Skip to main content
sharethis

ในพม่ามีการจัดให้รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมอะคาเดมีอวอร์ตหรือ "ออสการ์" ในแบบของประเทศตัวเอง ซึ่งเคยหยุดจัดไปเป็นเวลา 4 ปีแล้วกลับมาจัดใหม่อีกครั้งท่ามกลางสงครามกลางเมืองที่โหดร้าย ทำให้คนในอุตสาหกรรมบันเทิงถกเถียงกันถึงความเหมาะสม เรื่องนี้ยังแสดงให้เห็นอีกว่ากลุ่มไหนที่มีใจจะทำงานให้เผด็จการทหาร และใครที่แสดงการสนับสนุนกลุ่มต่อต้านเผด็จการ

ในพม่าเพิ่งจะมีการจัดงานเทศกาลรางวัลภาพยนตร์อะเคเดมีอวอร์ด หรือ "ออสการ์" ในแบบของประเทศพม่า เมื่อวันที่ 6 พ.ค. ที่ผ่านมา ที่โรงภาพยนตร์กลางแปลงในกรุงเนปิดอว์ ซึ่งเป็นเมืองหลวงใหม่เสมือนป้อมปราการของกองทัพพม่า มีพิธีเปิดในแบบที่ดูยิ่งใหญ่หรูหรา หลังจากที่หยุดจัดไปเป็นเวลา 3 ปี เนื่องจาก COVID-19 และการขาดเสถียรภาพหลังรัฐประหาร

เนื่องจากภาพเขาหยุดจัดไปเป็นเวลา 3 ปี ทำให้การประกาศรางวัลในครั้งนี้มีการมอบรางวัลให้ย้อนหลังไปถึงปี 2562-2665 รวมถึงในปี 2564 (ปีที่มีการรัฐประหาร) ที่โรงภาพยนตร์ปิดทั่วประเทศด้วย ซึ่งทางองค์กรภาพยนตร์พม่า (MMPO) พยายามดึงดูดให้มีผู้เข้าร่วมด้วยการสัญญาว่าจะให้รางวัลแก่ผู้ชนะในอดีตและรางวัลแฟชั่นแยกออกไปต่างหากด้วย

U Aye Kyu Lay รองประธานของ MMPO บอกว่า "ศิลปินที่คู่ควรจริงๆ เท่านั้น" ถึงจะได้รับรางวัลของพวกเขา

ทว่านับตั้งแต่ที่มีการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนเมื่อปี 2564 จนกลายเป็นชนวนให้เกิดสงครามกลางเมือง ทางองค์กร MMPO และสมาคมตลกพม่าต่างก็เคยออกมาแสดงจุดยืนสนับสนุนเผด็จการทหาร ทาง MMPO ทำการออกแถลงการณ์ประณามการโจมตีของกองกำลังฝ่ายต่อต้านเผด็จการมาโดยตลอด แต่กลับเงียบเฉยต่อการก่อเหตุเลวร้ายจากน้ำมือของกองทัพพม่าที่เรียกว่า "ทัตมะตอว์"

ขณะเดียวกันก็มีนักแสดงและผู้กำกับจำนวนมากที่เรียกร้องให้มีการบอยคอตต์รางวัลที่อยู่ภายใต้การควบคุมของเผด็จการทหาร นอกจากนี้ยังมีกรณีที่เผด็จการทหารข่มขู่คุกคามบีบบังคับให้คนทำงานบันเทิงบางส่วนเข้าร่วมงานออสการ์พม่า

May Wynn-Maung เป็นนักแสดงหญิงเคยผู้ชนะรางวัลออสการ์พม่าอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกามาเป็นเวลามากกว่า 10 ปีแล้ว และเป็นคนที่คอยระดมทุนและประท้วงต่อต้านเผด็จการทหารอย่างแข็งขัน เธอบอกว่านักแสดงควรจะคิดให้ดีก่อนที่จะเข้าร่วมพิธีแจกรางวัลออสการ์พม่า

May Wynn-Maung บอกว่า "ศิลปินนั้นไม่สามารถแยกขาดจากประชาชนได้ ความอยู่รอดของศิลปินนั้นขึ้นอยู่กับการสนับสนุนของสาธารณชน"

ก่อนหน้านี้ในปี 2523 May Wynn-Maung เคยชนะรางวัลออสการ์พม่าเป็นครั้งแรกจากภาพยนตร์เรื่อง Kyi Pyar และเมื่อไม่นานนี้ก็ได้แสดงในภาพยนตร์เพลงที่ชื่อ A Sunny Day ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการรัฐประหารและ "การปฏิวัติฤดูใบไม้ผลิ" ในพม่า ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่เขียนบทโดย Thet Win สามีของเธอ

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มที่ชื่อว่า สมาพันธ์ต่อต้านเผด็จการทหารย่างกุ้งหรือ AJAY ที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มดาราที่ส่งเสริมการปฏิวัติต่อต้านเผด็จการทหาร ได้เรียกร้องให้ประชาชนร่วมกันบอยคอตต์งานออสการ์ฉบับเผด็จการด้วยการไม่รับชมพิธีการหรือแชร์ส่งต่อเนื้อหาใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ในโซเชียลมีเดีย

ศิลปะที่ไม่เกี่ยวกับการเมือง? การเมืองเป็น "เรื่องของนักการเมือง" เท่านั้น?

แต่ก็มีคนในวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์พม่าบางส่วนพยายามปกป้องรางวัลออสการ์พม่า เช่น Pachi Soe Moe ผู้กำกับที่ได้รับรางวัลและเป็นผู้อุปถัมภ์ MMPO กล่าวปกป้องงานออสการ์พม่าโดยให้สัมภาษณ์ต่อสื่อ ป็อบปูลาร์นิวส์เจอนัล ซึ่งเป็นสื่อสนับสนุนเผด็จการทหาร บอกว่า "การเมืองเป็นเรื่องของนักการเมือง มันไม่ใช่งานของพวกเรา พวกเราเป็นศิลปินและงานของพวกเราคือศิลปะ พวกเรามีความรับผิดชอบที่จะต้องป้องกันไม่ให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ถูกทำลายและสูญหายไป"

แต่ก็มีคนโต้แย้งว่าตัวเผด็จการทหารเองเป็นผู้ทำให้รางวัลภาพยนตร์พม่ากลายเป็นเรื่องการเมือง Daw Mya Thuzar คนทำภาพยนตร์อิสระกล่าวว่าเผด็จการพม่ากำลังอาศัยงานแจกรางวัลในครั้งนี้เพื่อเป่าหูให้ศิลปินที่มีชื่อเสียงผู้ส่งอิทธิพลต่อประชาชนให้มาเป็นพวกฝ่ายรัฐประหาร ซึ่งเป็นการที่เผด็จการทหารพม่าพยายามจะฝังรากการครอบงำประเทศพม่า

Daw Mya Thuzar กล่าวว่า "ในความคิดเห็นของฉันแล้ว บุคคลสาธารณะหรือประชาชนจากอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่เข้าร่วมงานนี้กำลังแสดงออกให้เห็นอย่างชัดเจนว่า พวกเขายอมรับเผด็จการทหารผู้ที่ยึดอำนาจอย่างผิดกฎหมายและทำการปราบปรามประชาชน"

ประธานกรรมการของออสการ์พม่าคือ U Maung Maung Ohn รัฐมนตรีกระทรวงสารสนเทศของเผด็จการพม่าที่ทำหน้าที่คอยดูแลเรื่องการโฆษณาชวนเชื่อของกองทัพม่าในต่างประเทศและมักจะจัดให้ผู้ที่ต่อต้านระบอบเผด็จการทหารว่าเป็นผู้ก่อการร้าย U Maung Maung Ohn เคยพูดไว้เมื่อวันที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมาว่าทางเผด็จการทหารจะเป็นผู้ออกเงินให้กับพิธีการและรูปปั้นทองคำที่ให้เป็นรางวัลเพราะผลกระทบทางเศรษฐกิจจาก COVID-19 อีกทั้งเขายังกล่าวเรียกร้องให้ศิลปินเข้าร่วมงานพิธีซึ่งอ้างว่าจัดขึ้นตาม "ความประสงค์ของเหล่าศิลปินที่เก่งกาจ"

มีเรื่องน่าสังเกตอย่างหนึ่งสำหรับงานพิธีนี้คือ การที่กรรมการของ MMPO คัดเลือกภาพยนตร์ที่เข้ารอบสุดท้าย 29 เรื่องจากปี 2562 ซึ่งภาพยนตร์เหล่านี้มีนักแสดงและผู้กำกับส่วนหนึ่งที่ถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นภายใต้กฎหมายมาตรา 505(a) จากการที่พวกเขาต่อต้านเผด็จการทหาร มีส่วนหนึ่งที่ยังคงต้องรับโทษอยู่ในเรือนจำ สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองในพม่าเปิดเผยว่ามีประชาชน 48 รายจากวงการศิลปะที่ถูกคุมขังในคุกพม่าอยู่ตอนนี้

มีศิลปินนักแสดงรายหนึ่งที่ต่อต้านรัฐบาลแล้วถูกตั้งข้อหามาตรา 505(a) ก่อนที่จะหนีมาอยู่ในไทยกล่าวว่า ในตอนนี้เขาไม่รู้สึกอยากรับรางวัลออสการ์พม่าเลยแม้แต่น้อย ศิลปินดังกล่าวนี้คือ Daung ผู้ที่ติดโผรายชื่อผู้เข้ารอบสุดท้ายจากผลงานปี 2562 มีคนคาดคะเนกันต่างๆ นานา ว่าสุดท้ายแล้วพวกเผด็จการทหารก็จะปัดตกไม่ให้ศัตรูของพวกเขาได้รับรางวัล แต่ก็มีส่วนหนึ่งมองว่าที่เผด็จการทหารอนุญาตให้มีผลงานของฝ่ายต่อต้านเผด็จการอยู่ด้วยบ้างเพื่อสร้างภาพว่าเป็นกลาง

Ko Aung Soe (นามสมมุติ) ซึ่งเป็นนักทำภาพยนตร์อิสระอีกรายหนึ่งบอกว่าศิลปินที่ชนะรางวัลไม่ควรจะเข้ารับรางวัลนี้เพราะพวกเขาเสี่ยงที่จะถูกสาธารณชนรังเกียจ "ความรักจากประชาชนนั้นมีค่ายิ่งกว่ารางวัลออสการ์พม่า" Ko Aung Soe กล่าว

Aye Kyu Lay มองต่างออกไป เขามองว่าไม่ว่าใครจะตัดสินใจรับรางวัลหรือไม่ก็ตามมันก็ไม่เกี่ยวอะไรกัน ถ้าหากพวกเขาตัดสินว่าจะให้รางวัลเพราะคุณภาพของผลงานนั้นดีจริงๆ พวกเขาก็จะให้ แต่ถ้าหากผู้ที่ได้รับรางวัลไม่ต้องการมัน พวกเขาก็จะไม่ยุ่งเกี่ยวด้วยในจุดนั้น

ฝ่ายเผด็จการทหาร กดดันบีบบังคับให้ดารา-ศิลปินเข้าร่วม

อย่างไรก็ตามมันเป็นเรื่องที่ชัดเจนว่าฝ่ายเผด็จการทหารพยายามใช้วิธีการต่างๆ เพื่อให้ดารา และศิลปินที่มีชื่อเสียงเช้าร่วม Aye Kyu Lay ประเมินว่าจะมีผู้เข้าร่วมมากกว่า 1,000 ราย ซึ่งตามเนื้อหาข่าวที่รายงานถึงงานนี้อย่างน้อย 2 แหล่ง พบว่าไม่มีการระบุจำนวนผู้เข้าร่วมแต่อย่างใด แต่จะระบุตัวเลขจำนวนรางวัลที่ให้ไปนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และรายงานว่ามีดาราชาย-หญิงเข้าร่วมรับรางวัลแฟชั่นโชว์รวม 4 รางวัล

ไม่ใช่ทุกคนที่เข้าร่วมงานออสการ์พม่าสมัครใจจะเข้าร่วม มีบางส่วนที่ถูกข่มขู่กดดันจากเผด็จการทหารให้เข้าร่วม ไม่เช่นนั้นจะมีการจับกุมพวกเขา ซึ่งไม่ใช่แค่คำขู่ลอยๆ เพราะบางทีฝ่ายความมั่นคงของพม่าก็มักจะขู่เช่นนี้ก่อนที่จะบุกจับบุคคลเหล่านั้น นอกจากนี้ยังมีการสั่งห้ามไม่ให้ศิลปินออกนอกประเทศก่อนพิธีให้รางวัลด้วย

Min Maw Kun นักแสดงชายชาวพม่าที่ทำกิจกรรมต่อต้านรัฐประหารจากออสเตรเลียกล่าวว่า เขาได้ยินมาว่ามีเจ้าหน้าที่จาก MMPO ไปพบปะกับศิลปินแล้วก็บังคับให้ศิลปินเข้าร่วมงาน ดูเหมือนว่าเผด็จการทหารจะต้องจัดงานนี้ให้ได้ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม

นอกจากนี้ยังมีเรื่องการขู่จะกีดกันจากงานเกิดขึ้นในวงการด้วย มีคนทำภาพยนตร์อินดี้รายหนึ่งบอกว่า เขาได้ยินมาว่าคนที่ปฏิเสธไม่ไปเข้าร่วมงานออสการ์จะถูกกีดกันไม่ให้ทำงานในวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไปเป็นเวลา 3 ปี

เรื่องที่ว่านี้เคยเกิดขึ้นในอดีต สมัยที่มีการลุกฮือของฝ่ายประชาธิปไตยพม่าในปี 2531 ในตอนนั้นมีการปิดกั้นไม่ให้คนที่มีส่วนร่วมกับการลุกฮือปี 2531 เข้าร่วมงานออสการ์พม่าในปี 2532 แล้วหลังจากนั้นก็มีการบังคับให้ต้องถอนคำพูดสนับสนุนฝ่ายประชาธิปไตยถึงจะสามารถทำงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ต่อไปได้

แต่ก็มีจำนวนหนึ่งที่ปฏิเสธจะถอนคำพูด หนึ่งในนั้นคือนักร้อง-นักแสดงที่ชื่อ Aye Aye Thin เธอเป็นคนที่เคยชนะรางวัลออสการ์พม่า 2 ครั้ง และใช้ชีวิตเป็นหมอดูไปจนกระทั่งเสียชีวิตในปี 2563 เธอเคยให้สัมภาษณ์ถึงการถูกบีบให้เซ็นชื่อถอนคำพูดซึ่งเธอไม่ยอมทำตาม เธอกล่าวว่า "คนรุ่นเยาว์ตายต่อหน้าต่อตาของพวกเรา ฉันยังคงมองเห็นภาพของพวกเขาถูกสังหาร ฉันจะลบเลือนมันไปจากความทรงจำของฉันได้อย่างไร"

May Wynn-Maung ผู้ที่เคยเข้าร่วมการประท้วงในปี 2531 บอกว่าเธอมีความเคารพต่อ Aye Aye Thin และต่อศิลปินผู้ที่ต่อสู้กับเผด็จการทหาร เธอเชื่อว่าศิลปินที่ต่อสู้กับเผด็จการในยุคปัจจุบันมีจิตวิญญาณที่เข้มแข็งยิ่งกว่าในยุค 2531 เสียอีก

วิกฤตอุตสาหกรรมภาพยนตร์หลังรัฐประหาร

ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของพม่าก็ใช่ว่าจะเป็นไปได้ด้วยดี มีการปิดโรงภาพยนตร์ตั้งแต่กลางเดือน มี.ค. 2563 ถึงเดือน เม.ย. 2565 เนื่องจากมาตรการป้องกัน COVID-19 และการรัฐประหารครั้งล่าสุดก็ทำให้ความขัดแย้งรุนแรงขึ้น และทำให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์หยุดชะงัก

ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมามีภาพยนตร์ 138 เรื่องเผยแพร่ออกมาในพม่า ส่วนใหญ่ออกมาในปี 2562 ในปี 2563 ออกมาเพียง 21 เรื่อง ในปี 2565 ออกมาเพียง 20 เรื่อง และในปี 2564 (ปีที่เกิดรัฐประหาร) ไม่มีภาพยนตร์ใหม่ออกมาเลยแม้แต่เรื่องเดียว

ถึงแม้ว่าจะกลับมาเปิดโรงภาพยนตร์อีกครั้งในปี 2565 แต่โรงภาพยนตร์ส่วนใหญ่ก็ยังคงว่างเปล่าเพราะประชาชนจำนวนมากทำการบอยคอตต์ความพยายามของเผด็จการทหารที่จะสร้างภาพว่าประเทศของพวกเขามีเสถียรภาพและเป็นปกติสุข แหล่งข่าวที่เป็นคนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์พม่าบอกว่าคนดูเริ่มกลับมาบ้างแล้วในปีนี้ (2566) มีผู้จัดทำภาพยนตร์บางส่วนเริ่มกลับมาทำกำไรได้ แต่ความสนใจจากผู้ชมก็ยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับก่อนหน้าที่จะมีรัฐประหาร

การยึดอำนาจโดยกองทัพยังทำให้เกิดการแบ่งขั้วในวงการภาพยนตร์เกิดขึ้น จากการที่คนทำภาพยนตร์ในประเทศพม่าสร้างภาพยนตร์ที่ถูกเซนเซอร์อย่างหนักหรือไม่ก็มีเนื้อหาส่งเสริมเผด็จการทหาร ส่วนกลุ่มที่พลัดถิ่นอยู่นอกประเทศก็ทำภาพยนตร์ที่ยกย่องกลุ่มต่อต้านเผด็จการทหาร หรือวิพากษ์วิจารณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนของกองทัพพม่า

มีผู้ทำภาพยนตร์อินดี้กล่าวว่ามีการเซนเซอร์เข้มงวดขึ้นมากหลังการรัฐประหาร ภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ทุกรายการจะถูกพิจารณาจากเผด็จการทหารอย่างเข้มงวดแม้กระทั่งกับเนื้อหาสนับสนุนกองทัพพม่า ถึงขั้นว่าพวกเขาไม่สามารถใช้คำว่า "สุนัข" ได้อีกแล้วในภาพยนตร์เพราะหลังจากที่มีการปราบปรามผู้ชุมนุมอย่างสันติในพม่าปี 2564 ก็เริ่มมีคนเรียกทหารว่า "สุนัขรับใช้กองทัพ"

ในช่วงยุคปฏิรูปประชาธิปไตยระหว่างปี 2554-2564 มีการยกเลิกการเซนเซอร์สื่อสิ่งพิมพ์ แต่ก็ยังคงมีการเซนเซอร์ภาพยนตร์และโทรทัศน์ ภาพยนตร์จะต้องผ่านการรับรองจากคณะกรรมการเซนเซอร์ก่อนถึงจะสามารถออกฉายได้ แต่เจ้าหน้าที่กองเซนเซอร์ก็มีความเข้มงวดน้อยกว่าเมื่อเทียบกับสมัยเผด็จการทหาร

งานภาพยนตร์และละครทีวีใหม่ๆ ของพม่าในช่องที่ถูกควบคุมโดยเผด็จการทหารมีการใช้นักแสดงที่ไม่สนใจการต่อต้านเผด็จการและบ้างก็สนับสนุนเผด็จการทหารอย่างชัดเจน เช่นในช่วงวันก่อนหน้าวันกองทัพพม่ามีการจัดฉายภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อที่มีดารานักแสดงที่ได้รางวัลออสการ์พม่าแสดงด้วย ภาพยนตร์เรื่องที่ว่านี้สร้างภาพให้ทหารพม่าเป็นฮีโร่ปกป้องชาวบ้านกะฉิ่นจากกองกำลังอิสรภาพกะฉิ่น (KIA) ที่ถูกสร้างภาพให้ดูโหดร้าย แต่ในความเป็นจริงแล้วกองทัพพม่าถูกกล่าวหาอย่างมากว่าทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวกะฉิ่น

นอกจากนี้ผู้ชมภาพยนตร์ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่าคุณภาพของภาพยนตร์ต่ำลงอย่างเห็นได้ชัดหลังรัฐประหาร อีกทั้งยังมีมุมมองที่ว่าการที่คนกลับมาชมภาพยนตร์อีกครั้งไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะไม่มีใจต่อต้านการรัฐประหาร พวกเขาชมภาพยนตร์เพราะอยากผ่อนคลายไม่ใช่เพราะอยากสนับสนุนศิลปินฝ่ายเผด็จการ

ในทางตรงกันข้ามภาพยนตร์ของฝ่ายต่อต้านเผด็จการสร้างชื่อเสียงในต่างประเทศและได้รับรางวัลในระดับนานาชาติ เช่น เรื่อง "เมียนมาร์ไดอารี" สารคดีผสมผสานระหว่างวิดีโอการปราบปรามผู้ประท้วงกับสภาพชีวิตของผู้คนที่ยากลำบากภายใต้การปกครองของเผด็จการทหาร เรื่องนี้ชนะรางวัลเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลินเมื่อปี 2565

Lynn Lynn อดีตร็อคสตาร์ที่ผันตัวมาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ กลายเป็นบุคคลที่เผด็จการพม่าตามล่าตัวในข้อหายุยงปลุกปั่น เขาสร้างภาพยนตร์ขนาดสั้น 2 เรื่องเกี่ยวกับกลุ่มต่อต้านรัฐบาล และทั้งสองเรื่องต่างก็ได้รับยกย่องโดยการให้คะแนนจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ซึ่งเป็นวิธีการที่คานส์ฉายไฟให้เห็นถึงผลงานที่ดีแต่ไม่มีคนเห็นและผลงานของคนหน้าใหม่ที่มีฝีมือ

หนึ่งในสองภาพยนตร์ของ Lynn Lynn ชื่อ "The Beginning" เคยได้รับการยกย่องให้เป็นภาพยนตร์ขนาดสั้นยอดเยี่ยมของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติขนาดสั้นรายเดือนของเกาหลีใต้ ภาพยนตร์เรื่องนี้มีนักแสดงคือ Daung และภรรยาของ Lynn Lynn ที่ชื่อ Chit Thu Wai

"จิตวิญญาณและศิลปะไม่ใช่สิ่งที่จะถูกจองจำได้" Chit Thu Wai เขียนยข้อความนี้ไว้บนเฟสบุค


เรียบเรียงจาก
Junta-sponsored Academy Awards drive a wedge in Myanmar’s movie industry, Frontier Myanmar, 05-05-2023
MYANMAR MOTION PICTURE ACADEMY AWARD: AWARDING CEREMONY HELD IN NAY PYI TAW, Myanmar TV, 06-05-2023
Myanmar Motion Picture Academy Award for 2019, 2020 and 2022 held in Nay Pyi Taw, MT News, 08-05-2023

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net