Skip to main content
sharethis

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ นักวิชาการ ม.รังสิต เผยผลสำควจความเห็นต่อรัฐธรรมนูญ 2560 ของคนกรุงเทพฯ พบ 60% เห็นว่า เป็นเผด็จการ เหตุไม่ได้กำหนดให้นายกฯต้องมาจากการเลือกตั้ง, เป็นรัฐธรรมนูญที่ให้สืบทอดอำนาจ คสช. ขณะที่ 13.25% เห็นว่าเป็นประชาธิปไตย

13 ก.พ.2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า 10 ก.พ.ที่ผ่ามา เฟซบุ๊ก 'ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์' ของ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ รองศาสตราจารย์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต รายงานว่า งานวิจัยส่วนบุคคลของตน เก็บข้อมูลจากคนกรุงเทพฯ (อายุ 18 ปีขึ้นไป มี 4.48 ล้านคน ประชากรกรุงเทพฯ 5.52 ล้านคน) เก็บแบบสอบถามจำนวน 1,200 คน กับข้อคำถามว่า “ท่านเห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2560 เป็นฉบับ ประชาธิปไตย หรือ เผด็จการ”

ธำรงศักดิ์ ระบุถึงผลการวิจัยพบว่า

1. คนกรุงเทพฯ เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2560 เป็นฉบับเผด็จการ จำนวน 720 คน คิดเป็นร้อยละ 60 คนกรุงเทพฯ เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2560 เป็นฉบับประชาธิปไตย 159 คน คิดเป็นร้อยละ 13.25 ส่วนไม่แสดงความเห็น 321 คน คิดเป็นร้อยละ 26.75

2. คนกรุงเทพฯ ที่ไม่เห็นด้วยกับการชัตดาวน์กรุงเทพฯ ของ กปปส. คือคนที่มีแนวโน้มจะเห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2560 เป็นฉบับเผด็จการ

 

3. จากการเก็บข้อมูลเชิงลึก คนกรุงเทพฯ ที่เห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2560 เป็นฉบับเผด็จการ นั้นมีคำอธิบายว่า เป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้กำหนดให้นายกฯต้องมาจากการเลือกตั้ง, เป็นรัฐธรรมนูญที่ให้สืบทอดอำนาจ คสช., เป็นรัฐธรรมนูญที่คลอดอออกมาจากท็อปบูทและกระบอกปืน, เป็นรัฐธรรมนูญที่โกงอำนาจประชาชนที่ให้มี ส.ว.แต่งตั้ง 250 คนมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี, เป็นรัฐธรรมนูญที่ออกแบบมาเพื่อ “พวกมัน” ไม่ใช่เพื่อประชาชน, เป็นรัฐธรรมนูญที่ทำลายสิทธิเสรีภาพของประชาชน, เป็นรัฐธรรมนูญที่หลังประชามติยังมีการแก้ไขก่อนประกาศใช้, เป็นรัฐธรรมนูญที่ออกแบบกลไกสถาบันที่เป็นคุณต่อรัฐทหารไม่เป็นคุณต่อฝ่ายประชาธิปไตย, เป็นรัฐธรรมนูญที่ให้ฝ่ายตุลาการเป็นเครื่องมือแห่งอำนาจรัฐทหาร, เป็นรัฐธรรมนูญที่ฝ่ายประชาธิปไตยแก้ไขอะไรไม่ได้เลย, เป็นการโกงประชาชนตั้งแต่ร่างรัฐธรรมนูญ, เป็นรัฐธรรมนูญที่กำจัดพรรคการเมืองของประชาชน, เป็นรัฐธรรมนูญที่ให้คนอย่างนี้ได้เป็นนายกรัฐมนตรีมานานถึงแปดปีจนบ้านเมืองพังพินาศ, เป็นรัฐธรรมนูญที่ขับไล่พลเอกประยุทธ์ออกจากนายกฯไม่ได้, เป็นกระดาษทิชชู

คนกรุงเทพฯ ที่เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2560 เป็นฉบับประชาธิปไตย นั้นมีคำอธิบายว่า เป็นรัฐธรรมนูญที่พิทักษ์ปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์, เป็นรัฐธรรมนูญเพื่อพัฒนาประเทศด้วยแผนยุทธศาสตร์ชาติ, เป็นรัฐธรรมนูญที่จะปฏิรูปประเทศในทุกด้าน, เป็นรัฐธรรมนูญที่รับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนครบถ้วนทุกด้าน, เป็นรัฐธรรมนูญที่สามารถเลือกสรรคนดีให้เข้าสู่ตำแหน่งองค์กรต่างๆ ในรัฐธรรมนูญ แทนที่จะมีแต่สภาผัวเมีย, เป็นรัฐธรรมนูญที่มี ส.ว. ไว้ตรวจสอบและถ่วงดุลพวก ส.ส., เป็นรัฐธรรมนูญที่ทำให้ชาติเกิดความสงบและสามัคคี, เป็นรัฐธรรมนูญที่จะช่วยพัฒนาชาติไทยไปสู่ความเป็นชาติประชาธิปไตยที่สมบูรณ์, เป็นรัฐธรรมนูญที่ทำให้ได้คนดีมาบริหารประเทศ, เป็นรัฐธรรมนูญปราบโกง, เป็นรัฐธรรมนูญที่กำจัดทุนนิยมสามานย์, เป็นรัฐธรรมนูญที่จะทำลายประชานิยม

4. เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับทัศนคติของคน Gen Z (เผยแพร่เมื่อ 2 ตุลาคม 2565) คน Gen Z เห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2560 เป็นฉบับเผด็จการนั้นมีสูงถึงร้อยละ 85.9 เห็นว่าเป็นฉบับประชาธิปไตยเพียงร้อยละ 2.5 และไม่แสดงความเห็นร้อยละ 11.6

ข้อมูลพื้นฐาน

งานวิจัยทัศนคติของคนกรุงเทพต่อสังคมการเมืองไทยนี้ เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 3-18 ธันวาคม 2565 รวม 1,200 คน โดยเก็บแบบสอบถามจาก กลุ่มเขตกรุงเทพเหนือ (เขตลาดพร้าว เขตหลักสี่ เขตจตุจักร เขตบางซื่อ เขตสายไหม เขตบางเขน และเขตดอนเมือง) กลุ่มเขตกรุงเทพกลาง (เขตสัมพันธวงศ์ เขตดุสิต เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตพญาไท เขตราชเทวี เขตดินแดง เขตวังทองหลาง และเขตห้วยขวาง) กลุ่มเขตกรุงธนใต้ (เขตภาษีเจริญ เขตบางแค เขตหนองแขม เขตราษฎร์บูรณะ เขตทุ่งครุ เขตบางขุนเทียน และเขตบางบอน)

เพศของผู้ตอบแบบสอบถาม : หญิง 483 คน (40.25%) ชาย 546 คน (45.50%) เพศหลากหลาย 171 คน (14.25%)

อายุของผู้ตอบแบบสอบถาม: Gen Z (18-25 ปี) 377 คน (31.42%), Gen Y (26-42 ปี) 549 คน (45.75%), Gen X (43-57 ปี) 167 คน (13.93%), Gen Baby boomer (58 ปีขึ้นไป) 107 คน (8.92%)

อาชีพหลักของผู้ตอบแบบสอบถาม: นักเรียนนักศึกษา 193 คน (16.08%) พนักงานเอกชน 461 คน (38.42%) รับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน 143 คน (11.92%) เจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ 186 คน (15.50%) ข้าราชการ/พนักงานของรัฐ/รัฐวิสาหกิจ 115 คน (9.58%) พ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน 93 คน (7.75%) อื่นๆ 9 คน (0.75%)

รายได้ต่อเดือนของผู้ตอบแบบสอบถาม: ไม่มีรายได้ 109 คน (9.08%) รายได้ไม่เกิน 10,000 บาท 128 คน (10.67%) รายได้ 10,001-20,000 บาท 262 คน (21.83%) รายได้ 20,001-30,000 บาท 403 คน (33.58%) รายได้ 30,001- 40,000 บาท 198 คน (16.51%) รายได้ 40,001 บาทขึ้นไป 100 คน (8.33%)

ทีมผู้ช่วยวิจัย : สหรัฐ เวียงอินทร์ ชนวีย์ กฤตเมธาวี ศุภกาญจน์ เป็งเมืองมูล นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net