Skip to main content
sharethis

'สุรชาติ บำรุงสุข' นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง เปิดโจทย์ร้อนรับ ว่าที่ รมว.กลาโหม ที่ชื่อ ‘สุทิน คลังแสง’ พลเรือนที่ไม่ใช่นายกฯ พ่วงคนแรก โจทย์ภายในและนอกประเทศ กับคำถามแล้วใครเป็นรองนายกฯด้านความมั่นคง ใครคือทีมทหารของสุทิน และปมร้อนแก้ TOR และเครื่องยนต์เรือดำน้ำจีน โจทย์ 'โบว์ดำ' ที่รออยู่

 

2 สัปดาห์ที่ผ่านมาโผคณะรัฐมนตรี ภายใต้การนำของ เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ ออกมาหลากหลายมาก หนึ่งในตำแหน่งที่ถูกจับตาคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (รมว.กลาโหม) ที่หลายคนคาดว่าจะเป็นตำแหน่งของนายพลคนใดคนหนึ่ง ชื่อของ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ คนสนิทของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นอีกหนึ่งชื่อที่ถูกนำเสนอ แต่ล่าสุดกลับเป็นชื่อพลเรือนอย่าง สุทิน คลังแสง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ส.ส. จ.มหาสารคาม หลายสมัย และยังอดีตรองโฆษกพรรคไทยรักไทย และ อดีตประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ จ.มหาสารคาม สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในหลายประเด็น แต่คนหนึ่งคือ พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันว่า “ไม่ห่วงอะไร” หลังถูกถามถึงปฏิกิริยาจากกองทัพที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ สุทิน ว่าที่ รมว.กลาโหม ดังกล่าว

ครั้งแรกของพลเรือนที่ไม่มีตำแหน่งนายกฯพ่วง

อีกคนหนึ่งที่ออกมาแสดงความเห็นในภาพกว้างถึงตัว สุทิน รวมทั้งปรากฏการณ์ที่พลเรือนและไม่มีตำแหน่งนายกฯ เข้ามาดำรงตำแหน่ง รมว.กลาโหม เป็นครั้งแรกคือ สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงและกองทัพให้สัมภาษณ์ผ่านรายการข่าวเข้มประเด็นข้น ทาง FM 96.5 ถึงกรณีนี้ด้วยว่า เมื่อลองเอาแต่ละโผ ครม. ที่ออกมาก่อนหน้านี้ คนอาจไม่สนใจในตำแหน่ง รมว.กลาโหมแล้ว เพราะคิดว่าอย่างไรช่วงแรกพรรคเพื่อไทยคงไม่เอาตำแหน่งนี้แล้ว บ้างก็ว่าไปอยู่ที่พรรคพลังประชารัฐ บ้างก็ว่าไปอยู่ที่พรรครวมไทยสร้างชาติ จนมีชื่อ พล.อ.คนโน้นคนนี้หลุดอกกมา แต่ก่อนโผจะลงตัวก็มีชื่อ สุทิน ออกมาเหมือนกัน แต่ทุกคนก็เชื่อว่าเป็นโผปลอม ตนเองก็ยังนึกไม่ออกว่ามาได้อย่างไร ทำไม่เป็นชื่อ สุทิน ต่อมาก็มีชื่อ พล.อ.ณัฐพลก็ประเมินว่าคงลงตัวที่ พล.อ.ณัฐพล แต่กลับมาพลิกเป็น สุทิน แทบจะเป็นคืนสุดท้ายที่จะมีความชัดเจนของโผว่าเป็น สุทิน

สุรชาติ บำรุงสุข (แฟ้มภาพ)

สำหรับปฏิกิริยาในกองทัพนั้น สุรชาติ เปิดเผยว่าสร้างความประหลาดใจ และไม่เชื่อว่าจะเป็นชื่อ สุทิน ที่จะมาเป็น รมว.กลาโหม แต่ที่พูดในลักษณะนี้ไม่ได้ว่าการจัดโผ แต่โจทย์สำคัญคือ กรณีที่ พลเรือนที่ขึ้นในตำแหน่งรมว.กลาโหมนั้นล้วนสวมหมวก 2 ใบ คือเป็นทั้งนายกฯ และ รมว.กลาโหม เช่น หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ชวน หลีกภัย สมัคร สุนทรเวช สมชาย วงศ์สวัสดิ์ และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่มาครั้งนี้เป็นปรากฏการณใหม่ เราเอานักการเมืองที่เป็นพลเรือนไปในกระทรวงกลาโหม

โจทย์ภายในและนอกประเทศ กับคำถามแล้วใครเป็นรองนายกฯด้านความมั่นคง

นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงและกองทัพ กล่าวต่อว่า คิดในมิติประชาธิปไตยมันก็เป็นด้านที่วันนี้ตั้ง รมว.กลาโหม ไม่ต้องเป็นพล.อ.คนไหนแล้ว แต่ในมุมกลับหากเทียบต่างประเทศเมื่อนักการเมืองพลเรือนหากจะขึ้นในสายงานกลาโหมหรือความมั่นคงมันจะมีแบลคกราวหรือเบื้องหลังมาก่อนเมื่อขึ้นไปนั่งในตำแหน่างเหล่านี้มันพออธิบายทิศทางนโยบายได้หรืออย่างน้อยมองภาพของยุทธศาสตร์ทหารได้ว่าจะออกไปในทิศทางใด แต่ สุทิน แม้ตนไม่ได้มีปัญหาอะไร และจริงๆ ตนเองก็ชื่นชมสุทินที่ทำหน้าที่ในสภาได้ดีและเหมาะสมคนหนึ่ง เมื่อมานั่งในตำแหน่ง รมว.กลาโหมนี้ ก็เกิดคำถามที่ว่าแล้ว สุทิน จะคัดหางเสือคัดท้ายเรือที่เป็นกระทรวงกลาโหมไปทางไหน เพราะงานกลาโหมขณะนี้เป็นโจทย์ชุดใหญ่ที่กองทัพและกระทรวงกลาโหมเข้าไปเกี่ยว สมมติมองผ่านงานภายในมีเรื่องภาคใต้ เรื่องปัญหาความมั่นคงตามแนวชายแดนบริบทสงครามทางฝั่งเมียนมา และเรื่องใหญ่ที่สุดคือเรื่องปฏิรูปกองทัพเพราะมีเสียงเรียกร้องจำนวนมาก

และยังโยงกับอีกตำแหน่งที่ตนวิจารณ์มากคือใคร "ตกลงใครเป็นรองนายกฯด้านความมั่นคง" ขณะนี้ยังไม่เห็น และเมื่อไม่เห็นก็ต้องไปตอบใหญ่เรื่องทิศทางนโยบายด้านความมั่นคงชุดใหญ่มันไม่มีความชัดเจนแล้วว่าตกลงจะไปอย่างไร เนื่องจากวันนี้มองออกไปนอกประเทศ สงครามเย็นใหม่ที่เป็นการต่อสู้กันระหว่างรัฐมหาอำนาจ เช่น สงครามรัสเซีย-ยูเครน สงครามช่องแคบไต้หวันจะเกิดหรือไม่ปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจจีนฟุบหลายคนเกรงว่าจะเอาประเด็นไต้หวันมายันกับวิกฤติเศรษฐกิจในจีน สงครามในเมียนมา การแข่งขันของมหาอำนาจใหญ่ในภูมิภาค เป็นโจทย์ใหญ่ รวมทั้ง รองนายกฯ ด้านความมั่นคงต้องดูการเจรจาภาคใต้ และยังต้องดูแลสำนักข่าวกรอง สภาความมั่นคง หรืองานความมั่นคงทั้งระบบ จึงเกิดข้อสงสัยว่าใครจะดูหน้าที่รองนายกฯด้านความมั่นคงในรัฐบาลเศรษฐา

ใครคือทีมทหารของสุทิน

สุรชาติ กล่าวต่อว่า สุทิน ในฐานะ รมว.กลาโหม ยังเป็นประธานสภากลาโหม ซึ่งเรื่องหลักในไทยของสภานี้คือเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายทหาร แม้รอบนี้ไม่ทันแล้ว แต่จะไปเจอช่วงเดือนเม.ย.67 ที่เรียกว่าโยกย้ายรอบเล็กหรือกลางปี การนั่งตรงนั้นมีประเด็นปัญหาเรื่องการบริหารกองทัพทั้งหมด ทั้งการจัดซื้ออาวุธ บริหารกำลังพล และในนั้นยังมีเรื่องของกองบัญชาการกองทัพไทยและอีกเหล่าที่เป็นเหล่าพิเศษคือสำนักปลัดกระทรวงกลาโหม คือ กระทรวงนี้มี 5 เหล่า คือ ทหารบก เรือ อากาศ กองทัพไทย และสำนักปลัด แปลว่า สุทิน ต้องบริหารภาพใหญ่ในเชิงนโยบาย 5 เหล่า เป็นงานที่อาจเรียกว่า สุทิน ไม่คุ้น ดังนั้นในความไม่คุ้นนี้สิ่งที่ตนตั้งคำถามคือใครจะมีเป็นทีมช่วย คงหนีไม่พ้นต้องเอาทหารมาช่วย เอาพลเรือนเข้าไปเนื่องจากเราไม่มีระบบที่ทำให้เกิดการเชื่อมต่อระหว่างกองทัพภาคการเมืองจริงๆ พลเรือนไทยไม่เคยถูกฝึกให้ทำงานในมิติด้านนี้และอีกส่วนเองก็อาจไม่มีมิติด้านนี้ด้วย เมื่อต้องรับตำแหน่งนี้จึงอาจต้องมีทีมที่ปรึกษาหรือคณะทำงาน ขณะนี้ตนรอดูเพราะว่า

สำหรับสุทิน นอกจากเป็นส.ส.สำคัญที่อยู่กับพรรคมาอย่างยาวนานตั้งแต่เป็นพรรคไทยรักไทย และสุทินเองก็ยังเป็นแกนนำเสื้อแดง อดีตประธาน นปช.จ.มหาสารคาม ซึ่งมีปัญหาขัดแย้งกับกองทัพทั้งการรัฐประหารและสลายการชุมนุม และจะมีผลต่อปฏิกิริยาของคนในกองทัพเองหรือไม่นั้น สุรชาติ มองว่า หากมองผ่านกองทัพเองก็คงไม่อยากเข้าไปสร้างปัญหาทางการเมือง หลายปีที่ผ่านมาเมื่อเราคุยกับทางทหารหลายส่วน เขามองว่าการเมืองเป้นปัญหาของกองทัพ ซึ่งต้องแยกผู้นำกองทัพที่ทำรัฐประหารกับบรรดาคนที่อยู่ในกองทัพจริงๆ เขารู้สึกการเมืองเป็นภาระมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นในภาวะที่รัฐบาลตั้งมาอย่างนี้ตนเชื่อว่าหากมองผ่านการบริหาร มันจำเป็นต้องเกิดการประณีประนอมกันทั้ง 2 ฝ่ายหรือไม่อย่างนั้นมันจะเดินไปไม่ได้ในมิติการบริหาร แต่การประณีประนอมอย่างนี้หากดูตำแหน่งที่พลเรือนไปเป็น รมว.กลาโหมแล้วสวมหมวกนายกฯด้วยนั้นด้านหนึ่งมันมีบารมีในตำแหน่ง แต่หากมองผ่านมิติจริงๆ นายกฯ ที่ผ่านมาก็ไม่ได้ลงมาดู คนที่ลงมาดูจริงๆ เป็น รมช.กลาโหม หรือทีม อย่างในยุคที่ ชวน เป็นนายกฯ ตนจึงตั้งคำถามว่าใครคือทีมทหารของสุทิน

ปมแก้ TOR และเครื่องยนต์เรือดำน้ำจีน โจทย์ 'โบว์ดำ' ที่รออยู่

สำหรับเรื่องร้อนที่รอ รมว.กลาโหม คือ โจทย์เรื่องเครื่องยนต์เรือดำน้ำที่จีนผลิตใส่เรือดำน้ำของไทย โดยที่ผ่านมาเราต้องใช้ของเยอรมันแต่ไม่สามารถหาได้ และผู้บัญชาการทหารเรือ(ผบ.ทร.)ที่กำลังเกษียณนั้นโยนโจทย์ให้ คณะรัฐมนตรีใหม่ (ครม.ใหม่)ตัดสินใจว่าจะเอาเครื่องยนต์จีนใส่เข้าไปเลยไหม เป็นหนูทดลองไปหรือไม่นั้น สุรชาติ กล่าวว่า หากสุทินตัดสินใจรับเครื่องยนต์จีนในตำแหน่ง รมว.กลาโหม ก็ต้องรับว่าเป็นการกระทำผิด TOR ในข้อสัญญา ไม่มี TOR ข้อไหนอนุมัติให้กองทัพเรือ กระทรวงกลาโหมไทย แม้กระทั่งอนุมัติให้ ครม. ไทยทำ หาก ครม.ไทยตัดสินใจเปลี่ยน TOR เท่ากับว่าต่อไประบบจัดซื้ออาวุธไทยจะเป็นเรื่องหาผลประโยชน์ได้ง่ายที่สุด เป็นช่องทางแสวงหาผลประโยชน์อย่างง่ายๆ อยากได้อะไรก็ส่งให้ ครม. ผ่านกลาโหมบีบ รมว.พลเรือนให้ไปทำ ตนอยากเห็นสุทินกล้าตัดสินใจเอาการเปลี่ยน TOR เข้า ครม. แต่หาก สุทิน ทำอย่างนั้นจะกลายเป็นโบว์ดำชิ้นแรกของสุทิน และจะเป็นโบว์ดำของพรรคเพื่อไทย

thaiarmedforce.com โพสต์ถึงเครื่องยนต์เรือดำน้ำ 29 ส.ค.66

"เราซื้ออาวุธไม่ได้ซื้อรถเก๋งเล่นๆ ซื้อรถเก๋งมีปัญหาเอารถไปเปลี่ยนเครื่อง ยกเครืองใหม่มันก็อธิบายได้ แต่เรือดำน้ำ 1 ลำ มันคือชีวิตของลูกเรือไทย กองทัพเรือต้องมีสติมากกว่านี้ คืนก็คืน ผมไม่อยากพูด ตกลงมันมีอะไรลึกลับใต้โต๊ะ นอกจากใต้น้ำมันยังมีใต้โต๊ะด้วยไหม ถ้าจากใต้น้ำแล้วยังมีใต้โต๊ะด้วยนั้น ผมว่ากรณีนี้ไม่จบ เรือดำน้ำจะกลายเป็นเรือใต้โต๊ะ" สุรชาติ กล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net