Skip to main content
sharethis

ประชาไทประมวลข้อมูลจากประชาชน We Watch และ iLaw ว่าประชาชนประสบปัญหาและอุปสรรคจากการไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตเมื่อ 7 พ.ค. 2566 อย่างไรบ้าง

 

สืบเนื่องจากวานนี้ (7 พ.ค.) เป็นวันที่ทางสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เปิดให้ประชาชนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต ตั้งแต่เวลา 8.00 และปิดหีบเลือกตั้งเมื่อเวลา 17.00 น. 

8 พ.ค. 2566 ประชาไทประมวลข้อมูลจากกลุ่ม We Watch โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw และผู้ใช้อินเทอร์เน็ต พบประชาชนเผชิญปัญหาและอุปสรรคการเลือกตั้งล่วงหน้าตามเขตเลือกตั้งต่างๆ ทั่วไทย อาทิ จำนวนบัตรเลือกตั้งน้อยกว่าผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง บางหน่วยผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่สามารถไปใช้สิทธิได้ แม้ว่าจะลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าไว้ก่อนแล้ว กปน.กรอกจ่าหน้าซองผิด ผู้พิการประสบปัญหาระหว่างใช้สิทธิเลือกตั้ง และอื่นๆ

1. กกต.ปิดกั้นอาสาสมัครจับตาเลือกตั้ง

- เขตเลือกตั้งที่ 31 บริเวณสำนักงานเขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ มีประชาชนรายงานว่าเจ้าหน้าที่ผู้นั่งผนึกซองห้ามประชาชนถ่ายภาพบรรยากาศหน้าคูหา 

- บริเวณหอประชุม​บริบาล​ภูมิ​เขตต์ อำเภอ​บ้านผือ​ จังหวัด​อุดรธานี เจ้าหน้าที่​กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) ได้แจ้งต่อ​สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เขต กรณีอาสาสมัครจับตาเลือกตั้งเข้าร่วมสังเกตการณ์ และเชิญ​อาสาสมัคร​ออกนอกบริเวณหอประชุม​ โดยให้เหตุผล​ว่าไม่มีบัตรประจำตัว​การสังเกตการณ์​และหรือคำสั่งจากหน่วยงาน​ ต้นสังกัดให้มาสังเกตการณ์ที่ส่งไปยังเขตการเลือกตั้งนั้นๆ​ ล่าสุด แม้ว่าจะมีการนำใบรับรอง​องค์กรสังเกตการณ์มาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ แต่เจ้าหน้าที่ กกต.เขต ยังคงปฏิเสธ​ไม่ให้เข้าไปสังเกตการณ์​

- เจ้าหน้าที่ประจำเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยที่เลือกตั้งกลางนอกเขตเลือกตั้งเขตเลือกตั้งที่ 32 ชุดที่ 2 ลำดับที่ 522-1022 กรุงเทพมหานคร (เขตเลือกตั้งที่ 27-33) ไม่ให้ถ่ายรูปการลงคะแนนเสียงแม้ว่าจะเป็นการรายงานที่ห่างออกมาจากเส้นเหลืองและไม่เห็นถึงข้อมูลส่วนบุคคล มีการสอบถามย้ำไปแล้วว่ามีการถ่ายที่ไม่ได้เข้ามาในเขตเส้นเหลืองก็ตามเจ้าหน้าที่ก็ไม่อนุญาตให้ถ่ายพร้อมกับเชิญออกจากหน่วยเลือกตั้ง

- เขตเลือกตั้งที่ 1 อาคารโรงอาหารมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตลำปาง ตอนแรกเจ้าหน้าที่ไม่ยินยอมให้ผู้สังเกตการณ์จาก ‘We Watch’ เข้าพื้นที่สังเกตการณ์ แต่เมื่อแจ้งว่าผู้สังเกตการณ์สังกัด ‘We Watch’ ก็ยอมให้เข้ามาสังเกตการณ์

- เขตเลือกตั้งที่ 1 ศูนย์ประชุมนานาชาติเชียงใหม่ เจ้าหน้าที่ไม่ให้ผู้สังเกตการณ์ถ่ายภาพแม้จะอยู่นอกหน่วยเลือกตั้งหรือบริเวณนอกเส้นเหลืองที่กั้นไว้

2. สับสนเลขจ่าหน้าซอง 

- เขตเลือกตั้งศูนย์ประชุมนานาชาติขอนแก่น พบกรณีเจ้าหน้าที่กรอกหมายเลขไปรษณีย์ บนจ่าหน้าซอง คลาดเคลื่อน 90001 (อำเภอเมืองสงขลาต้องเป็น 90000) เช่นเดียวกับเขตเลือกตั้งห้างสรรพสินค้าฟิวเจอร์พาร์ครังสิต ซึ่งเจ้าหน้าที่กรอกข้อมูลสลับเป็นเขต 3 เชียงใหม่ แม้ผู้ใช้สิทธิคนดังกล่าวอยู่เขต 4 เชียงใหม่ ทั้งนี้ รหัสหน้าซองต้องเป็นรหัสเขตเลือกตั้งของผู้มีสิทธิลงคะแนน 

3. ใช้สิทธิเลือกตั้งสลับเขต

- เพจเฟซบุ๊ก YouLove ระบุว่า เมื่อเวลา 10.37 น. ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งคนหนึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา เขต 2 แต่เมื่อตรวจสอบสิทธิกลับมีสิทธิเลือกตั้งใน กทม. เขต 9

- ขณะที่บางเขตเลือกตั้งในอำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ มีรายงานพบเห็นพิรุธ หรือการสุ่มเสี่ยงการทุจริตการเลือกตั้ง จากการนำผู้สูงอายุมาใช้สิทธินอกเขตต่างอำเภอ (ไม่ทราบจำนวน) โดยพบว่าบางกรณีมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตอำเภอเมือง แต่มาใช้สิทธิที่อำเภอปทุมราชวงศา ส่วนผู้มีสิทธิบางคนที่อยู่อำเภอปทุมราชวงศา แต่เดินทางมาใช้สิทธิในเขตอำเภอเมือง จ.อำนาจเจริญ

4. ข้อมูลผู้สมัครและพรรคไม่ครบหรือสร้างความสับสน

- สื่อ '3plusnewsth' รายงานว่า หน่วยเลือกตั้งล่วงหน้า มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม พบผู้สูงอายุหลายคนจำหมายเลขผู้สมัครไม่ได้ และสับสนสีของบัตรเลือกตั้ง (สีเขียว-ส.ส.บัญชีรายชื่อ และสีม่วง-ส.ส.เขต) โดยผู้สูงอายุบางคนต้องดูหมายเลขผู้สมัครถึง 2 รอบก่อนเข้าคูหา เนื่องจากในบัตรเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตนั้น ไม่มีชื่อผู้สมัครและโลโก้พรรคการเมือง 

 

- หน่วยเลือกตั้งล่วงหน้า เขต 4 โรงเรียนพานทองสภาชนูปถัมภ์ จังหวัดสุรินทร์ อาสาสมัครสังเกตการณ์เลือกตั้งรายงานว่า บนบอร์ดบริเวณหน้าหน่วย ไม่มีรายชื่อผู้สมัครพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย

- มีประชาชนรายหนึ่งแจ้งว่า รายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งของเขต 5 จังหวัดนครศรีธรรมราช ไม่ครบ โดยรายชื่อที่หายไปคือ เอกชัย ควรศิริ เบอร์ 6 จากพรรคก้าวไกล

- ที่เขตเลือกตั้งที่ 1 ศูนย์ประชุมนานาชาติเชียงใหม่ ผู้สังเกตการรตรวจสอบรายชื่อผู้สมัครหน้าหน่วยพบกว่าในหนึ่งหน่วยเลือกตั้งมี 2 เขต 2 จังหวัด แต่มีชื่อรายชื่อผู้สมัครบนกระดานหน้าหน่วยแค่เขตเดียว ทำให้บางคนที่มาใช้สิทธิไม่พบรายชื่อผู้สมัครเขตของตนเอง

- ที่หอประชุมอำเภอสูงเนิน นครราชสีมา ประชาชนรายงานว่า กระดานแนะนำผู้สมัครเขต 4 ไม่มีรายชื่อผู้สมัครของพรรคก้าวไกลเบอร์ 5

- ที่โรงเรียนนามนราษฎร์สงเคราะห์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ประชาชนรายงานว่า กระดานแนะนำผู้สมัครที่จัดเรียงไม่เป็นระเบียบ สร้างความสับสนให้แก่ผู้ใช้สิทธิ

5. ลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้ามากผิดปกติ

ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมือง โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อ 6 พ.ค. 2566 ถึงประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้ตรวจสอบการลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าที่มีจำนวนมากผิดปกติใน 3 จังหวัด คือ อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ และยโสธร

โพสต์ดังกล่าวระบุว่า การเลือกตั้งล่วงหน้าวันที่ 7 พ.ค. 2566 มีจำนวนผู้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าในแต่ละเขตเลือกตั้งทั่วประเทศมากผิดปกติ โดยเปรียบเทียบจากสถิติเดิมของการเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อปี 2562

ขณะที่บางจังหวัด เช่น จังหวัดอำนาจเจริญ เพจชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อ้างว่ามีประชาชนถูกหลอกจากผู้สมัคร ให้นำบัตรประชาชนไปลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าทางออนไลน์ โดยไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของตัวเอง ซึ่งถือเป็นหน้าที่โดยตรงของ กกต.ที่ต้องสืบสวนสอบสวนให้ความจริงปรากฏ เพื่อให้สังคมได้ทราบถึงความไม่ชอบมาพากลอันส่อไปในทางทุจริตเลือกตั้ง

6. ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า แต่ไม่มีชื่อเลือกตั้ง

- ประชาชนที่จังหวัดนนทบุรี เผยว่า ตนเองลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าแล้ว แต่เมื่อไปถึงหน้าหน่วยเลือกตั้งกลับไม่มีรายชื่อ 

ประชาชนรายเดิมระบุว่า เมื่อ 8 เม.ย.ที่ผ่านมา เขาลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าบนเว็บไซต์ และพิมพ์เอกสารเรียบร้อย โดยในเอกสารดังกล่าวมีคิวอาร์โค้ด (QR Code) ซึ่งเมื่อสแกนทีแรกก็ยังให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าได้อยู่ แต่เมื่อถึงวันจริงไปสแกนอีกครั้งปรากฏว่าข้อมูลในเอกสารเปลี่ยนไป เป็นการขอยกเลิกใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า ซึ่งเขายืนยันว่าไม่ได้เป็นผู้ยกเลิก ทำให้เขาไม่สามารถออกเสียงล่วงหน้าได้ แต่ยังมีสิทธิออกเสียงในภูมิลำเนาเดิมอยู่ เขาระบุว่า วันจริง 'อาจจะ' ไปเลือกตั้งที่ภูมิลำเนา เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งได้บันทึกเหตุการณ์ไว้ในรายงาน แต่ไม่สามารถทำอะไรได้ เนื่องจากไม่มีรายชื่อในทะเบียนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ที่ผ่านมาเขาเคยลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าแล้ว และไม่เคยมีปัญหา

- มีประชาชนรายหนึ่งรายงานว่า ที่หน่วยเลือกตั้งโรงเรียนสมุทรสาครวิทยาลัย แฟนของเขาลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าแล้ว และมีการตรวจสอบสิทธิบนเว็บไซต์ของกรมการปกครองยังคงมีสิทธิในการเลือกตั้งล่วงหน้าแล้ว แต่เมื่อไปที่หน่วยตรวจสอบที่กระดานรายชื่อ กลับไม่พบรายชื่อในทะเบียนผู้มีสิทธิเลือกตั้งหน้าหน่วย จึงตรวจสอบสิทธิและยืนยันกับกับเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง จนสามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้ เมื่อถามว่าหลังจากโต้แย้งกับเจ้าหน้าที่แล้วเจ้าหน้าที่เขียนชื่อต่อท้ายทะเบียนผู้มีสิทธิเลือกตั้งใช่หรือไม่ เขาบอกว่า ไม่ เพราะทะเบียนรายชื่ออีกชุดหนึ่งที่อยู่เจ้าหน้าที่นั้นมีชื่อของแฟนของเขาอยู่ (รายชื่อ 2 ชุดไม่ตรงกัน)

- ประชาชนรายงานว่า ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าที่อาคารเฉลิมพระระเกียรติ 72 พรรษา จังหวัดเชียงรายช่วงปลายเดือน มี.ค. 2566 แต่เมื่อไปถึงกลับไม่มีรายชื่อในบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดยภูมิลำเนาเดิมอยู่จังหวัดตรัง ทำให้คงไม่ได้กลับไปเลือกตั้งแล้ว

- ประชาชนรายงานว่าลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าไว้ที่ลานจอดรถวัดธาตุทอง อารามหลวง วันที่ 6 เม.ย. 2566 แต่เมื่อไปถึงแล้วไม่มีชื่อในบัญชี เจ้าหน้าที่แจ้งว่ามีทางเลือกให้ 2 ทาง คือ กลับไปที่จังหวัดที่มีชื่ออยู่เพื่อไปใช้สิทธิ กับทางเลือกคือให้คนที่บ้านไปแจ้งความไม่สะดวกที่จังหวัดแพร่ โดยเธอวางแผนจะกลับไปเลือกตั้ง เจ้าหน้าที่ไม่ได้มีการบันทึกเหตุการณ์ไว้ ทั้งนี้ เคยลงเลือกตั้งล่วงหน้าในการเลือกตั้งครั้งก่อนแล้ว แต่ไม่มีปัญหา

- ที่สำนักงานเขตบางกอกน้อย พบผู้ลงทะเบียนล่วงหน้าวันสุดท้าย และได้แคปหน้าจอไว้แล้ว เมื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจดูพบว่าไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ต้องกลับไปเลือกตั้งที่บ้านวันที่ 14 พ.ค. 2566 ซึ่งตนไม่สะดวกที่จะกลับไป เพื่อนที่มาด้วยกันลงทะเบียนพร้อมกันมีสิทธิเลือกตั้งนอกเขตตามปกติ

- ประชาชนรายงานว่าลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าไว้ที่เขตเลือกตั้งที่ 2 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่เมื่อถึงวันเลือกตั้งล่วงหน้ากลับไม่มีรายชื่อในบัญชี 

7. เขียนเขต/รหัสหน้าซองบัตรเลือกตั้งผิด

จังหวัด: กรุงเทพฯ

- ที่สำนักงานเขตบางเขน เวลาประมาณ 15.00 น. ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจังหวัดนครสวรรค์เขต 2 ได้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าไว้ ปรากฎรายชื่อในชุดที่ 31 ของสำนักงานเขต(ชุดที่ 31 เป็นหน่วยของนครสวรรค์เขต 1-6) พบว่า เจ้าหน้าที่จ่าหน้าซองเป็นนครสวรรค์ เขต 9 จึงทำการทักท้วง เจ้าหน้าที่ยืนยันว่า ถูกต้อง เธอจึงโทรหาเพื่อนอาสาจับตาเลือกตั้ง เพื่อนยืนยันว่าผิด และส่งระเบียบกกต.ให้ จึงยืนยันกับเจ้าหน้าที่ต่อไป เจ้าหน้าที่แจ้งว่าเขต 9 คือหน่วยเลือกตั้งที่นี่ทุกซองเขียนแบบนั้น จากนั้นเจ้าหน้าที่อีกคนมาดูและพยายามอธิบายว่า ที่เขียนเขต 9 นั้นถูกต้องพร้อมนำบัตรประชาชนของเธอไปตรวจสอบพบว่า อยู่เขต 2 จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อมาดูเทียบหน้าซองจึงเข้าใจว่า ที่ผ่านมาเขียนผิดต้องเขียนเลข 2 จึงเปลี่ยนซองใหม่ และแจ้งว่าซองอื่นๆ(เต็มกล่อง)จะแก้ไขตอนปิดหีบแล้ว

- ผู้มีสิทธิเลือกตั้งแจ้งว่า มีสิทธิเลือกตั้งเขต 19 แต่เจ้าหน้าที่กลับเขียนเขตเลือกตั้ง เป็นเขตเลือกตั้งที่ 9 อย่างไรก็ดี รหัสเขตเลือกตั้ง ระบุว่า 10019 ซึ่งถูกต้อง

- ที่ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง เจ้าหน้าที่เขียนหน้าซองบัตรเลือกตั้งให้ผิดเขต พอทักท้วง แจ้งว่า คนก่อนหน้าเขียนมาผิด และแก้ไขให้

- เขตเลือกตั้งที่ 26 พระราม 2 ฮอลล์ ชั้น 4 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า พระราม 2 ประชาชนรายงานว่า เจ้าหน้าเขียนเขตหน้าซองสำหรับใส่บัตรเลือกตั้งผิดเขต ต้องทักท้วงให้แก้ไข

- ที่พารากอนฮอลล์ ประชาชนทักท้วงเจ้าหน้าที่ว่า รหัสที่เขียนหน้าซองเป็นรหัสไปรษณีย์ ไม่ใช่รหัสเขต แต่จำได้ไม่แน่ชัดนัก เมื่อบอกตัวเลขรหัสที่จำได้ไป เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยจึงไปค้นหาซองที่มีเลขดังกล่าวให้ แต่ไม่พบ ทั้งนี้เจ้าหน้าที่แจ้งว่า กรณีที่รหัสผิด แต่จังหวัดและเขตถูก ซองดังกล่าวจะถูกส่งไปถูกเขตเลือกตั้ง

- ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ประชาชนรายงานว่า เจ้าหน้าที่เขียนเขตหน้าซองผิด โดยเธอเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งในจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งมีเพียงห้าเขต แต่เจ้าหน้าที่เขียนหน้าซองว่า เขต 14

- ที่วิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง : เจ้าหน้าที่เขียนเลขหน้าซองเป็นรหัสไปรษณีย์หมดทุกซอง แต่เวลา 17.00 น. มีผู้มาแจ้งเจ้าหน้าที่จึงรีบแก้รหัสหน้าซอง โดยขีดรหัสไปรษณีย์ทิ้ง เซ็นกำกับ และแก้เป็นรหัสเขต

- ที่สำนักงานเขตหลักสี่ มีผู้แจ้งว่า มีสิทธิเลือกตั้ง ขอนแก่น เขต 9 แต่ในซองใส่บัตรเลือกตั้ง กปน. กลับระบุว่า ขอนแก่น เขต 8 แต่ระบุรหัสเขตเลือกตั้งถูกต้อง

- ที่บริเวณลาดจอดรถ สำนักงานเขตคลองสามวา เจ้าหน้าที่ระบุรหัสเขตเลือกตั้งที่หน้าซองผิด แต่เจ้าหน้าที่คนถัดมาทักท้วง จึงทำการแก้ไขได้ทัน

ต่างจังหวัด

ปทุมธานี

- ที่อาคารเอนกประสงค์เทศบาลเมืองคูคต จังหวัดปทุมธานี มีผู้แจ้งอย่างน้อย 2 รายว่า กปน. เขียนเลขเขตสิทธิเลือกตั้งหน้าซองบัตรเลือกตั้งผิด เป็นเลข 6 ทั้งที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิในเลือกตั้งที่เป็นเลขอื่น แต่เขียนจังหวัดที่มีสิทธิเลือกตั้ง และรหัสเขตเลือกตั้งถูก ผู้ที่แจ้งข้อมูลคนหนึ่งระบุว่า ได้โต้แย้ง กปน. ไปแล้ว แต่กปน. แจ้งว่าถูกต้อง และให้หย่อนบัตรเลือกตั้ง ส่วนอีกรายระบุว่า เกิดความสงสัยแต่ไม่ได้โต้แย้ง เนื่องจากเห็นซองของคนอื่นก็ระบุเป็นเขต 6

ชลบุรี

- ศาลากลางชลบุรี เขตเลือกตั้งที่ 1 บริเวณลานหน้าศาลากลางจังหวัดชลบุรี อำเภอเมืองชลบุรี มีรายงานจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งว่า เจ้าหน้าที่เขียนเขตบนซองบัตรของผู้มาใช้สิทธิจังหวัดบุรีรัมย์ เขต 5-7 ผิด เป็นเขตเลือกตั้งที่ 1 ทั้งหมดในช่วงเช้า เวลาประมาณ 15.00 น. ผู้สังเกตการณ์ได้ไปดูที่ หน่วย 42 สำหรับผู้ใช้สิทธิจังหวัดบุรีรัมย์ พบว่า เจ้าหน้าที่ได้แก้ไขให้ถูกต้องแล้ว แต่ยังไม่รู้จะทำยังไงกับบัตรที่เขียนผิดเขตไปแล้วในช่วงเช้า

- ที่บริเวณศาลากลางจังหวัดชลบุรี หน่วยเลือกต้ังที่ 12 กปน.ระบุเลขเขตที่มีสิทธิเลือกตั้งผิด จากเขต 5 ระบุเป็นเลข 12 ประชาชนผู้แจ้งข้อมูลระบุว่า โต้แย้ง กปน.แล้ว แต่ไม่ได้แก้ไขให้

- ที่สนามกีฬาโรงเรียนเมืองพัทยา 2 กปน. ระบุเลขเขตเลือกตั้งผิด เขียนเลข 8 ในหน้าซองใส่บัตรเลือกตั้งของผู้ไปใช้สิทธิทุกคน ผู้มาแจ้งเรื่องโต้แย้งกปน. แล้ว แต่กปน. ตอบกลับมาว่าถูกต้องแล้ว

นครราชสีมา

- ประชาชนรายงานว่า ที่เขตเลือกตั้งที่ 14 หน่วย 4 ศาลาประชาคม ที่ว่าการอำเภอปากช่อง หน้าซองขาว เจ้าหน้าที่ใส่เลขเขตที่ไปเลือกตั้ง (14) แทนที่จะเป็นเลขเขตที่มีสิทธิเลือก (1)

เชียงใหม่ 

- ประชาชนรายงานว่า เขตเลือกตั้งที่ 1 ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จ.เชียงใหม่ เจ้าหน้าที่ให้กรอกรหัสไปรษณีย์แทนรหัสเขต ซึ่งเมื่อสอบถามไปยังกองอำนวยการ ได้รับคำตอบกลับมาว่า ที่ถูกต้องคือ การกรอกรหัสเขต และได้รับแจ้งจากประชาชนที่เลือกตั้งหน่วยที่ 8 เชียงราย เขต 2 เจ้าหน้าที่กรอกรหัสไปรษณีย์ “57210” ลงหน้าซอง แทนที่จะเป็นรหัสเขตเลือกตั้ง "57002"-เวลา 17.00 น. ผู้สังเกตการณ์สอบถามเจ้าหน้าที่หน่วยนั้น เจ้าหน้าที่ยืนยันว่าต้องกรอกรหัสไปรษณีย์ และทุกซองในหน่วยดังกล่าวกรอกรหัสไปรษณีย์

สุราษฎร์ธานี

- มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี กปน.ระบุเลขเขตเลือกต้ังผิด เป็นเขต 7 ทั้งที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขต 1 แต่ระบุรหัสเขตเลือกตั้งถูกต้อง

พะเยา 

- อาคาร 99 ปี พระอุบาลี มหาวิทยาลัยพะเยา กปน. ระบุรหัสเขตเลือกต้ังผิด แต่ได้ขีดฆ่าและแก้ไขรหัสให้ถูกต้อง แต่กปน. ก็ไม่ได้เซ็นกำกับบริเวณที่ขีดฆ่าแต่อย่างใด

8. ปิดผนึกซองไม่ถูกต้อง

กลุ่ม 'iLaw' ประมวลปัญหาเรื่อง "ปิดผนึกซองไม่ถูกต้อง" หลายจังหวัด ประกอบด้วย

- เขตเลือกตั้งที่ 29 สำนักงานเขตบางแค เจ้าหน้าที่ไม่ให้ผู้ออกเสียงลอกกาวเพื่อปิดซองบัตรเลือกตั้งเอง นำซองไปแปะสก็อตเทปเองและไม่เซ็นชื่อบริเวณกรอบที่กำหนดทับลายเซ็น

- เขตเลือกต้้งที่ 7 เทศบาลเมืองพิมลราช ตำบลพิมลราช จ.นนทบุรี ประชาชนรายงานว่าเจ้าหน้าที่เซ็นชื่อปิดซองโดยไม่คร่อมบริเวณผนึกซอง

- ที่จังหวัดภูเก็ต ประชาชนรายงานว่า เจ้าหน้าที่เซ็นชื่อไม่คร่อมบริเวณผนึกซอง

- เขตเลือกตั้งที่ 6 อาคารอเนกประสงค์กรมประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร ประชาชนรายงานว่า เจ้าหน้าที่ติดเทปใสปิดซองแต่ไม่เซ็นชื่อกำกับที่ผนึกจดหมาย

- เขตเลือกตั้งที่ 32 สำนักงานเขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่เซ็นชื่อบนซองไม่คร่อมบริเวณผนึกซอง

- เขตเลือกตั้งที่ 6 เทศบาลเมืองบางแม่นาง ตำบลบางแม่นาง อำเภอบางใหญ่ นนทบุรี ประชาชนรายงานว่า เจ้าหน้าที่เซ็นชื่อบนซองไม่คร่อมบริเวณผนึกซอง เซ็นเฉพาะบริเวณด้านบน

- เขตเลือกตั้งที่ 1 ศูนย์ประชุมนานาชาติ เชียงใหม่ ประชาชนรายงานว่า เจ้าหน้าที่เซ็นชื่อบนซองไม่คร่อมบริเวณผนึกซอง

- หอประชุมที่ว่าการอำเภอศรีสัชนาลัย เจ้าหน้าที่เซ็นกำกับปิดผนึกไม่ถูกต้องตามระเบียบ กกต. โดยเซ็นเหนือบริเวณรอยต่อผนึก ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มาแจ้งเหตุ ระบุว่า ทาง กปน.เขียนไม่ถนัด

ปัญหาอื่นๆ

เซ็นชื่อผิดช่อง 

- ที่เซ็นทรัลโคราช ประชาชนรายงานว่า เขาเดินเข้าคิวไปรับบัตรเลือกตั้งและเมื่อจะลงชื่อพบว่า ช่องลงชื่อของเขามีผู้ลงแทนไปแล้ว เจ้าหน้าที่จึงเรียกกกต.ในหน่วยเลือกตั้งมาทำบันทึกเหตุการณ์ไว้ โดยความผิดพลาดสืบเนื่องจากผู้ที่มีชื่อติดกับเขาและคล้ายกันเซ็นไปก่อน เจ้าหน้าที่จึงโยงลูกศรชี้ชื่อไปยังชื่อที่ถูกต้องไว้ เจ้าหน้าที่พยายามติดตามผู้ที่เซ็นชื่อผิด ประกาศเรียกตัวแต่ไม่สามารถติดตามได้ ประธานประจำหน่วยจึงจัดประชุมสรุปคือ ทำบันทึกเหตุการณ์ไว้และขอให้เขาเซ็นกำกับไว้ เจ้าหน้าที่ประหน่วยเลือกตั้งขอโทษเขา ยอมรับว่า เป็นความผิดของเจ้าหน้าที่เองไม่ใช่เรื่องที่มีการสวมสิทธิเลือกตั้งแต่อย่างใด ทั้งนี้เขาได้ใช้สิทธิเลือกตั้งเรียบร้อย

- ใส่ลำดับผู้มีสิทธิเป็นรหัสเขตที่เขตเลือกตั้งที่ 12 ระยอง-ปราจีนบุรี บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดชลบุรี อำเภอเมืองชลบุรี เจ้าหน้าที่ไม่ได้จ่าหน้าซองเป็นรหัสเขต แต่เขียนเป็นเลขลำดับที่ของผู้ใช้สิทธิ เธอเล่าตอนที่เข้าไปใช้สิทธิเจ้าหน้าที่บอกให้จำลำดับที่เอาไว้ ตอนที่รับบัตรก็บอกลำดับไป และเพิ่งสังเกตว่าตอนที่จะหย่อนบัตรลงหีบว่า รหัสเขตเป็นเลขลำดับที่ในบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เมื่อออกมาจึงสอบถามกับเพื่อนที่ไปด้วยกัน ปรากฏว่าเพื่อนก็พบปัญหาเดียวกัน

ไม่ตรวจสอบอัตลักษณ์

- ที่สำนักเขตห้วยขวาง บึงกุ่ม และมหาวิทยาลัยรามคำแหง ประชาชนรายงานว่า ตอนยื่นบัตรประชาชนรับบัตรเลือกตั้ง เจ้าหน้าที่ดูบัตร แต่ไม่ตรวจสอบใบหน้าว่าเป็นคนเดียวกันนหรือไม่

กปน.ฉีกบัตรขาด

- เวลา 11.49 น. ที่หอประชุมโรงเรียนละงูพิทยาคม ตำบลละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล ประชาชนรายงานว่า เจ้าหน้าที่ฉีกบัตรจากสมุดบัตรผิดพลาดทำให้บัตรเลือกตั้งสีเขียวฉีกขาดประมาณ 1/4 ของกระดาษตามกว้าง (บัตรของผู้เลือกตั้งท่านก่อนหน้า) ประธานประจำหน่วยแจ้งว่าขณะนี้ กกต.ไม่อยู่ที่หน่วย ทำให้ตัดสินใจว่าเป็นบัตรเสียหรือไม่นั้นอยู่ภายใต้การตัดสินใจของเขา และเขาขอตัดสินใจว่าบัตรสามารถใช้ได้ เธอและผู้รอเลือกตั้งท่านอื่นพยายามช่วยกันโต้แย้งว่า เลือกตั้งครั้งก่อน ตอนนับคะแนนที่หน่วยกรุงเทพฯ บัตรฉีกขาดถูกตีว่าเป็นบัตรเสีย จึงถามประธานว่า บัตรแบบนี้หากส่งไปนับที่หน่วยจะถือเป็นบัตรเสียอีกไหม ประธานแจ้งว่าก็เป็นหน้าที่ของ กกต.ประจำหน่วยนับคะแนนอีกทีหนึ่ง เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยท่านอื่นก็ช่วยกันแย้งว่า แล้วถ้าท่านผู้เลือกตั้งจะเลือกเบอร์ตรงที่ฉีกขาดจะทำอย่างไร เจ้าหน้าที่กลับไม่สามารถให้คำตอบได้ สุดท้ายจึงยอมให้เปลี่ยนเป็นบัตรเลือกตั้งใบใหม่ในที่สุด ทั้งนี้ ในช่วงระหว่างโต้แย้งก็ไม่มี กกต.ปรากฏตัวมาที่หน่วยแต่อย่างใด

QR Code ล่ม

- เวลา 9.20 น. ที่พารากอนฮอลล์ มีเจ้าหน้าที่ประกาศว่า ระบบสแกน QR Code อาจจะเข้าไม่ได้เป็นระยะเนื่องจากมีผู้ใช้งานเยอะ ถ้าเข้าไม่ได้ก็ยังสามารถตรวจสอบกับเจ้าหน้าที่ตรงเคาน์เตอร์ได้ ทั้งสองเขต 26-27 ชั้นจี เชคเมื่อคืน พระรามสอง ฮอลล์ ชั้นสี่ แต่ 27 จะต้องไปลานจอดรถ 3 ครึ่ง

เปลี่ยนสถานที่เลือกตั้ง สร้างความสับสนประชาชน 

- ประชาชนรายงานว่า ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าไว้ที่ลานจอดรถชั้น G เซ็นทรัลพระรามสอง ในตอนเช้าจึงตรวจสอบดูพบว่า สถานที่เปลี่ยนเป็นฮอลล์ชั้น 4 แต่เมื่อไปถึงพบว่า ฮอลล์ชั้น 4 จัดไว้สำหรับผู้ที่ลงคะแนนในเขตเลือกตั้งที่ 26 เท่านั้น ส่วนเขตเลือกตั้งที่ 27 จะต้องเดินลงออกเสียงที่ลานจอดรถชั้น 3 ครึ่งแทน

ผู้พิการสายตาใช้สิทธิเลือกตั้ง จนท.ห้ามผู้ช่วยกาให้ ไม่ให้เช็กเบอร์ก่อนหย่อนบัตร

- วานนี้ (7 พ.ค.) มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์ข้อความในกลุ่มเฟซบุ๊ก "ชุมชนคนรักลำลูกกา" ระบุว่า เขาเป็นผู้พิการทางสายตาไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าที่ตั้งวัดหว่านบุญ คลอง 6 อำเภอคลองหลวง จ.ปทุมธานี ไปเลือกตั้งทุกครั้ง เจ้าหน้าที่จะอนุญาตให้แฟนเข้าไปกากบาทให้ แต่ครั้งนี้เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้แฟนเข้า แต่เจ้าหน้าที่หน่วยนี้เข้าไปกากบาทให้เอง ปัญหาคือกาเสร็จแล้ว ไม่ให้เขาจับใบลงคะแนน เพื่อตรวจสอบ กับกระดาษอักษรเบลว่ากาตรงกับตรงกับเบอร์ที่เขาจะเลือกไหม ซึ่งนั่นทำให้เขาก็ไม่สบายใจ เพราะเหมือนมีหน้าที่แค่หย่อนลงกล่อง และรู้สึกว่าพรรคที่ตนเองเลือกไม่ได้คะแนนในส่วนนี้ไป

 

นักกิจกรรม ร้องกกต. แจ้งให้สิ้นข้อสงสัยก่อนวันเลือกตั้งเป็นการทั่วไป

ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจาก เวหา แสนชนชนะศึก ว่า วันนี้ (8 พ.ค. 66) เวลา 11.40 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง อาคารรัฐประศานภักดี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถ. แจ้งวัฒนะ ตนพร้อมนักกิจกรรมเข้ายื่นหนังสือสอบถามคณะกรรมการการเลือกตั้ง กรณีที่มีการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้า โดยหนังสือได้ระบุถึงความผิดปกติในการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้าในวันดังกล่าว โดยเป็นความบกพร่องจากการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ได้แก่ การไม่เขียนชื่อจังหวัด เขตเลือกตั้ง และเลขรหัสประจำเขตเลือกตั้งที่หน้าซองบัตรเลือกตั้งจำนวนมาก ทำให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีความเคลือบแคลงสงสัย ว่าบัตรเลือกตั้งดังกล่าวจะถูกส่งไปถึงเขตเลือกตั้งที่ประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามภูมิลำเนาได้หรือไม่ อย่างไร

ในหนังสือได้มีการเรียกร้องให้ทางคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ออกมาชี้แจงและตอบคำถามถึงวิธีการแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างชัดเจนให้สิ้นข้อสงสัยก่อนวันเลือกตั้งเป็นการทั่วไปในวันที่ 14 พ.ค. นี้ เนื่องจากบัตรเลือกตั้งทุกใบไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร การเลือกตั้งล่วงหน้า จะต้องถูกส่งไปนับคะแนนรวมกันที่เขตเลือกตั้ง ดังนั้น หากคณะกรรมการการเลือกตั้งไม่ดำเนินการแก้ปัญหาให้เสร็จสิ้นก่อนจะทำให้บัตรเลือกตั้งที่มีปัญหาอาจจะกลายเป็นบัตรเสีย หรือไม่ถูกนับคะแนน

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้รับหนังสือไว้ เลขรับที่ 14690 ลงวันที่ 8 พ.ค. 2566 โดยเจ้าหน้าที่งานสารบรรณคือ พจนารถ ปัจฉิมดิฐ เป็นผู้รับหนังสือ และจะดำเนินการต่อไป

ทั้งนี้ เวหา กล่าวด้วยว่า การเลือกตั้งครั้งนี้นอกจากเราควรจะไปใช้สิทธิ์แล้ว ประชาชนควรรักษาสิทธิ์ด้วยการจับตาและติดตามการทำงานของ กกต. ด้วย เพราะมีหลายอย่างที่ทำให้รู้สึกว่าการเลือกตั้งครั้งนี้อาจมีการทุจริต การที่ประชาชนช่วยกันจับตาการทำงานของภาครัฐจะเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะทำใหเกิดความโปร่งใสในการเลือกตั้งครั้งนี้ได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net