเหตุการณ์ที่เกิดช่วงที่เรียกรวมๆ ว่า "ขวาพิฆาตซ้าย" นั้น สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ เขียนอธิบายไว้ในเว็บไซต์บันทึก 6 ตุลา ว่า เป็นวันที่ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่า ได้เกิดกรณีนองเลือดครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐบาลและกลุ่มฝ่ายขวาหลายกลุ่มร่วมมือกันก่อการสังหารหมู่นักศึกษาประชาชน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ใจกลางพระนคร จนทำให้มีผู้เสียชีวิตฝ่ายประชาชนอย่างน้อย 41 คน และบาดเจ็บ 145 คน การก่อการสังหารครั้งนี้ได้กลายเป็นข่าวแพร่ไปทั่วโลก แต่ที่น่าประหลาดใจที่สุดก็คือ การก่อกรณีนองเลือดครั้งนี้ ไม่มีการจับกุมฆาตกรผู้ก่อการสังหารเลยแม้แต่คนเดียว ในทางตรงข้ามนักศึกษาประชาชนที่เหลือรอดจากการถูกสังหารจำนวน 3,094 คน กลับถูกจับกุมทั้งหมดภายในวันนั้นเอง และถึงแม้ว่าในระยะต่อมา ผู้ถูกจับกุมจะได้รับการประกันตัวออกมาเป็นส่วนใหญ่ แต่สุดท้ายก็ยังมีเหลืออีก 27 คน ถูกอายัดตัวเพื่อดำเนินคดี เป็นชาย 23 คน และหญิง 4 คน จนท้ายที่สุด จะเหลือ 19 คน ซึ่งตกเป็นจำเลย ถูกคุมขังและดำเนินคดีอยู่เกือบ 2 ปีจึงจะได้รับการปล่อยตัว ส่วนผู้ก่อการสังหารซึ่งควรจะเป็นจำเลยตัวจริงนั้นไม่มีรัฐบาลหรือผู้กุมอำนาจครั้งไหนกล่าวถึงอีกเลย แม้กระทั่ง พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรีสมัยที่ปล่อยผู้ต้องหา 6 ตุลาฯ ทั้ง 19 คนนี้ก็ได้กล่าวว่า แล้วก็ให้แล้วกันไป ลืมมันเสียเถิดนะ เหมือนกับว่าจะให้ลืมกรณีฆาตกรรมดังกล่าวเสีย มิให้กล่าวถึงคนร้ายในกรณีนี้อีก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net