Skip to main content
sharethis

เกษตรกรหลายพื้นที่ในรัฐฉานประเทศพม่าต้องหันมาปลูกฝิ่นมากขึ้น หลังรัฐประหาร 2564 เพราะขาดเสถียรภาพทางการเมือง ทำให้กลุ่มที่สู้รบในพื้นที่พากันเก็บภาษี-ส่วยจากเกษตรกรมากขึ้น ขายพืชผลทั่วไปจะอยู่ไม่ได้จึงต้องหันมาปลูกฝิ่น อีกทั้งพืชทดแทนที่ฝ่ายรัฐบาลพลเรือนพยายามให้ปลูกก็ขายลำบากเพราะขาดการพัฒนาตลาดและขาดโครงสร้างพื้นฐานการขนส่ง


ที่มาภาพ: UNODC

ท่ามกลางหมู่เทือกเขาในประเทศพม่า มีดอกไม้ที่ดูสวยงามบานสะพรั่งราวกับสวนดอกไม้ ถ้าหากคุณมองจากที่ไกลๆ แล้ว คุณอาจจะคิดว่ามันเป็นดอกไม้ที่มีสีสันสดใส แต่ในความเป็นจริงแล้วมันคือทุ่งดอกฝิ่น

การเพาะปลูกดอกฝิ่นที่ดูเหมือนกับดอกไม้หลากสีนี้มีอยู่ที่เมืองตังยาน ทางตอนเหนือของรัฐฉาน การเดินทางไปที่ทุ่งดอกฝิ่นนั้นใช้เวลาเดินทางด้วยรถจักรยานยนต์ 2 ชั่วโมงจากตัวเมืองตังยาน เส้นทางถนนไปไร่ฝิ่นก็มีความขรุขระยากลำบาก

ในพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่รู้กันดีว่าเต็มไปด้วยกลุ่มติดอาวุธ

U Sai Sandi คนปลูกฝิ่นในตังยานบอกว่า "พวกเราเคยเก็บใบชามาก่อน แต่อุตสาหกรรมชาทำกำไรไม่ได้ การรอเก็บชาหนึ่งหรือสองครั้งต่อปีเป็นเรื่องไม่สะดวก ดังนั้นแล้วผมจึงตัดสินใจลองปลูกดอกฝิ่นลงบนฟาร์มครึ่งเอเคอร์ (ประมาณ 1.25 ไร่) นี้ดู"

U Sai Sandi เคยทำงานเป็นเกษตรกรไร่ชามาก่อน แต่เนื่องจากการระบาดใหญ่ของ COVID-19 ส่งผลให้การระบายสินค้าขาดตอน หลังจากที่มีการรัฐประหารโดยกองทัพเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 ราคาสินค้าก็เร่มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ สร้างปัญหาหลายอย่างให้กับ U Sai Sandi ในฐานะเกษตรกร

"ผมคิดว่าดินฟ้าอากาศเป็นใจให้ผม (ดอกฝิ่นของ)ผมถึงได้ราคาดี มันสร้างรายได้ให้ผมภายใน 1 ปี มากกว่าทำไร่ชา 2 ปี รวมกันเสียอีก นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมผมถึงเลือกจะปลูกฝิ่น" U Sai Sandi กล่าว

ในช่วงที่มีการปลูกชานั้น ไม่เพียงแค่มีกลุ่มติดอาวุธเรียกร้องให้จ่ายเงินให้พวกเขาเท่านั้น แต่สภาทหารและกรมอื่นๆ ของรัฐบาลยังคงชาร์จภาษีสูงมากด้วย ซึ่งเกษตรกรมักจะเรียกว่าเป็นการรีดไถเงิน จนทำให้การปลูกชาไม่สามารถหาเลี้ยงชีพของพวกเขาต่อไปได้

จากคำบอกเล่าของ U Sai Sandi แล้วการขายดอกฝิ่นที่มีราคาดีแทนการขายชานั้นสร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัวของเขาและช่วยให้พวกเขาสามารถพึ่งพาตัวเองได้ในเรื่องอาหาร

ก่อนหน้าที่จะเกิดรัฐประหาร พื้นที่เกษตรกรรมครึ่งหนึ่งของเมืองตังยานก็กลายเป็นพื้นที่ปลูกดอกฝิ่นมาก่อนอยู่แล้ว และราคาของชา (เปียก) อยู่ที่ราคาประมาณ 4,000 ถึง 3,000 จ๊าด ต่อ 1 วิสส์ เท่านั้น (ราว 65 บาท-50 บาท ต่อ 1.65 กก.) ดังนั้นแล้วเกษตรกรตังยานจึงบอกว่าพวกเขาได้เปลี่ยนไปทำการปลูกดอกฝิ่นแทนการปลูกชา

ถึงแม้ว่าค่าใช้จ่ายในการเพาะปลูกพืชผลกินได้อาจจะต้องใช้เงินมากถึง 1.5 ล้านจ๊าด ต่อ เอเคอร์ (24.5 ล้านบาท ต่อ 2.5 ไร่) ในช่วงที่ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น การเพาะปลูกดอกฝิ่นนั้นมีค่าใช้จ่ายเพียงประมาณ 800,000 จ๊าด ต่อ เอเคอร์ เท่านั้น (13 ล้านบาท ต่อ 2.5 ไร่)

ด้วยเหตุนี้เอง เกษตรจำนวนมากในพื้นที่ถึงละทิ้งการปลูกชาแล้วหันมาปลูกฝิ่นแทน

"เนื่องจากมีกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์หลากหลายกลุ่มในพื้นที่ของพวกเรา พวกเราถึงต้องการเงินมาจ่ายภาษีที่พวกเขาเรียกเก็บ เมื่อตอนที่พวกเราปลูกชา พวกเราไม่ต้องจ่ายภาษีมากขนาดนี้ แต่ในตอนนี้พวกเราต้องจ่ายภาษีให้กับทุกกลุ่ม" U Sai Sandi อธิบายถึงสาเหตุ

การเพาะปลูกดอกฝิ่นลดลงก่อนหน้าที่จะมีการรัฐประหารโดยกองทัพ แต่เมื่อการขาดเสถียรภาพทางการเมืองกลับมาอีกครั้ง ก็ทำให้การปลูกดอกฝิ่นเพิ่มขึ้นไปด้วย

U Sai Sandi เล่าว่า "มีกองกำลังติดอาวุธบางส่วนที่ซื้อฝิ่นผ่านคนกลาง"

สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) รายงานว่าพื้นที่ที่มีการเพาะปลูกฝิ่นสูงมากที่สุดในรัฐฉาน ซึ่งเป็นที่รับรู้กันว่ามีกลุ่มติดอาวุธอยู่เป็นจำนวนมากด้วยคือ เมืองโหโป่ง, เมืองปางลอง, เมืองฝายขุ่น, เมืองปางโหลง, เมืองตังยาน, เมืองน้ำตู้ และ ทางตะวันออกของรัฐฉาน

กลุ่มเฝ้าระวังเรื่องยาเสพติดระบุถึงสาเหตุที่มีไร่ฝิ่นเพิ่มขึ้นเป็นเพราะว่ามีความวุ่นวายทางการเมืองซึ่งเป็นผลมาจากการรัฐประหารโดยกองทัพ และการมีอยู่ของกองกำลังติดอาวุธจำนวนมากในพื้นที่

ชายชาติพันธุ์ปะโออายุ 30 รายหนึ่งที่ไม่ประสงค์ออกนาม บอกว่ามีการปลูกดอกฝิ่นเพิ่มขึ้นในเมืองโหโป่งและปางลอง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การควบคุมขององค์กรแห่งชาติปะโอ (PNO)

ชายชาวปะโอบอกว่า "บนภูเขาทางตะวันออกของโหโป่งและปางลอง การปลูกฝิ่นจำนวนมาก นอกจากนี้ เผด็จการทหารปัจจุบันก็เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ในเรื่องนี้ เท่าที่ผมรู้ กองกำลัง PNO มีส่วนร่วมด้วย มันมีความรู้สึกที่ว่าถ้าคุณสามารถจ่ายภาษีได้คุณก็จะทำให้อย่างเสรี"

จากข้อมูลของ UNODC ระบุว่ารัฐฉานเป็นผู้ผลิตฝิ่นรายใหญ่ที่สุดในพม่าและมีการเพาะปลูกฝิ่นเพิ่มขึ้นมาก โดยในรัฐฉานมีการปลูกเพิ่มขึ้นร้อยละ 39 ในรัฐชีนปลูกเพิ่มขึ้นร้อยละ 14 ในรัฐกะยาปลูกเพิ่มขึ้นร้อยละ 11  และในรัฐคะฉิ่นปลูกเพิ่มขึ้นร้อยละ 3

UNODC ประเมินว่ามีการปลูกฝิ่นเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยแล้วร้อยละ 41 ในทุกรัฐ เทียบได้ว่าภายในหนึ่งเอเคอร์ (ราว 2.5 ไร่) จะมีการผลิตฝิ่นได้เกือบ 10 กก.

ชายชาวปะโอเล่าต่อไปว่า "กลุ่มคนที่เคยทำการค้ายาเสพติดมาก่อนที่จะเกิดรัฐประหารในตอนนี้ดูเหมือนจะกำลังทำงานร่วมกับกองทัพ มันดูเหมือนว่าเผด็จการทหารกำลังเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ แม้แต่กลุ่มติดอาวุธบางกลุ่มก็มีส่วนด้วย"

Sai Kham Phu ผู้จัดการฝ่ายวิจัยขององค์กรเฝ้าระวังยาเสพติดรัฐฉาน หรือ Shan Drug Watch กล่าวว่าในรัฐฉานนั้น ก่อนหน้านี้เคยมีกลุ่มกองกำลังในพื้นที่ที่มีอยู่เดิมที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับฝิ่น แต่หลังจากมีการก่อรัฐประหารโดยกองทัพแล้ว กลุ่มกองกำลังต่างๆ ที่อยู่ข้างสภาทหารก็เข้ามามีส่วนร่วมด้วย แล้วการปลูกฝิ่นก็เพิ่มขึ้นมากกว่าแต่ก่อน

Sai Kham Phu กล่าวว่า รัฐฉานเป็นพื้นที่ที่มีความขัดแย้งสูงมากระหว่างกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์และกองทัพ พื้นที่ปลูกดอกฝิ่นส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ที่มีกองกำลังชาติพันธุ์อยู่ด้วย เนื่องจากพวกเขาต้องการเงินมาสนับสนุนการปฏิวัติ โชคร้ายที่การปลูกฝิ่นกลายเป็นช่องทางเดียวที่พวกเขาจะมีรายได้ ถ้าพวกเขาไม่ปลูกฝิ่น พวกเขาก็จะมีเงินไม่มากพอที่จะซื้ออาวุธ ถ้าไม่มีทรัพยากรเหล่านี้ พวกเขาก็ไม่สามารถดำเนินการปฏิวัติต่อไปได้ ดังนั้นจึงดูเหมือนพวกเขาไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจะต้องปลูกฝิ่น

นอกจากนี้การปลูกดอกฝิ่นยังเพิ่มขึ้นในเมืองเปงและเมืองเชียงตุงทางฝั่งตะวันตกของรัฐฉานด้วย รวมถึงแถบชายแดนที่อยู่ในการควบคุมของกองทัพรวมแห่งรัฐว้า (UWSA) และรัฐบาลพม่า นอกจากฝิ่นแล้วการผลิตยาบ้าก็เพิ่มสูงขึ้นที่แถบชายแดนไทย-พม่าด้วย

รายงานของ UNODC ระบุว่า การเพาะปลูกฝิ่นในพม่าเพิ่มสูงขึ้นหลังจากที่มีการรัฐประหารหลัง จากที่ก่อนหน้านี้เคยมีการปลูกลดลงเมื่อช่วงปี 2557 ถึง 2563

Sai Kham Phu ชี้ว่าถึงแม้ว่ารัฐบาลพลเรือนพม่าจะเป็นผู้ริเริ่มจัดงบประมาณรัฐและจัดให้มีโครงการปลูกพืชอื่นทดแทนดอกฝิ่น แต่ในตอนนั้นการหาตลาดรับซื้อพืชผลยังเป็นเรื่องยาก และการสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกพืชทดแทนในระยะยาวก็ยากลำบากด้วย

Sai Kham Phu บอกว่ามันเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาพื้นที่ชนบทในหลากหลายด้านในพื้นที่ที่ยังมีการปลูกฝิ่น และมีการพัฒนาตลาดในท้องถิ่นสำหรับพืชทดแทน มันเป็นหนทางเดียวที่เกษตรกรจะลดการปลูกฝิ่นลงได้ แต่ตราบใดที่การสู้รบด้วยกำลังอาวุธยังคงเกิดขึ้นในพื้นที่เหล่านี้ การปลูกฝิ่นก็จะยังคงมีอยู่ต่อไป โดยที่พื้นที่รัฐฉานซึ่งมีสงครามกลางเมืองมายาวนาน ทั้งฝ่ายรัฐบาลเผด็จการทหารและฝ่ายกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ต่างก็มีส่วนในการผลิตฝิ่นและยาเสพติดอื่นๆ ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม

จากการที่พื้นที่ปลูกฝิ่นอยู่ในพื้นที่เทือกเขา การพยายามปลูกพืชทางเลือกอื่นในภูมิภาคนี้จึงสร้างอุปสรรคในการขนส่งได้ จนอาจจะทำให้เกิดการเข้าถึงตลาดได้จำกัดและมีราคาลดลง เรื่องนี้ทำให้เกิดความยากลำบากสำหรับครอบครัวที่ต้องหาเลี้ยงปากท้อง ทำให้พวกเขาหันมาพึ่งพาการเพาะปลูกฝิ่นในฐานะรายได้หลักเนื่องจากขนส่งง่ายกว่าและมีราคาตลาดสูงกว่าเมื่อเทียบกับพิชทางเลือกทดแทน

รัฐบาลพม่าในช่วงยุคปี 2519 ถึง 2557 ได้รับการส่งเสริมจากสหประชาชาติให้มีการลดหรือขจัดการปลูกฝิ่นให้หมดไปและมีโครงการปลูกพิชทดแทนฝิ่น แต่จากรายงานที่ชื่อว่า "Bouncing Back Relapse in the Golden Triangle" (การฟื้นตัวกลับหลังทรุดลงที่สามเหลี่ยมทองคำ) ตีพิมพ์โดยองค์กรวิจัยที่ชื่อสถาบันข้ามชาติ (TNI) ในปี 2557 ระบุว่าโครงการขจัดฝิ่นนั้นไม่ประสบความสำเร็จ

ในฐานะแผนยุทธศาสตร์ระดับกว้างๆ ของ UNODC เพื่อการแก้ไขปัญหาฝิ่น พวกเขาได้เน้นเรื่องการพัฒนาสภาพทางเศรษฐกิจสังคมของชุมชนและส่งเสริมให้ชีวิตในชนบทมีความยั่งยืน ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ลดการปลูกฝิ่นลงได้ในระยะยาว

ในตอนนี้ มีเกษตรกรจำนวนมากผู้ที่ต้องการเปลี่ยนจากการเพาะปลูกฝิ่นมาทำอาชีพอย่างอื่นที่ถูกกฎหมาย อย่างไรก็ตาม สำหรับประชาชนในรัฐฉานแล้วการที่พืชทดแทนไม่ทำตลาดก็กลายเป็นสิ่งที่ฉุดรั้งในเรื่องนี้

ในอีกแง่หนึ่ง U Sai Sandi ก็แสดงความคิดเห็นว่าตราบใดที่การขาดเสถียรภาพทางการเมืองและทางการทหารยังคงอยู่ การเพาะปลูกฝิ่นก็จะยังคงมีอยู่มาก U Sai Sandi จึงอยากเน้นเรื่องที่ว่าพม่าควรมีสันติภาพที่ยั่งยืน รวมถึงมีตลาดให้กับพืชทดแทนฝิ่น และมีการพัฒนาเรื่องโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งลำเลียงสินค้า เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ


เรียบเรียงจาก
Revival of Poppy Cultivation Amidst Complex Politics, BNI Online, 27-03-2023

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net