Skip to main content
sharethis

สัมภาษณ์และประมวลความเห็นของ 'สุรชาติ' ศาสตราจารย์คณะรัฐศาสตร์ เพื่อตอบโจทย์ที่ว่า ทำไมต้องรับรู้ข่าวการเปลี่ยนแปลงอำนาจในกองทัพ? เทียบกับต่างประเทศที่ใช้ระบอบประชาธิปไตย แนวทางการป้องกันทหารเข้ามามีอำนาจทางการเมือง รวมทั้งความเสี่ยงของรัฐบาลพลเรือนที่จะลดอำนาจกองทัพ

สุรชาติ บำรุงสุข ศาสตราจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จากการรายงานข่าว อ่านโผทหาร 65 กลุ่มไหนได้ ฝ่ายไหนเสีย เมื่อ ‘ทหารพระราชา’ กำลังแทนที่ 3 ป. โดยประชาไท เผยแพร่วันที่ 19 ก.ย. 2565 ที่รายงานเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนกำลังพลในกองทัพ ทำให้เกิดคำถามว่าทำไมประชาชนชาวไทยจะต้องจับตาการเปลี่ยนแปลงอำนาจของกองทัพ นำไปสู่การหาคำตอบผ่านการสัมภาษณ์และบทความของ สุรชาติ บำรุงสุข ศาสตราจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการที่มีความสนใจในเรื่องของยุทธศาสตร์ทางการทหารและความมั่นคง

ทำไมต้องจับตาดูการเปลี่ยนแปลงของผู้นำทหารในไทย 

บทความ ข้อคิดจากรัฐประหาร 49! สุรชาติระบุว่า รัฐประหารทำให้กองทัพไทยถอนตัวออกจากการเมืองไม่ได้ และเป็นการติดกับดักจนกองทัพกลายเป็น “ทหารการเมือง” แม้การปรับย้ายทหารก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ทางการเมืองไปโดยปริยาย 

จากบทความ จัดระบบโยกย้ายทหารใหม่! โดยสุรชาติ บำรุงสุข เผยแพร่เมื่อ 12 ก.ย. 2565 ผ่านเว็บไซต์มติชนออนไลน์ สุรชาติระบุว่า ประเทศไทยน่าจะเป็นไม่กี่ประเทศในโลก ที่บัญชีรายชื่อการโยกย้ายนายทหารของกองทัพเป็นข่าวใหญ่ในสื่อทุกปี และไม่มีปีไหนเลยที่เรื่องนี้ไม่เป็นประเด็นให้สื่อหยิบมาเป็นหัวข้อข่าว และดูจะเป็นประเด็นข่าวที่สังคมเองส่วนหนึ่งก็ติดตามด้วย จนอาจต้องสรุปว่า ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะบทบาททางการเมืองของกองทัพเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้คนในสังคมจับตามอง ยิ่งปีไหนการเมืองปั่นป่วน ข่าวโยกย้ายทหารยิ่งเป็นที่สนใจมาก หรือยามที่การเมืองอยู่ในภาวะ “ลุ่มๆ ดอนๆ” เช่น ปัจจุบัน เรื่องนี้ย่อมเป็นหัวข่าวของสื่ออย่างหนีไม่พ้น หรือกล่าวด้วยสำนวนของสื่อสิ่งพิมพ์ ก็คงต้องบอกว่าเรื่องโยกย้ายทหารยังคงเป็น “ข่าวใหญ่หน้า 1” ที่ขายได้เสมอ

เปรียบเทียบกับต่างประเทศที่ใช้ระบอบประชาธิปไตย ต้องจับตาดูการเปลี่ยนผู้นำหรือผู้มีอำนาจในกองทัพหรือไม่

ในจัดระบบโยกย้ายทหารใหม่! สุรชาติระบุว่า หากประเทศไทยเป็นประเทศประชาธิปไตยอย่างเช่นในประเทศตะวันตกแล้ว เราจะไม่เห็น “หัวข่าว” เรื่องนี้ เช่น เราจะไม่เคยเห็นข่าวนี้ในนิวยอร์กไทม์ หรือวอชิงตันโพสต์ เพราะการปรับย้ายทหารเป็นเรื่องภายในของกระทรวงกลาโหม และเป็นกระบวนการปกติของกองทัพ ที่นายทหารถูกปรับย้ายตำแหน่งด้วยมาตรฐานของ “เส้นทางรับราชการ” หรือประเด็นเรื่อง “career path” ในวิชาชีพทหาร 

แต่ถ้าเราสังเกตจากสื่อในประเทศประชาธิปไตยแล้ว เราจะไม่เคยเห็นบัญชีโยกย้ายทหารปรากฏในรายงานของสื่อดังกล่าวแต่อย่างใด ปรากฏการณ์เช่นนี้ก็คือ ภาพสะท้อนที่ต่างจากกรณีของไทยว่า กองทัพในประเทศเหล่านั้นไม่ได้มีบทบาทในการเมืองของประเทศ จึงไม่ต้องให้ความสนใจว่า ใครจะเป็นผู้การกรม… ใครจะเป็นผู้บัญชาการกองพล… ใครจะเป็นแม่ทัพภาค… ใครจะเป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพ

ประเด็นเช่นนี้เป็นกิจการภายในของกองทัพ และไม่ใช่เรื่องที่จะต้องเป็นหัวข้อข่าวสำคัญของประเทศ อีกทั้งกองทัพก็เป็นเพียงส่วนราชการหนึ่งในระบบราชการทหารของประเทศเท่านั้น

สื่อและสังคมของประเทศประชาธิปไตยจะให้ความสนใจอย่างมากกับนโยบายยุทธศาสตร์ความมั่นคงของประเทศ นโยบายในการพัฒนากองทัพ เป็นต้น แต่ในประเทศด้อยพัฒนาที่กองทัพมีบทบาทอย่างมากเช่นในไทย ข่าวการดำรงตำแหน่งของผู้นำทหารเป็นหัวข้อข่าวใหญ่เสมอ ดังนั้น ข่าวโยกย้ายทหารจึงเป็นข่าวเพื่อบอกสังคมให้รับรู้ว่า ใครจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำทหารที่จะกลายเป็น “ศูนย์อำนาจใหม่” ในอนาคต เพราะบทบาทของเขาอาจจะเป็นผู้กำหนดอนาคตทางการเมืองของประเทศได้อีกด้วย

การขึ้นสู่ตำแหน่งของนายทหารในประเทศประชาธิปไตยไม่มีนัยทางการเมือง สื่อจึงไม่ต้องรายงานข่าวนี้ อีกทั้งถ้าประเทศเป็นประชาธิปไตยได้จริงแล้ว เราคงไม่มีความจำเป็นต้อง “วิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง” ว่าใครจะมีตำแหน่งอะไรในกองทัพ… ใครมาจากรุ่นไหน เพราะตำแหน่งและรุ่นเป็นสิ่งที่ไม่มีผลในทางการเมือง เนื่องจากกองทัพในสังคมประชาธิปไตยไม่ได้เป็น “ฐานอำนาจ” ทางการเมืองของใคร แต่มีบทบาทเป็น “ฐานที่มั่นหลัก” ของทหารอาชีพ

หากไม่อยากให้ทหารเข้ามามีอำนาจทางการเมืองหรือรัฐประหาร ควรใช้วิธีอะไรที่เห็นผลและได้ผลเร็วที่สุด 

จากการสอบถามผ่านอีเมล์สุรชาติระบุว่าต้องปฎิรูปการเมืองคู่ขนานกับการปฎิรูปกองทัพ ต้องกำหนดกรอบของความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับรัฐบาลพลเรือน สร้างกองทัพให้เป็นทหารอาชีพและลดบทบาททางการเมือง รัฐบาลต้องไม่ใช้กองทัพเพื่อประโยชน์ทางการเมือง สังคมต้องแสดงการต่อต้านรัฐประหาร จะต้องไม่รับผลการนิรโทษกรรมการรัฐประหาร องค์กรระหว่างประเทศต้องแทรกแซง กลุ่มปีกขวาต้องเปลี่ยนความคิดที่จะต่อสู้ในทางรัฐสภา

ทางออกของประชาชน เมื่อเกิดรัฐประหารควรทำอย่างไร  

อาจารย์รัฐศาสตร์ระบุว่าทางออกของประชาชนเมื่อเกิดรัฐประหาร คือ การแสดงการต่อต้านในรูปแบบต่างๆ อาจรวมถึงการใช้ความรุนแรงอย่างเมียนมา การสร้างประชามติในสังคมที่ไม่รับรัฐประหาร การจำกัดหรือต่อต้านบทบาทของกลุ่มปีกขวาที่สนับสนุนรัฐประหาร การใช้สื่อโซเชี่ยลในการต่อต้าน การต่อต้านบนถนน การแสดงการสนับสนุนรัฐบาลให้ต่อต้านรัฐประหาร

การเมืองของไทยที่มีการรัฐประหารบ่อยเป็นอย่างไรในสายตาสากล

จากบทความ ข้อคิดจากรัฐประหาร 49! โดยสุรชาติ เผยแพร่เมื่อ 20 ก.ย. 2565 ผ่านเว็บไซต์มติชนออนไลน์ สุรชาติระบุว่ารัฐประหารส่งผลให้สถานะของประเทศไทยในเวทีสากลตกต่ำลงอย่างมาก และรัฐบาลทหารไม่เป็นที่ยอมรับของประชาคมระหว่างประเทศ เว้นแต่ต้องหาความสนับสนุนจากรัฐมหาอำนาจบางฝ่ายที่ไม่รังเกียจการยึดอำนาจ

ซีรีส์พิเศษ "สุรชาติ บำรุงสุข" ปีกอนุรักษ์นิยมควรหยุดซื้อนาฬิกาที่หยุดเดิน โดย Matichon TV เผยแพร่วันที่ 28 ส.ค. 2565 สุรชาติกล่าวว่า ในสมัยรอยต่อระหว่างนายกเปรมกับนายกชาติชายไทยเคยเป็นต้นแบบของการสร้างประชาธิปไตยให้กับเมียนมาร์และอินโดนีเซีย แต่ปัจจุบันคนพูดกันว่าไทยต้องเรียนรู้ประชาธิปไตยจากอินโดนีเซีย ทุกวันนี้เรามีนิยาม ‘ตัวแบบไทยในภูมิภาค’ ที่หมายความว่าแก้ปัญหาทางการเมืองไม่ได้ก็รัฐประหารยึดอำนาจ ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีสถานะตกต่ำเมื่อมองจากเวทีสากล

ถ้าการเลือกตั้งเป็นทางออกที่ดีสุดโดยพรรคที่ชนะเป็นรัฐบาลมีนโยบายลดอำนาจกองทัพ แต่ประชาชนจะมั่นใจได้อย่างไรว่าผู้มีอำนาจทางทหารจะไม่ก่อรัฐประหารอีกครั้ง 

บทความ พฤษภาพาฝัน! : สุรชาติ บำรุงสุข โดยสุรชาติ บำรุงสุข เผยแพร่เมื่อ 19 พ.ค. 2565 ผ่านเว็บไซต์มติชนออนไลน์ สุรชาติระบุว่า นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไทยในขณะนั้นมิได้ละเลยประเด็นนี้ (การปฎิรูปกองทัพ) และพยายามที่จะแสวงหาคำตอบที่จะช่วยให้การต่อสู้ที่ต้องเสียสละของนักศึกษาประชาชนไม่สูญเปล่า ดังนั้นหลังจากสถานการณ์นองเลือดเพิ่งยุติลง ผู้นำการชุมนุม นักเคลื่อนไหว ปัญญาชน และสื่อมวลชนฝ่ายประชาธิปไตย ได้เปิดเวทีถกแถลงที่ห้องประชุมของอาคารเกษม อุทยานิน คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประเด็นหลักที่เป็นหัวใจของการถกในครั้งนี้หนีไม่พ้นที่จะต้องเป็นเรื่องของ “การปฏิรูปกองทัพ” โดยตรง

ในเวทีการประชุมมีการถกเถียงอย่างกว้างขวาง และผู้เข้าร่วมการประชุมทุกคนมีความเห็นตรงกันว่า เพื่อที่จะรักษามรดกของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย จะต้องผลักดันให้เกิดการปฎิรูปกองทัพ และถกลึกลงไปถึงข้อเสนอให้มีปรับหลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียนนายร้อยทุกเหล่า และทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่า การปฎิรูปกองทัพเป็นภารกิจทางการเมืองที่จะต้องทำให้สำเร็จ

การประชุมในวันนั้นจบลงด้วยความฝันของนักประชาธิปไตยไทยคือ ต้องผลักดันให้เกิด “การปฏิรูปกองทัพ” ให้ได้ อย่างน้อยการปฎิรูปทหารจะเป็นหลักประกันว่า ชัยชนะของประชาชนในปี 2535 จะสร้างความยั่งยืนของระบอบประชาธิปไตยไทยในอนาคต

แต่ความฝันดังกล่าวดูจะไปไม่ได้ไกลมากนัก เมื่อผู้นำทหารรุ่น 5 สายใหม่ที่ก้าวเข้ามาเป็นผู้นำกองทัพ ไม่มีท่าทีตอบรับกับประเด็นการปฎิรูปกองทัพเท่าที่ควร รัฐบาลใหม่เองเป็นเพียงรัฐบาลชั่วคราวที่เข้ามาเพื่อเตรียมการเลือกตั้งครั้งใหม่ในเดือนกันยายน 2535 และเห็นได้ชัดเจนในเวลาต่อมาว่า กระแสการปฎิรูปกองทัพค่อยๆ จางไป… หายไป และไม่เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ผลการสอบสวนของรัฐบาลต่อการใช้กำลังทหารในการสลายฝูงชนก็ไม่ได้ถูกเปิดเผยในที่สาธารณะ (ไม่ว่าจะเป็นฉบับเต็ม หรือฉบับย่อก็ตาม) ทุกอย่างจบลงเพียงการย้ายผู้นำทหารรุ่น 5 ออกจากตำแหน่งหลักในระดับสูงเพียง 3 นายเท่านั้น แต่กระนั้น หลายคนยังฝันว่า บทเรียนจากการนองเลือดครั้งนี้น่าจะทำให้รัฐประหาร 2534 เป็นการยึดอำนาจครั้งสุดท้ายของทหารไทย

หลายคนฝันเช่นนั้น แต่ก็เป็นความฝันที่เราไม่ได้ทำอะไรเพื่อให้ความฝันของเราเป็นจริง… การปฎิรูปกองทัพเป็นประเด็นใน “โลกแห่งความฝัน” และเราก็อยู่ในโลกฝันๆ จนรัฐประหารปี 2549 และ 2557 มาปลุกให้เราตื่นขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริง!

บทความ ข้อคิดจากรัฐประหาร 49! สุรชาติระบุว่า ความเชื่อว่าการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยหลังปี 2535 มีความเข้มแข็งที่จะป้องกันการรัฐประหารได้นั้น ไม่จริงแต่ประการใด เพราะกระบวนการสร้างประชาธิปไตยไทยยังคงมีความอ่อนแอในตัวเองอย่างมาก และสังคมยังไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะต่อต้านรัฐประหารได้อย่างจริงจัง แม้จะมีการประท้วงเกิดขึ้นบ้าง แต่ก็ไม่มีพลังที่จะโค่นล้มการรัฐประหารได้

ความเชื่อว่าระบอบรัฐสภาจะช่วยลดความขัดแย้งในสังคม และลดเงื่อนไขการยึดอำนาจนั้น ยังไม่เป็นจริง เพราะรัฐสภายังไม่สามารถเป็นกลไกที่จะใช้ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองได้จริง และทั้ง รัฐสภาไทยยังไม่อาจทำหน้าที่เป็นองค์กรในการต่อต้านรัฐประหารได้ ประกอบกับนักการเมืองฝ่ายขวาจัดในสภาเองกลายเป็นผู้สนับสนุนหลักต่อการรัฐประหารด้วย

กลุ่มการเมืองปีกขวาจัด (ชนชั้นนำ ผู้นำทหารปีกขวาจัด กลุ่มพลเรือนสายขวาจัด) ยังคงเชื่อในเรื่องการรัฐประหาร เพราะรัฐประหารเป็นเครื่องมือที่มีพลังในการจัดการกับฝ่ายตรงข้ามได้เสมอ ดังเช่นการล้มรัฐบาลพลเรือนที่เกิดขึ้นหลายครั้งในการเมืองไทย

การคอร์รัปชั่นและความไม่โปร่งใสของรัฐบาลพลเรือนเป็นข้ออ้างที่ดีในการรัฐประหาร และอาจจะช่วยดึงเสียงสนับสนุนจากคนบางกลุ่ม โดยเฉพาะกับชนชั้นกลางปีกขวา แต่รัฐบาลทหารหลังรัฐประหารก็มีปัญหาดังกล่าวอย่างมากไม่ต่างจากรัฐบาลพลเรือนที่ถูกโค่นล้มไป และยังไม่สามารถตรวจสอบได้ด้วย

หมายเหตุ : สำหรับผู้รายงานข่าว ฉัตรลดา ตั้งใจ นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ โครงการสองปริญญาเศรษฐศาสตร์-การสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขณะเขียนรายงานชิ้นนี้ฝึกงานอยู่กับกองบรรณาธิการข่าวไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net