Skip to main content
sharethis

ศาลสั่ง 'ลูกเกด ชลธิชา' ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ก้าวไกล แถลงข่าวใหม่ภายใน 3 วันกรณีแถลงข่าวเงื่อนไขประกันตัวที่พรรคก้าวไกลวานนี้ (22 มี.ค. 2565) และการเข้าพบ รมว.ช่วยกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 17 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยศาลให้ลเหตุผลพูดสลับคำ-เปลี่ยนประโยค ไม่ตรงกับคำสั่งจริงของศาล ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของศาล

23 มี.ค. 2565 ไอลอว์รายงานผ่านทวิตเตอร์ว่าวันนี้ (23 มี.ค. 2565) เวลา 13.30 น. ชลธิชา แจ้งเร็ว หรือลูกเกด นักกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชน และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ปทุมธานี พรรคก้าวไกล และผู้ต้องหาคดี ม.112 เดินทางมาที่ศาลอาญา เนื่องจากได้รับแจ้งเมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2565 ว่าศาลขอนัดไต่สวนคดี ม.112 ของเธอเป็นกรณีเร่งด่วน หลังจากวันที่ 17 มี.ค. 2565 ชลธิชาโพสต์ภาพการเข้าพบรองผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เพื่อแลกเปลี่ยนสถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนในไทย

ไอลอว์ระบุว่าที่ห้องพิจารณา 812 ศาลชี้แจงว่าลูกเกดได้เผยแพร่ข้อมูลผิดไปจากข้อเท็จจริงใน 3 ประเด็น คือ ประเด็นแรก ในการประชุมที่สถานทูตสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2565 มีการพูดถึงคำสั่งให้ติดกำไล EM ของศาล ประเด็นที่สอง การแถลงข่าวที่พรรคก้าวไกลเมื่อวานนี้ (22 มี.ค. 2565) มีการพูดเงื่อนไขห้ามออกนอกเคหะสถานผิดเวลา และประเด็นที่สาม คือการกล่าวถึงเงื่อนไข “ห้ามกระทำผิดซ้ำ” ซึ่งไม่ตรงกับคำสั่งศาล ทั้งนี้ ศาลสั่งให้แถลงข่าวแก้ไขภายใน 3 วัน พร้อมนัดไต่สวนอีกครั้งในวันที่ 19 เม.ย. 2565

ขณะที่ทีมสื่อพรรคก้าวไกลรายงานเพิ่มเติมว่าชลธิชาเปิดเผยว่าศาลได้ท้วงเรื่องข้อผิดพลาดที่กระทบต่อภาพลักษณ์ของศาลจากการแถลงข่าวของพรรคก้าวไกลวานนี้ (22 มี.ค. 2565) โดยศาลมีคำสั่ง “ห้ามกระทำในลักษณะที่ถูกกล่าวหาอีก” ไม่ได้สั่งว่า “ห้ามทำผิดซ้ำ” จึงตักเตือนและขอให้แถลงข่าวแก้ไขข้อผิดพลาดภายใน 3 วัน ส่วนเรื่องกำไล EM หากไม่ประสงค์ใส่ สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ โดยทีมสื่อพรรคก้าวไกล แจกแรงรายละเอียดที่ศาลได้มีข้อทักท้วงใน 3 ประเด็น ดังนี้

ประเด็นเเรก เรื่องการห้ามออกนอกเคหะสถาน คำสั่งที่ถูกต้องคือห้ามออกช่วงเวลา 2 ทุ่ม ถึงตี 5 แต่ ชลธิชาแถลงว่าศาลห้ามออกนอกเคหะสถานเวลาตี 5 ถึง 2 ทุ่ม ซึ่งคลาดเคลื่อนไปหรือเป็นการพูดสลับกัน

ประเด็นที่สอง การที่ศาลสั่งให้ติดกำไลข้อเท้าอิเล็กทรอนิกส์หรือกำไล EM เพื่อติดตามตัว เป็นไปตามคำร้องขอของนายประกันที่ขอให้ศาลทำคำแนะนำของประธานศาลฎีกา เรื่องมาตรการหลีกเลี่ยงโควิด-19 ในเรือนจำ แต่เรื่องนี้ ชลธิชาเห็นแย้งว่าศาลมีคำสั่งให้ใช้โดยไม่ได้คำนึงถึงสัดส่วนความรุนแรงของโทษที่ยังเป็นเพียงข้อกล่าวหา และสร้างความลำบากในการชีวิตประจำวันและอาชีพการงาน

ประเด็นสุดท้าย ศาลชี้แจงว่า ได้สั่งว่า “ห้ามกระทำในลักษณะที่ถูกกล่าวหาอีก” ศาลไม่ได้สั่งว่า “ห้ามทำผิดซ้ำ” ตามที่ชลธิชาแถลงข่าว จึงมีการตักเตือนและขอให้แถลงข่าวแก้ไขข้อผิดพลาดทั้งหมดภายใน 3 วัน

ขณะที่ ชลธิชา กล่าวว่า การเรียกไต่สวนการประกันตัวด่วนในวันนี้ มีข้อสังเกตว่าถึงความผิดปกติหลายประเด็น ประเด็นเเรก การเร่งรัดไต่สวนให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว ที่ผ่านมามีเพียงเจ้าหน้าที่ศาลโทรศัพท์มาแจ้งนายประกันในวันที่ 18 มี.ค. ว่าศาลจะขอไต่สวนการประกันตัว เนื่องจากตนโพสต์ถึงการเข้าร่วมประชุมกับ เมลิสซา เอ. บราวน์ รองผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 17 มีนาคม โดยในโพสต์เป็นเพียงการแจ้งว่าให้ข้อมูลกับทางการสหรัฐฯเกี่ยวกับเรื่องคดีของตัวเองและการถูกติดกำไล EM ประเด็นต่อมาคือ จนถึงวันนี้ที่มาถึงศาลแล้ว ก็ยังคงไม่ได้รับหนังสืออย่างเป็นทางการจากศาล จึงยังไม่ทราบถึงจุดประสงค์ในการเรียกนัดไต่สวนคดี และให้เวลาที่กระชั้นมากทำให้ตนและทีมทนายแทบไม่สามารถเตรียมตัวได้ทัน

“หวังว่าศาลจะให้ความเป็นธรรม เป็นกระบวนการยุติธรรมที่โปร่งใส และขอยืนยันว่า สิ่งที่ได้โพสต์ตามที่ถูกกล่าวหา เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เพื่อรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ดำรงไว้อย่างมั่นคงสถาพร ตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ชลธิชา กล่าว

ด้าน กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความ กล่าวว่า ศาลระบุว่า การเเถลงข่าวของพรรคก้าวไกล เมื่อวานนี้ มีเนื้อหาที่ทำให้เข้าใจผิดเเละส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของศาล ขอให้แถลงข่าวเพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดใน 3 วัน เเละให้ทนายทำรายงายต่อศาลภายใน 15 วัน ส่วน ประเด็นกำไล EM หากจำเลยไม่ประสงค์ที่จะสวมต่อ ขอให้ทนายยื่นอุทธรณ์ต่อศาลได้ โดยศาลนัดพร้อมอีกครั้งในวันที่ 19 เม.ย. 2565 เวลา 13.00 น.

นอกจากนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานเพิ่มเติมว่าในวันนี้ ที่ห้องพิจารณา มีผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์จากสถานทูตสหรัฐอเมริกา ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN OHCHR) และล่ามภาษาอังกฤษ พร้อมระบุไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาด้วย และมีอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่เดินทางมาสังเกตการณ์พร้อมให้กำลังใจชลธิชาที่ศาล

โพสต์เฟซบุ๊กที่เพจ Lookkate Chonthicha - ลูกเกด ชลธิชา แจ้งเร็ว ที่ระบุว่าเธอได้รับเชิญจากสถานทูตสหรัฐฯ เพื่อเข้าแลกเปลี่ยนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทย
 

คดี ม.112 ของ ‘ลูกเกด ชลธิชา’

สำหรับคดี ม.112 ที่ชลธิชาตกเป็นผู้ต้องหานั้น อัยการมีคำสั่งฟ้องเมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2565 จากการโพสต์ข้อความถึงสถาบันกษัตริย์ในการเคลื่อนไหว “ราษฎรสาส์น” เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2563 โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่านอกจากความผิดตาม ม.112 แล้ว ชลธิชายังโดนแจ้งข้อหากระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากกรณีเดียวกัน ส่วนผู้ที่แจ้งความเอาผิดชลธิชาคือนพดล พรหมภาสิต เลขาศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.)

สัณห์สิทธิ์ ยุทธภัณฑ์บริการ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 ผู้รับผิดชอบคดีของชลธิชาระบุในคำฟ้องโดยสังเขปว่าเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2563 จําเลยซึ่งใช้ชื่อบัญชีเฟซบุ๊กว่า “Chonticha Kate Jangrew” ได้โพสต์ข้อความข้อความถึงสถาบันกษัตริย์ในการเคลื่อนไหว “ราษฎรสาส์น” โดยได้แสดงความเห็นต่อสถาบันกษัตริย์ในประเด็นต่างๆ เช่น การไปพักอาศัยในต่างประเทศ การโอนอัตรากําลังพลและงบประมาณไปเป็นส่วนราชการในพระองค์ การใช้จ่ายงบประมาณของสถาบันกษัตริย์ที่ฟุ่มเฟือย และการเลื่อนยศตำแหน่งให้กับข้าราชการและพลเรือน เป็นต้น

โพสต์ดังกล่าวยังได้มีการเขียนข้อความแสดงความเห็นเกี่ยวกับการที่ประชาชนผู้คิดต่างหรือเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์กลับถูกดําเนินคดี คุมขัง ถูกคุกคาม ถูกทําร้าย และต้องลี้ภัย โดยกล่าวว่า หลังรัฐประหาร 2557 เป็นต้นมา มีนักกิจกรรมการเมืองที่ถูกทางการไทยมองว่าเป็น “พวกล้มเจ้า” ที่ถูกอุ้มหายและพบ 2 ศพ นอกจากนี้ยังได้เรียกร้องให้กษัตริย์รับฟังเสียงของประชาชนเกี่ยวกับข้อเสนอให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ รวมถึงเชิญชวนให้ประชาชนมาเข้าร่วมกิจกรรม #ราษฎรสาส์น ใน #ม็อบ8พฤศจิกา เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2563 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อีกด้วย

พนักงานอัยการระบุในคำฟ้องว่า ข้อความดังกล่าวเป็นการล่วงละเมิด หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 ซึ่งประชาชนทั่วไปที่พบเห็นภาพและข้อความดังกล่าวเข้าใจความหมายได้ว่า พระองค์ไปอยู่ต่างประเทศ ไม่ดูแลประชาชน บิดเบือนข้อเท็จจริงให้ประชาชนเกิดความกลัวต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ทําให้เข้าใจว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ใช้ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาและพวกพ้องคณะรัฐประหาร กระทําการรัฐประหาร แล้วสืบทอดอํานาจ เพื่อยึดอํานาจจากประชาชน

อัยการยังระบุอีกว่าข้อความดังกล่าวทำให้ประชาชนเข้าใจว่ารัชกาลที่ 10 ทรงเบียดเบียนทรัพยากรของประเทศที่ได้มาด้วยน้ําพักน้ําแรงของราษฏรไปใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย พระมหากษัตริย์เป็นศัตรูกับประชาชน เข้ามาแทรกแซงการเมืองและมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสูญหายของบุคคลที่มีความเห็นต่างทางการเมือง โดยประการที่น่าจะทําให้พระมหากษัตริย์ทรงเสื่อมเสีย พระเกียรติยศชื่อเสียงถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง และประชาชนเสื่อมความเคารพศรัทธาในพระองค์และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 

ต่อมา พริษฐ์  ปิยะนราธร รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยใช้หลักประกันเป็นเงินสด 90,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ และให้ใส่กำไล EM โดยได้นัดตรวจพยานหลักฐานต่อไปในวันที่ 25 เม.ย. 2565 เวลา 09.00 น. พร้อมทั้งกำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว 4 ประการ ได้แก่

1. ห้ามกระทำกิจกรรมที่มีลักษณะเช่นเดียวกับที่ถูกกล่าวหา 

2. ห้ามเข้าร่วมกิจกรรมที่มีลักษณะเป็นการกระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ 

3. ห้ามออกนอกเคหสถานตั้งแต่เวลา 20.00-05.00 น.

4. ให้มารายงานตัวต่อศาลทุก 15 วัน เป็นเวลา 3 เดือน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net