Skip to main content
sharethis

บางคนอาจจะรู้จัก อานนท์ ชวาลาวัณย์ ในบทบาทของ “แว่น พิพิธภัณฑ์สามัญชน” จากการไปเยี่ยมชมนิทรรศการที่นำสิ่งของที่ใช้รณรงค์ในขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองและสังคมที่เขาเวียนจัดตามที่ต่างๆ มาหลายครั้งแล้ว

ก่อนจะมาเป็น “แว่น พิพิธภัณฑ์สามัญชน” เขายังเป็น “แว่น ไอลอว์” ด้วยในฐานะผู้บันทึกข้อมูลผู้ที่ถูกดำเนินคดีจากการออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกให้กับ iLaw ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานรณรงค์สร้างชุดความรู้ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเพื่อทำให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้นและเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้ประเทศไทยมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นและงานนี้ทำให้เขาได้ใกล้ชิดกับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในหลายประเด็น

อานนท์ ชวาลาวัณย์ ในนิทรรศการที่เขาร่วมเอาสิ่งของในพิพิธภัณฑ์ไปร่วมจัดแสดงในงาน Election Through Poster ที่ Kinjai Contemporary เมื่อ 22-30 เม.ย.2566 

แต่ความสนใจเรื่องนี้ของแว่นเกิดขึ้นก่อนหน้านั้นตั้งแต่เขายังเรียนป.ตรี สาขาประวัติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงแล้วเกิดคำถามว่าทำไมเวลาค้นข้อมูล หรือเดินพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยแล้วสิ่งที่จัดแสดงอยู่มักจะเป็นของจากชนชั้นสูง และประวัติศาสตร์ไทยในพิพิธภัณฑ์ไทยถึงจบอยู่ที่สมัยรัชกาลที่ 7 จึงสงสัยว่าแล้วเรื่องราวหลังจากนั้นเป็นยังไงต่อ

เรื่องที่จุดประกายความสนใจให้อานนท์คือตอนที่เรียนปีสุดท้ายเขาได้ไปฝึกงานกับชาวต่างชาติที่ทำงานเก็บรวบรวมสิ่งของที่ใช้ในบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมจากทั่วโลกคือเขาเคยเก็บเสื้อชูชีพของคนที่ไปประท้วงการประชุมขององค์กรการค้าโลก ที่ฮ่องกงคือเป็นของที่เคยถูกใช้ในเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ แต่ตอนนั้นก็ยังไม่คิดถึงว่าตัวเองจะได้มาเป็นคนทำงานตรงนั้นเอง แค่เข้าไปทำงานหาเงินพิเศษ

จนเมื่ออานนท์ได้มาทำงานกับไอลอว์แล้วทำให้เขานึกถึงย้อนถึงเรื่องที่ได้เรียนมาตอนฝึกงานว่าสิ่งของจากการชุมนุมนั้นก็ถือเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ จึงเริ่มจัดตั้งพิพิธภัณฑ์สามัญชนให้เป็นพื้นที่เก็บรวบรวมสิ่งของทั้งป้ายประท้วง เสื้อยืดการเมือง รวมถึงสิ่งของที่ประชาชนใช้ในการชุมนุมเรื่อยมา

ประวัติศาสตร์ของสามัญชน

อานนท์เล่าถึงจุดเริ่มต้นของพิพิธภัณฑ์ว่าของหลายชิ้นมันก็มีเรื่องราวเป็นเรื่องเล่าที่อยู่ในประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหว แต่ว่าคนทำม็อบ NGO หรือชาวบ้านที่เคลื่อนไหวเขาอาจจะแค่เห็นว่าของพวกนี้มันเป็นแค่ของที่ใช้ในการทำงานครั้งนั้น ๆ จบแล้วก็จบไปไม่ได้มองมันในฐานะจิ๊กซอว์ตัวหนึ่งที่จะเอาไปต่อเป็นภาพใหญ่ แต่ก็มีเรื่องที่ยังถกเถียงกันอยู่ว่าเหตุการณ์หนึ่งจะกลายเป็นประวัติศาสตร์ได้ต้องผ่านไปนานกี่ปีหรือต้องมีปัจจัยอะไรอีกบ้าง

เมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อประเด็นนั้น อานนท์ได้ขยายความถึงคำว่าประวัติศาสตร์ร่วมสมัยโดยยกตัวอย่างเหตุการณ์สลายการชุมนุมในปี 53 ว่านับเป็นประวัติศาสตร์หรือยัง เพราะบางมุมมองอาจจะมองว่าเป็นแล้วเนื่องจากเหตุการณ์มันจบมาแล้วเป็น 10 ปี แต่เหตุการณ์ก็ยังมีเรื่องคนที่สูญเสียหรือยังได้รับผลกระทบจากมันอยู่ ทำให้ไม่รู้ว่าเส้นแบ่งว่าเป็นหรือไม่เป็นประวัติศาสตร์อยู่ตรงไหนและให้คำนิยามไม่ได้

“เอาง่าย ๆ เอเปคที่ชุมนุมกันเป็นประวัติศาสตร์ไปหรือยัง ก็บอกไม่ได้ เพราะมันมองได้หลายมุม แต่ย้อนกลับมาที่ว่าคนที่เขาใช้(สิ่งของ)ในการเคลื่อนไหว ก็ไม่ได้มองว่ามันเป็นสิ่งของ(Object) ทางประวัติศาสตร์ เขาก็มองแค่ว่ามันคือป้ายที่จะเอาไปถือหน้าม็อบหนึ่ง ๆ ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าม็อบเล็ก ๆ นั้นมันจะแค่เกิดขึ้นแล้วดับไปหรือมันจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น เช่น วันนั้นมีใครรู้ไหมว่าพายุต้องสูญเสียตา ถ้าวันนั้นมันไม่มีเหตุการณ์นี้ มันก็จะเป็นแค่การชุมนุมครั้งหนึ่งที่เคยเกิดขึ้น แต่มันคงจะไม่ได้มีผลในเชิงประวัติศาสตร์ ซึ่งคนที่เขาทำไปในวันนั้นเขาก็ไม่ได้คิดในมุมประวัติศาสตร์ ก็แค่ให้มันเป็นข้อความที่อยากสื่อสารในม็อบ”

อานนท์บอกว่าขณะเดียวกันคนตัวเล็ก ๆ อย่างเรามักจะเป็นผู้แพ้เลยไม่ได้เป็นคนเขียนประวัติศาสตร์ อย่างกรณีแถลงการณ์เรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112 ที่รุ้ง(ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล) อ่านก่อนจะกรีดแขนตัวเองจนเลือดไหลเปรอะเปื้อนไปบนแถลงการณ์ที่เธออ่าน ตราบใดที่ ม.112 ยังมีอยู่แถลงการณ์เปื้อนเลือดใบนั้นก็จะเป็นแค่กระดาษเปื้อนเลือดใบหนึ่ง แต่ถ้าสุดท้ายนำไปสู่การยกเลิกกฎหมายนี้ได้สำเร็จจะในอีก 50 ปีหรือ 100 ปีให้หลัง กระดาษแผ่นนั้นจะถือเป็นจุดเริ่มต้น

แถลงการณ์ที่กล่าวถึงเหตุผลที่ไทยจำเป็นต้องยกเลิกกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ที่ปนัสยาอ่านบนเวทีชุมนุมที่แยกราชประสงค์เมื่อ 31 ต.ค. 2564 ก่อนจะกรีดแขนตัวเองเป็นสัญลักษณ์ไม่เอา 112

“ความหมายในเชิงประวัติศาสตร์ของมันก็จะเพิ่มขึ้นทันทีเพราะมันได้ถูกจารึกในประวัติศาสตร์กระแสหลักจากการที่เป็นผู้ชนะ ซึ่งเราไม่รู้หรอกว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นมันจะมาถึงเมื่อไหร่ เรารู้แค่ว่าเมื่อถึงวันนั้น เรามีของที่พร้อมจะเล่าเรื่องตรงนั้นอยู่”

เขาบอกว่าได้มาตกผลึกภายหลังเองว่าทั้งตัวพิพิธภัณฑ์สามัญชนเองหรือตัวเขาในวันนี้กับเมื่อวันที่เขาเริ่มเก็บของชิ้นแรก ๆ ก็มีพัฒนาการมา ตอนนี้สิ่งที่ทำกลายเป็นว่ามีเป้าหมายระยะยาวที่คิดไปถึงวันที่พิพิธภัณฑ์สามัญชนได้เล่าเรื่องราวในวันที่ประเทศเป็นประชาธิปไตยแล้ว

สิ่งของจากสามัญชนที่ส่งเสียงดังถึงภาครัฐ

เราได้คุยกันถึงพัฒนาการของพิพิธภัณฑ์ ตั้งแต่วันแรกที่เก็บของมาเริ่มจัดแสดง จนถึงวันนี้พิพิธภัณฑ์สามัญชนนั้นเดินทางมาไกลเท่าที่คาดการณ์ไว้หรือไม่

อานนท์เล่าว่า เมื่อก่อนคนก็งงว่าเราเป็นใคร เก็บของไปทำไม แต่ในวันนี้พอทำจริงจังขึ้นมาในระดับหนึ่งก็มีผลงานเป็นที่ยอมรับมากขึ้น ถึงขั้นว่าภาครัฐเคยเชิญไปงานครั้งหนึ่งถึงจะเป็นแค่การไปพูด 10-15 นาที แต่การที่ภาครัฐจะมายอมรับคนที่ทำอะไรแบบนี้ มันไม่ใช่เรื่องที่จะจินตนาการได้ อย่างกระทรวงวัฒนธรรม หรือกรมศิลป์ที่ติดต่อมา ทั้ง ๆ ที่เขาก็มีพิพิธภัณฑ์ที่เป็นแบบเดียวกันกับของเรา แต่มีความเป็นสถาบันมาก กว่าแล้วมาเชิญเราไปมันหมายความว่าเราได้รับการยอมรับ

“เราในวันนั้นกับเราในวันนี้มันต่างกันเพราะมันเริ่มจากการไม่มีอะไร จนเริ่มมองหาโอกาสใหม่ ๆ แต่วันแรกมันก็จะกระเตาะกระแตะ ของจะหายังไง เก็บยังไง ระบบการทำงานเป็นยังไง การเรียนรู้ข้อผิดพลาดในอดีตก็นำมาสู่วิธีการใหม่ ๆ”

อานนท์บอกว่าเขาเองก็รู้สึกยินดีที่จะได้ร่วมงานกับภาครัฐเพราะถ้ามองในมุมว่าเป็นการเติมเต็มซึ่งกันและกันตามแต่ละหน้างานหรือจุดยืนของพิพิธภัณฑ์นั้นๆ เอง

“เราก็ตั้งคำถามว่าทำไมพิพิธภัณฑ์แห่งชาติไม่เล่าเรื่องประวัติศาสตร์การเมืองร่วมสมัยตั้งแต่ 2475 มา ซึ่งอันนี้กรมศิลป์เขาเคยพูด หรือเคยได้อ่านที่ไหนสักที่มาว่าหน้างานของเขามันคือด้านวัฒนธรรม เพราะฉะนั้น mandate เขาไม่คลุมตรงนี้ เลยมองในฐานะคนทำงานเก็บของ เก็บเรื่องราวด้วยกันก็คือการต่อยอดซึ่งกันและกัน กรมศิลป์เขาก็มีรูปแบบการเก็บของเขา แต่ถ้าเขาให้การยอมรับว่าเรื่องที่คุณเล่าไม่ใช่เรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้น มันมีมุมอื่น ข้อเท็จจริงอื่นที่เล่าได้อย่างไม่มีการแทรกแซงหรือจำกัดว่าเรื่องนี้เล่าได้ไม่ได้”

อานนท์บอกว่าในฐานะคนทำพิพิธภัณฑ์มองว่าสิ่งที่เขาทำเป็นการต่อยอดกัน หรือจะมาถกเถียงกันก็ยังได้ว่าภาครัฐมีหลักฐานแบบนี้ภาคประชาชนมีหลักฐานแบบนี้ เอาข้อมูลเรื่องเดียวกันที่เก็บมาได้เอามาชนกันแล้วสุดท้ายมันอาจจะมีหรือไม่มีถูกผิดก็ช่าง แต่อย่างน้อยจะทำให้สังคมรู้ว่ามันมีข้อมูลหลายชุดจากมุมมองอื่น

เขายกตัวอย่างว่าภาครัฐอาจจะเก็บเสื้อของตำรวจที่โดนสาดสี นั่นก็คือความจริงที่เกิดขึ้นที่เขาจะเอามาเล่าว่าผู้ชุมนุมมีการใช้ความรุนแรงหรือมีการสาดสีเป็นเรื่องไม่เหมาะสม ในขณะที่เราก็เอาเสื้อของคนที่โดนตีโดนยิงไปเจอกันมันก็เป็นข้อเท็จจริงจากทั้งสองฝั่ง แล้วแต่ละคนจะตัดสินใจเลือกเชื่ออะไรก็ได้

“เราคิดว่าถ้าเราเก็บเสื้อจ่านิว เก็บเสื้อพายุได้ เราเก็บเสื้อของผู้ชุมนุมที่โดนฉีดน้ำวันนั้นได้ ภาครัฐเขาก็มีสิทธิ์เก็บเหมือนกัน เช่น ตำรวจเขาอาจจะเก็บเสื้อ คฝ.ที่โดนสาดไปเก็บไว้ ชุดเกราะของคฝ.สมัยพันธมิตรหรือกปปส. ที่เตะระเบิด นั่นก็เป็นมุมของเขา ซึ่งเราคงไม่ไปบอกว่าภาครัฐห้ามเก็บ เพราะมันก็คือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น”

เล่าเรื่องที่รัฐอาจไม่อยากฟัง

แต่การเลือกที่จะเล่าประวัติศาสตร์ที่ไม่เหมือนของรัฐและรัฐก็อาจจะไม่อยากพูดถึงของพิพิธภัณฑ์เอง ที่ผ่านมาอานนท์จะยังไม่เคยมีการเข้ามาคุกคามตรงๆ แต่ก็ยอมรับว่ามีความกังวลใจและทำให้เข้าเลือกจะไม่เก็บของบางชิ้นเอาไว้

อานนท์บอกว่าของผิดกฎหมายทางพิพิธภัณฑ์ก็ไม่เก็บเข้ามา ไว้ เพราะเขามองว่าการสละเพื่อความอยู่รอดในการทำงานระยะยาวโดยเลือกจะไม่เก็บของที่อาจจะสร้างปัญหากับองค์กรเพียง 1 ชิ้นเพื่อแลกกับการที่คุณจะได้เก็บของ 10 ชิ้นเอามาประกอบร่างกันเพื่อส่งสารที่อาจจะทรงพลังกว่าของ 1 ชิ้นที่ผิดกฎหมายนั้น เป็นทางเลือกที่ดีกว่า จึงไม่ได้กังวลว่าของที่เก็บเอาไว้จะไปผิดกฎหมายมากนักแต่ก็ไม่ถึงกับไม่กังวลเลยเรื่องภัยคุกคามอื่นๆ

ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์มองว่าตัวเขาเองไม่ได้มีพลังอำนาจจนรัฐต้องมาจัดการ และตลอดที่ผ่านมารัฐไทยก็มักจะใช้วิธีการติดตามคุกคามคนเห็นต่างแต่สุดท้ายแล้วการเคลื่อนไหวมันยังทำได้

“เราไม่ใช่เกาหลีเหนือ มันมีความกังวลแต่ไม่ได้กังวลจนกลัวแบบทำไม่ได้เลย แล้วที่ผ่านมาเขาก็มาถ่ายเสื้อ ถ่ายงานอะไรของเราไป แต่มันก็เป็นของสะสมที่มันมี เป็นของที่เราเคลื่อนไหวจริงแต่มันก็ไม่มีมิติใด ๆ ที่จะเอามาดำเนินคดีทางกฎหมาย เราพูดจากข้อเท็จจริง เราเอาของที่เคยใช้จริงจากทั้ง 2 ฝั่งมา เห็นว่าใครผิดใครถูก อาจจะมีกีดกันบ้างเล็กน้อยแต่เราก็พูดในบริบทเลยไม่ได้กังวลกับส่วนนั้น หรือมันอาจจะเล็กเกินกว่าที่เขาจะสนใจ”

แผ่นผ้าไวนิลหน้าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาที่ถูกนำมาวางให้คนเหยียบในนิทรรศการดนตรีพังก์ BNK44 ที่สวนครูองุ่น ทองหล่อ 27 พ.ย. 2561

แต่เพราะพิพิธภัณฑ์ยังไม่เป็นสถาบันและการดำเนินการก็ทำด้วยตัวคนเดียวหากถูกดำเนินคดีข้าวของถูกยึดไป อานนท์ก็บอกว่าสุดท้ายก็อาจจะต้องเลิก แต่ก่อนจะถึงตอนนั้นก็คงจะมีคงมีคนช่วยต่อสู้ว่าใช้กฎหมายข้อไหนมาตราไหนมายึดสิ่งเหล่านี้ เพราะไม่ได้ทำอะไรผิด

“แต่มองโลกในแง่ดีก็คิดว่าไม่น่าจะมีอะไรเพราะเราไม่ได้มีของผิดกฎหมาย พูดง่าย ๆ ว่าเราป้องกันเหตุอย่างถึงที่สุดแล้ว ถ้าสุดท้ายจะต้องถูกปิดด้วยอำนาจมืด ในมุมของเราคิดว่ารักษาชีวิตไว้ ทำอันนี้ไม่ได้ก็ไปทำอย่างอื่นต่อ ถ้าหน้างานนี้ทำไม่ได้ก็ไปทำงานอื่น”

เรื่องราวจากฝ่ายตรงข้ามทำให้เรื่องราวสมบูรณ์

ในงานนิทรรศการของพิพิธภัณฑ์สามัญชนครั้งหนึ่ง สิ่งที่น่าสนใจคือเสื้อยืดของกลุ่มนิยมสถาบันที่จัดแสดงคละไปกับสิ่งของจากกลุ่มปฏิรูปสถาบัน ทำให้สงสัยว่าทั้งที่ตัวเขาเองก็มีแนวคิดทางการเมืองแบบหนึ่งแต่ทำไมถึงเก็บสิ่งของจากทุกฝ่ายไว้

อานนท์เล่าถึงจุดมุ่งหมายของพิพิธภัณฑ์สามัญชนและจุดยืนของเขาก็คือเล่าถึง ขบวนการเคลื่อนไหวต่างๆ ที่เกิดขึ้นโดยประชาชนในทุกแนวคิด ส่วนคนจะตัดสินใจยังไงก็เล่าไป แต่เขาเองก็ไม่ปฏิเสธว่าบางทีในเนื้อหาที่สื่อสารออกไปก็มีอคติของเขาเจือเข้าไปแต่ก็พยายามเจือให้น้อยที่สุด

แม้ว่านิทรรศการของเขาหลายงานจะเห็นว่ามีสิ่งของสะสมจำนวนมากที่เกี่ยวกับขบวนการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง กลุ่มเยาวชนที่ออกมาเคลื่อนไหวในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมาจนถึงขบวนการเคลื่อนไหวของชาวบ้านเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่อานนท์บอกว่าตัวเขาเองต้องใช้ความพยายามในการค้นหาสิ่งของจากขบวนการทางการเมืองของอีกฝ่ายอย่างเช่นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมากกว่าจากคนเสื้อแดงหรือม็อบเยาวชน

“อย่างหมอวรงค์ กปปส. จะรักจะเกลียดก็ช่างแต่เขาก็คือคนธรรมดา คือสามัญชน การเคลื่อนไหวของเขาก็ถือเป็นการเคลื่อนไหว ของสามัญชน เพียงแต่คุณจะเอามาเถียงเรื่องจุดยืนเรื่องคุณค่ามันก็เถียงกันได้ แต่พอเป็นเรื่องจุดยืนเราไม่ใช่พิพิธภัณฑ์คนเสื้อแดง ไม่ใช่พิพิธภัณฑ์สามกีบ เราคือพิพิธภัณฑ์สามัญชน”

“แม้แต่พิพิธภัณฑ์คนเสื้อแดง คนสามกีบก็ต้องเล่าเรื่อง กปปส.เพราะมันสัมพันธ์กันพันธมิตรจะไม่มีความเข้มแข็งถ้าไม่มีกลุ่มที่เรียกว่าคาราวานคนจนที่ต่อมาพัฒนาเป็นคนเสื้อแดง คนเสื้อแดงเองก็จะไม่มีความเข้มแข็งหรือความเป็นสถาบันถ้าไม่ได้เผชิญกับความท้าทายจากสิ่งที่เรียกว่ากปปส.จนนำมาสู่รัฐประหาร 57 คุณก็จะไม่เห็นคลื่นการลุกขึ้นมาของพวกสามกีบ จากเด็กที่รู้สึกว่าเอาโอกาส 8 ปีในชีวิตของเขาคืนมา มันสัมพันธ์กัน ไม่ใช่พิพิธภัณฑ์เลือกข้าง แต่การที่คุณไปเก็บเอาของฝั่งตรงข้ามแล้วเอามาเล่าในมุมของคุณ มันก็จะยิ่งทำให้ภาพของคุณมันเด่นชัด”

อานนท์มองว่าการเล่าเรื่องของสามัญชนคนธรรมดาเป็นเหมือนจุดขายของพิพิธภัณฑ์ ที่ผ่านมาแม้ว่าเขาจะเคยเห็นพิพิธภัณฑ์ที่เป็นประเด็นเฉพาะทางอย่างเรื่องคนขายบริการหรือพิพธภัณฑ์แรงงานมาบ้าง แต่ก็ยังไม่เคยเห็นที่มีการประกาศว่าเป็นเรื่องการเมืองนอกจากเป็นสิ่งสะสมของนักสะสมหรือมีการประมูลสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับการเมืองเอาไว้แต่ก็ยังไม่เห็นเอามาจัดแสดงหรือใช้ประโยชน์เช่นจัดบรรยาย

รอทุนพร้อมก็ไม่ได้ทำ แต่ไม่มีทุนก็อยู่ไม่นาน

ถ้าใครเห็นพิพิธภัณธ์สามัญชนแล้วอยากทำบ้าง อานนท์ก็บอกว่าถ้าอยากทำก็ทำเลยไม่ต้องไปคิดมาก เริ่มจากเป็นงานอดิเรกเล็กๆ ก่อน แต่ต้องทำอย่างต่อเนื่องให้คนเห็นว่าเราตั้งใจจะทำมันจริงๆ แล้วเดี๋ยวความช่วยเหลือก็จะตามมาเอง เพราะของบางอย่างมีเงินก็ใช่ว่าจะซื้อมันมาได้เพราะถ้าไม่เก็บสะสมไว้ตั้งแต่แรกก็หามันมาอีกไม่ได้แล้ว

“พอเราเริ่ม commit กับมันก็มีคนที่พร้อมจะให้ความช่วยเหลือที่ไม่ใช่รูปของเงินแต่เป็นอย่างรูปธรรม เช่น ป้านกเก็บนู่นเก็บนี่มาให้ นั่นคือเรามีทุนแต่มันเป็นทุนที่ไม่ใช่เงินที่เราค่อยๆ เอามาต่อยอด บางทีของที่เขาเก็บไว้แล้วเป็นขยะไม่ได้ใช้ แต่เขาทำใจทิ้งไม่ได้ทั้งๆ ที่ไม่ได้ใช้ เพราะมันมีคุณค่าอะไรบางอย่าง เพราะฉะนั้นการที่เขาจะเอาของที่มีคุณค่าอะไรบางอย่างมาให้เราได้ แปลว่าเขาต้องไว้ใจเรา ซึ่งการที่เขาจะไว้ใจเรามันก็ต้องมาจากที่เห็นว่าเราทำจริงๆ”

อานนท์แวะเล่าถึงนภัสสร บุญรี คนเสื้อแดงที่ใครๆ ในม็อบที่รู้จักเธอเรียกกันว่า “ป้านก” ที่ผ่านมาหลายม็อบตั้งแต่พฤษภาทมิฬจนถึงม็อบเยาวชนในปัจจุบัน เธอมักจะเอาข้าวของที่เธอเก็บได้จากที่ชุมนุมกับคนเสื้อแดงเมื่อสิบกว่าปีก่อนมาให้กับพิพิธภัณฑ์และยังช่วยเก็บสิ่งของใหม่ๆ จากม็อบเยาวชนมาให้ด้วย

แต่เขาเองก็ยอมรับว่ามีข้อได้เปรียบอยู่คือทำงานในแวดวง NGO อยู่แล้วมันมีแหล่งทุน เพราะสำหรับหน้าใหม่แล้วก็เป็นเรื่องลำบากที่จะเข้าหาแหล่งทุน ถ้าไม่รู้จักกับแหล่งทุนเลยก็ไม่น่าจะมีใครมาให้ทุน เพราะยังมีเรื่องความน่าเชื่อถือของคนที่ขอทุนมาทำโครงการด้วย อย่างไรก็ตามคอนเนคชั่นก็ไม่ใช่ปัจจัยเดียว แต่แหล่งทุนก็ต้องเคยเห็นด้วยว่าคนที่มาขอทุนเคยทำอะไรมาบ้าง

“สมมติว่าเราเข้ามาทำงาน iLaw ปีแรกแล้วไปขอทุนจากแหล่งที่เราขอก็คงจะไม่ได้หรอก อันนี้ก็เป็นแต้มบุญที่เก็บมาจากการทำนู่นนี่นั่นมาเรื่อย ๆ จนเราปีกกล้าขาแข็งพอ ฉะนั้น ถ้ายังไม่พร้อมจะหาแหล่งทุน ก็หาการสนับสนุนที่ไม่ใช่ในรูปของเงินที่ทำให้ได้ทำงานที่เราฝัน ทำมันจาก passion ก่อนแล้วค่อยเอาไปต่อยอด ก็เป็นวิธีหนึ่ง เพราะอย่างถ้าจะรอวันที่เราพร้อมเลยแล้วค่อยมาทำพิพิธภัณฑ์เต็มตัวเลย มันคงไม่มีหรอก เป็นไปไม่ได้”

แต่เขาก็ยอมรับว่าการจะทำพิพิธภัณฑ์เป็นการลงทุนมหาศาลเพราะการเก็บรักษาสิ่งของเหล่านี้ให้อยู่ไปถึง 50 ปี 100 ปีให้หลัง ต้องใช้ทุนในการรักษาสภาพมากเป็นหลายแสนหลายล้าน แต่งานบางส่วนไม่ได้มีผลลัพธ์ออกมาเป็นรูปธรรมในเวลาอันใกล้และงานของพิพิธภัณฑ์ก็จะมีงานแบบนี้เยอะจึงเป็นข้อจำกัดที่ท้าทายเมื่อต้องไปขอเงินจากแหล่งทุน

“ฉะนั้นมันก็เป็นความท้าทายว่าเราก็ต้องมองหาโอกาสใหม่ ๆ ที่ใหม่ ๆ ในขณะที่คุณต้องหาเงินมาเก็บรักษาของเหล่านี้ คุณก็ต้องนำเสนอผลงาน ไม่ใช่ว่าตั้งตึกแล้วเอาของมาแขวนไว้อย่างเดียว มันต้องมีรูปแบบการสร้างสื่อสาร เอาเรื่องราวมาใช้งานยังไงให้เป็นประโยชน์ เช่น ให้ยืมไปจัดนิทรรศการแล้วก็ได้มา 1000 บาท”

อานนท์มองว่าการทำแบบนี้ให้มีรายได้เข้ามาบ้างแม้จะไม่ได้ทำให้ถึงกับอยู่รอด จากที่แต่ก่อนทำเป็นการกุศลอย่างเดียวตอนนี้ก็ต้องคิดถึงความยั่งยืนของตัวพิพิธภัณฑ์ด้วย และเมื่อทำบนฐานคิดที่ว่านี่คืองานบริการมากกว่าคิดเรื่องเรื่องทำแล้วจะได้กำไรก็ต้องทำงานเชิงรุกมากขึ้นและจะออกแบบตัวชี้วัดงานของพิพิธภัณฑ์อย่างไรเพราะไม่ได้เป็นรูปธรรมวัดออกมาได้เหมือนสร้างห้องน้ำเพิ่มก็ทำให้คนมีห้องน้ำใช้เพิ่ม

“เป็นความท้าทายที่ทำให้เราตื่นตัว เหมือนว่าถ้าคุณไม่มีหนี้ก็ชิล แต่พอมีหนี้แล้วหัวปั่นเลย”

นอกจากปัญหาเรื่องเงินทุนที่จะเอามาบริหารจัดการแล้ว ด้วยสภาพของพิพิธภัณฑ์ที่ไม่มีสถานที่เก็บและจัดแสดงของตัวเองการจัดแสดงงานเลยกลายเป็นนิทรรศการมากกว่า ถึงแม้จะมีข้อดีที่อานนท์บอกว่าทำให้เข้าถึงคนได้เยอะได้พาสิ่งของไปหาคนดูแต่ก็ยังมีปัญหาการจัดการตามมาอีกหลายอย่าง

“พอต้องขนย้ายสิ่งของกันบ่อยๆ ก็ทำให้สิ่งสะสมเหล่านี้เข้าถึงคนได้มาก ถ้าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่อยู่กับที่ คุณก็ได้แค่รอให้คนเข้ามาดู แต่ของเรานี่เราก็จะคาดหมายได้เลยว่าเราจะเข้าถึงคนได้เท่าไหร่ คนจะรู้จักเราเพิ่มมากขึ้น มันคือการที่เขาไม่รู้ว่าคุณมีตัวตนแต่คุณเอาตัวตนไปหาเขา แต่แน่นอนว่าต้องแลกกับความบอบช้ำของวัสดุสิ่งของ”

นอกจากนั้นผู้ตั้งพิพิธภัณฑ์ยังเห็นปัญหาความไม่แน่นอนของแผนงานและปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ เช่นตัวเขาเองพร้อมจะจัดงานแล้วแต่สถานที่ไม่พร้อมก็ต้องเปลี่ยนสถานที่หรือเลื่อนวันจัดแสดงออกไปงาน ซึ่งเขามองว่าการมีสถานที่ถาวรก็ยังเป็นเรื่องจำเป็น

“มันต้องมีรากฐานมีพื้นฐานอะไรก่อน ส่วนนิทรรศการเคลื่อนที่ก็เป็นตัวเสริมที่ทำให้ไปได้ไกลขึ้น แต่ของเราตอนนี้มันเหมือนไม่มีหลัก พอเอาส่วนเสริมมาทำเป็นงานหลักมันก็เกิดคำถามกับตัวเองว่ามันถูกต้องหรือเปล่า ซึ่งยังไม่มีคำตอบ”

อานนท์บอกว่างานพิพิธภัณพ์คงคาดหวังเป็นตัวเงินไม่ได้ เพียงแต่ว่ามันจะไปตอบในคุณค่าอื่นที่สังคมต้องการ เช่น พิพิธภัณฑ์สามัญชนก็เป็นการเปิดมุมมองในการมองประวัติศาสตร์ การมองโลก มองสังคมให้กับนักเรียนหรือใครก็ได้ที่เข้ามาดู ซึ่งมันมีคุณค่าของมันแต่ไม่ใช่เรื่องเงิน

“ที่น่าเศร้าคือมันเป็นคุณค่าที่รัฐอาจจะไม่ค่อยอยากสนับสนุนสักเท่าไหร่ เพราะเมื่อประชาชนปีกกล้าขาแข็งในสังคมที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบเต็มร้อย เขาก็ไม่ค่อยอยากให้เกิดภาพนั้น มันก็จะต้องเป็นโมเดลแบบหาคนมาสนับสนุนหรือเงินบริจาคจากคนที่มาเข้าชม แต่ก็คงยากในสภาพสังคมไทยที่คนทั่วไปก็ยังปากกัดตีนถีบกันอยู่ มันก็คงเป็นการเรียกร้องที่อาจจะลำบากเกินไป”

นิทรรศการของพิพิธภัณฑ์ที่ไปจัดในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยยราชภัฏสกลนคร

งานเคลื่อนไหวระยะยาวยังต้องไปพร้อมงานเฉพาะหน้า

ถ้าหากมองงานของพิพิธภัณฑ์สามัญชนเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบหนึ่งท่ามกลางสถานการณ์ที่ดูจะมีปัญหาเร่งด่วนอยู่เต็มไปหมด แต่งานแบบพิพิธภัณฑ์ก็ไม่ได้เห็นผลลัพธ์ทันทีแบบขบวนการเคลื่อนไหวรูปแบบอื่นๆ เช่น การชุมนุมทางการเมือง ที่ได้รับความสนใจจากสื่อแทบจะทันที เขามองงานนี้ว่า

“พิพิธภัณฑ์อย่างของรัฐมันไม่ได้ทำงานกับคุณแค่ 30 นาทีที่คุณไปเดินรับชม แต่มันเข้าไปหนุนเสริม ไปตอกย้ำอะไรบางอย่างที่คุณได้รับมาจากห้องเรียน จากสังคม จากอะไรหลายๆ อย่าง นั่นคือสิ่งที่มันเข้าไปทำ มันทำงานมากกว่า 1 ชั่วโมงที่คุณเข้าไปเห็นไหเก่าๆ ไปเห็นเสื้อเก่าๆ ขาดๆ มันทำงานนานกว่านั้น ซึ่งถ้าคุณเอาเรื่องราวหนึ่งมาตอบโต้กับเรื่องราวที่เล่าโดยรัฐ มันก็คือการทำงานเคลื่อนไหวอย่างหนึ่ง”

อานนท์อธิบายถึงกระบวนการทำงานทางความคิดกับคนในสังคมของงานพิพิธภัณฑ์ที่แม้จะไม่ได้ทำให้คนออกไปลงถนนประท้วงในวันนี้พรุ่งนี้ แต่ก็จำเป็นที่จะต้องทำงานทางความคิดกับคนในสังคมระยะยาวด้วยซึ่งการจะเอาเงินเอาทรัพยากรไปลงทุนกับรูปแบบการเคลื่อนไหวแบบไหนก็เป็นเรื่องที่ต้องมานั่งคุยกันเพราะบางประเด็นก็อาจจะร่วมมือกันได้กับผู้จัดขบวนการเคลื่อนไหวบนท้องถนนเพื่อสนับสนุนกัน

เขายังมองว่าในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมการจัดสรรทรัพยากรก็เป็นเรื่องจำเป็นและสามารถร่วมงานกันได้ แต่การทำประเด็นเฉพาะหน้าที่เข้ามาเรื่อยๆ งานพิพิธภัณฑ์ไม่มีทางได้เกิดเลยและจะไม่มีทางได้ทำงานระยะยาวเลยถ้าไม่จัดสรรให้งานทั้งสองแบบควบคู่กันไป

“ถ้าย้อนกลับไปในวันที่ 6 ตุลายังเป็นงานเชงเม้ง ถามว่าคุณจะได้เห็นภาพการเคลื่อนไหวอย่างปี 63 ปี 64 ไหม ทุกวันนี้กลายเป็นงาน 14 ตุลาที่เมื่อก่อนดูเป็นงานยิ่งใหญ่กลายเป็นงานกร่อย ในขณะที่ 6 ตุลาที่เคยเป็นงานเชงเม้งกลายเป็นงานฮ็อต เพราะอะไร”

จำเป็นต้องเล่าเรื่องหดหู่เพื่อไม่ให้เกิดซ้ำรอย

สิ่งที่พิพิธภัณฑ์สามัญชนเก็บไว้นอกจากจะเป็นเหมือนลิ้นชักที่เก็บเรื่องราวประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวของประชาชนเอาไว้แล้วยังเป็นลิ้นชักที่เก็บเรื่องราวของความสูญเสียที่เกิดจากความรุนแรงทางการเมืองเอาไว้ด้วย การจะเก็บรวบรวมสิ่งเหล่านี้มาไว้ในพิพิธภัณฑ์จึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนในทางความรู้สึกของผู้ที่เกี่ยวข้อง

อานนท์บอกว่าความยากของงานนี้คือการไปขอของสิ่งนั้นมาจากญาติจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายว่าคุณจะคุยกับเขาอย่างไรเพื่อที่จะขอของสิ่งนั้นมา และคงจะมีคนมองว่าคนตายไม่ใช่สวนสัตว์ที่จะเอาเสื้อเขามาแขวนโชว์ เป็นสิ่งที่ต้องระวังในการอธิบายกับญาติว่าเราขอไปทำอะไรและถ้าญาติเขาไม่สบายใจก็ไม่ต้องตื๊อ

“มันเป็น Dilemma อย่างตอนที่ทำสติ๊กเกอร์ลุงนวมทอง (ไพรวัลย์) ก็คิดว่าทำขายด้วยดีไหมแต่พอไปเห็นตอนที่ยืมของป้าบุญชูมาก็เห็นว่าบ้านเขาอยู่กันลำบาก แต่เราเอาลุงนวมทองมาขายโดยที่ครอบครัวเขาไม่ได้อะไร แต่ถ้าเป็นมีม (meme) จอมพล ป.ขาย มันก็ต้องมีเรื่องที่ต้องตัดสินใจในระดับหนึ่งว่าในฐานะพิพิธภัณฑ์สามัญชน คุณทำสินค้ามาขายได้ แต่มันก็มีศีลธรรมบางอย่างที่บางทีต้องใช้ในการตัดสินใจว่าจะทำหรือไม่ทำ อย่างสติ๊กเกอร์ลุงนวมทองเราก็ทำแจกเพื่อคารวะและส่งต่ออุดมการณ์ของเขา เพราะถ้าทำขายมันคงจะไม่เหมาะ”

อานนท์บอกว่าการทำงานกับเรื่องราวที่เล่ายากแบบนี้ บางทีก็ไม่จำเป็นต้องเล่าอะไรเกี่ยวกับมันเลย เช่น เสื้อเชิ๊ตที่เปื้อนเลือดของจ่านิว หรือสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ นักกิจกรรมเรียกร้องประชาธิปไตยที่เขาสวมในวันที่ถูกบุคคลนิรนามรุมทำร้ายมาวางคู่กับข่าวหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์ที่รายงานนี้ก็เพียงพอแล้ว

เสื้อเชิ๊ตที่สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ สวมในวันที่เขาถูกกลุ่มบุคคลลึกลับรุมทำร้ายร่างกายด้วยการใช้กระบองเหล็ก(ดิ้ว) ฟาดขณะเดินทางจากบ้านไปงานเสวนาเมื่อ 28 มิ.ย. 2562 

“ไม่ต้องเล่าอะไรเลย มันทรงพลัง มันเล่าเรื่องในตัวมันเอง ให้คนเขาไปคิดต่อกันเอง แต่เราในฐานะคนเล่าเรื่องก็ปล่อยให้ของมันเล่าเรื่องของมันเองแล้วอยู่ที่คนตีความ ซึ่งมันอยู่ในจุดที่เราก้าวล่วงไม่ได้ เราแค่มีหน้าที่เล่าก็พอ”

แต่เมื่อเห็นสิ่งของที่บันทึกเรื่องราวความสูญเสีย หลายเหตุการณ์ก็เลวร้ายน่าหดหู่อย่างเหตุการณ์ 6 ตุลาบางทีมันส่งผลกับคนที่เขาทำงานตรงนี้ด้วย เราเคยมีความรู้สึกแบบนี้บ้างไหม

อานนท์คิดว่าคงเป็นเพราะตัวเองเป็นคนไม่ค่อยเก็บเรื่องแบบนี้มาคิดเท่าไหร่ ทำไปตามหน้าที่แล้วก็ทิ้งความรู้สึกพวกนี้ไป มองแค่เป้าหมายและวัตถุประสงค์ของงานคืออะไร บวกกับสิ่งของที่เก็บไว้อาจจะไม่ได้สะเทือนใจเท่ากับสิ่งของที่เล่าเรื่อง 6 ตุลา และตัวเขาเองก็ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 แต่ก็อาจจะรู้สึกกับม็อบปี 63 มากกว่าที่ไปอยู่ในเหตุการณ์ที่ด้วยในฐานะของ iLaw

“วันนั้นก็มีความรู้สึกท่วมท้นแต่ก็ทิ้งมันไปเพราะเป็นความรู้สึกส่วนตัว แล้วก็ไม่ได้เกี่ยวกับสิ่งของอะไร”

อานนท์บอกว่าแต่ในกรณีคนที่เคยผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลามาการที่ได้กลับมาอยู่ท่ามกลางสิ่งของที่ผ่านเหตุการณ์ช่วงที่แย่ที่สุดในชีวิตของเขา เราก็ไม่อาจไปก้าวก่ายความรู้สึกของเขา

แต่เขาบอกว่าถ้ามีธงชัดเจนว่าจะเล่าเรื่องเหล่านี้เพื่อที่จะไม่ให้เกิดเหตุการณ์น่าหดหู่แบบนี้อีกแล้วเขาเชื่อว่าก็ทำต่อไปแต่การจัดการความรู้สึกเลวร้ายตรงนี้ของแต่ละคนก็คงจะตอบแทนคนอื่นไม่ได้ แต่สำหรับตัวเขาเองคงเป็นความโชคดีเล็กๆ ที่เรื่องราวของพิพิธภัณฑ์อาจจะไม่ได้แย่หรือหดหู่มาก

อานนท์เล่าว่าแต่ก็มีคนที่มาชมนิทรรศการเคยให้ความเห็นบ้างอย่างเรื่องที่เก็บของมาสะเปะสะปะไม่มีโฟกัส ซึ่งตัวเขาเองก็ยอมรับว่าเป็นแบบนั้นเพราะทำคนเดียวเลยตัดสินใจจากความชอบของตัวเองด้วยในการจะนำอะไรมาจัดแสดง แต่ก็มีบางคนที่เขาเอาสิ่งของที่เขามีอยู่มาให้ด้วย

“ผู้ชมเขาไม่ได้เป็นแค่ผู้ชมแต่เขาเป็นผู้สนับสนุนด้วย นั่นแปลว่าเขาต้องมีความเชื่อใจหรืออะไรบางอย่างกับเราถึงเอามาให้ มีพี่คนหนึ่งเก็บหนังสือพิมพ์เก่าไว้ไม่รู้เท่าไหร่แล้วเขาเอามาให้เรา มันทำให้รู้ว่าผู้ชมเขาไม่ได้เป็นแค่ผู้ชม แต่เขารู้สึกเหมือนเป็นเจ้าของพิพิธภัณฑ์อีกคนหนึ่ง”

อานนท์เทียบกับความรู้สึกของตัวเองตอนที่เอาตั๋วฟุตบอลที่สะสมไว้เยอะไปบริจาคที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ฟุตบอลสยามที่นครปฐมพอเขาเดินไปดูที่ตู้แล้วเห็นว่าของที่ตัวเองบริจาคได้เข้าไปอยู่ท่ามกลางของชิ้นอื่น ๆ ก็เป็นความสุขเล็ก ๆ เลย

“พอเราได้ไปเห็นว่ามันอยู่ในที่ที่มันควรจะอยู่ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในความครอบครองของเรา แล้ววันหนึ่งเราได้กลับไปดูมันก็จะมีความรู้สึกว่าเราเป็นหุ้นส่วนของพิพิธภัณฑ์นี้”

อนาคตของพิพิธภัณฑ์สามัญชน

อานนท์บอกว่าแม้ตอนเริ่มทำงานนี้ด้วยตัวคนเดียวจะสนุกกว่าเพราะมีเรื่องที่ต้องรับผิดชอบไม่มากนัก ไม่มีข้อผูกมัดกับแหล่งทุน วันไหนอยากเขียนงานก็เขียนวันไหนไม่มีแรงเหลือก็ไม่ต้องทำ แต่ก็ยังอยากให้พิพิธภัณธ์ของสามัญชนนี้มีความเป็นสถาบันอยู่ดี เพราะมันมีคุณค่ากว่าเป็นงานอดิเรกของตัวเขาเองที่อาจจบไปพร้อมกับชีวิตของคนคนหนึ่งหรือถ้าวันหนึ่งเขาเบื่อหรือทำไม่ไหวแล้วก็ยังมีคนมาทำต่อ

“มันควรจะเป็นพิพิธภัณฑ์สามัญชน ไม่ใช่พิพิธภัณฑ์อดิเรกของนายอานนท์ ชวาลาวัณย์ แต่ก็ยังทำไปถึงจุดนั้นไม่ได้นะ ก็ยังคงเป็นตัวของตัวเราในระดับหนึ่ง แต่ในแง่ของความสนุก พอมันไม่ใช่งานประจำ งานของสถาบัน มันก็เลยยังทำด้วยความสนุก แต่ว่าถ้าวันหนึ่งจะต้องมีโครงสร้าง มีคนอื่นเข้ามาทำแน่นอนว่าตรงนั้น(ความเป็นตัวเอง)มันก็จะหายไป แต่มันก็จะโตขึ้น เพราะตอนนี้เราก็คิดได้แค่นี้ ถ้ามันมีหัวที่สองหัวที่สามช่วยคิดหรือเข้ามาช่วยแบ่งเบา มันก็จะดีขึ้น”

อุปกรณ์ที่ใช้ในกิจกรรมประท้วงการรัฐประหารอย่างนิยาย "1984" ที่ถูกนำไปใช้ในกิจกรรมอ่านประท้วงรัฐประหาร หรือแซนด์วิชที่นำไปกิจกรรมกินประท้วง

สุดท้ายเรื่องที่จะทำให้พิพิธภัณฑ์สามัญชนกลายเป็นสถาบันขึ้นมาจะเป็นฝันและความคาดหวังที่อานนท์เองอยากให้เกิดขึ้น แต่เขาเองก็ตั้งคำถามกับตัวเองตลอดว่าพอถึงวันที่ฝันกลายเป็นจริงขึ้นมาจะยังมีแพชชั่นหรือจะยังสนุกกับการทำหรือเปล่า แต่ถ้าถึงวันที่ตัวเองปล่อยมือจากมันแล้วไม่ต้องทำหน้าที่อะไรกับมันแล้วได้กลับมาในฐานะผู้ชมเองก็อาจจะมีความสุขมาก

“อาจจะเป็นสิ่งที่เรามีความสุขมากๆ ก็ได้ในการปล่อยมือ มันอาจจะเป็นสิ่งที่คนทำงานหลายๆ คนยังไม่นึกถึงเลยเพราะยิ่งในวันนี้ที่มันยังเป็นวุ้นอยู่ บางคนอาจจะมองว่ามันยังไม่เป็นรูปเป็นร่างเลยจะมาคิดถึงวันปล่อยมือแล้ว แต่เรามองว่าการปล่อยมือเป็นเรื่องที่ยากนะ ขนาดของที่เราเอาไว้กับตัวแต่ไม่ได้ใช้ เรายังไม่ทิ้งเลย เช่นกัน มันเป็นงานบางอย่างที่เราภาคภูมิใจแต่วันหนึ่งต้องปล่อยมือเพราะมันไม่ใช่ที่ของเราแล้ว มันหมดเวลาของเราแล้ว เราจะปล่อยมือจากมันยังไง ก็คงจะเป็นคำถามที่เราจะถามตัวเองในอีก 20-30 ปีให้หลัง แต่ตอนนี้ขอสนุกกับมันก่อนแค่นั้นแหละ”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net