Skip to main content
sharethis

หลังผู้หญิงจำนวนมากถูกกักขังหน่วงเหนี่ยวและบังคับให้ค้าประเวณีในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งบริหารงานโดยนายทุนจีน ล่าสุดทางการลาวหวังแก้ปัญหาด้วยการออกกฎให้ทำสัญญาจ้างงาน แต่เจ้าหน้าที่และผู้ได้รับผลกระทบเปิดเผยว่ามาตรการใหม่อาจไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น

สำนักงานบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษประจำจังหวัดในภาคเหนือของลาวออกระเบียบใหม่ให้นายจ้างและแรงงานทุกคนในเขตเศรษฐกิจพิเศษทำสัญญาจ้างงาน เพื่อเป็นหลักประกันให้แรงงานมีสภาพการทำงานที่ปลอดภัย และได้รับผลประโยชน์จากประกันภัยและค่าจ้างที่เป็นธรรม

นอกจากนี้ทางการลาวยังออกกฎห้ามบังคับใช้แรงงาน และกำหนดให้มีการตรวจตราและรายงานการทำงานและสภาพความเป็นอยู่ต่อสำนักงานบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษด้วย โดยเจ้าหน้าที่คนหนึ่งในบ่อแก้วบอกกับสำนักข่าว RFA ว่า "แรงงานต้องได้รับการลงทะเบียนและยอมรับโดยบริษัท หรือส่งเรื่องให้หน่วยจัดหางานของเขตเศรษฐกิจพิเศษ"

"แรงงานชาวลาว ชาวจีน ชาวพม่า และชาวไทยทุกคนต้องเข้ามาผ่านช่องทางที่เหมาะสม" เจ้าหน้าที่กล่าว โดยขอไม่ระบุชื่อเพื่อให้สามารถแสดงความเห็นได้อย่างอิสระ "หากพวกเขาต้องการทำงานที่นี่ พวกเขาต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบ" และหลังจากที่นายจ้างและลูกจ้างเซ็นสัญญาจ้างงานแล้ว เจ้าหน้าที่ของเขตเศรษฐกิจพิเศษจะออกบัตรสมาร์ทการ์ดให้แก่แรงงาน ซึ่งระบุอัตลักษณ์และชื่อของนายจ้าง

ระเบียบใหม่นี้มีผลตั้งแต่วันอังคารที่ผ่านมา แรงงานทุกคนที่ได้รับบัตรจะได้รับการลงทะเบียนกับสำนักงานบริหารงานของจังหวัด แต่แม้ว่าทางการลาวจะพยายามแก้ปัญหา แต่ผู้ใช้แรงงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษกลับยังไม่มั่นใจว่าระเบียบใหม่ที่ออกมาจะหยุดนายจ้างไม่ให้กักขังหน่วงเหนี่ยวผู้หญิงโดยไม่ได้รับความยินยอม เพื่อบังคับเรียกเก็บค่าที่พักและอาหารที่สูงลิ่ว และบังคับให้พวกเธอค้าประเวณีแทนการใช้หนี้ได้อย่างไร

ที่ผ่านมา ทางการท้องถิ่นลาวเพิ่งช่วยผู้หญิงกลุ่มหนึ่งออกมา หลังจากพวกเธอเข้าไปทำงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษโดยได้รับคำสัญญาว่าจะให้ทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟเครื่องดื่มหรือ "สาวตอบแชท" เพื่อรับสมัครนักลงทุนผ่านช่องทางออนไลน์ อย่างไรก็ตาม ยังมีคนอีกหลายร้อยคนติดอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยการกักขังหน่วงเหนี่ยวของนายจ้าง แม้ว่าจะต้องการหนีออกมาก็ตาม

เจ้าหน้าที่ทางการของลาวไม่สามารถเข้าไปในเขตบริหารงานของคนจีนได้โดยง่าย เพราะส่วนใหญ่แล้วพื้นที่ดังกล่าวดำเนินการอยู่นอกเหนือขอบเขตอำนาจของรัฐบาลลาว การช่วยเหลือสามารถทำได้หลังจากที่ผู้หญิงแสดงหลักฐานเพื่อยืนยันอัตลักษณ์และอันตรายที่เกิดขึ้นให้แก่หน่วยปฏิบัติการเฉพาะกิจประจำจังหวัดของลาวแล้วเท่านั้น

อดีตลูกจ้างซึ่งนายจ้างห้ามไม่ให้เธอออกมาระบุว่าการเซ็นสัญญาจ้างไม่ใช่การแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพ เพราะหลังจากเซ็นแล้วสัญญาจ้างก็อาจไม่ได้มีผลบังคับใช้จริงในทางปฏิบัติ หากเจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจหน้าที่มากกว่านี้ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อตรวจตราสภาพการทำงาน ตรวจสอบสถานที่ทำงาน และบังคับใช้กฎหมายแรงงานอย่างเคร่งครัดขึ้น การละเมิดสิทธิเช่นการปฏิเสธสิทธิประโยชน์ หรือการค้ามนุษย์ก็จะยังดำเนินต่อไป

"สัญญาจ้างไม่ทำให้เกิดความต่างหรอก" อดีตลูกจ้างในเขตเศรษฐกิจพิเศษระบุ หลังปฏิเสธไม่บอกชื่อเพื่อความปลอดภัย "ฉันเคยอยู่ที่นั่น และถูกกักขังหน่วงเหนี่ยวร่างกาย ฉันไม่มีอิสรภาพเลย อย่างที่เรารู้กัน ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ตำรวจลาวไม่มีสิทธิในการทำอะไรเลย" แหล่งข่าวระบุ

ทางออกที่ดีกว่า

ผู้หญิงคนหนึ่งจากเวียงจันทน์ ซึ่งเคยทำงานเป็นสาวตอบแชทออนไลน์ให้กับคอลเซ็นเตอร์ในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ และถูกบังคับให้ค้าประเวณีหลังจากเธอไม่สามารถทำยอดขายได้ตามที่กำหนด ระบุว่าข้อบังคับใหม่เรื่องการทำสัญญาจ้างไม่ใช่เครื่องป้องกันการละเมิดที่ปราศจากช่องโหว่

เธอระบุว่าผู้หญิงในเขตเศรษฐกิจพิเศษมักจะต้องทำยอดขายให้ถึงเป้าซึ่งบางครั้งกำหนดไว้สูงมาก บางครั้งการทำยอดขายให้ถึงเป้าเป็นไปได้ยากหรือเป็นไปไม่ได้เลย ขณะเดียวกัน "หนี้" ค่าอาหารและค่าอยู่อาศัยก็ทับถมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

เธอระบุว่า "สัญญาจ้างจะต้องเป็นธรรมและระบุอย่างชัดเจนว่าลูกจ้างมีสิทธิ เสรีภาพ และผลประโยชน์สวัสดิการขั้นพื้นฐาน ทุกอย่างต้องโปร่งใส่ หากคุณได้งานดี มันอาจคุ้มค่าในการจ่ายเงินทั้งหมด [เพื่อชำระค่าธรรมเนียมให้ผู้จัดหางาน] แต่หากคุณได้งานไม่ดีแบบกรณีของฉัน นายจ้างจะไม่ให้อาหารและน้ำ [เลยด้วยซ้ำ] คุณต้องจ่ายทุกอย่าง และค่าใช้จ่ายที่นี่แพง ในกรณีแบบนี้ คุณจะเป็นหนี้[นายจ้าง]เยอะมาก"

เจ้าหน้าที่คนหนึ่งของสำนักงานอัยการในจังหวัดบ่อแก้วบอกกับ RFA ว่าการบังคับให้มีสัญญาจ้างอาจยังไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดในเรื่องนี้ โดยระบุว่า "เนื่องจากเยาวชนเพศหญิงและเพศชายจำนวนมากกำลังถูกค้ามนุษย์และถูกรับสมัครไปทำงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เจ้าหน้าที่ของเราตอนนี้ต้องการช่วยเหลือหรือช่วยชีวิตพวกเขา แต่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถทำได้เพราะพวกเขาไม่มีสิทธิเข้าไปในเขตเศรษฐกิจพิเศษ กฎระเบียบและกฎหมายของเราไม่สามารถบังคับใช้ในนั้นได้"

เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวซึ่งไม่สะดวกให้ระบุชื่อ บอกว่าวิธีการที่ดีกว่าคือการให้รัฐบาลลาวมอบอำนาจให้ตำรวจลาว และกลุ่มของรัฐบาล และกลุ่มภายนอกต่างๆ มากขึ้น เพื่อตรวจหาพื้นที่และปราบปรามการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงานในพื้นที่ดังกล่าว โดย "จนถึงตอนนี้ ไม่มีหน่วยงานภาครัฐใดติดตามหรือตรวจสอบการละเมิดแรงงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษเลย เขตเศรษฐกิจพิเศษกลายเป็นเขตต้องห้ามที่เต็มไปด้วยการค้ามนุษย์ การบังคับใช้แรงงาน และอาชญากรรมร้ายแรงอื่นๆ"

เมื่อต้น ก.พ. ที่ผ่านมา RFA รายงานว่าตำรวจช่วยชีวิตผู้หญิงออกมาจากเขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างน้อย 19 คน ในจำนวนนี้ 8 คนต้องหนีออกมาผ่านช่องรั้วก่อนถูกช่วยเหลือตำรวจ ส่วนผู้หญิงคนอื่นๆ ร้องเรียนกับทางการลาวและขอความช่วยเหลือจากทางการลาวอย่างเป็นทางการ ตำรวจจึงสามารถเข้าในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษและปล่อยพวกเธอออกมาให้เป็นอิสระได้

แปลและเรียบเรียงจาก : 

  • Lao officials propose new labor contract to protect workers in Chinese-run SEZ, 2022.02.25  https://www.rfa.org/english/news/laos/labor-contracts-02252022160405.html
  • ที่มาภาพปก Golden Triangle Special Economic Zone, From Wikipedia  https://en.wikipedia.org/wiki/Golden_Triangle_Special_Economic_Zone

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net