Skip to main content
sharethis

กกต.ชี้นโยบายแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นไม่เข้าข่ายสัญญาจะให้ นโยบายที่เข้าข่ายสัญญาว่าจะให้คือการใช้เงินที่ไม่ใช่เงินแผ่นดิน แต่ต้องประกาศให้ประชาชนทราบและส่งมาที่ กกต.ด้วย - นักเศรษฐศาสตร์ หวั่นประชานิยมกระทบภาระงบฯ

ไทยรัฐออนไลน์ รายงานเมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2566 ว่านายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. กล่าวถึงนโยบายพรรคเพื่อไทย แจกเงินในกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้กับคนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไปว่า เป็นนโยบายที่ใช้งบแผ่นดินอยู่แล้วหากได้ไปเป็นรัฐบาล นโยบายลักษณะนี้ไม่ผิดกฎหมายสัญญาว่าจะให้ นโยบายที่เข้าข่ายสัญญาว่าจะให้คือการใช้เงินที่ไม่ใช่เงินแผ่นดิน อย่างไรก็ตามนโยบายของพรรคต้องประกาศให้ประชาชนทราบ และส่งมาที่ กกต.ด้วย โดยนโยบายแต่ละนโยบายประกอบด้วย 1.ชื่อนโยบาย 2.วงเงินที่ต้องใช้ 3.ที่มาของเงินหรือวิธีการหาเงิน 4.ความคุ้มค่าและประโยชน์การดำเนินการ 5.ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย และ 6.นโยบายนั้นต้องได้รับความเห็นชอบจากตัวแทนพรรคแต่ละจังหวัด เพื่อให้ประชาชนมีข้อมูลไปลงคะแนนว่านโยบายแบบนี้ถูกใจประชาชนหรือไม่ เพื่อให้ข้อมูลแต่ละพรรคครบถ้วนรอบด้าน สำหรับข้อควรระวังในช่วงประเพณีสงกรานต์ต้องระวังทั้งผู้สมัครและประชาชน ตามประเพณีสงกรานต์ทำได้ปกติรดน้ำดำหัว ให้พร ให้พวงมาลัย แสดงถึงวัฒนธรรมอันดีงาม แต่ให้เงินให้ทองทรัพย์สินไม่ได้ เป็นเรื่องผิดกฎหมาย

สำนักข่าวไทย รายงานเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2566 ว่าว่าพรรคเพื่อไทยได้แจ้งนโยบายหาเสียงดังกล่าวมายัง กกต. ตามมาตรา 57 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 แล้ว แต่ไม่มีการระบุวงเงินที่ต้องใช้และที่มาของเงิน รวมทั้งยังมีอีกหลายนโยบายที่ไม่ได้ระบุวงเงินที่ต้องใช้และที่มาของเงิน ซึ่ง กกต.จะมีการแจ้งให้พรรคดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด

ทั้งนี้ มาตรา 57 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 กำหนดว่า การกำหนดนโยบายของพรรคการเมืองที่ใช้ในการประกาศโฆษณานโยบายใดที่ต้องใช้จ่ายเงินการประกาศโฆษณานโยบายนั้น อย่างน้อยต้องมี 1. วงเงินที่ต้องใช้ และที่มาของเงินที่จะใช้ในการดำเนินการ 2. ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย 3. ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย หากพรรคการเมืองไม่ได้จัดทำรายการดังกล่าวให้ กกต.สั่งให้ดำเนินการให้ครบถ้วนถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด

โดย สมชัย ศรีสุทธิยากร พรรคเสรีรวมไทย โพสต์เฟสบุ๊ค วิเคราะห์การแจงที่มาของเงินเพื่อทำนโยบายนี้ของพรรคเพื่อไทยไว้ว่า

การอัดฉีดเงิน 10,000 บาทเข้ากระเป๋าประชาชน มีสิ่งที่ต้องคิดอะไรบ้าง

นโยบายพรรคเพื่อไทยที่จะให้ประชาชนจำนวน 55 ล้านคนตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไปมีเงินในกระเป๋าดิจิทัลเพื่อซื้อสินค้าในรัศมี 4 กม. จากที่อยู่ในบัตรประชาชน  โดยวงเงินที่ต้องใช้ในการนี้ประมาณ 550,000 ล้านบาท

ฟังรายละเอียดจากการชี้แจงที่ระบุที่มาของเงินดังกล่าว ไว้คือ จากการปรับปรุงงบประมาณประจำปี 2567 ในรายการดังนี้

1. นำรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากประมาณการการจัดเก็บภาษีในปี 2567 ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 267,000 ล้านบาท เนื่องจากมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

2. การตัดงบประมาณจากโครงการของรัฐที่ไม่จำเป็น คาดว่าจะสามารถได้เงินหลายแสนล้าน

3. ลดงบประมาณจากโครงการบัตรคนจน 50,000 ล้านบาท มาเป็นกระเป๋าเงินดิจิทัลแทน
ประเด็นดังกล่าว มีประเด็นต้องคิดให้ครบถ้วนคือ

1. รายได้ที่เพิ่มขึ้นจากประมาณการการจัดเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้น 267,000 ล้านบาท ได้ถูกจัดสรรเป็นรายการงบประมาณปี 2567 แล้ว 165,000 ล้านบาท จำนวนที่เหลือ 102,000 ล้าน เป็นการชดเชยการขาดดุลงบประมาณ เพื่อให้งบประมาณปี 2567 ขาดดุลให้น้อยลง 

2. การทบทวนโครงการต่าง ๆ ของรัฐ ที่ไม่จำเป็น เป็นสิ่งที่สมควรทำ  โดยสภาผู้แทนราษฏรจะต้องช่วยกัน “รีด” รายการงบประมาณที่ไม่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ  เช่น งบการจัดซื้ออาวุธ งบการก่อสร้าง งบครุภัณฑ์  แต่เมื่อรีดออกมาแล้ว  หากรายการดังกล่าว มีฐานะเป็น “งบลงทุน”  รัฐบาลต้องเพิ่มกลับ เป็น “รายการงบลงทุน” เพื่อคงสัดส่วนงบลงทุนร้อยละ 20 ของงบประมาณโดยรวม ตามข้อกำหนดใน พรบ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ ไม่สามารถใช้ในรายการที่ไม่ใช่งบลงทุนได้

3. การใช้โครงการดังกล่าวทดแทนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ  เป็นแนวทางที่สามารถทำได้ แต่ต้องแน่ใจว่า ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว ไม่ใช่ให้สามารถรับสองทาง  ซึ่งจะเป็นภาระต่องบประมาณของรัฐอย่างมหาศาลในอนาคต

นักเศรษฐศาสตร์ หวั่นประชานิยมกระทบภาระงบฯ

Thai PBS รายงานเมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2566 ว่า รศ.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์ มองว่า นโยบายแจกเงิน 10,000 บาท หากได้ทำจริง มีข้อเสียคือการเพิ่มภาระงบประมาณ และซ้ำเติมหนี้สิน ส่วนข้อดีคือการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เชื่อว่าปีนี้เศรษฐกิจจะขยายตัวอยู่แล้ว และยังมีเงินจากช่วงเลือกตั้งกว่า 96,000 ล้านบาท ที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่แล้ว ดังนั้นนโยบายนี้จึงเป็นเรื่องหาเสียงมากกว่า

"เป็นการหาเสียง เป็นการแข่งกันประชานิยม ถ้าจำเป็นจริงๆ จะออกมาในเรื่องของผู้ที่ยากไร้ ของนโยบายพลังงาน แต่เป็นประโยชน์ในการหาเสียงให้เงิน 10,000 บาทเข้ากระเป๋าเป็นวอลเล็ต"

'พิชาย' ชี้เป็นประชานิยมสุดขั้ว หวั่นกระทบหนี้สาธารณะ

รศ.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณบดีคณะพัฒนาสังคมและยุทธ ศาสตร์การบริหาร นิด้า โพสต์เฟสบุ๊คตั้งคำถามว่า “เพื่อไทยกำลังทำอะไร” และวิเคราะห์ว่าคนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไป มี 54 ล้านคน

ถ้าต้องจ่ายคนละ 10,000 บาท เท่ากับต้องใช้เงินมากกว่า 540,000 ล้านบาท เป็นนโยบายประชานิยมสุดขั้ว ซึ่งน่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่อาจเป็นภาระงบฯ ที่ต้องกู้เงินหรือตัดงบฯ หน่วยงานอื่นเพื่อนโยบายนี้ ซึ่งสร้างปัญหาเงินเฟ้อและหนี้สาธารณะตามมา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net