Skip to main content
sharethis

'ธำรงศักดิ์' เปิดเผยผลโพลสำรวจ 4,588 คน ใน 57 จังหวัด ชี้พรรคฝ่ายประชาธิปไตยชนะถล่มทลายทั่วประเทศ ภาคใต้คะแนนน้อยสุดแต่ก็ชนะ 

22 เม.ย. 2566 มติชนออนไลน์ รายงานว่ารองศาสตราจารย์ ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต เปิดเผยข้อมูลแบบสอบถามจากคนทั้งประเทศ (ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 52.32 ล้านคน) จำนวน 4,588 คน ใน 57 จังหวัด เรื่อง ทัศนคติของประชาชนต่อการเลือกตั้งและสังคมการเมืองไทย 2566

ผลการวิจัยพบว่าคนไทยไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร คสช. 2557 มากถึงร้อยละ 63.45 เห็นด้วยกับรัฐประหาร เพียงร้อยละ 11.78 สอดคล้องกับคะแนนนิยมพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยที่จะถล่มทลายให้ ก้าวไกล-เพื่อไทย

รายละเอียด ดังนี้

1. ผู้ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารของ คสช. 22 พฤษภาคม 2577 มีมากถึงร้อยละ 63.45 คือผู้ที่ได้ตัดสินใจเลือก ส.ส. บัญชีรายชื่อจากพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย ได้แก่ อันดับที่ 1 ก้าวไกล 36.46% อันดับที่ 2 เพื่อไทย 24.30% อันดับที่ 3 ประชาชาติ 2.25% อันดับที่ 4 เสรีรวมไทย 1.0% อันดับที่ 5 ไทยสร้างไทย 0.70%

ผู้ที่เห็นด้วยกับการรัฐประหารของ คสช. 22 พฤษภาคม 2577 ที่มีร้อยละ 11.78  คือผู้ที่ตัดสินใจเลือก ส.ส. บัญชีรายชื่อจากพรรคการเมืองสืบทอดอำนาจ คสช. และอดีตพรรคร่วมรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แก่ อันดับที่ 1 รวมไทยสร้างชาติ 4.42% อันดับที่ 2 ประชาธิปัตย์ 2.76% อันดับที่ 3 ภูมิใจไทย 2.62% อันดับที่ 4 พลังประชารัฐ 2.06% อันดับที่ 5 ชาติไทยพัฒนา 0.35%

สำหรับพรรคการเมืองที่เหลือนั้นได้รับความนิยมในระดับน้อยมาก เช่น ชาติพัฒนากล้า ร้อยละ 0.28 ไทยภักดี ร้อยละ 0.20 และพรรคอื่นๆ รวมกัน ร้อยละ 0.53

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ไม่แสดงความเห็นเกี่ยวกับการรัฐประหารที่มีร้อยละ 24.77 ซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงกับผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองใดอีกร้อยละ 15.75 และไม่แสดงความเห็นร้อยละ 6.32 หรือรวมร้อยละ 22.07

2. ภาคใต้ มีผู้เห็นด้วยกับการรัฐประหาร 2557 มากที่สุดของทุกภาค หรือร้อยละ 15.79 ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร น้อยที่สุดของทุกภาค ร้อยละ 56.11 ไม่แสดงความเห็น มากที่สุดของทุกภาค ร้อยละ 28.10

ดังนั้น ภาคใต้จึงเป็นภาคที่พรรคการเมืองสืบทอดอำนาจ คสช. และพรรคร่วมรัฐบาลได้รับคะแนนมากกว่าในภาคอื่นๆ แต่ก็ยังอยู่ในระดับน้อยมาก ได้แก่ รวมไทยสร้างชาติ 5.60% ประชาธิปัตย์ 5.60% ภูมิใจไทย 2.69% พลังประชารัฐ 4.29% ชาติไทยพัฒนา 0.29%  โดยความนิยมระดับมากในภาคใต้ยังเป็นของพรรคฝ่ายประชาธิปไตย ได้แก่ ก้าวไกล 28.60% เพื่อไทย 16.81% ประชาชาติ 7.92 เสรีรวมไทย 0.51% ไทยสร้างไทย 0.29%

3. ภาคกลาง มีผู้เห็นด้วยกับการรัฐประหาร 2557 ร้อยละ 11.23 ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร ร้อยละ 64.63 ไม่แสดงความเห็น ร้อยละ 24.14

ดังนั้น พรรคการเมืองสืบทอดอำนาจ คสช. และพรรคร่วมรัฐบาลได้รับคะแนนระดับน้อยมาก ได้แก่ รวมไทยสร้างชาติ 5.0% ประชาธิปัตย์ 1.24% ภูมิใจไทย 1.67% พลังประชารัฐ 0.97% ชาติไทยพัฒนา 0.54%  โดยความนิยมระดับมากเป็นของพรรคฝ่ายประชาธิปไตย ได้แก่ ก้าวไกล 43.14% เพื่อไทย 24.42% เสรีรวมไทย 0.70% ไทยสร้างไทย 0.59%

4. กรุงเทพฯ มีผู้เห็นด้วยกับการรัฐประหาร 2557 ร้อยละ 8.7 ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร ร้อยละ 68.20 ไม่แสดงความเห็น ร้อยละ 23.10

ดังนั้น พรรคการเมืองสืบทอดอำนาจ คสช. และพรรคร่วมรัฐบาลได้รับคะแนนระดับน้อยมาก ได้แก่ รวมไทยสร้างชาติ 1.7% ประชาธิปัตย์ 2.7% พลังประชารัฐ 0.7% โดยความนิยมระดับมากเป็นของพรรคฝ่ายประชาธิปไตย ได้แก่ ก้าวไกล 43.50% เพื่อไทย 23.30% เสรีรวมไทย 1.3% ไทยสร้างไทย 1.70%

5. ภาคอีสาน มีผู้เห็นด้วยกับการรัฐประหาร 2557 ร้อยละ 8.96 ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร ร้อยละ 68.71 ไม่แสดงความเห็น ร้อยละ 22.33

ดังนั้น พรรคการเมืองสืบทอดอำนาจ คสช. และพรรคร่วมรัฐบาลได้รับคะแนนระดับน้อยมาก ได้แก่ รวมไทยสร้างชาติ 3.31% ประชาธิปัตย์ 1.26% ภูมิใจไทย 1.10% พลังประชารัฐ 1.10% โดยความนิยมระดับมากเป็นของพรรคฝ่ายประชาธิปไตย ได้แก่ ก้าวไกล 35.70% เพื่อไทย 34.60% เสรีรวมไทย 2.53% ไทยสร้างไทย 1.10%

6. ภาคเหนือ มีผู้เห็นด้วยกับการรัฐประหาร 2557 น้อยที่สุด ร้อยละ 7.40 ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร ร้อยละ 71.12 ไม่แสดงความเห็น ร้อยละ 21.48

ดังนั้น พรรคการเมืองสืบทอดอำนาจ คสช. และพรรคร่วมรัฐบาลได้รับคะแนนระดับน้อยมาก ได้แก่ รวมไทยสร้างชาติ 1.48% ประชาธิปัตย์ 2.47% ภูมิใจไทย 11.11% พลังประชารัฐ 1.97% ชาติไทยพัฒนา 0.25%  โดยความนิยมระดับมากเป็นของพรรคฝ่ายประชาธิปไตย ได้แก่ ก้าวไกล 28.40% เพื่อไทย 33.83% เสรีรวมไทย 1.48% ไทยสร้างไทย 1.23%

7. คำอธิบายของผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารและจะไปเลือกพรรคฝ่ายประชาธิปไตย เช่น เลือกตั้งครั้งนี้เพื่อยุติอำนาจ คสช. เลือกตั้งครั้งนี้เพื่อจะได้นายกรัฐมนตรีฝ่ายประชาธิปไตย เลือกตั้งครั้งนี้เพื่อยุติอำนาจของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เลือกตั้งครั้งนี้เพื่อจะได้รัฐบาลใหม่ที่มีฝีมือบริหารประเทศ เลือกตั้งครั้งที่แล้วไม่เข้าใจเรื่อง ส.ว. มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี เลือกตั้งครั้งที่แล้วเห็นแก่หน้า ส.ส. เขตที่ใกล้ชิด เลือกตั้งครั้งนี้เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศ เลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกแบบดับเครื่องชน เลือกตั้งครั้งนี้เพื่อฟื้นสร้างประชาธิปไตยของประเทศ  สี่ปีที่ผ่านมาพบว่าไม่ควรให้โอกาสพวกรัฐประหารอีกต่อไปเพราะทำลายเศรษฐกิจของประเทศ

ข้อมูลพื้นฐาน

งานวิจัยทัศนคติของประชาชนต่อการเลือกตั้งและสังคมการเมืองไทย 2566 มีผู้ตอบแบบสอบถามรวม 4,588 คน เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 6-17 เม.ย. 2566

เพศของผู้ตอบแบบสอบถาม : หญิง 2,439 คน (53.16%) ชาย 2,023 คน (44.09%) เพศหลากหลาย 126 คน (2.75%)

อายุของผู้ตอบแบบสอบถาม Gen Z (18-26 ปี) 1,915 คน (41.74%) Gen Y (27-44 ปี) 1,016 คน (22.10%) Gen X (44-58 ปี) 1,046 คน (22.80%) Gen Baby Boomer ขึ้นไป (59 ปีขึ้นไป) 613 คน (13.36%)

การศึกษาของผู้ตอบแบบสอบถาม ประถมศึกษาหรือต่ำกว่า 492 คน (10.72%) มัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า 971 คน (21.16%) อนุปริญญาหรือเทียบเท่า 542 คน (11.82%) ปริญญาตรีหรือเทียบเท่า 2,210 คน (48.17%) สูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า 373 คน (8.13%)

อาชีพหลักของผู้ตอบแบบสอบถาม: นักเรียนนักศึกษา 1,529 คน (33.33%) เกษตรกร 456 คน (9.94%) พนักงานเอกชน 431คน (9.39%) รับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน 471 คน (10.27%) เจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ 602 คน (13.12%) ข้าราชการ/พนักงานของรัฐ/รัฐวิสาหกิจ 600 คน (13.08%) พ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน 329 คน (7.17%) อื่นๆ 170 คน (3.70%)

รายได้ต่อเดือนของผู้ตอบแบบสอบถาม: ไม่มีรายได้ 939 คน (20.47%) รายได้ไม่เกิน 10,000 บาท 1,141 คน (24.87%) รายได้ 10,001-20,000 บาท 1,170 คน (25.50%) รายได้ 20,001-30,000 บาท 620 คน (13.51%) รายได้ 30,001- 40,000 บาท 302 คน (6.58%) รายได้ 40,001 บาทขึ้นไป 416 คน (9.07%)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net